ไม่พลาด ไม่ประหลาดใจ ไม่โอดครวญ
ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกฯ จากการเลือกของผู้สนับสนุน ๕๐๐ คน อย่างขาดลอยแบบ
‘เผด็จการประชาธิปไตย’ ตามระบอบการเมืองตะแบงมารไม่เหมือนใครในโลก
“ที่ประชุมรัฐสภาโหวตนายกรัฐมนตรีจากสมาชิกทั้งหมด
๗๔๗ เสียง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ ๕๐๐เสียง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ ๒๔๔ เสียง
งดออกเสียง ๓ เสียง” นอกจากประธานรัฐสภาและรองฯ
(ซึ่งเป็นประธานสภาตู่ตั้ง) แล้วมีสมาชิกพรรคภูมิใจไทย ๑ คนหาญกล้าแตกแถว ‘งด’ กับเขาด้วย
ช่วงเช้าของการประชุมเมื่อ ๕ มิถุนา
มีดราม่าเล็กน้อย เมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อภิปรายประกาศลาออกจากสมาชิกภาพ ส.ส. ซึ่งก็จะมีการเลื่อนคนต่อไปในบัญชีรายชื่อของพรรคเข้าไปทำหน้าที่แทน
กลายเป็นเรื่องชื่นชมว่าชาญฉลาดที่ไม่เสียที่นั่ง
ส.ส.ของพรรค เนื่องจากเคยประกาศไว้ว่าจะไม่ร่วมสนับสนุนให้ประยุทธ์เป็นนายกฯ
แต่มติพรรคออกมาหักดิบตนจึงต้องแสดงสัญญลักษณ์อะไรสักอย่างเพื่อรักษาหน้า
แทนที่จะลาออกจากพรรคก็เลือกลาออกจากสภา ไม่ต้องร่วมโหวตกับมติพรรคที่ขัดกับคำประกาศของตน
แล้วยังไม่ต้องงดออกเสียงให้ขัดมติพรรค แบบนี้มีแต่ได้กับได้
ถึงอย่างไรพรรคมีหัวหน้าใหม่อยู่ในสภาแล้ว
ประสบการณ์นานพอดูของน้องม้าร์ค ทำให้รักษาธาตุแท้ของพรรคไว้ได้
ว่าบทบาทและการตัดสินใจมักตรงข้ามกับชื่อและหลักการเสมอ ประชาธิปัตย์ =
อำนาจนิยม และ เสรีประชาธิปไตย = ร่วมรัฐบาลทหารเพื่อปิดสวิทช์รัฐประหาร
นอกจากการอภิปรายเรื่องคุณสมบัติในการเป็นนายกรัฐมนตรีอันเผ็ดมัน
แต่ไม่ได้ทำให้ลิ่วล้อและสาวก คสช. ระคายเคืองแม้แต่น้อยแล้ว
ยังก่อให้เกิดวาทกรรมแหวกครรลองภูมิปัญญาทางการเมืองสากล ซึ่งหาที่ไหนแบบนี้ไม่ได้ในโลก
เมื่อ เสรี สุวรรณภานนท์
วุฒิสมาชิกที่ทำงานรับใช้ คสช. มายาวนาน
อภิปรายยกคุณงามความดีของประยุทธ์ว่าควรได้รับยกย่องเป็นนายกฯ ต่อไป แล้วถูก
ส.ส.พรรคเพื่อไทย จิรายุ ห่วงทรัพย์ ขัดคอว่าพูดมาก
พูดยาว พูดยกย่องเพราะ ‘ชอบเผด็จการ’
เสรีร้อนตัวกลัวคนเข้าใจถูกว่า
‘เผด็จการ’ ไม่ดี จึงตอบว่า “สิ่งที่ท่านกล่าวหาผมว่านิยมเผด็จการ
ผมนิยมเผด็จการประชาธิปไตย แต่ไม่ได้นิยมพวกประชาธิปไตยจอมปลอมครับท่านประธาน”
