(AP Photo/Victor R. Caivano)
เช็กบิลคดียุคเผด็จการหลังรัฐประหาร อาร์เจนฯพิพากษาจำคุก 48 อดีตทหาร
30 พฤศจิกายน 2560
ที่มา ข่าวสดออนไลน์
เมื่อ 30 พ.ย. เอเอฟพีรายงานว่า ศาลอาร์เจนตินาพิพากษาจำคุกอดีตเจ้าหน้าที่ทหาร 48 คนในยุครัฐบาลทหาร ฐานมีส่วนร่วมก่ออาชญากรรมทารุณและสังหารนักโทษทางการเมืองในช่วงสงครามอัปยศ หรือเดอร์ตี วอร์ ช่วงปี 2519-2526 เป็นการรอคอยความยุติธรรมของญาตินานกว่า 40 ปี
ภาพเหยื่อที่ถูกอุ้มฆ่าทารุณเมืิ่อ 40 ปีก่อน (AP Photo/Victor R. Caivano)
ในคดีดังกล่าวเป็นความพยายามที่จะดำเนินคดีผู้ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติและทารุณเหยื่อ จำเลยในคดีที่ถูกลงโทษแบ่งเป็น จำคุกตลอดชีวิต 29 คน จำคุกสูงสุด 25 ปี จำนวน 19 คน และยกฟ้อง 6 คน
อัลเฟรโด อัสติซ / REUTERS
สำหรับจำเลยที่ถูกจำคุกตลอดชีวิต ได้แก่ นาวาเอกอัลเฟรโด อัสติซ เจ้าของฉายามัจจุราชผมบลอนด์ นายฮอร์เก อะกอสตา ฉายาเสือร้าย ทั้งสองถูกกล่าวหาเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของสาววัย 17 ปี ดักมาร์ ฮาเกลิน อายุ 17 ปี ชาวสวีเดน เชื่อว่าเหยื่อถูกจับไปผิดตัวในช่วงที่มีการอุ้มฆ่าอย่างกว้างขวาง
สำหรับจำเลยที่ถูกจำคุกตลอดชีวิต ได้แก่ นาวาเอกอัลเฟรโด อัสติซ เจ้าของฉายามัจจุราชผมบลอนด์ นายฮอร์เก อะกอสตา ฉายาเสือร้าย ทั้งสองถูกกล่าวหาเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของสาววัย 17 ปี ดักมาร์ ฮาเกลิน อายุ 17 ปี ชาวสวีเดน เชื่อว่าเหยื่อถูกจับไปผิดตัวในช่วงที่มีการอุ้มฆ่าอย่างกว้างขวาง
ประชาชนเรียกร้องขอความยุติธรรม / AP
นอกจากนี้ยังมีนายมาริโอ ดาเนียล อาร์รู และนายอเลฮานโดร โดมิงโก ดากอสติโน สองนักบินที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการ “เที่ยวบินสังหาร” ซึ่งมีการโยนเหยื่อจากเครื่องบินให้ลงมาตายในทะเล
นอกจากนี้ยังมีนายมาริโอ ดาเนียล อาร์รู และนายอเลฮานโดร โดมิงโก ดากอสติโน สองนักบินที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการ “เที่ยวบินสังหาร” ซึ่งมีการโยนเหยื่อจากเครื่องบินให้ลงมาตายในทะเล
ooo
แม้ความยุติธรรมจะมาสาย แต่ก็มาถึง
กลุ่มแม่แห่งพลาซา เดอ มาโย (the Mother of Plaza de Mayo) ในระหว่างการเดินขบวนรอบพลาซา เดอ มาโย ณ เมืองบัวโนส ไอเรส เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว (ภาพโดย แอนโทนิโอ คาสทิโย)
Published on Wed, 2010-08-18
โดย แอนโทนิโอ คาสทิโย (Antonio Castillo)
แปลโดย พนม ณ สารขัณฑ์
ที่มา ประชาไท
การดำเนินคดีต่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติครั้งใหญ่ที่สุดของโลกที่เกิดขึ้นในอาร์เจนตินา ส่งผลให้เกิดการขุดคุ้ยยุคผู้ก่อการร้าย ฆาตกรรม และการทรมาน คดีนี้เป็นคดีที่มีผลสะท้อนไปทั่วโลก
มันคือการสิ้นสุดแห่งอภิสิทธิ์และกระบวนการปกป้องผู้กระทำผิด ในวันที่ 22 เมษายนปีนี้ นายพลเรนาลโด บิกโนเน (General Reynaldo Bignone) ประธานาธิบดีเผด็จการคนสุดท้ายของประเทศอาร์เจนตินาถูกพิพากษาว่ามีความผิดในคดี ลักพาตัว ทรมาน และฆาตกรรม ผู้ต่อต้านทางการเมืองจำนวน 56 ราย และจากจำนวนทั้งหมดนี้มีเหยื่อที่เป็นหญิงมีครรภ์อย่างน้อยสิบราย
การตัดสินครั้งสำคัญนี้ ถือเป็นสิ่งที่เรียกว่า เมกาคอสซา (megacausa) —การดำเนินคดีครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์การก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่เรียกกันว่า สงครามสกปรก (Dirty War) บงการโดยเผด็จการทหารของอาร์เจนตินาในยุค 2510 เมกาคอสซา นั้นมีความยิ่งใหญ่ตามชื่อเรียก เพราะประกอบด้วยการฟ้องร้องมากกว่าหนึ่งพันกรณี ต่อผู้ที่มีส่วนร่วมในการสังหารกลุ่มผู้ต่อต้านกว่า 30,000 ราย นับตั้งแต่การเริ่มต้นคดีนี้ในช่วงต้นปี 2552 มีการเบิกพยานจำนวนหลายพันรายไปให้การ
