วันจันทร์, พฤศจิกายน 27, 2560

ทำไมนโยบายยุทธศาสตร์ชาติไม่ตอบโจทย์เป้าหมาย ‘การเติบโตที่เป็นธรรมและยั่งยืน’ - รายงานประชาไท






รายงาน: ทำไมนโยบายยุทธศาสตร์ชาติไม่ตอบโจทย์เป้าหมาย ‘การเติบโตที่เป็นธรรมและยั่งยืน’


2017-11-25
ที่มา ประชาไท


อภิชาต สถิตนิรามัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อภิปรายในงานเสวนา "วิพากษ์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี: การมีส่วนร่วม ความยั่งยืน และการรับผิด" เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2560 ณ ห้องประชุม 101 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ประชาไทเรียบเรียงมานำเสนอ

อภิชาต สถิตนิรามัย





ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ฐานะทางกฎหมายเป็น พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งกำหนดให้มีโดยรัฐธรรมนูญ โดยเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 60 สภาพัฒน์ได้เผยแพร่ร่างยุทธศาสตร์ชาติฯ (ฉบับเต็ม) ซึ่งมีฐานะเป็นต้นแบบและยังอยู่ในระหว่างการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติตัวจริง จึงถือได้ว่าร่างนี้เป็นพิมพ์เขียวของพิมพ์เขียว (ของสีเขียว)

เป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้ในแง่ทางเศรษฐศาสตร์คือ การเติบโตที่เป็นธรรมและยั่งยืน หรือเท่ากับ Growth, Inclusive, Green ซึ่งถือเป็นหลักการนำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้นจึงต้องมีการทดลองปรับใช้ และเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในแง่นี้ระบอบประชาธิปไตยจึงสำคัญ เพราะมันคือกระบวนการรวบรวมข้อมูลที่จะทำให้สังคมสามารถออกแบบกติกาหรือการสร้างสถาบันที่มีคุณภาพสูงได้

แต่ในความเป็นจริงแล้วเป้าหมายที่วางไว้เหล่านี้ เมื่อมีการกำหนดนโยบายจริงแล้วขัดแย้งกับตัวมันเอง เพราะไม่ได้ตอบโจทย์ในเรื่อง Growth, Inclusive, Green ที่แท้จริง

Growth? ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ต้องพัฒนานวัตกรรม มีนโยบายอุตสาหกรรมเกื้อหนุน สำคัญต้องมีบทลงโทษและการรับผิดต่อสังคม

แม้ธนาคารโลกจัดให้ไทยเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงแล้ว แต่ถ้าก้าวข้ามกับดับนี้ไม่ได้ ก็จะไปสู่สังคมแก่ก่อนรวย สังคมจะไม่สามารถรองรับคนชราได้ ซึ่งเป็นสังคมที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น ค่ารักษาพยาบาล เกิดวิกฤตเศรษฐกิจแบบค่อยๆตายช้าๆ ดังนั้น หากจะรวยได้ต้องผลิตสินค้าที่มีคุณภาพในต้นทุนที่แข่งขันได้

ความสามารถในการผลิต (Productivity) ของประเทศหนึ่งๆ คือรายได้ นอกจากปัจจัยการผลิตคือแรงงาน ทรัพยากรธรรมชาติ ก็ต้องมี นวัตกรรม (Innovation) มีเทคโนโลยี ความสามารถคิดค้นเป็นหัวใจสำคัญนำไปสู่ความสามารถการผลิตเพิ่มขึ้น และรายได้สูงขึ้นตามลำดับ

การจะสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆได้จำเป็นที่รัฐต้องมี นโยบายอุตสาหกรรม (IP: Industrial Policy) ไปช่วยให้การคิดค้นสิ่งใหม่ๆ โตเร็ว เศรษฐกิจเราก็จะโตเร็วตามไปด้วย

ดังนั้น สรุปได้ว่า IP -> Innovation -> Productivity -> Growth


ทำไมเอกชนไม่คิดค้นเอง ทำไมรัฐต้องมีนโยบายอุตสาหกรรมเข้ามาช่วยเหลือ?

