วันพุธ, พฤศจิกายน 15, 2560

1 ทศวรรษคดี 112 ตอนที่ 1: สถิติและความเป็น ‘การเมือง’ ของคดีหมิ่นฯ - ประชาไท




1 ทศวรรษคดี 112 ตอนที่ 1: สถิติและความเป็น ‘การเมือง’ ของคดีหมิ่นฯ


2017-11-14
เมตตา วงศ์วัด
ที่มา ประชาไท


คดีที่เรียกติดปากว่า ‘หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ’ หรือความผิดตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาถูกพูดถึงมากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในทศวรรษที่ผ่านมา ในที่นี้จะนำเสนอปัญหาภาพรวมที่มีนัยสำคัญและพลวัตของมันอย่างกระชับที่สุด โดยจะแบ่งเป็น 3 ตอน อย่างไรก็ตาม แหล่งข้อมูลบางส่วนไม่สามารถอ้างอิงได้ครบถ้วนเนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อผู้ให้ข้อมูลหรือจำเลยในคดี

เบื้องแรก ขอนำเสนอบริบททางการเมืองของเรื่องนี้ กลไกการทำงานของรัฐ และสถิติจำนวนคดีเท่าที่ทราบและเข้าถึงได้เสียก่อน เราพบว่า

1. จำนวนคดี 112 สัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกกับบริบททางการเมือง เมื่อการประท้วงเข้มข้น การวิพากษ์วิจารณ์การเมืองรุนแรง คดีเหล่านี้ก็ปรากฏมากขึ้นตามไปด้วย จุดเริ่มต้นอาจพอกล่าวได้ว่า เป็นเพราะสถาบันกษัตริย์ถูกนำมากล่าวอ้างในการต่อสู้ทางการเมืองอย่างชัดเจน เช่น วาทกรรม “เราจะสู้เพื่อในหลวง” “ปฏิญญาฟินแลนด์” (กล่าวหาว่าฝ่ายตรงข้ามต้องการล้มล้างสถาบัน) “ผังล้มเจ้า” ฯลฯ รวมทั้งในการทำรัฐประหารปี 2549 ที่มีการอ้างอย่างชัดเจนถึงสาเหตุการยึดอำนาจว่า สถานการณ์ “หมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนชาวไทยอยู่บ่อยครั้ง” และทำให้การวิพากษ์วิจารณ์รัฐประหารของคนจำนวนหนึ่งจึงเกี่ยวพันไปกับสถาบันกษัตริย์ด้วย


ประจักษ์ ก้องกีรติ: 40 ปี 14 ตุลา-40 ปี ราชาชาตินิยมประชาธิปไตย

ชี้ติชมโดยสุจริต ฎีกายืนยกฟ้อง 'สนธิ-พวก' ไม่หมิ่นฯ ทักษิณ-ไทยรักไทย ปมเสวนาปฏิญญาฟินแลนด์

รายงาน: วิเคราะห์ ‘ผัง (การเมือง?)’ บทละครที่ไม่ต้องถามหาความจริง


2. ในช่วง 2 ปีแรกหลังการรัฐประหาร 2549 ผู้ที่เป็นเป้าหมายในการดำเนินคดีมักเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมืองโดยตรง เช่น นักปราศรัย นักการเมือง แต่ในช่วงหลังคดีนี้ถูกใช้กับประชาชนทั่วไปมากขึ้น เนื่องจากบทบาทของโซเชียลมีเดียขยายตัวอย่างมาก คดีโดยส่วนใหญ่มาจากการโพสต์เฟสบุ๊คซึ่งตามมาด้วยการลงโทษที่รุนแรงมาก เนื่องจากนับการโพสต์ 1 ครั้งเท่ากับ 1 กรรม ดังปรากฏโทษสูงสุดขณะนี้ (ปี 2560) อยู่ที่ 70 ปี (คดีวิชัย) รับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง

3. ช่วงปี 2552-2553 มีกระแส “การล่าแม่มดออนไลน์” สูงขึ้นมาก เพจที่โดดเด่น คือ เพจยุทธการลงทัณฑ์ทางสังคม (Social Sanction) หรือ SS รายงานของเครือข่ายพลเมืองเน็ตระบุว่า เพจนี้นำเสนอข้อมูลส่วนบุคคลของเป้าหมายที่เชื่อว่าหมิ่นสถาบันมากกว่า 40 ราย และส่งผลให้หลายรายต้องออกจากงาน บางรายกลายเป็นคดีความ จนกระทั่งเกิดเพจ Anti-SS ออกมาตอบโต้

4. ช่วงปี 2553-2555 เริ่มมีกิจกรรมรณรงค์เรื่องนี้อย่างมาก เนื่องจากมีคดีเกิดขึ้นไม่น้อยและเป็นข่าวอยู่ตลอดเวลา ขณะที่แรงกดดันจากต่างประเทศก็เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ไม่ว่าจากสหประชาชาติ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป องค์กรต่างประเทศอื่นๆ รวมถึงในเวทีกฎหมายระหว่างประเทศต่างๆ มีแถลงการณ์เรียกร้องและมีคำถามถึงรัฐบาลไทยในเรื่องนี้เรื่อยมา โดยเฉพาะเมื่อมีการเสียชีวิตของนายอำพล ตั้งนพกุล หรือ ‘อากง’ ในเรือนจำยิ่งเกิดการรณรงค์ทั้งในเชิงวิชาการ เช่น การเสวนาและบทความต่างๆ หรือในเชิงวัฒนธรรม เช่น บทกวี งานศิลปะ นิทรรศการ มีการเคลื่อนไหวทางสังคม เช่น กระแสฝ่ามืออากง, fearlessness walk, กลุ่มแสงสำนึก ฯลฯ ตลอดจนการล่ารายชื่อให้ทั้งยกเลิกกฎหมายนี้ นำโดยสมยศ พฤกษาเกษมสุข หรือข้อเรียกร้องที่อ่อนกว่านั้นให้แก้ไขกฎหมายที่ ครก.112 (คณะกรรมการรณรงค์แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112) รวบรวมหลายหมื่นรายชื่อยื่นต่อรัฐสภา โดยนำเสนอร่างกฎหมายที่จัดทำโดยคณะนิติราษฎร์ซึ่งแก้ไขส่วนสำคัญให้ชัดเจนขึ้น คือ ปรับโทษให้ต่ำลง กำหนดผู้ริเริ่มดำเนินคดี กำหนดเหตุยกเว้นโทษ ขณะเดียวกันก็เกิดกระแสต่อต้านการแก้ไขกฎหมายเช่นกัน เช่น กลุ่มหมอตุลย์ กลุ่มสยามประชาภิวัตน์ และแม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งขณะนั้นเป็น ผบ.ทบ.ก็เคยให้ความเห็นไล่ผู้ต้องการแก้ไข ม.112 ไปอยู่ต่างประเทศ และระบุว่า กลุ่มนิติราษฎร์เป็น “พวกสมองปลายเปิด

5. ก่อนหน้าการรัฐประหารของ คสช. ในยุครัฐบาลพลเรือน ช่วงที่มีเหตุการณ์ประท้วงใหญ่ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีจำนวนคดีเกิดขึ้นมากกว่าในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พอสมควร ทั้งนี้เพราะเกิดการชุมนุมใหญ่และความรุนแรงในปี 2552-2553 กระแสความคิดเห็นทางการเมืองจึงร้อนแรงตามไปด้วย จากนั้นปลายปี 2554 คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. เสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 112 แต่ไม่มีการตอบรับจากรัฐบาลใด

