3 อันดับศิลปินเสรีภาพที่เจอข้อหามากที่สุดยุค คสช.
11 กันยายน 2017
ที่มา ILAW
อันดับที่ 1 วัฒนา เมืองสุข
เดือนสิงหาคม 2560 วัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทยได้ขยับพรวดเดียวขึ้นมาเป็นบุคคลที่ถูกตั้งข้อหาจากการใช้เสรีภาพการแสดงออกมากที่สุดในยุค คสช. คือ 6 คดีได้แก่
1. วันที่ 2 มีนาคม 2559 คดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์วิจารณ์พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี (ศาลยกฟ้อง)
2. วันที่ 20 เมษายน 2559 คดีฝ่าฝืนข้อตกลงการปล่อยตัว (อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี)
3. วันที่ 20 เมษายน 2560 คดีความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญาและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์ว่า หมุดคณะราษฎรเป็นโบราณวัตถุและวิจารณ์การทำงานของตำรวจ (ยังไม่มีคำสั่งฟ้อง)
4. วันที่ 29 กรกฎาคม 2560 คดีความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และดูหมิ่นศาลจ ากการโพสต์ให้กำลังใจยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี (ยังไม่มีคำสั่งฟ้อง)
5. วันที่ 21 สิงหาคม 2560 คดีละเมิดอำนาจศาลจากการที่เฟซบุ๊กไลฟ์ภายในบริเวณศาลอาญา ถ.รัชดา (จำคุก 1 เดือน ปรับ 500 บาท โทษจำคุกรอลงอาญาไว้ 1 ปี)
6. วันที่ 28 สิงหาคม 2560 คดีละเมิดอำนาจศาลจากการนัดผู้สื่อข่าวให้สัมภาษณ์บริเวณบันไดศาลอาญา ถ.รัชดา (จำคุก 1 เดือน ปรับ 500บาท โทษจำคุกรอลงอาญาไว้ 2 ปี)
คดีของวัฒนา ถือเป็นคดีเกี่ยวกับการเมืองแทบจะทั้งสิ้น เห็นได้ชัดจากคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์วิจารณ์พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี คดีนี้เริ่มจากทหารอาศัยอำนาจพิเศษตามคำสั่งที่ 3/2558 ควบคุมตัววัฒนาไปที่ มทบ.11 และพูดคุยกันถึงข้อความที่วัฒนา วิจารณ์พล.อ.ประวิตร พร้อมทั้งยังขอร้องให้เขาหยุดวิจารณ์ คสช. ต่อมานายทหารพระธรรมนูญได้แจ้งความดำเนินคดีต่อวัฒนา ในข้อหานำเข้าข้อมูลเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ตามมาตรา 14(1) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
ขณะที่เนื้อหาของโพสต์ที่ถูกกล่าวหาว่า "เป็นเท็จ" ในคดีนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับส่วนที่วิจารณ์พล.อ.ประวิตร โดยตรง แต่เป็นเนื้อหาส่วนอื่นในโพสต์เดียวกันที่วิจารณ์การทำงานของ คสช. คือ ส่วนที่กล่าวว่า คสช. ยึดอำนาจไปจากประชาชนและใช้รัฐธรรมนูญนิรโทษกรรมตนเอง คดีนี้ส่งฟ้องไปทั้งที่กระบวนการรวบรวมชั้นสอบสวนไม่ได้มีการสอบสวนว่า ข้อความที่ถูกกล่าวหาว่า "เป็นเท็จ" ดังกล่าวเป็นเท็จอย่างไร เนื่องจากพนักงานสอบสวนไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านรัฐศาสตร์
การฟ้องร้องคดีต่อวัฒนา สะท้อนให้เห็นแนวโน้มของการนำกฎหมายมาใช้ "ปิดปาก" เพื่อสร้างบรรยากาศความกลัวขึ้นตามห้วงเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง โดยจากคำเบิกความของวัฒนา ในคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ระบุว่า ที่ผ่านมาแสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กมาโดยตลอด แต่ไม่เคยถูกฟ้องร้องจนกระทั่งวิพากษ์วิจารณ์พล.อ.ประวิตร และร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ในช่วงก่อนการออกเสียงประชามติ จากนั้นช่วงที่หมุดคณะราษฎรถูกรื้อถอนไปอย่างลึกลับ และอีกครั้งในตอนที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีกำหนดตัดสินชี้ขาด กรณีทุจริตโครงการจำนำข้าว
ทั้งในช่วงการพิพากษาคดีทุจริตโครงการจำนำข้าวยังสะท้อนให้เห็นภาพใหญ่ของแนวโน้มการใช้กฎหมายมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญามาใช้ในการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวด้วย