ในทางทฤษฎี กลไกตลาดมีแรงจูงใจไม่เพียงพอจะให้เอกชนคิดค้นเพิ่มความสามารถในการผลิต การลงทุนการคิดค้น (Innovation) ในปัจจุบัน ทั้งประเทศเราลุงทุนการคิดค้น 1% ของ GDP และใน 1 % นั้นเอกชนลงทุนเพียง 20-30 %

เนื่องจาก Innovation ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นการคิดค้นครั้งแรกของโลก แต่อาจเป็นการนำเทคนิคการผลิตจากต่างประเทศมาดัดแปลงให้เข้ากับสังคมท้องถิ่นก็ได้ ซึ่งก็มีต้นทุนเช่นกัน และหากทดลองแล้วล้มเหลว นักธุรกิจรายนี้ก็จะขาดทุนคนเดียว แต่ถ้าสำเร็จจะมีคนเลียนแบบการผลิต กำไรของผู้คิคค้นจะลดลง ดังนั้น การลงทุนคิดค้น จึงมีน้อยกว่าจุดที่สังคมต้องการ (socially optimum)

นักธุรกิจจึงมี demand for innovation ต่ำ เพราะมองว่าโอกาสในการทำกำไรจาก innovation ต่ำ มากกว่ามองด้านข้อจำกัดในการสร้าง innovation เช่นขาดแคลนวิศวกร ฯลฯ

รัฐจึงควรกำหนด “นโยบายอุตสาหกรรม” (industrial policy) เพื่อส่งเสริมการลงทุนคิดค้นพัฒนา เพิ่มความสามารถการผลิตของประเทศให้แข่งขันได้ เช่น การให้เงินอุดหนุนผู้ลงทุนคิดค้นเพื่อลดต้นทุนการคิดค้น โดยรัฐเอาภาษีไปแจกให้เอกชนลงทุนในการเพิ่มความสามารถการผลิตของประเทศ ง่ายสุดคือการตั้งกองทุน เช่น ในเกาหลี จีน ไต้หวัน

คำถามคือจะคิดค้นอะไร สินค้าใด ขั้นตอนการผลิตใด เทคนิคแบบใด อะไรคืออุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐจะส่งเสริม?

ในแง่นี้ EEC (Eastern Economic Corridor โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก) ได้เลือกเป้าหมายอุตสาหกรรมไว้แล้ว


เงื่อนไขที่จะทำให้นโยบายอุตสาหกรรมประสบความสำเร็จ


ถอดบทเรียนจากเกาหลีใต้ ไต้หวัน ที่เคยทำนโยบายอุตสาหกรรมมาแล้ว

1. กระบวนการร่วมมือใกล้ชิดระหว่างรัฐกับเอกชน กระบวนการค้นคว้าความรู้ร่วมกัน(Embeddedness)


กระบวนการกำหนดนโยบายสำคัญกว่านโยบาย เช่น ในการเลือกอุตสาหกรรมเป้าหมาย ใครเป็นผู้เลือกอุตสาหกรรมเหล่านี้สำคัญกว่าตัวนโยบาย เพราะรัฐเอกชนมีข้อดีข้อเสียคนละด้าน ไม่มีฝ่ายใดมีข้อมูลสมบูรณ์ ต้องร่วมมือใกล้ชิดเพื่อกำหนดว่าอุตสาหกรรมไหนเป็นดาวรุ่ง และจะไม่ส่งเสริมอุตสาหกรรมไหน เป็นกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อดึงข้อมูล ดึงอุปสรรคออกมา เพื่อดูว่าทำไมไม่สำเร็จในการคิดค้น

ในทางกลับกัน ถ้ารัฐและเอกชนใกล้ชิดกันเกินไปก็นำไปสู่การเล่นพรรคเล่นพวกได้ โดยเฉพาะสาระสำคัญของ IP คือการแจกภาษีของภาครัฐให้กับเอกชน กลายเป็น “คอร์รัปชันทางนโยบาย” เช่น เลือกอุตสาหกรรมเป้าหมายผิด ให้ผลประโยชน์ที่ไม่สมควร