6. เมื่อเกิดการรัฐประหารครั้งล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2557 ผู้ที่มีบทบาททางการเมืองสูงและเคยมีประวัติวิจารณ์การเมืองเข้มข้นหลบหนีเพื่อลี้ภัยยังต่างประเทศเป็นจำนวนมากขณะเดียวกันจำนวนคดี 112 ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนเป็นสถิติสูงสุดในรอบสิบปี มีรายงานว่าเกิดจากการสั่งการให้รื้อคดีต่างๆ ที่ค้างอยู่ในชั้นตำรวจ ไม่ว่าจะด้วยเหตุที่หาผู้ต้องหาไม่ได้หรือเป็นคดียิบย่อยเกินไป ประกอบกับเป็นยุคที่การหาหลักฐานไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายปกติ ทหารสามารถควบคุมตัวใครก็ได้และทำการสอบสวนได้เองในค่ายทหารเป็นเวลา 7 วันก่อนจะส่งให้ตำรวจดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย บางส่วนขึ้นศาลทหาร บางส่วนขึ้นศาลอาญา (หลังมีการใช้ ม.44 ยกเลิกดำเนินคดีความมั่นคงในศาลทหาร) กระนั้น ทหารก็ยังมีอำนาจในการจับกุมผู้ต้องสงสัยไปสอบสวนในค่ายทหารได้ 7 วันจนถึงปัจจุบัน โดยทนายและญาติไม่สามารถเข้าร่วมฟังการสอบสวนด้วยได้ รวมทั้งมีรายงานการถูกซ้อมทรมานในคดีความมั่นคงด้วย





สถิติคดี 112 ทั่วประเทศในชั้นตำรวจ ปี 2550-2560


ปี 2550 จำนวน 36 คดี (รัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์)


เหตุการณ์สำคัญทางการเมือง: เวทีปราศรัยย่อยต่อต้าน คมช. ที่สนามหลวง และการชุมนุมของ นปก./ ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคไทยรักไทย/ ชุมนุมหน้าบ้าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์/ สนช.เสนอให้มาตรา 112 ครอบคลุมพระราชวงศ์และองคมนตรี (แต่ตกไป)/ ประชามติรัฐธรรมนูญ 2550/ เลือกตั้งทั่วไป (พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้ง)
ตัวอย่างคดีที่ปรากฏแก่สาธารณะ: โชติศักดิ์ และเพื่อน (ไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญ), บัณฑิต อานียา, โอลิเวอร์ (พ่นสเปรย์พระบรมฉายาลักษณ์), อาจารย์มหาวิทยาลัย (ออกข้อสอบเกี่ยวกับสถาบัน), จักรภพ เพ็ญแข (พูดที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT))

ปี 2551 จำนวน 55 คดี (รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และสมชาย วงศ์สวัสดิ์)

เหตุการณ์สำคัญทางการเมือง: กลุ่มย่อยและ นปช.ชุมนุมที่สนามหลวง/ ศาลรัฐธรรมนูญปลดสมัคร สุนทรเวช จากตำแหน่งนายกฯ/ พันธมิตรฯ ชุมนุม 193 วัน ยึดสนามบินขับไล่รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์/ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชทานเพลิงศพ ‘น้องโบว์’/ ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคพลังประชาชน
ตัวอย่างคดีที่ปรากฏแก่สาธารณะ: ดา ตอร์ปิโด หรือดารณี ชาญเชิงศิลปกุล (ปราศรัยที่สนามหลวง), บุญยืน ประเสริฐยิ่ง (ปราศรัยที่สนามหลวง), ชูชีพ ชีวสุทธิ์ (ปราศรัยที่สนามหลวง), แฮรี่ (เขียนนิยาย) สุลักษณ์ ศิวรักษ์ (พูดที่ ม.ขอนแก่น)

ปี 2552 จำนวน 104 คดี (รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)

เหตุการณ์สำคัญทางการเมือง: การชุมนุมประท้วงของ นปช. เดือนเมษายน
ตัวอย่างคดีที่ปรากฏแก่สาธารณะ: อุทัย (ใบปลิวที่เถียงนา จ.ร้อยเอ็ด), ทศพร (ถ่ายเอกสาร จ.นครราชสีมา), ปภัสชนัญญ์ ฉิ่งอินทร์ หรือ เจ๊แดงโคราช (เผาโลงศพจำลองเขียนชื่อ พล.อ.เปรม), สุวิชา (โพสต์รูปและข้อความทางอินเทอร์เน็ต), คธา (โพสต์เว็บบอร์ดเรื่องหุ้นตก), ใจ อึ๊งภากรณ์ (เขียนหนังสือ A Coup for The Rich), โจนาธาน เฮด(เชิญจักรภพมาบรรยายที่ FCCT), เบนโตะ (โพสต์เว็บบอร์ด), วันชัย (แจกใบปลิว), ณัฐ(ส่งอีเมล)