การดำเนินคดีมุ่งเน้นไปที่ศูนย์กักกันหลักที่เป็นที่รู้จักกันดีถึงชื่อเสียงความน่าสะพรึงกลัว ศูนย์กักกันถูกจัดตั้งโดยกลุ่มเผด็จการเพื่อใช้ในการสังหารผู้ต่อต้านทางการเมือง คดีที่ใหญ่ที่สุดใน เมกาคอสซา คืออาชญากรรมที่เกิดขึ้นในที่สองแห่ง ได้แก่ โรงเรียนช่างกลทหารเรือ (The Navy Mechanic School) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามของเอสมา (ESMA) และที่ แคมโป เดอ มาโย (Campo de Mayo) โดยสถานที่กักกันทั้งสองแห่งนั้นได้กลายเป็นสัญญลักษณ์ของการก่อการร้ายโดยรัฐ และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติไปแล้ว
นายพลบิกโนเน—ผู้ซึ่งจะต้องใช้ชีวิตในอีก 25 ปีข้างหน้า ในห้องขังธรรมดาๆ ของคุกธรรมดาๆ - ถูกพิพากษาใน เมกาคอสซา ของแคมโป เดอ มาโย ในปี 2519 อดีตเผด็จการผู้นี้คือผู้บัญชาการค่ายแคมโป เดอ มาโย ในระหว่างช่วง สงครามสกปรก ค่ายแห่งนี้ได้แปรสภาพมาเป็นศูนย์กลางการคุมขัง กักกัน ทรมาน และแดนประหาร ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ
แคมโป เดอ มาโย เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า เอ็ล แคมปิโต (el campito) หรือ ค่ายน้อย ค่ายนี้ตั้งอยู่ห่างจากกรุงบัวโนส ไอเรส ซึ่งเป็นเมืองหลวงออกไปประมาณ 26 กิโลเมตร แคมโป เดอ มาโย นับเป็นหนึ่งในค่ายกักกันจำนวน 339 ค่ายทั่วประเทศ ที่มีการปฏิบัติการโดยไม่มีต้องรับผิด ผู้ต่อต้านรัฐกว่า 5,000 คนเคยผ่านเข้าประตูค่ายนี้ น้อยคนนักที่จะได้กลับออกมาอีกหนึ่งในจำนวนนี้คือ ฟลอรีล อาวียาเนดา (Floreal Avellaneda) ผู้มีอายุ 15 ปี เขาเป็นที่รู้จักกันในนามของ เอ็ล เนกริโต (el negrito) หรือ ดำน้อย
ฟลอรีล อาวียาเนดา
การสังหารฟลอรีล อาวียาเนดา เป็นเพียงหนึ่งในจำนวนมากมาย แต่กรณีของเขาก่อให้เกิดสั่นสะเทือนอารมณ์กับเพื่อนร่วมชาวอาร์เจนตินา หนุ่มน้อยสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อาร์เจนตินา (Argentine Communist Party) ผู้นี้ ได้ถูกลักพาตัวไปเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2519 และถูกนำตัวไปยังแคมโป เดอ มาโย ที่ซึ่งเขาได้รับการทรมานจนถึงแก่ชีวิต ประมาณหนึ่งเดือนหลังจากนั้น ร่างไร้ชีวิตที่ถูกทำทารุณกรรมของเขาปรากฏอยู่แถบชายฝั่งอุรุกวัย ประเทศเพื่อนบ้าน อาชญากรรมในลักษณะเช่นเดียวกันนี้อีก 40 กรณีที่เกิดขึ้นที่ แคมโป เดอ มาโย กำลังอยู่ในระหว่างการเตรียมการส่งฟ้อง
ในวันที่ 20 กันยายน จะมีการเปิดการพิจารณาคดีใหม่เมื่อ เมกาคอสซา ต้องตรวจสอบเหตุการณ์อันน่าสะพรึงกลัวที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามสกปรก—นั่นคือกรณีที่เด็กอ่อนที่มาเกิดในค่ายกักกันนั้นถูกรับไปเลี้ยงโดยครอบครัวที่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้มีอำนาจในการปกครอง ซึ่งเท่ากับว่า เด็ก ได้กลายเป็นสินค้าจากสงคราม
นายพล ราฟาเอล วิเดลา
ผู้ที่จะถูกดำเนินคดีเป็นรายแรกคือ อดีตนายพลเผด็จการ ราฟาเอล วิเดลา (General Rafael Videla) ซึ่งถูกกล่าวหาว่าลักพาเด็กอ่อน 30 รายที่เป็นลูกของหญิงนักโทษการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่ในเอสมา เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ความคุ้มครองที่นายพลวิเดลา ได้รับจากอดีตประธานาธิบดีทุจริตคาร์ลอส เมเน็ม (Carlos Menem) ได้ถูกประกาศให้เป็นความคุ้มครองที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