ดังนั้น ต้องหาความสมดุลระหว่างความใกล้ชิดกับความเป็นอิสระของรัฐที่จะไม่ถูกเอกชนกลืนกิน

2. แรงจูงใจและบทลงโทษ (carrot & stick)

รัฐต้องสร้างแรงจูงใจให้เอกชนในการคิดค้นนวัตกรรม รัฐจึงต้องแจกเงินซึ่งก็คือแจกแรงจูงใจ เช่นที่ทำใน EEC คือการแจกสิทธิพิเศษทางภาษีและที่ไม่ใช่ภาษี (ดังจะมีรายละเอียดในประเด็นถัดไป)

คำถามคือรัฐจะแจกถึงเมื่อไหร่ และหยุดแจกเมื่อไหร่ จะแจกใคร และจะไม่แจกใคร? ดังนั้น คีย์ของนโยบายอุตสาหกรรม คือต้องมีการลงโทษที่ชัดเจน เกณฑ์ต้องชัดเจนว่าจะตัดสิทธิ์เมื่อไหร่ อย่างน้อยต้องเป็นรูปธรรมที่ไม่ขึ้นกับการตีความตามอำเภอใจของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้รัฐเป็นอิสระจากเอกชน ไม่ให้เสียเงินกับเอกชนไปเปล่าๆ ตัวอย่างของจีน ไต้หวัน ที่เป็นเกณฑ์ในการการตัดความช่วยเหลือกับเอกชน เกณฑ์คือถ้าให้ความช่วยเหลือภายใน 5 ปีคุณต้องส่งออกให้ได้ 20 % ของกำลังการผลิต

3. ความรับผิดต่อสังคม (Accountability) เมื่อผู้กำหนดนโยบายปฏิบัติไม่สำเร็จก็ควรถูกถอดถอนได้ ถ้าถูกถอดถอนไม่ได้ก็ไม่จำเป็นต้องทำให้สำเร็จ


มองยุทธศาสตร์ชาติผ่านตัวอย่าง EEC แจกสิทธิประโยชน์ แต่ไม่ยกระดับความสามารถการผลิต

ECC ก็คือนโยบายอุตสาหกรรมหรือ IP ของรัฐไทยในปัจจุบัน ทั้งที่ตอนนี้ยังเป็นเพียงพิมพ์เขียวอยู่ แต่รัฐบาลเลือกเป้าหมายอุตสาหกรรมไว้แล้ว 10 ชนิด เป็นอุตสาหกรรมเก่า 5 ชนิด เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งเติบโตอยู่แล้วพอสมควรในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และอุตสาหกรรมใหม่ 5 ชนิด เช่น หุ่นยนต์ เศรษฐกิจดิจิทัล ไบโอเทค

3 เสาหลักของแรงจูงใจ 10 อุตสาหกรรมที่รัฐจะแจกใน EEC (หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็น IP ของรัฐบาลชุดนี้) มีแต่การแจกสิทธิประโยชน์ แต่ไม่มีบทลงโทษ ไม่มีความรับผิดต่อสังคม

1. การสร้าง Infrastructure
คือการลงทุนของรัฐเป็นแสนแสนล้านบาท ไล่ตั้งแต่การถมทะเล การสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 การสร้างรถไฟรางคู่ การสร้างมอเตอร์เวย์ การสร้างสนามบินอู่ตะเภา การสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

2. การแจกสิทธิพิเศษทางภาษีในระดับที่ไม่เคยแจกมาก่อน ภาษีนิติบุคคลของไทยต่ำสุดในอาเซียนในปัจจุบัน แต่ถ้าลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมใน EEC คุณจะมีสิทธิได้รับการยกเว้นภาษีนิติบุคคลสูงสุด 15 ปี (ภาษีจะลดเหลือเพียง 7.6% การดึงดูดลงทุนด้วยภาษี ทำให้รัฐเสียรายได้ภาษี 2.2 แสนล้านบาทในปี 2559) และผู้เชี่ยวชาญที่มาทำงานใน 10 อุตสาหกรรมนี้ก็จะได้ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเหลือเพียง 17 %

3. สิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษี เช่น การเช่าที่ดินได้สูงสุด 99 ปี การได้รับอนุญาตให้ทำธุรกรรมทางการเงินด้วยเงินตราต่างประเทศ และการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้เสร็จภายใน 1 ปี

สิ่งที่ขาดหายคือมาตรการ “การบังคับ” ให้ผู้ได้รับสิทธิพิเศษถ่ายทอดความสามารถทางเทคโนโลยีให้แก่ไทย ซึ่งเป็นบทเรียนสำคัญที่สุดจากประเทศเอเชียตะวันออกที่ข้ามพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

เป้าหมายของ IP คือการเพิ่มความสามารถทางการผลิตของประเทศ เป้าหมายของ IP จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะวัดความสำเร็จจากการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ปัจจุบันเอกชนในไทยขนเงินไปลงทุนในต่างประเทศมากกว่าต่างประเทศขนเงินมาลงทุนในไทย ดังนั้น การลงทุนไม่ได้สำคัญในตัวมันเอง เขาอาจมาใช้ประเทศเราเป็นฐานในการผลิต แต่ไม่ได้ทำให้เราผลิตเก่งขึ้น การลงทุนจะสำคัญเมื่อมันเพิ่มความสามารถในการผลิตให้ประเทศเรา

เสาวรัจ รัตนคำฟู ระบุในบทความในเว็บไซต์ TDRI ไว้ว่า “บทเรียนในอดีตจึงชี้ว่า การดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ โดยไม่ได้สร้างความสามารถทางเทคโนโลยีของตัวเอง และไม่ยกระดับทักษะของแรงงานไทย จะไม่เพียงพอที่จะทำให้ไทยกลายเป็นประเทศรายได้สูง อันที่จริง ประสบการณ์ของประเทศต่างๆ ในโลกก็ชี้ว่า ไม่มีประเทศใดที่สามารถหลุดพันจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางลำพังด้วยการลงทุนจากต่างชาติได้เลย”


หากไม่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ ผู้รับผิดไม่ใช่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ แต่เป็นนายกฯจากเลือกตั้ง

- รัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐบาลต้องแถลงนโยบายที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติต่อรัฐสภา และรัฐบาลต้องแสดงความสอดคล้องกันระหว่างร่างพ.ร.บ.งบประมาณประจำปีกับยุทธศาสตร์ชาติด้วย

- พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ฯ มาตรา 25 สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาเห็นว่า หน่วยงานของรัฐดําเนินการไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ฯ ให้สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภามีมติส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติพิจารณาดําเนินการต่อ

- พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ฯ มาตรา 26 การดําเนินการใดของหน่วยงานของรัฐไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติหรือแผนแม่บท ให้แจ้งให้แก้ไขปรับปรุง ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ดําเนินการแก้ไขปรับปรุง ให้พิจารณาเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบและสั่งการต่อไป ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ดําเนินการโดยไม่มีเหตุอันสมควรให้ถือว่าหัวหน้าหน่วยงานของรัฐนั้นจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และให้คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติแจ้งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบเพื่อดําเนินการ ตามหน้าที่และอํานาจต่อไป

- มาตรา 29 ให้วุฒิสภาชุดแรก ที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีอำนาจพิจารณาว่า การดําเนินการของหน่วยงานของรัฐไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติหรือแผนแม่บท เป็นผลจากมติคณะรัฐมนตรี หรือเป็นการดําเนินการของคณะรัฐมนตรีโดยตรง ให้วุฒิสภามีมติเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดําเนินการ

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจึงสรุปได้ว่า การเลือกตั้งไม่มีผลต่อการกำหนดนโยบายของประเทศ นอกจากนี้ยังยุทธศาสตร์ชาติยังเป็นการบังคับให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง (ในกรณีที่ไม่มีนายกฯ คนนอก) รับผิดต่อกรรมการยุทธศาสตร์ และ ส.ว.จากการแต่งตั้ง