ปี 2553 จำนวน 65 คดี (รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)


เหตุการณ์สำคัญทางการเมือง: การชุมนุมประท้วงของ นปช.เดือนมีนาคม – พฤษภาคม มีผู้เสียชีวิตเกือบร้อยรายจากการสลายการชุมนุม

ตัวอย่างคดีที่ปรากฏแก่สาธารณะ: สนธิ ลิ้มทองกุล (นำข้อความของดา ตอร์ปิโด มาปราศรัยบนเวที พธม. ในปี 2551 อัยการสั่งฟ้องในปี 2553 ศาลฎีกายกฟ้องในปี 2560), อำพล หรือ อากง (ส่งเอสเอ็มเอสให้เลขานุการนายกฯ อภิสิทธิ์), พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง(ถูกแจ้งความกรณีพูดถึง”พ่อ”ในเวทีรางวัลนาฏราช ตำรวจเพียงเรียกสอบถาม ไม่มีการดำเนินคดี), สุริยันต์ (โทรแจ้ง 191 ขู่วางระเบิด รพ.ศิริราช), ธันย์ฐวุฒิ หรือหนุ่ม เรดนนท์ (เว็บมาสเตอร์เผยแพร่บทความใจ อึ๊งภากรณ์), สุชาติ นาคบางไทร (ปราศรัยบนเวทีสนามหลวง), ชนินทร์ หรือ ผู้พันสู้ (โพสต์เฟสบุ๊ค), เจ๋ง ดอกจิก (ปราศรัยและชี้มือขึ้นฟ้าประกอบ)

ปี 2554 จำนวน 37 คดี (รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)

เหตุการณ์สำคัญทางการเมือง: การชุมนุมรำลึกเหตุการณ์ปี 2553, เลือกตั้งทั่วไป (พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง)
ตัวอย่างคดีที่ปรากฏแก่สาธารณะ: สุรชัย แซ่ด่าน (ปราศรัยในที่ต่างๆ รวม 5 คดี), เอกชัย(ขายซีดีสารคดีสำนักข่าว ABC ของออสเตรเลียและขายเอกสารวิกิลีกส์), เสถียร (ขายซีดีในที่ชุมนุม) จตุพร พรหมพันธ์ (ปราศรัยครบรอบ 1 ปี 10 เมษา), สมยศ พฤกษาเกษมสุข(บ.ก.นิตยสาร), สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (เขียนบทความ), โจ กอร์ดอน (แปลหนังสือ The King Never Smiles), สุรภักดิ์ (แอดมินเฟสบุ๊ค), นรเวทย์ (ถูกล่าแม่มด), นักปรัชญาชายขอบและคนอื่น (เขียนบทความ), ป้ายผ้าปัตตานี

ปี 2555 จำนวน 25 คดี (รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)


เหตุการณ์สำคัญทางการเมือง: ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการแก้ที่มา ส.ว.ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยฯ, เสธ.อ้ายชุมนุมแช่แข็งประเทศไทย, อำพล หรืออากง SMS เสียชีวิตในเรือนจำ, ครก.112 รวบรวมรายชื่อยื่นรัฐสภาเพื่อขอแก้ไขมาตรา 112
ตัวอย่างคดีที่ปรากฏแก่สาธารณะ: ฐิตินันท์ (ผู้ป่วยจิตเภท ลบหลู่พระบรมฉายาลักษณ์), ยุทธภูมิ (พูดไม่เหมาะสมตอนดูข่าวพระราชสำนัก), ก้านธูป (แสดงความคิดเห็นในเว็บบอร์ด)

ปี 2556 จำนวน 57 คดี (รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)

เหตุการณ์สำคัญทางการเมือง: รายการตอบโจทย์ที่พูดเรื่องกฎหมายหมิ่นฯ ถูกประท้วงและถูกระงับการออกอากาศ/ ครบรอบ 40 ปี 14 ตุลา/ รัฐบาลพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ‘เหมาเข่ง’ ‘สุดซอย’/ ชุมนุมต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม/ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยุบสภา/ กปปส.ประท้วง Shutdown Bangkok
ตัวอย่างคดีที่ปรากฏแก่สาธารณะ: เคนจิ (โพสต์เว็บบอร์ดและมีภาพในคอมพิวเตอร์), พิภพ (ขายหนังสือกงจักรปีศาจในที่ชุมนุมพันธมิตรฯ ปี 2549), อั้ม เนโกะ (ฟ้า พรทิพา แจ้งความ), เครือข่ายเฝ้าระวังและพิทักษ์ปกป้องสถาบันตระเวนแจ้งความ 13 สน. ละครเจ้าสาวหมาป่า