เอสมา ก็คล้ายกับค่ายกักกันอื่นๆ ที่มีแผนกทำคลอด ซึ่งเป็นที่คลอดลูกของหญิงนักโทษการเมือง โดยทั่วไปหญิงเหล่านี้จะถูกเก็บไว้แค่พอมีลมหายใจ – ขณะที่ต้องเผชิญกับการทรมานที่มีแพทย์ดูแล - จนกระทั่งคลอดลูก จากนั้นจะถูกประหาร และเด็กอ่อนจะถูกส่งมอบให้กับครอบครัวเพื่อนำไปเลี้ยง ครอบครัวเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นครอบครัวของทหาร หรือผู้มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มทหารที่มีอำนาจในการปกครอง
ความคิดในการพรากลูกของนักโทษการเมืองที่ถูกสังหารนั้นดูเหมือนจะมีที่มาจากนายพลเผด็จการ ฟรังโก (General Franco) ของประเทศสเปน ช่วงระหว่างการครองอำนาจของที่นายพลผู้นี้เด็กแรกเกิดจำนวนนับพันถูกพรากจากมารดาซึ่งเป็นผู้ต่อต้านทางการเมือง เพื่อนำไปฝึกฝนและสร้างสังคมใหม่ในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่สร้างขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ
ข้อมูลขององค์กรสิทธิมนุษยชนชี้ให้เห็นว่า ในช่วงระหว่างสงครามสกปรกของอาร์เจนตินา เด็กแรกเกิดจำนวนกว่า 500 คนถูกพรากจากมารดาไปในลักษณะเช่นนี้ กลุ่มคุณยายแห่ง พลาซา เดอ มาโย (Grandmother of Plaza de Mayo) ได้ติดตามเด็ก 240 คนและเด็ก100 คนจากจำนวนนี้ได้ค้นพบชาติกำเนิดที่แท้จริงของตน โดยในปัจจุบันเด็กเหล่านี้มีอายุอยู่ในวัยยี่สิบ จนถึงสามสิบกลางๆ สิ่งสำคัญที่ช่วยให้คนเหล่านี้ค้นพบที่มาของตนก็คือ ธนาคารข้อมูลพันธุกรรมแห่งชาติ (National Genetic Data Bank) ที่สร้างขึ้นมาในปี 2520 เพื่อสร้างฐานข้อมูล ดีเอ็นเอ ให้กับครอบครัวที่ถูกพรากลูกไป ธนาคารข้อมูลแห่งนี้มีตัวอย่างเลือดที่ได้มาจากครอบครัวของผู้คนที่ถูกทรมานและสังหาร
ไม่นานมานี้ การค้นหาเด็กอ่อนที่ถูกพรากไปได้รับการสนับสนุนครั้งใหญ่เมื่อมีการผ่านร่างกฏหมายซึ่งอนุญาตให้ดำเนินการตรวจตัวอย่างดีเอ็นเอของผู้ที่อาจเป็นลูกของผู้สูญหาย บรรดาคุณยายแห่ง พลาซา เดอ มาโย—ผู้ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันให้มีการใช้กฏหมายนี้ - มีพันธมิตรสำคัญคือประธานาธิบดีคริสตินา เฟอร์นานเดซ (Cristina Fernández) ผู้กล่าวว่า “การหาลูกหลานจนพบ ถือเป็นชัยชนะสำหรับหลักนิติรัฐ”
คดีเหล่านี้โยงใยไปถึงกลุ่มชนชั้นสูงในสังคมอาร์เจนตินาด้วยเช่นกัน เออร์เนสตินา เฮอเรอรา เดอ โนเบิล (Ernestina Herrera de Noble) ซึ่งเป็นเจ้าของกลุ่มบริษัทคลาแรง (Clarin) บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ผลิตสื่อนานาชนิด ถูกกล่าวหาว่าได้รับการสนับสนุนทางการเงินด้วยความกรุณาจากนายพลวิเดลา ทั้งยังถูกกล่าวหาจากกลุ่มนักสิทธิมุษยชนและคุณยายแห่ง พลาซา เดอ มาโย ว่า เออร์เนสตินา เฮอเรอรา เดอ โนเบิลได้ลูกบุญธรรมทั้งสองของเธอมาอย่างไม่ถูกต้องตามกฏหมาย โดยกลุ่มคุณยายแห่ง พลาซา เดอ มาโย เชื่อว่าเด็กทั้งสองที่กล่าวมานี้เกิดในค่ายกักกันเมื่อสามสิบสี่ปีที่แล้ว
นายพลเรนาลโด บิกโนเน
เมกาคอสซา ของอาร์เจนตินาแผ่ไปสู่ทุกภาคส่วนของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจากศาลยุติธรรมอันใหญ่โตน่าเกรงขามในกรุงบัวโนส ไอเรส ไปจนถึงสถานที่อันสมถะอย่างศาลท้องถิ่น ในหลายกรณี การดำเนินคดีได้ถูกจัดขึ้นในสนามกีฬาเทศบาลที่เปลี่ยนสภาพให้กลายเป็นศาล โดยสถานที่ที่ใช้เป็นศาลเพื่อดำเนินคดีกับนายพลเรนาลโด บิกโนเน ก็คือ สนามกีฬาโพลิเดอพอร์ติโว ของ เทศบาล ฟลอริดา โอเอสเต (Polideportivo Municipal Florida Oeste) —และที่นั่นคือสถานที่ที่คณะผู้พิพากษาศาลอาญาแห่งชาติ หมายเลขหนึ่ง แห่ง ซานมาร์ติน (Federal Criminal Oral Tribunal No 1 of San Martin) อ่านคำพิพากษาตัดสินนายพลเรนาลโด บิกโนเน