ยุทธศาสตร์ชาติอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งผ่านการตีความว่า คณะรัฐมนตรีมีมติหรือมีการดำเนินการที่ไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติได้ง่าย เนื่องจากธรรมชาติของยุทธศาสตร์ แผนแม่บท ไม่สามารถเขียนให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนได้ และมีหลายเส้นทางในการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ หากระบุรายละเอียดมาก ก็จะขาดความยืดหยุ่นในการปฏิบัติ ทำให้พรรคและนักการเมืองจะไม่กล้าสร้างนโยบายที่มีนัยสำคัญต่อประเทศ

ขณะที่เราไม่มี IP ที่กำหนดบทลงโทษหรือการรับผิดต่อสังคมของผู้กำหนด IP ดังนั้น เจ้าหน้าที่รัฐและภาคเอกชนก็ไม่มีแรงจูงใจที่จะผลักดันนโยบายให้เกิดความสำเร็จ และยิ่ง IP สาระสำคัญคือการแจกซึ่งเอื้อให้เกิดการคอร์รัปชัน จึงต้องมีนักการเมืองระดับสูงในการกำกับ ตรวจสอบ หน่วยงานที่ดำเนินนโยบายอุตสาหกรรม หากนโยบายผิดพลาดหรือไม่สุจริต ก็ต้องมีกลไกที่จะปลดนักการเมืองนี้ได้ ดังนั้นการรับผิดต่อสังคมจึงสำคัญมาก

“คำถามคือถ้ายุทธศาสตร์ชาติล้มเหลว กรรมการยุทธศาสตร์ต้องรับผิดชอบกับใคร ผมฟันธงว่าไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะการออกแบบ พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ แม้จะมีนายกฯ มาจากการเลือกตั้ง แต่องค์ประกอบกรรมการ 34 สูงสุด 8 คนเท่านั้นที่มาจากการเลือกตั้ง จึงถูก out vote โดยกรรมการที่มาจากฝ่ายความมั่นคง มาจากภาคธุรกิจ ผู้ทรงคุณวุฒิได้ง่ายๆ โครงสร้างแบบนี้เอื้อให้คณะกรรมยุทธไม่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม”


Inclusive? ในยุทธศาสตร์ชาติ กับการ (ไม่) มีส่วนร่วม


การเมืองแบบมีส่วนร่วม ในความหมายกว้างสุดคือระบอบประชาธิปไตยที่สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนได้รับการประกันจากรัฐนั้นมีฐานะเป็นอภิมหาสถาบัน (กฎของการสร้างกฎ) ทำหน้าที่ดึง รวบรวม และควบรวมความรู้ท้องถิ่นในการสร้างสถาบันชั้นรองๆ ลงมา (เช่นสถาบันที่จัดการ IP) ที่มีคุณภาพสูงขึ้นและสร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ มีตัวแทนของชนชั้นล่าง (แรงงาน เกษตรกร ฯลฯ) และสาธารณชนวงกว้างทั้งในกระบวนการสร้างและผลักดันยุทธศาสตร์ชาติฯ

กระบวนการมีส่วนร่วมในพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ฯ ออกกฎให้การรับฟังความเห็นครั้งแรกหมายรวมถึงครั้งที่สอง

ร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. มีการเปิดรับฟังความคิดจากประชาชนผ่านเว็บไซต์ www.thaigov.go.th ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน - 20 พฤษภาคม 2560 มีประชาชนเข้าอ่านข้อมูล จำนวน 3,051 ครั้ง และแสดงตนเพื่อเสนอความเห็น เพียง 8 คน สนช. มีมติผ่านร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเมื่อ 22 มิถุนายน 2560

พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ มาตรา 28 (3) การรับฟังความคิดเห็นที่ได้ทำไปแล้วก่อนหน้านี้ ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 มิถุนายน 2558 ให้ถือเป็นการรับฟังที่ทำเสร็จไปแล้ว ให้เอาร่างฯ นี้มาใช้เป็นหลักในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติตัวจริง แม้ว่าเมื่อร่างฯ ต่อไปแล้วเสร็จจะเปิดให้มีขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งหนึ่งเป็นเวลา 30 วันก็ตาม มาตรา 28 (5)

หมายความง่ายๆ ว่า จะถือเอาการแสดงความคิดเห็นในร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เป็นการแสดงความคิดเห็นใน พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติด้วย แม้ว่าจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง แต่ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไรเพราะถือว่าการแสดงความคิดเห็นในครั้งแรกหมายรวมไปถึงการแสดงความคิดเห็นในครั้งนี้ด้วย

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 29 จาก 34 คนเคยทำงานกับ คสช.