ปี 2557 จำนวน 99 คดี (รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และประยุทธ์ จันทร์โอชา)

เหตุการณ์สำคัญทางการเมือง: กปปส.ประท้วง ปิดคูหาเลือกตั้ง/ รัฐประหาร คสช.
ตัวอย่างคดีที่ปรากฏแก่สาธารณะ: จ่าประสิทธิ์ (ปราศรัย), สมศักดิ์ ภักดีเดช (เผยแพร่บทความ ใจ อึ๊งภากรณ์ ในเว็บไทยอีนิวส์), ยุทธศักดิ์ (คนขับแท็กซี่คุยการเมืองกับผู้โดยสาร), เฉลียว (อัปโหลดไฟล์เสียงบรรพตขึ้นเว็บ 4 share), คฑาวุธ (จัดรายการวิทยุออนไลน์), สมบัติ บุญงามอนงค์ (แชร์รูปภาพตัดต่อ กปปส.ในเฟสบุ๊ค), ทอม ดันดี (ปราศรัยและเผยแพร่คลิปปราศรัยในยูทูบ), อัครเดช (โพสต์เฟสบุ๊ค), สิรภพ (เขียนกลอนในเว็บบล็อก), ธเนศ (ส่งอีเมล), สมัคร (ทำลายพระบรมฉายาลักษณ์), ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม (ละครเวทีเจ้าสาวหมาป่า), ภรณ์ทิพย์ มั่นคง (ละครเวทีเจ้าสาวหมาป่า), โอภาส (เขียนฝาผนังห้องน้ำห้างสรรพสินค้า), กวี (อัพโหลดคลิปขึ้นยูทูบ), จารุวรรณและพวก (โพสต์เฟสบุ๊ค), บัณฑิต อานียา (แสดงความคิดเห็นในงานเสวนา), อารีย์ (โพสต์เฟสบุ๊ค), ปิยะ (โพสต์เฟสบุ๊คและส่งอีเมล), เธียรสุธรรม (โพสต์เฟสบุ๊ค), พงษ์ศักดิ์ (โพสต์เฟสบุ๊ค) ดูที่นี่

ปี 2558 จำนวน 116 คดี (รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา)

เหตุการณ์สำคัญทางการเมือง: ชุมนุมขนาดเล็กต่อต้านรัฐประหาร/ ตรวจสอบโครงการราชภักดิ์
ตัวอย่างคดีที่เกิดขึ้นปรากฏแก่สาธารณะ: ชโย (สนทนาในกล่องข้อความเฟสบุ๊ค), อัญชัญ (แชร์คลิปบรรพตในเฟสบุ๊ค), ธารา (โพสต์คลิปบรรพตในเว็บไซต์), หัสดินหรือบรรพต และพวกอีก 9 คน (ร่วมผลิตและเผยแพร่คลิปบรรพต), เงินคูณ-ศิวาพร (ร่วมผลิตและเผยแพร่คลิปบรรพต) , นิรันดร์ (เผยแพร่แถลงการณ์พระราชวังปลอม), เนส (เผยแพร่แถลงการณ์พระราชวังปลอม), ประจักษ์ชัย (เสนอชื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญ), ธิติ (โพสต์เฟสบุ๊ค), ศศิวิมล (โพสต์เฟสบุ๊ค), ชญาภา (โพสต์ข่าวลือรัฐประหารซ้อนในเฟสบุ๊ค), เสาร์ (ยื่นเรื่องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง), ธนิตศักดิ์ (ร่วมกันผลิตและเผยแพร่คลิปบรรพต), ณัฏฐิดา มีวังปลา หรือแหวน วัดปทุม (ข้อความในกลุ่มไลน์), ประทินและพวก คดีเตรียมป่วนไบค์ฟอร์แดด (พูดคุยในเรือนจำ), ฐนกร (กดไลค์เฟสบุ๊คและโพสต์เรื่องสุนัขทรงเลี้ยง), วิชัย (ปลอมเฟสบุ๊ค) ดูที่นี่