เมื่อพฤศจิกายนที่แล้ว ผมได้ไปอยู่ในที่ที่บิกโนเนและเจ้าหน้าที่อีกหกคนเดินทางมาถึงในวันแรกของการดำเนินคดี ผมจำเขาได้ดี—ความรู้สึกตึงเครียด ตาคู่เล็กๆ และกลิ่นไอแห่งความไม่สะทกสะท้าน หรืออาจจะเป็นความรู้สึกว่าเขาเหนือกว่าผู้อื่นที่นายพลบิกโนเนมี ช่างต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับใบหน้าที่เต็มไปด้วยความไม่แน่ใจของเหล่าญาติมิตรคคของเหยื่อ ที่ในแต่ละวันต่างตั้งอกตั้งใจมารวมตัวกันในมุมหนึ่งของสนามกีฬาโพลิเดอพอร์ติโว คดีนี้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหกเดือนจนกระทั่งมีการพิพากษาตัดสินนายพลบิกโนเน เวลานั้นเป็นเป็นเวลาที่ครอบครัวตระหนักว่าสุดท้ายแล้วความยุติธรรมก็เกิดขึ้น ดังที่เอสเตลา เดอ คาร์ลอตโต (Estela de Carlotto) คุณยายแห่ง พลาซา เดอ มาโย ผู้ต่อสู้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยกล่าวว่า “แม้ความยุติธรรมจะมาสาย แต่ก็มาถึง”
เผด็จการทหารมักชอบใช้คำกล่าวสวยหรู ซึ่งเผด็จการอาร์เจนตินาก็ไม่ได้อยู่ในกลุ่มยกเว้นจากลักษณะที่กล่าวมา พวกเขาเรียกระบอบเผด็จการอันโหดร้ายนี้ว่า “กระบวนการปฏิรูปประเทศ” (National Reorganisation Process) ซึ่งแท้จริงแล้วคือการสังหารหมู่อย่างทารุณ คือ“กระบวนการ”เปลี่ยนอาร์เจนตินาให้เป็นรัฐก่อการร้าย ที่ฝังภาพฝันร้ายของ เอล เดสแอปาเรซิโด (el desaparecido) หรือ บุคคลสูญหาย ลึกลงไปในจินตนาการของชาวอาร์เจนตินา ผู้ละเมิดมักกล่าวอ้างว่า บุคคลสูญหายไม่มีปรากฏ ไม่มีตัวตน ไม่อยู่ในปัจจุบัน การทำให้คนหายไปเป็นวิธีการในการหลบเลี่ยงการถูกลงโทษ เพราะเชื่อกันว่าญาติจะไม่สามารถดำเนินคดีตามกฏหมายได้หากไม่พบศพของผู้สูญหาย เมื่อหาศพไม่พบ ก็เหมือนไม่มีการก่ออาชญากรรม
แต่ในที่สุดวิธีการแบบนี้ก็ยังล้มเหลว ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการค้นพบร่างของผู้เสียชีวิต และมีการดำเนินการค้นหาว่าเขาเหล่านั้นคือใคร ผู้มีส่วนสำคัญในการนี้คือกลุ่มนักมานุษยวิทยานิติเวชของอาร์เจนตินาที่ขุดค้นเหยื่อนิรนามเหล่านี้จากที่ศพถูกฝังไว้อย่างลับๆ และดำเนินการหาตัวตนของเหยื่อความบ้าคลั่งของทหาร ซึ่งมีจำนวนนับพันอย่างยากลำบาก
ตั้งแต่ เมกาคอสซา ได้เริ่มขึ้น ทหารจำนวน 114 นาย ถูกพิพากษาว่ามีความผิดในอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ นับเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ของระบบยุติธรรม การดำเนินคดีต่อผู้ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติคงไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากไม่มีการตัดสินใจสำคัญที่ประกาศยกเลิก "Law of Due Obedience" และ "Law of Full Stop" ซึ่งรัฐบาลเผด็จการทหารใช้เป็นเครื่องมือป้องกันตัว [กฏหมายนี้มีสาระสำคัญคือการยับยั้งมิให้ประชาชนมีสิทธิ์ฟ้องร้องเอาผิดเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาได้--ผู้แปล]
กฏหมายเช่นนี้ได้ถูกนำมาใช้ในปี 2530 โดยประธานาธิบดีราอูล อัลฟอนซิน (Raúl Alfonsín) ผู้นำคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งหลังยุคเผด็จการทหารครองอำนาจ ประธานาธิบดีผู้นี้ต้องดำเนินนโยบายเพื่อนำอาร์เจนตินาไปสู่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอย่างระมัดระวัง เพราะยังเกรงว่าประเทศจะถดถอยไปสู่สภาวะของการปกครองโดยทหารอีก การบังคับใช้ Law of Full Stop นั้นหมายถึงว่าจะมีผู้ละเมิดจำนวนนับร้อยที่ได้รับการละเว้นจากการถูกลงโทษ ในจำนวนนี้ หลายคนยังได้มีโอกาสใช้ชีวิตอย่างเป็นสุขท่ามกลางบุคคลอันเป็นที่รัก แม้ว่าหลายคนกลายเป็นผู้วิกลจริต และจำนวนมากหลบหนีออกนอกประเทศ และทั้งพยานและผู้รอดชีวิตก็ได้เสียชีวิตไปในขณะที่รอให้มีการดำเนินคดี
ประธานาธิบดีคริสติน่า เฟอร์นานเด็ซ