การประชุมอันเป็นประวัติศาสตร์รัฐสภาไทยที่ไม่ยึดมาตรฐานครรลองสากล
ยังมีดราม่าหลังประชุมอีกด้วย เมื่อ สว.ตู่ตั้งอีกคนเก็บประสบการณ์ “วันแรกในสภา”
ไปรำพึงรำพันบนหน้าเฟชบุ๊ค “นึกย้อนมาถึงวิชาแพทย์”
รู้กันแล้วนะว่า คุณหญิงนางนี้เป็นผู้เชี่ยวชาญนิติวิทยาศาสตร์
เก่งกาจขนาดวินิจฉัยเครื่องตรวจระเบิดที่ศาลอังกฤษตัดสินแล้วเป็นของปลอม ว่ามีคุณภาพเหมาะสมกับการใช้ในกองทัพไทย
และยังเคยวินิจฉัยแผลเหวอะจากระบิดปิงปองว่าเกิดจากแก๊สน้ำตาด้วย
คุณ ‘นางแพทย์’
หญิง พรทิพย์ โรจนสุนนันท์ เขียนตำหนิเครื่องแต่งกายของ
น.ส.พรรณิการ์ วานิช ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ว่า “ธรรมเนียมของชุดไว้ทุกข์คือสีดำทั้งชุด
การแต่งกายเช่นนี้ไม่ตรงธรรมเนียมปฏิบัติ”
ทั้งนี้เนื่องจาก ‘สาวช่อ’ สวมใส่แพ้นท์ซุทยี่ห้อโพเอ็ม “แจ็คเก็ตแบบกระดุมคู่
ไล่สีแบบออมเบร ขาว-ดำ คู่กับกางเกงขากระบอกสีดำเข้าเซ็ตกัน” ดูฟู่ฟ่าไปหน่อย คุณ
นพ.หญิงเลยเม้นต์ว่า “วาระนี้ไม่ใช่การแต่งกายทั่วไป ส่วนแรกการไม่ใส่สีเหลืองมันก็บอกนัย
ส่วนที่สองที่มีการกำหนดให้ไว้ทุกข์และก็ไม่ไว้ทุกข์”
นางอ้างว่าเวลานี้ต้องต้องแต่งกายไว้ทุกข์ประธานองคมนตรีที่ล่วงลับ
กับเฉลิมพระเกียรติกษัตริย์ (นัยนี้ตีความได้ว่าต้องใส่เหลืองกับดำ) แต่การใส่สีบนขาวล่างดำไม่เข้าข่าย
ว่างั้น “ส่วนกรณีสีผม” ของเธอเองที่มีคนเม้นต์กันตรึม
“มันเป็นเรื่องคนละส่วนกับแนวทางเรื่องการไว้ทุกข์”
มิใยที่เจ้าตัวผู้ถูก ‘วิจวก’ จะยันว่าการใช้เครื่องแต่งกายสีขาว-ดำ “เรียบร้อยเหมาะสมกับการเข้าประชุม...สาระสำคัญของวันนี้อยู่ที่การเลือกนายกรัฐมนตรีและการแสดงวิสัยทัศน์
เพราะประเทศไทยไม่มีนายกรัฐมนตรีในระบอบประชาธิปไตยมา ๕ ปี ไม่ใช่มาให้ความสำคัญว่าใส่ชุดอะไร”
หากแต่ว่าคุณหมอหญิงยังยืนกรานวิจารณญานของหล่อนเหมือนว่ามีความวิเศษอยู่ในกมล
(ทำนองเดียวกับของตุลาการไทย) ที่ล่วงรู้ล้ำลึกไปถึง “สิ่งที่กำลังคิดอยู่ภายใน”
โอ้ว่าอนิจจารัฐสภาไทย
เสียงส่วนใหญ่ที่เลือก ‘นายกฯ ห้าร้อย’ ครั้งนี้มีแก่นสารอยู่ที่ ‘สีเสื้อไม่ใช่สีผม’
และเป็น ‘เผด็จการประชาธิปไตย’ ดังที่ อจ.รัฐศาสตร์ มธ. ประจักร ก้องกีรติ อ่อนใจ สอนหนังสือมากว่าสิบปี
“เพิ่งเคยได้ยิน
...เป็นวาทกรรมแปลกใหม่ที่พิสดารโดยแท้”