ตายเพียบ: ทหารซูดานปราบผู้เรียกร้องประชาธิปไตย
.
อาศัยการประท้วงของประชาชนเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลแล้วตั้งตนเป็นผู้รักษาเสถียรภาพในช่วงเปลี่ยนผ่าน เมื่อถูกประท้วงก็ปราบปรามจนตายกว่าร้อย ผู้หญิงถูกข่มขืนเพราะบทบาทเป็นแกนนำประท้วง
.
วันนี้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียระดมดันแฮชแทค#SudanMassacre หรือ"สังหารหมู่ซูดาน" จนขึ้นอันดับหนึ่งของทวิตเตอร์เพื่อเรียกร้องความช่วยเหลือจากชาวโลกให้กับกรณีการปราบปรามประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่ #ซูดาน ซึ่งทำให้มีคนตายและเจ็บรวมทั้งผู้หญิงถูกข่มขืนและฆ่าจำนวนมาก ผู้ใช้ทวิตเตอร์และอินสตาแกรมเปลี่ยนโปรไฟล์เป็นสีฟ้าเพื่อสนับสนุนผู้ชุมนุม
.
เหตุการณ์ประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในซูดานดำเนินต่อเนื่อง ผู้ประท้วงรวมตัวกันนั่งชุมนุมหน้าที่ทำการของกองทัพที่คาร์ทูม หลังจากที่ทหารโค่นรัฐบาลนายโอมาร์ อัล บาเชียร์แล้วยึดอำนาจไว้ในมือ พวกเขาต้องการให้ทหารเปิดทางให้มีรัฐบาลพลเรือนเข้าบริหารประเทศแทน
.
อัลจาซีรารายงานว่า เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมา หลังจากเจรจาต่อรองกันไม่ได้ผล ทหารส่งคนเข้ารื้อถอนเต้นท์ที่พักของกลุ่มผู้ชุมนุมและสลายการชุมนุม สำนักข่าวอัลจาซีรารายงานอ้างแพทย์หลายคนว่ามีผู้พบศพไม่ต่ำกว่า 120 ศพ มีอย่างน้อย 40 ศพที่พบในแม่น้ำไนล์ ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขบอกว่ามีผู้เสียชีวิต 61 คน
.
หลังจากที่มีข่าวและภาพออกไป โฆษกกองทัพคือชาม อัลดิน คาบาชิออกมายอมรับว่า ได้มีการสั่งให้สลายการชุมนุมจริง แต่เกิดความผิดพลาดขึ้น เขาอ้างว่าทั้งหมดเป็นเพราะฝ่ายผู้ประท้วงไม่ยอมลดราวาศอก ทั้งๆที่ตกลงกันได้แล้ว สิ่งที่ตกลงกันนั้นเขาระบุว่า คือหลักการว่ารัฐบาลที่จะเข้ามาใหม่รวมทั้งสภาจะนำโดยพลเรือน แต่ผู้ประท้วงยังไม่พอใจ
.
อย่างไรก็ตาม โฆษกกองทัพยืนยันว่าแม้จะให้ปกครองโดยพลเรือน แต่ทหารเชื่อว่าสภาสูงสุดที่ทหารตั้งขึ่้นใหม่ในนาม “สภาเพื่อการเปลี่ยนผ่านอำนาจทหาร” จะต้องมีทหารเป็นสมาชิกเป็นส่วนใหญ่ และมีทหารเป็นผู้นำ “เรายืนยันว่าทหารเป็นผู้ค้ำประกันสันติภาพและเสถียรภาพในช่วงเปลี่ยนผ่าน”
.
นอกจากปราบปรามผู้ประท้วงอย่างหนักแล้ว ทหารซูดานยังบล็อคอินเตอร์เน็ตทำให้ประชาชนเข้าไม่ถึง ทั้งนี้เพื่อจะไม่ให้ผู้ชุมนุมและผู้สนับสนุนติดต่อกันได้ แต่ได้ทำให้มีผู้ใช้โซเชียลมีเดียจำนวนหนึ่งที่ติดตามเหตุการณ์ในซูดานเริ่มเผยแพร่ข้อมูลเรื่องการปราบปรามผู้ประท้วง หลายคนเปลี่ยนโปรไฟล์เป็นสีฟ้าเพื่อสนับสนุนพวกเขา เนื่องจากเป็นสีโปรดปรานของหนึ่งในผู้ประท้วง โมฮัมหมัด ฮาชิม มัตตาร์ วัย 26 ที่ถูกสังหารโดยทหารเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และยังมีแฮชแทค #blueforsudan ตามมาด้วย
.