นับตั้งแต่กระบวนการปกป้องผู้กระทำผิดสิ้นสุดลงในปี 2546 ได้มีการสอบสวนคนจำนวน 1500 คน รวมถึง พลเรือนผู้ร่วมมือกับเผด็จการทหาร ในข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ทำให้ศาลพิจารณาคดี เมกาคอสซา ต้องทำงานอย่างไม่หยุดหย่อน มีบางกลุ่มเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการพิจารณาคดีนี้—เช่นพระระดับสูงจากโบสถ์แคธอลิก เป็นต้น อ้างว่าการดำเนินคดีเหล่านี้ไม่เป็นผลดีกับบรรยากาศการปรองดอง—แต่ต้องยกความดีให้ประธานาธิบดีเฟอร์นานเด็ซ ที่ยังผลักดันให้มีการดำเนินการต่อไป
ความตั้งใจประธานาธิบดีเฟอร์นานเด็ซ แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของเธอกับผู้นำประเทศละตินอเมริกาอื่นๆที่เลือกการนิรโทษกรรมแทนการลงโทษ เช่นในกรณีของประธานาธิบดีลูอิส อินาซิโอ ลูลา เดอ ซิลวา(Luiz Inácio Lula de Silva) แห่งประเทศบราซิลที่ยืนตามคำตัดสินของศาลฎีกาที่กฏหมายนิรโทษกรรมงดเว้นการเอาผิดกับผู้ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่ภายใต้การปกครองของเผด็จการทหารระหว่างปี 2507-2528สำหรับญาติของเหยื่อผู้รับเคราะห์แล้ว การพิจารณาคดีดูเหมือนว่าจะเป็นไปอย่างเชื่องช้า กอนซาโล คอนเต (Gonzalo Conte) แห่ง Organisation Memoria Abirerta (Open Memory) ให้ความเห็นว่า “หากไม่มีการพิจารณาให้เร็วขึ้น กระบวนการยุติธรรมที่จะเอาผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดมาตัดสิน คงใช้เวลาสักสามทศวรรษ” ซึ่งก็เป็นจริงเพราะการพิจารณาคดีจะจบลงในปี 2573 หากยังดำเนินไปด้วยอัตราความเร็วเท่าที่เป็นอยู่
ข้อมูลของศูนย์สังคมและนิติศึกษา (Centre for Legal and Social Studies) ที่ตั้งอยู่ในกรุงบัวโนส ไอเรส ระบุว่า ผู้ละเมิดหลายสิบราย—ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชายสูงวัย—เสียชีวิตลงไปก่อนถูกพิจารณาคดีในศาล และผู้ต้องสงสัยอีกประมาณ 230 รายเสียชีวิตลงขณะอยู่ในระหว่างการสืบสวนและการการดำเนินการที่เชื่องช้า ทำให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติออกมาสนับสนุนข้อเรียกร้องของนักสิทธิมนุษยชนของอาร์เจนตินา และญาติของเหยื่อ ที่ให้คณะผู้พิพากษาดำเนินการในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมต่อมนุษยชาติอย่างรวดเร็ว
มีการชี้นิ้วกล่าวหาระบบตุลาการ ว่าผู้พิพากษาขาดเชี่ยวชาญ—หรือมีสัญญานที่คนจำนวนหนึ่งเห็นว่า เป็นการสมรู้รวมคิดของระบบศาลยุติธรรมเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการฆาตกรรมที่เกิดขึ้น—ซึ่งเห็นได้จากความไม่เต็มใจในการสืบสวนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน หนังสือพิมพ์ชื่อดัง พาจินา โดเซ (P`agina/12) ลงข่าวว่าผู้พิพากษาหลายคนกำลังถูกสอบสวนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นช่วงรัฐบาลเผด็จการ
อย่างไรก็ตาม การสงวนท่าทีที่เกิดขึ้นในระบบกระบวนการยุติธรรม ต้องจำนนต่อเสียงเรียกร้องอยากอึกทึกครึกโครมที่มาจากเหล่าบรรดาหญิงชราที่เป็นสมาชิกของกลุ่มคุณยายแห่ง พลาซา เดอ มาโย และภาคีของกลุ่ม คือกลุ่มแม่แห่ง พลาซา เดอ มาโย ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เมกาคอสซา นั้นเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของพวกเธอ
จากสวนอันร่วงโรยของพลาซา เดอ มาโย—จตุรัสซึ่งอยู่ตรงข้ามกับทำเนียบรัฐบาล ในกรุง บัวโนส ไอเรส—แม่และยายที่ไม่เคยให้การสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นในอาร์เจนตินาถูกลืม หรือได้รับการให้อภัย หญิงเหล่านี้คือผู้โพกผ้าสีขาวที่ปักชื่อของบุคคลอันเป็นที่รักของตนไว้บนศรีษะเป็นดังเช่นสัญญลักษณ์สากลของผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน กว่าสามสิบปีที่พวกเธอได้ถือป้ายทำมือที่มีรูปขาว-ดำคร่ำคร่าของลูกชาย ลูกสาว สามี ภรรยา ผู้สูญหาย แต่ไม่เคยถูกลืม
