เปิดแฟ้ม ป.ป.ช. 2 ปีชี้มูลความผิดปกปิดทรัพย์สิน 350 กรณี ไม่มีทหารเลยแม้แต่คนเดียว
7 ธันวาคม 2017
ที่มา Work Point News
ข่าวที่ร้อนแรงที่สุดในช่วงสัปดาห์นี้คงจะหนีไม่พ้นเรื่องนาฬิกา Richard Mille และแหวนเพชร ที่ “บิ๊กป้อม” พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ใส่มาในวันถ่ายรูปรวม ครม.ประยุทธ์ 5 เมื่อวันจันทร์ที่ 4 ธันวาคม ที่ผ่านมา จนกลายเป็นกระแสให้สาธารณชนตั้งคำถามว่า บิ๊กป้อมได้ทรัพย์สินราคาหลายล้านบาทนี้มาจากไหน และได้มาอย่างไร
เพราะจากการตรวจสอบรายงานทรัพย์สินของพลเอกประวิตรที่แจ้งต่อ ป.ป.ช. ย้อนหลังไปถึงปี 2551 กลับไม่พบการรายงานทรัพย์สิน 2 รายการนี้
[i] ผู้สื่อข่าวจึงตั้งคำถามต่อพลเอกประวิตรว่าได้นาฬิกาเรือนดังกล่าวมาหลังจากรับตำแหน่งในรัฐบาล คสช. ใช่หรือไม่ แต่พลเอกประวิตรไม่ตอบคำถามนี้ และบอกว่าจะชี้แจงเรื่องดังกล่าวกับทาง ป.ป.ช. เอง
ล่าสุดวันนี้ (7 ธ.ค.) ทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ส่งหนังสือไปถึงพลเอกประวิตร ให้ชี้แจ้งที่มาของทรัพย์สินดังกล่าว โดยพลเอกประวิตรมีเวลา 30 วันในการตอบกลับไปยัง ป.ป.ช. ว่าได้นาฬิกาเรือนดังกล่าวมาอย่างไรและได้มาตอนไหน
อย่างไรก็ตาม คำถามที่น่าตั้งต่อไปไม่ใช่แค่ว่าพลเอกประวิตรได้นาฬิกามาอย่างไร
แต่แสงไฟควรจะฉายไปที่ ป.ป.ช. ด้วย ว่าจะมีความกล้ามากแค่ไหนในการตรวจสอบพี่ใหญ่ของบูรพาพยัคฆ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุครัฐบาล คสช. ที่ทหารเข้าไปคุมอำนาจอยู่ในทุกองคาพยพของรัฐอย่างทุกวันนี้
ข้อมูลจากเว็บไซต์ของ ป.ป.ช. ระบุว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558-2559) มี “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดว่า “จงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สิน” หรือ “ยื่นบัญชีทรัพย์สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ” อย่างน้อย 350 คดี โดยในปีงบประมาณ 2558 มีการชี้มูลความผิดทั้งสิ้น 100 เรื่อง
[ii] และในปี 2559 มีการชี้มูลความผิด 250 เรื่อง
[iii]
จากการตรวจสอบรายละเอียดทั้ง 350 กรณี พบข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
1. การชี้มูลความผิดส่วนใหญ่ของ ป.ป.ช. เป็นการชี้มูลความผิดนักการเมือง “ระดับท้องถิ่น” เช่น ระดับ อบต., อบจ. และเทศบาล โดยจากทั้งหมด 350 กรณี เป็นนักการเมืองท้องถิ่นถึง 336 กรณี
ส่วนอีก 14 คนที่เหลือ
- มี ส.ส. 2 คน คือ นายพงศ์เวช เวชชาชีวะ อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ และนายหนูแดง วรรณกางซ้าย อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย ทั้ง 2 กรณีศาลมีคำพิพากษาแล้ว ให้เว้นวรรคทางการเมืองคนละ 5 ปี
- มี 4 คนที่ทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาลในเวลานั้น ได้แก่ นายยศวริศ ชูกล่อม อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ, นายอดิศักดิ์ แดงเดช อดีตกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายจรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี และ พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญราษฎร์ อดีตข้าราชการประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
- ส่วนอีก 8 คนที่เหลือ ส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารระดับสูงในหน่วยราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ เช่น องค์การสวนสัตว์ ธนาคารกรุงไทย กรมสรรพากร กรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นต้น
2. มีผู้ที่รับราชการตำรวจถูกชี้มูลความผิด 4 คน ได้แก่ ดาบตำรวจวีระ หมีทอง อดีตรองนายก อบต.หัวถนน, ดาบตำรวจอนงค์ นุ้ยแหลม อดีตเลขาฯ นายกเทศมนตรีตำบลจองถนน, จสต.กัมปนาท เพิ่มสุข รองนายก อดีตอบต.คลองขนาก และพ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญราษฎร์ อดีตข้าราชการในสำนักนายกรัฐมนตรี
3. ไม่มีผู้รับราชการทหารถูกชี้มูลความผิดเลย
จากผลงาน 2 ปีหลังสุดของ ป.ป.ช. เราคงต้องตั้งคำถามว่า ป.ป.ช. จะมีความกล้าและน้ำยามากแค่ไหนในการตรวจสอบ “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ที่เป็น “ทหาร”
เพราะนับตั้งแต่ คสช. เข้ามาบริหารประเทศในปี 2557 มีทหารอย่างน้อย 245 คนเข้ามารับตำแหน่งทางการเมือง ทั้งในฐานะ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.), กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ, กรรมการปฏิรูปประเทศ, กรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ฯลฯ
[iv]
คงต้องจับตาดูภายใน 30 วันนี้ ว่าพลเอกประวิตรจะชี้แจงเรื่องนาฬิกากับ ป.ป.ช. ว่าอย่างไร และ ป.ป.ช. จะมีท่าทีอย่างไรต่อถ้อยแถลงของพี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์
และทั้งหมดจะเป็นเครื่องพิสูจน์ด้วยว่า ป.ปลา ของพลเอกประวิตร กับ ป.ปลา ของ ป.ป.ช. ใครจะศักดิ์สิทธิ์และมีน้ำยามากกว่ากัน
บทความโดย กฤดิกร เผดิมเกื้อกูลพงศ์
อ้างอิง
[i] https://prachatai.com/journal/2017/12/74434
[ii] https://www.nacc.go.th/images/article/freetemp/article_20160519132022.pdf
[iii] https://www.nacc.go.th/download/article/article_20170421084109.pdf
[iv]https://web.facebook.com/thematterco/photos/a.1735876059961122.1073741831.1721313428084052/1947465595468833/?type=3&theater
ooo