ผู้ใช้โซเชียลมีเดียหลายรายทวีตว่าตัวเลขคนตายมีมากกว่านั้น ที่สำคัญต่างระบุว่ามีผู้หญิงถูกข่มขืนจำนวนหลายสิบคน รวมทั้งมีผู้สูญหายและถูกจับกุมอีกเป็นจำนวนมาก ผู้ใช้หลายรายทวีตภาพวาดเป็นสัญลักษณ์ผู้หญิงร้องไห้
.
สื่อรายงานว่า วิกฤติในซูดานเริ่มในเดือนธ.ค.ปีที่ผ่านมา จากการที่รัฐบาลของนายโอมาร์ อัล บาเชียร์ของซูดานได้ขึ้นราคาสินค้าจำเป็นต่อการครองชีพ ที่เมืองอัทบาราทางภาคตะวันออกของประเทศ คนจำนวนหนึ่งเริ่มออกประท้วงบนถนน หลังจากนั้นมีการประท้วงตามมาทั่วประเทศรวมทั้งในเมืองหลวง
.
แต่ความไม่พอใจรัฐบาลไม่ได้มาจากปัญหาเศรษฐกิจอย่างเดียว รัฐบาลอัลบาเชียร์นั้น รายงานจากสื่อระบุว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างหนักตลอดช่วงเวลาสามสิบปีที่อยู่ในอำนาจ ในการประท้วงปลายปี 2561 ก็มีการปราบปรามและมีผู้เสียชีวิต แต่ผู้ประท้วงยังคงเดินหน้าออกสู่ท้องถนนเพื่อต้องการโค่นล้มรัฐบาลอัลบาเชียร์ให้ได้ ผลของการประท้วงต่อเนื่องยาวนานทำให้ในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา มีกลุ่มทหารได้โอกาสออกมาโค่นล้มรัฐบาลนายอัลบาเชียร์ลงในที่สุด แต่นั่นเป็นแค่ก้าวแรกของวิกฤติหนใหม่
.
หลังยึดอำนาจ ทหารซูดานตั้ง “สภาเพื่อการเปลี่ยนผ่านอำนาจทหาร” นำโดยนายพลอับเดลฟาต้า อับเดลรามาน เบอร์ฮาน ซึ่งเข้าบริหารประเทศพร้อมด้วยคำมั่นสัญญาว่าจะร่วมมือกับนักวิชาการ นักกฎหมาย ตัวแทนผู้ประท้วง ฯลฯเพื่อทำให้ประเทศเข้าสู่ภาวะเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย แต่ในเวลาไม่นานนัก ผู้เข้าร่วมในการเจรจาจำนวนหนึ่งก็เริ่มเห็นว่า ทหารไม่ได้จริงจังในการผ่องถ่ายอำนาจให้พลเรือน กลุ่มผู้ประท้วงต้องการให้มีการเลือกตั้งใน 9 เดือน สภาเพื่อการเปลี่ยนผ่านยื่นข้อเสนอให้ดำเนินการในสามปี การเจรจาต่อรองล้มเหลวและผู้ประท้วงออกสู่ถนนอีกในเดือนพ.ค.และทหารปราบปรามประชาชนอีก ประชาชนที่ไปชุมนุมถูกจับกุม ทำร้ายและสังหาร ผู้ต่อต้านรัฐบาลจำนวนหนึ่งเปลี่ยนกลยุทธ์ด้วยการหยุดงาน ในขณะที่อีกด้านยังมีรายงานว่ามีการใช้ความรุนแรงกับผู้เห็นต่าง ผู้หญิงถูกข่มขืน ซึ่งคาดว่าเพราะผู้หญิงเป็นแกนนำสำคัญของการประท้วงที่ผ่านมา
.
ผลของความรุนแรงทำให้มีบางประเทศพยายามยื่นมือเข้าไปไกล่เกลี่ยในเวลานี้
.
อ่านเพิ่มเติม
https://www.aljazeera.com/news/2019/06/sudan-military-admits-ordered-brutal-crackdown-protesters-190614042623354.html
https://uproxx.com/news/sudan-crisis-explainer/
Patani NOTES
...