เสียงเรียกร้องของเหล่าแม่และยาย ที่ผลักดันเรียกร้องอย่างไม่ท้อถอย ว่า Los desaparecidos, que digan donde est`an! –ผู้สูญหาย บอกเราว่าเจ้าอยู่ที่ใด! –เสียงเรียกนี้ดังไปทุกห้องพิจารณาคดีที่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ เมกาคอสซา ค่อยๆปรากฏขึ้นมา
เมื่อปีที่ผ่านมา ในวันที่อากาศอบอุ่นของเดือนธันวาคม ผมเห็นภาพหญิงกลุ่มนี้เดินเข้ามาในศาลพร้อมป้ายทำมือของพวกเธอ ในวันแรกของการพิจารณาคดี เมกาคอสซา ที่เกิดขึ้นในเอสมา ที่ซึ่งบุคลากรจากกองทัพจำนวนสิบเก้านายถูกไต่สวนคดีอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ การไต่สวนเริ่มขึ้นในเวลาเที่ยงวัน ช้ากว่ากำหนดการถึงสองชั่วโมง จำเลยสิบเก้าคนที่ถูกใส่กุญแจมือ เดินเข้ามาในศาลเพื่อรับฟังข้อหา การมีส่วนเกี่ยวข้องกับ การทำทารุณกรรม สูญหาย และสังหารประชาชนจำนวนแปดสิบเก้าคน ในการนี้พยานกว่า 300 คนถูกเบิกตัวเพื่อมาให้การ
มีการประมาณการว่าผู้คนกว่า 5,000 คนถูกส่งเข้ามายังเอสมา มีไม่ถึง 200 คนรอดชีวิตออกไป ผู้รอดชีวิตคนหนึ่งคือ เอ็นริเก ฟุกมาน (Enrique Fukman) ผู้เป็นสมาชิกของสมาคมอดีตผู้ถูกคุมขังและสูญหาย (the Association of Former Detainees and Missing People) “ผมถูกจับไปตอนเที่ยงวันเสาร์” เขาระลึกถึงเหตุการณ์ที่ถูกจับ การทรมานและการสอบสวนก็ได้เริ่มต้นขึ้นทันทีที่เขาถูกโยนเข้าไปในรถ “ผมทำเป็นไม่รู้เรื่อง และเขาก็เริ่มใช้บุหรี่จี้ผม”ฟุกมานกล่าวด้วยเสียงที่สงบและหนักแน่น เขาถูกนำตัวไปยังเอสมา มีการปิดตาและใส่กุญแจมือเขาในขณะที่ถูกนำตัวลงไปที่ชั้นใต้ดิน เขาถูกเปลื้องผ้าออกและตรึงเข้ากับที่นอนโลหะ ที่ซึ่งเขาถูกทิ่มแทงและทรมานด้วยปฏักไฟฟ้า “นั่นเป็นวิธีการที่เอสมา ต้อนรับผม” เขากล่าว
เอสมา เป็นหนึ่งในห้าสถานควบคุมที่ใหญ่ที่สุด ที่กลายเป็นแกนหลักของปฏิบัติการก่อการร้ายโดยรัฐ แต่ละที่มีชื่อที่ฟังดูไม่มีพิษภัย แต่ซ่อนความน่าสะพรึงกลัวเอาไว้ อย่างเช่น กรีฑาสโมสร ของเมือง บัวโนส ไอเรส (the Athletic Club) แคมโป เดอ มาโย (Campo de Mayo) เดอะ เพิร์ลา (the Perla) หรือ ไข่มุก ที่อยู่ในคอร์โดบา (Córdoba) และ เวซูบิโอ (Vesubio) โดยที่เวซูบิโอ จะมีป้ายแขวนไว้หน้าทางเข้าห้องทัณฑกรรมว่า si lo sabe cante, si no aguante ซึ่งมีความหมายว่า หากรู้จัก จงร้องออกมา ถ้าไม่อย่างนั้นก็จงทนรับความเจ็บปวด!
เอสมา ซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือของกรุงบัวโนส ไอเรส ในปัจจุบันได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ไปแล้ว ผมเดินผ่านโถงทางเดิน ผ่านห้องอาหาร ไปยังชั้นใต้ดิน และที่นั่น สุดปลายทางคือ ห้องหมายเลข 12 13 และ14 ที่ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นแห่ง วัน อาทิตย์ และเดือนแห่งความโหดร้ายทารุณในนรก
คดีเมกาคอสซา ของเอสมา บางคดีเป็นที่รู้จักกันดี หนึ่งในนั้นคือกรณีของนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ โรดอลโฟ วอลช์ (Rodolfo Walsh) เขาถูกลักพาตัวหลังจากที่เขียนจดหมายวิพากษ์ถึงรัฐบาลเผด็จการทหาร ครั้งสุดท้ายที่มีผู้เห็นวอลช์ขณะมีชีวิต คือตอนที่เขาอยู่ในเอสมา กรณีอื่นๆประกอบด้วยการหายตัวไปของหญิงผู้ก่อตั้งขบานการแม่แห่งพลาซา เดอ มาโย สามคน—ได้แก่ อซูเซนา วิลลาโฟลร์ (Azucena Villaflor) มาริอา พอนเช (María Ponce) และเอสเธอ บาลเลสทริโน (Esther Ballestrino) —และการฆาตกรรมแม่ชีแคธอลิกชาวฝรั่งเศสชื่อ เอลิซ โดมง (Alice Domon) และเลโอนี ดูเกต์ (Leonie Douquet) ร่างของแม่ชีทั้งสองถูกพบในหลุมศพนิรนามที่มีป้าย “เอ็น เอ็น” (no name) ในสุสาน