ที่มา https://ilaw.or.th/node/4625

ทั้งนี้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติปัจจุบันประกอบด้วย

- คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติชุดนี้มีทหารอยู่ถึง 11 คน และมีนายทหารถึง 10 คนเป็นสมาชิกคสช. ด้วย

- คณะกรรมการชุดนี้มีที่มาจากภาคธุรกิจถึง 9 คน จากกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่มาจากภาคธุรกิจทั้งหมด 9 คนมีจำนวนถึง 6 คนที่เข้าร่วมในคณะกรรมการและคณะทำงานโครงการประชารัฐ (ถ้ารวมกรรมการยุทธศาสตร์ชาติทั้งหมด 29 คน จะมีกรรมการ 12 คน ที่ร่วมโครงการประชารัฐ) ซึ่งโครงการประชารัฐเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากฐานราก แต่โครงการนี้ถูกวิจารณ์ว่ารัฐบาลเอื้อประโยชน์ให้กับนักธุรกิจชั้นนำของประเทศมากกว่า

- แบ่งสัดส่วนของกรรมการยุทธศาสตร์ชาติตามที่มาและภูมิหลังของตัวกรรมการแต่ละคนได้ดังนี้ ทหารและตำรวจ 11 คน ภาคธุรกิจ 9 คน เทคโนแครต 5 คน นักกฎหมาย 2 คน อดีตผู้บริหารมหาวิทยาลัย 1 คน และภาคประชาสังคม 1 คน แต่ไม่ว่าจะแบ่งสัดส่วนอย่างไร ก็สามารถกล่าวภาพรวมของกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 29 คน ได้ว่าเป็นคนที่เข้ามารับใช้ คสช. เพราะทุกคนล้วนผ่านการทำงานกับ คสช.มาแล้วทั้งสิ้น

เช่น เทียนฉาย กีระนันทน์ อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เคยถูก คสช.แต่งตั้งเป็นประธานสปช. หรือตัวแทนภาคประชาสังคมอย่าง พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และประธานมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา เคยถูก คสช.แต่งตั้งเป็นสมาชิก สปช.และกรรมการปฏิรูปประเทศ หรือศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังก์ถัด (UNCTAD) เคยถูกคสช.แต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ ในป.ย.ป.

- ไม่มีตัวแทนจากแรงงาน เกษตรกร ธุรกิจรายเล็ก ชุมชน ฯลฯ


Green? มองผ่าน EEC มาบตาพุด ถมทะเลสร้างท่าเรือ -EIA ผ่านใน 1 ปี - ล้มผังเมืองที่ลดผลกระทบมลพิษอุตสาหกรรม
ข้อมูลจาก บีบีซีไทย สรุปเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับมาบตาพุดว่า

• 2532 ก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

• 2534 เกิดปัญหาเรื่องกลิ่นรบกวนจากโรงงานปิโตรเคมีและโรงกลั่น สืบเนื่องจากพื้นที่ตั้งของโรงงานอยู่ใกล้กับชุมชน ขาดพื้นที่กันชน

• 2548 เกิดภาวะขาดแคลนน้ำในพื้นที่ ส่งผลให้เกิดความระแวงในการแย่งน้ำใช้ระหว่างชุมชนกับภาคอุตสาหกรรม

• 2550 จากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ทำให้องค์กรเอกชนเคลื่อนไหวรณรงค์ให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ

• 2552 ศาลปกครองให้ระงับชั่วคราวการดำเนินงาน 76 โครงการ ในเขตอุตสาหกรรมมาบตาพุดตามคำร้องของนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม

• 2558 โครงการสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เฟส 3 วงเงินลงทุน 10,000 ล้านบาท โครงการนี้จะมีการถมทะเลด้วย (https://www.thairath.co.th/content/568077)