ปี 2559 จำนวน 101 คดี (รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา)

เหตุการณ์สำคัญทางการเมือง: จัดประชามติรัฐธรรมนูญ/ รณรงค์โหวตโน-โนโหวต/ นปช.ตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ

ตัวอย่างคดีที่เกิดขึ้นปรากฏแก่สาธารณะ: ฤาชา (โพสต์เฟสบุ๊ค), บุรินทร์ (คุยในกล่องข้อความเฟสบุ๊ค),

พัฒน์นรี หรือแม่จ่านิว (คุยในกล่องข้อความเฟสบุ๊ค), หฤษฎ์และณัฏฐิกา (คุยในกล่องข้อความเฟสบุ๊ค), อานันท์ (พูดถึงสมเด็นพระเทพฯ), เกษร (โพสต์เฟสบุ๊ค), สราวุทธิ์ (โพสต์เฟสบุ๊ค), สุธี (โพสต์เฟสบุ๊ค),

สุนทร (โพสต์เฟสบุ๊ค), เค (โพสต์เฟสบุ๊ค), อมรโชติซิงค์ (ทะเลาะกับบุคคลอื่น), จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (แชร์ข่าวบีบีซีในเฟสบุ๊ค) ดูที่นี่

มกราคม - กันยายน 2560 จำนวน 45 คดี (รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา)

เหตุการณ์สำคัญทางการเมือง: ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560
ตัวอย่างคดีที่เกิดขึ้นปรากฏแก่สาธารณะ: สุริยศักดิ์ (ส่งข้อความในกลุ่มไลน์), ประเวศ ประภานุกูล (โพสต์เฟสบุ๊ค), ดนัย (โพสต์เฟสบุ๊ค), วรรณชัยและพวกรวม 5 คน (แชร์เฟสบุ๊คสมศักดิ์ เจียมฯ), เอกฤทธิ์ (โพสต์เฟสบุ๊ค), เยาวชนหลายคนและผู้ใหญ่ (วางเพลิงเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ) ดูที่นี่


00000

จากจำนวนคดีทั้งหมดที่นำเสนอมา คดีส่วนใหญ่ยังอยู่ในระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานในชั้นตำรวจ คดีที่ตำรวจสั่งฟ้องต่ออัยการไปแล้วมีจำนวน 254 คดี สั่งไม่ฟ้อง 137 คดี และงดการสอบสวน 110 คดี การงดสอบสวนหมายถึง คดีที่หาตัวผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้เนื่องจากเหตุเกิดในโลกออนไลน์และเจ้าของแพลตฟอร์มรายสำคัญอย่างยูทูบและเฟสบุ๊ค ยังมีนโยบายไม่เปิดเผยข้อมูลผู้ใช้เป็นหลัก (อ่านที่นี่) นอกจากนี้มีกรณีที่อยู่ในการดำเนินการของสำนักงานอัยการสูงสุดอีก 62 คดี (คดีที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร อำนาจการสอบสวนและหาพยานหลักฐานอยู่ที่อัยการ) และมีคดีที่อยู่ในอำนาจของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ 23 คดี

ด้านไอลอว์ระบุว่า หลังรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 จนถึงปัจจุบัน สามารถเข้าถึงและติดตามคดี 112 ที่เกี่ยวพันกับการแสดงออกได้ทั้งหมด 90 คดี (อ่านที่นี่) ในจำนวนนี้ต้องขึ้นศาลทหาร 38 คดี หรือคิดเป็น 34.2%