เอสมามีผู้บัญชาการคือจอมพลเอ็ดดูอาร์โด มาซเซรา (Admiral Eduardo Massera) ผู้ซึ่งเป็นแกนนำสำคัญของสงครามสกปรก มาซเซราเป็นสมาชิกรัฐบาลทหารเผด็จการทหารชุดแรกที่ปกครองอาร์เจนตินาหลังการรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจการปกครองในปี 2519/1976 จากประธานาธิบดี มาเรีย เอสเตลา เดอ เปรอง (María Estela de Perón) มาซเซราถูกตั้งข้อหาทำทารุณกรรม ฆาตกรรม และลักพาตัวเด็กแรกเกิด ขณะที่มารดาอยู่ในระหว่างการถูกคุมขัง แม้ว่าข้อหาที่มาซเซราได้รับจะมีความรุนแรงมาก แต่เขาก็จะไม่ถูกดำเนินคดี เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แพทย์หกคนวินิจฉัยว่าเขาไม่อยู่ในสภาพที่จะถูกดำเนินคดีหรือถูกไต่สวนได้เนื่องจากมีปัญหาสมองเสื่อมจากความชราภาพ—ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกันกับที่นายพลเผด็จการชาวชิลี ออกุสตุส พิโนเช (General Augusto Pinochet) ผู้เสียชีวิตด้วยโรคชราในบ้านพักของตนเอง ใช้เป็นข้ออ้าง
แม้ว่ามาซเซราจะไม่ถูกดำเนินคดี แต่ก็มีความคืบหน้าในกรณีของเอสมา นาวาเอกจอร์จ “ไทเกอร์” อคอสตา (Captain Jorge “Tiger” Acosta) ผู้เป็นหนึ่งในนายทหารสำคัญที่เป็นผู้บริหารค่าย ที่ยอมรับว่า “ผู้คนถูกคุมขัง” และมีการก่ออาชญากรรมเกิดขึ้นที่นั่น อคอสตายังยอมรับว่า “ความผิดพลาด” ครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นที่เอสมา คือการที่—“นักโทษไม่ควรจะได้ออกไปทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่” เขากล่าว ทหารระดับสูงในสายการบัญชาที่เอสมาอีกผู้หนึ่งคือนาวาเอกอัลเฟรโด แอสทิสซ์ (Captain Alfredo Astiz) ผู้เป็นที่รู้จักกันดีในนามของ “ฑูตมรณะผมสีบลอนด์” ภาพลักษณ์แบบอารยันของเขาทำให้แอสทิสซ์ดูเหมือนนาซีจากค่ายกักกันชาวยิว เขาทรมานผู้คนนับร้อย
ในช่วงทศวรรษ 2510 ขณะที่แอสทิสซ์ยังอยู่ในช่วงอายุยี่สิบ เขาแทรกซึมเข้าไปในกลุ่มแม่แห่งพลาซา เดอ มาโย ซึ่งเป็นการกระทำที่นำไปสู่การการหายตัวไปของของหญิงสามคนซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งขบานการแม่แห่งพลาซา เดอ มาโย และแม่ชีแคธอลิกสองคน เขายังเป็นผู้รับผิดชอบในลักพาตัว ทรมาน ที่นำไปสู่การสังหารวัยรุ่นอายุสิบเจ็ดปีชาวสวีเดนชื่อ แดกมาร์ ฮาเกลิน (Dagmar Hagelin)
ในการให้สัมภาษณ์ของเขา แอสทิสซ์ผู้ซึ่งมีพฤติกรรมต่อต้านสังคม โอ้อวดว่าตนเองเป็น “บุคคลที่มีความพร้อมที่สุดด้านเทคนิคในการฆ่านักการเมืองและสื่อมวลชน”—แอสทิสซ์เป็นคนขลาด ในเดือนเมษายน 2525/1982 ช่วงสงครามเกาะฟอล์คแลนด์ (Falklands) เขายอมยกธงขาวให้กับกองกำลังขนาดเล็กของอังกฤษโดยมิได้ยิงปืนต่อสู้ออกไปแม้สักนัดเดียว ภาพเดียวที่แสดงให้เห็นว่าเขาประจันหน้ากับกองทัพนั้น คือภาพที่แอสทิสซ์ลงนามยอมแพ้อังกฤษ อย่างไม่มีเงื่อนไข อยู่บนเรือหลวงพลิมัธ (HMS Plymouth)
การกระทำทารุณกรรมที่เอสมาเป็นไปอย่างไร้ขอบเขต ที่นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการนำเหยื่อนับร้อย หากไม่ใช่นับพัน บรรทุกใส่เครื่องบินและนำไปทิ้งทะเลหรือที่แม่น้ำ ริโอ เดอ ลา พลาตา (Río de la Plata) อันกว้างใหญ่ ในขณะที่ถูกนำไปทิ้งนั้นเหยื่อส่วนใหญ่ยังมมีชีวิตอยู่ แต่ถูกมอมยา และมัดมือเอาไว้
อดีตนักบินทหารเรือ ฮูลิโอ อัลแบร์โต พ็อค (Julio Alberto Poch) เป็นหนึ่งในจำนวนที่ถูกชี้ตัวและตั้งข้อหามีความเกี่ยวข้องกับเที่ยวบินมรณะ หลังจากที่ถูกจับในสเปน ก็ถูกเนรเทศและส่งตัวกลับอาร์เจนตินาเมื่อปีที่แล้ว ก่อนถูกจับกุม พ็อคเป็นนักบินให้กับสายการบินพาณิชย์ดัทช์ชื่อทรานซาเวีย (Transavia) หลังจากถูกจับผู้ร่วมงานจากสายการบินเดียวกันกับเขาให้การว่าพ็อคเคยอวดอ้างถึงการมีส่วนร่วมในปฏิบัติการเที่ยวบินมรณะ ขณะนี้พ็อคอยู่ในระหว่างการไต่สวนคดีเอสมา