• 2560 เดือนมีนาคม ประกาศใช้ผังเมืองฉบับใหม่ของระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เพื่อลดผลกระทบมลพิษอุตสาหกรรม

• 26 พ.ค. 2560 คสช. ได้ออกคำสั่งฉบับที่ 28/2560 โดยมีใจความสำคัญคือ ให้การพิจารณารายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการอีอีซีแล้วเสร็จภายใน 1 ปี (https://www.matichon.co.th/news/568057)

• 25 ต.ค. 2560 คสช. ออกคำสั่ง ม.44 เรื่อง ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ล้มผังเมืองที่เพิ่งประกาศ



เดชรัต สุขกำเนิด





สิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ยังทำไม่สำเร็จ-ไม่ได้พูดถึงในแผนยุทธศาสตร์ฯ

- ปี 2558 ทุ่ม7พันล้านบาทฟื้นฟูคลองแสนแสบ

- การลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมที่ส่งเสริมใน EEC จะมีสิทธิได้รับการยกเว้นภาษีนิติบุคคลสูงสุด 15 ปี ภาษีเงินได้นิติบุคคลของไทยต่ำที่สุดในอาเซียน การดึงดูดการลงทุนด้วยภาษีทำให้รัฐเสียรายได้ 2.2 แสนล้านบาทในปี 2559 ซึ่งเงินจำนวนนี้อาจทำให้เกิดการจ้างงานได้ถึง 50,000 คน คิดเป็นค่าเสียโอกาสรายคน ตกคนละ 4 ล้านบาท




- มาตรการช้อปช่วยชาติ ผู้ที่ได้รับประโยชน์มากคือผู้เสียภาษีมาก คน 7 % ในจำนวนคนเสียภาษีทั้งหมดเท่านั้นที่จะได้ส่วนลดภาษี 20 % ขึ้นไป




ซึ่งปัจจุบันก็มีนโยบายลดหย่อนภาษีให้กับผู้มีรายได้มากอยู่แล้วซึ่งไปลงทุนใน กบข. RMF LTF ประกันชีวิต ฯลฯ 1 ปี ลดหย่อนรวม 5 หมื่นล้านบาท




- ดุลการคลังของรัฐบาลไทย มีการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติจะทำให้พ้นจากสภาวะนี้ได้หรือไม่ เมื่อเห็นกราฟนี้รัฐบาลจะบอกว่าเขาสามารถขาดทุนได้มากกว่านี้ เป็นความจริงที่สามารถกู้เพิ่มได้มากกว่านี้ แต่มันจะตอบสนองต่อระยะเวลายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีหรือไม่

ไม่เคยมีการถกเถียงเรื่องการขาดดุลงบประมาณในอีก 20 ปีข้างหน้า ถามว่าใครต้องเป็นคนตามจ่ายหนี้ที่เกิดขึ้น? ก็คือคนรุ่นหลังใช่หรือไม่?




- สถานการณ์คนจนล่าสุดในประเทศไทย

· เส้นความยากจนปี 58 มีรายได้ต่อคนต่อเดือนอยู่ที่ 2,574 บาท แต่ในปี 60 ลดลงมาที่ 2,496 บาท

· ในระหว่างปี 58-59 ประเทศไทยมีคนจนเพิ่มขึ้น 963,000 คน
โดยปี 58 จำนวนคนจนอยู่ที่ 4.847 ล้านคน แต่ในปี 59 จำนวนคนจนอยู่ที่ 5.810 ล้านคน (เพิ่มขึ้น 20 %)

· ในจำนวนคนจนที่เพิ่มขึ้นเกือบหนึ่งล้านคนแยกเป็น
คนจนในเมืองเพิ่มขึ้น 436,000 คน (หรือเพิ่มขึ้น 24 %)
คนจนในชนบทเพิ่มขึ้น 527,000 คน (หรือเพิ่มขึ้น 17 %)

· สัดส่วนของคนจนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 7.21 % เป็น 8.61 %
ในขณะที่กลุ่มคนที่มีรายได้ต่อเดือนเฉลี่ยสูงที่สุด ในปี 60 เพิ่มจาก 26,161 บาท/คน/เดือน เป็น 26,545 บาท/คน/เดือน