รายงาน: รู้จักศาลทหาร รับรู้สภาพการณ์ผู้ต้องหาพลเรือน

ไกลแค่ไหนคือใกล้: การสู้คดียาวนาน (พิเศษ) ในศาล (พิเศษ) ทหาร


คณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

คดี 112 นับเป็น ‘เผือกร้อน’ สำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐในทุกองคาพยพ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่กลไกรัฐเล็กๆ ไม่อาจดำเนินการไปตามปกติ จึงต้องเกิดการควบคุมดูแลจากส่วนกลาง เราไม่ทราบแน่ชัดว่า คณะกรรมการส่วนกลางเกิดขึ้นเมื่อไร แต่ที่ชัดเจนคือในปลายปี 2552 สำนักงานตำรวจแห่งชาติตั้ง คณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และมีการปรับปรุงแนวทางการทำงานอีกครั้งในปี 2553 กลไกนี้ยังคงทำงานมาจนถึงปัจจุบัน

คณะกรรมการประกอบด้วยบุคลากรระดับรองผู้บัญชาการ สตช. ผู้บัญชาการและผู้บังคับการหน่วยต่างๆ แนวทางหลักก็คือ ตำรวจในทุกท้องที่ต้องรายงานข้อเท็จจริงโดยละเอียดพร้อมความเห็น ในคดี 112 และคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3) เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นสถาบันกษัตริย์ ให้คณะกรรมการชุดนี้พิจารณาว่าเข้าข่ายความผิดหรือไม่ ... ไม่มีข้อยกเว้น

โดยส่วนใหญ่แล้วคณะกรรมการจะสั่งฟ้องทั้งหมดหากเข้าองค์ประกอบอยู่บ้างเพื่อให้อัยการและศาลเป็นผู้พิจารณา บรรยากาศโดยรวมนั้นพบว่า ตำรวจมีความหวาดกลัวว่าหากสั่งไม่ฟ้องจะโดนข้อกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดีเช่นกัน ในส่วนที่จะสั่งไม่ฟ้องได้นั้นจึงต้องไม่เข้าองค์ประกอบความผิดอย่างแน่ชัดซึ่งก็มีอยู่จำนวนไม่น้อย เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีความมั่นคงที่ประชาชนคนใดก็สามารถแจ้งความกล่าวโทษบุคคลอื่นได้โดยง่าย

มีข้อมูลที่ยืนยันได้ถึงความเข้มงวดในเรื่องนี้ เมื่อพนักงานสอบสวนรายหนึ่งทำความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดี 112 คดีหนึ่งซึ่งพาดพิงถึงสมเด็จพระเทพฯ โดยไม่ผ่านคณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่น หลังการรัฐประหารกรณีนี้ถูกหยิบมาพิจารณาใหม่โดยคณะกรรมการฯ และให้สั่งฟ้อง ขณะที่พนักงานสอบสวนรายนั้นถูกลงโทษทางวินัย ถูกย้ายไปประจำการยังต่างจังหวัด เขาหลั่งน้ำตาเล่าถึง “ความผิดพลาด” ที่เกิดขึ้นเมื่อต้องเป็นพยานในศาลในฐานะอดีตพนักงานสอบสวนในคดีดังกล่าว

อันที่จริงในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เคยมีการตั้ง “คณะกรรมการที่ปรึกษาคดีล่วงละเมิดสถาบัน” ทำหน้าที่สร้างเอกภาพในแนวทางดำเนินคดีระหว่างตำรวจกับอัยการ คัดกรองคดียิบย่อยออก ประเมินภาพรวมไม่ให้เรื่องนี้เสียหายต่อภาพลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์ แต่สุดท้ายเนื่องจากกรรมการมีความคิดที่หลากหลายมาก และประเด็น 112 ถูกทำให้เป็นการเมืองอย่างยิ่ง ทำให้คณะกรรมการชุดนี้ต้องยุติบทบาทลงในที่สุด (กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ (ปลัดกระทรวงยุติธรรมขณะนั้น) ให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์มติชน 24 ม.ค.2555) การดำเนินการคดี 112 จึงไม่ได้ถูกคำนวณผลลัพธ์ในทางการเมือง และขยายขอบเขตกว้างขวางอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

- - - - - - - - - - - - -

ในตอนหน้าเรา(ประชาไท)จะขยับเข้าใกล้สถานการณ์ปัจจุบันยิ่งขึ้น โดยจะพิจารณาถึงรายละเอียดปัญหาการพิจารณาคดีและประเด็น ‘การต่อสู้’ ของจำเลยในคดีนี้