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะตามคลื่นแห่งความยุติธรรมที่เคลื่อนตัวผ่านอาร์เจนตินาให้ทัน เมื่อเดือนที่ผ่านมาคณะตุลาการเริ่มต้นไต่สวนคดีเกี่ยวกับกลุ่มผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าหน้าที่ประจำ ออโตโมโตเรส ออร์เล็ตติ (Automotores Orletti) ที่เคยเป็นอู่ซ่อมรถและถูกปรับให้เป็นฐานในการปฏิบัติการคอนดอร์ (Operation Condor) ในช่วงสงครามสกปรก โดยปฏิบัติการนี้เป็นปฏิบัติการร่วมนานาชาติเพื่อปราบปรามทางการเมืองและปฏิบัติการด้านข่าวกรองที่จัดตั้งโดยกลุ่มเผด็จการทหารที่ปกครองในส่วนใต้ของกลุ่มประเทศละตินอเมริกา
อดีตอู่ซ่อมรถแห่งนี้มีชื่อที่เรียกกันเล่นๆว่า “สวน” สถานที่แห่งนี้ได้ถูกแปลงให้เป็นศูนย์กลางการทรมาน และสังหารอย่างเป็นระบบ เชื่อกันว่ามีนักโทษการเมืองประมาณกว่า 200 คนที่เคยผ่านเข้ามายังที่แห่งนี้ และก็ไม่ใช่แค่นักโทษจากอาร์เจนตินาเท่านั้น แต่ยังมีชาวชิลี อุรุกวัย ปารากวัย โบลิเวีย คิวบา อดีตนายทหารและเจ้าหน้าหน่วยราชการลับหกนายถูกแจ้งข้อหาลักพาตัว ทำทารุณกรรม และฆาตกรรม จำนวน 65 ราย
เมกาคอสซา ไม่ใช่เพียงแค่การดำเนินคดีเพื่อนำตัวคนผิดมารับโทษ แต่ยังเป็นการหาความจริงอย่างเป็นทางการให้กับประเทศอีกด้วย ในทางสัญญลักษณ์ มันคือเครื่องเตือนใจถึง คำปฏิญาณของชาวอาร์เจนตินาว่า นันคา ฮามาส (nunca jamás) – ซึ่งหมายถึงว่า ไม่มีวันอีกแล้ว ที่ประเทศนี้จะต้องมาไว้อาลัยและโศกเศร้าถึงอาชญากรรมต่อผู้ไม่มีทางสู้ ไม่ว่าจะเป็นชาย หญิง หรือเด็ก
คำปฏิญาณนี้เป็นสิ่งเตือนใจถึงคำของสื่อมวลชนชาวอเมริกัน ซิดนีย์ เอช ชานเบิร์ก (Sydney H. Schanberg) ซึ่งกล่าวถึงสงครามล้างเผ่าพันธุ์ในกัมพูชาว่า “แม้ว่าจะเป็นเรื่องทรมานใจที่เราจะต้องมาคิดถึงเรื่องที่เกิดขึ้นกับผู้รอดชีวิตอายุน้อยเหล่านี้ แต่เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องมีการบอกเล่าต่อกันไป ให้ตรงกับความจริงให้มากที่สุด และส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น ในการรับรู้เรื่องราวเช่นนั้นจะทำให้พวกเราที่เหลือไม่สามารถแกล้งฝืนว่า ความชั่วร้ายนั้นเป็นสิ่งยากที่จะหาพบบได้ในโลกใบนี้ หรือที่ร้ายยิ่งกว่า คือมันเป็นเพียงแค่การจินตนาการค”
ปีนี้ครบรอบ 200 ปีที่อาร์เจนตินามีอิสรภาพจากสเปน กระนั้นเงามืดที่เป็นผลจากความทารุณโหดร้ายของสงครามสกปรกยังคงปกคลุมเหนือการเฉลิมฉลองครบ 200 ปีนี้ ปีนี้เป็นปีแห่ง เมกาคอสซา ปีที่ผู้มีส่วนในอาชญากรรมที่จัดตั้งอย่างเป็นระบบเพื่อ สังหารหมู่ ต้องรับผิดชอบเป็นรายบุคคล กับอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่เขาเหล่านั้นได้ก่อไว้ เวลาได้ผ่านเลยไปกว่าสามสิบปีหลังยุคเผด็จการเรืองอำนาจ เป็นยุคที่มืดมนที่สุดในประวัติศาสตร์อาร์เจนตินา และ เมกาคอสซา ซึ่งเป็นการดำเนินคดีอาชญากรรมต่อมนุษยชาติครั้งใหญ่ที่สุดในโลก คือความพยามที่จะปิดฉากยุคนั้นลง เป็นครั้งเดียวและครั้งสุดท้าย
ที่มา: แปลจาก Antonio Castillo, “Justice came late, but it came”, http://inside.org.au/justice-came-late-but-it-came/, 5 July 2010
เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ: แอนโทนิโอ คาสทิโย เป็นสื่อมวลชนและอาจารย์ผู้สอนวิชาสื่อสารมวลชน ณ มหาวิทยาลัยซิดนีย์ หนังสือเล่มล่าสุดของเขาที่ตีพิมพ์เมื่อปีที่ผ่านมาคือ Journalism in the Chilean Transition to Democracy