อันดับที่ 2 จตุภัทร์ (ไผ่ ดาวดิน)
จตุภัทร์ หรือ "ไผ่ ดาวดิน" นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยเป็นคนที่ถูกฟ้องร้องจากการใช้เสรีภาพการแสดงออกรองเป็นอันดับ 2 คือ 5 คดี ได้แก่
1. วันที่ 22 พฤษภาคม 2558 คดีฝ่าฝืนคำสั่งคสช.ที่ 3/2558 จากการชูป้ายผ้าคัดค้านการรัฐประหารที่ จ.ขอนแก่น (อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี)
2. วันที่ 26 มิถุนายน 2558 คดีความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา และฝ่าฝืนคำสั่งคสช.ที่ 3/2558 จากการชุมนุมคัดค้านรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กรุงเทพฯ (อยู่ในชั้นสอบสวน)
3. วันที่ 6 สิงหาคม 2559 คดีพ.ร.บ.ประชามติฯ จากการแจกเอกสารเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ที่ตลาดภูเขียว จ.ชัยภูมิ (ศาลสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว)
4. วันที่ 30 กรกฎาคม 2559 คดีฝ่าฝืนคำสั่งคสช.ที่ 3/2558 จากการจัดและร่วมงานเวทีพูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน ที่ม.ขอนแก่น จ.ขอนแก่น (อยู่ในชั้นอัยการ)
5. วันที่ 3 ตุลาคม 2559 คดีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการแชร์บทความของบีบีซีไทย มาลงบนหน้าเฟซบุ๊กของตนเอง (ศาลตัดสินจำคุก 5 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่งคงโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน)
ก่อนหน้าที่จตุภัทร์ จะถูกฟ้องร้องใน 5 คดีนี้ เขาเป็นที่รู้จักจากการไปชู 3 นิ้วหน้าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระหว่างการลงพื้นที่จ.ขอนแก่น ผลจากการกระทำดังกล่าว ทำให้เขาต้องเข้าปรับทัศนคติในค่ายทหาร อย่างไรก็ดีจตุภัทร์ ยังคงเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไปและถูกจับกุมดำเนินคดีเรื่อยมา จตุภัทร์ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของอาการบาดเจ็บของเสรีภาพหลังรัฐประหารที่การแสดงออกอย่างสงบสันติถูกตีความว่า เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ และสกั้ดกั้นด้วยข้อบัญญัติทั้งในและนอกกฎหมายของคสช.
คดีของจตุภัทร์ยังแสดงให้เห็นถึงปรากฏการณ์ร่วมในระดับประเทศคือการใช้กฎหมายปิดปากการแสดงออกอย่างสุจริตในช่วงการออกเสียงประชามติเพราะนอกจากจตุภัทร์ที่ถูกตั้งข้อหาจากการแสดงออกเรื่องร่างรัฐธรรมนูญถึง 2 คดีแล้ว ยังมีประชาชนที่ถูกฟ้องร้องในเรื่องทำนองเดียวกันอีกไม่น้อยกว่า 203 คน และกิจกรรมสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับประชามติถูกปิดกั้นและแทรกแซงไม่น้อยกว่า 20 กิจกรรม
คดีของจตุภัทร์ที่ทำให้สังคมตั้งคำถามมากที่สุด คือ คดีมาตรา 112 เขาไม่ได้ทำอะไรไปมากกว่าการแชร์ข้อมูลและคัดลอกข้อเท็จจริงจากบทความบางส่วนมา โดยภายหลังจากการแจ้งข้อกล่าวหาเขาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวและถูกถอนประกันตั้งแต่ตอนที่ศาลยังไม่ได้เริ่มพิจารณาคดี จากการที่เขาโพสต์ข้อความที่ศาลพิจารณาแล้วว่า มีลักษณะ "เย้ยหยันอำนาจรัฐ" และหลังจากปล่อยตัวชั่วคราวแล้วยังไม่มีการลบโพสต์ที่เป็นเหตุแห่งคดี แสดงถึงการขาดความสำนึกผิดในสิ่งที่กระทำลงไป หลังจากเริ่มสืบพยานไปไม่นานเขาตัดสินใจรับสารภาพอันเป็นผลจากบรรยากาศกดดันและการพิจารณาคดีที่ปิดลับ
อันดับที่ 2 สิรวิชญ์ (จ่านิว)
อันดับ 2 ร่วมอีกคนหนึ่งคือ สิรวิชญ์ หรือ "จ่านิว" นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย สิรวิชญ์ เป็นอีกคนหนึ่งที่เคลื่อนไหวมาตลอดนับแต่รัฐประหาร 2557 โดยเขาถูกฟ้องร้องจากการใช้เสรีภาพการแสดงออกรวม 5 คดี ได้แก่
1. วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2558 คดีฝ่าฝืนประกาศคสช.ที่ 7/2557 จากการจัดกิจกรรมเลือกตั้งที่ (รัก) ลัก ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพฯ (อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี)
2. วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2558 คดีฐานก่อความเดือดร้อนรำคาญตามมาตรา 370 ของประมวลกฎหมายอาญา จากการจัดกิจกรรมเลือกตั้งที่ (รัก) ลักที่หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพฯ (ตำรวจสั่งปรับ 100 บาท)
3. วันที่ 7 ธันวาคม 2558 คดีฝ่าฝืนคำสั่งคสช.ที่ 3/2558 จากการจัดกิจกรรม “นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง” (อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี)
4. วันที่ 8 มีนาคม 2559 คดีฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัวของคสช. ตามประกาศคสช.ที่ 40/2557 จากการจัดกิจกรรมเลือกตั้งที่(รัก)ลักที่หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพฯ (อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี)
5. วันที่ 1 พฤษภาคม 2559 คดีขัดพ.ร.บ.ความสะอาดฯ จากการโปรยโพสต์อิทในงานกิจกรรม “โพสต์-สิทธิ” สกายวอล์ค สถานีบีทีเอสช่องนนทรี กรุงเทพฯ (ศาลสั่งปรับ 1,000 บาท)
คดีของสิรวิชญ์เป็นการปิดกั้นการเสรีภาพแสดงออกด้วยกฎหมายที่หลากหลายขึ้นไม่ว่าจะเป็นกฎหมายการห้ามชุมนุมที่ คสช. เป็นผู้ประกาศใช้เอง และคดีตามกฎหมายปลีกย่อยอื่นๆ เช่น พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และข้อกำหนดเกี่ยวกับการสร้างความรำคาญตามประมวลกฎหมายอาญา โดยคดีที่น่าสนใจที่สุดของสิรวิชญ์เห็นจะเป็นคดีนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ เป้าหมายของกิจกรรมเป็นการตรวจสอบการคอร์รัปชั่นที่ประชาชนควรจะกระทำได้ แต่กิจกรรมดังกล่าวถูกเจ้าหน้าที่สกัดกั้นการเดินทางระหว่างไปทำกิจกรรมและกลายเป็นคดีความในที่สุด
อันดับที่ 3 สมบัติ บุญงามอนงค์ (บก.ลายจุด)
สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด เป็นนักเคลื่อนไหวที่มีจุดยืนคัดค้านการรัฐประหารตั้ง แต่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มาจนถึงการรัฐประหารของคสช. โดยที่ผ่านมาเขาถูกฟ้องร้องดำเนินคดี 3 คดี ได้แก่
1. 5 มิถุนายน 2557 คดีความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา (อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี)
2. 1 กรกฎาคม 2557 คดีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการแชร์ภาพล้อเลียนในเฟซบุ๊ก (ยังไม่มีคำสั่งฟ้อง)
3. 10 กรกฎาคม 2557 คดีฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวตามคำสั่งเรียกของคสช. (ศาลฎีกาพิพากษาให้จำคุก 2 เดือน ปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกรอลงอาญาไว้ 1 ปี)
คดีฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวตามคำสั่งเรียกของ คสช. มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่รับรองการยึดอำนาจของ คสช. โดยสมบัติต่อสู้ว่า การยึดอำนาจของ คสช. ยังไม่สำเร็จและการไม่ไปรายงานตัวเป็นการต่อต้านโดยสันติวิธีตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ 2550 แต่ศาลเห็นว่า หลังรัฐประหาร คสช. ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 และออกคำสั่งคสช.เกี่ยวกับการบริหาร จึงสะท้อนให้เห็นว่า คสช. สามารถยึดอำนาจได้สำเร็จแล้ว เพราะหากยังยึดอำนาจไม่สำเร็จคสช.คงไม่สามารถออกคำสั่งใช้อำนาจบริหารดังกล่าวได้ ดังนั้นสมบัติจึงไม่อาจอ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญ 2550 ได้อีกต่อไป
ส่วนคดีความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญานั้นกำลังอยู่ในชั้นสืบพยาน คดีนี้ศาลทหารอนุมัติหมายจับวันที่ 11 มิถุนายน 2557 มาจนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว แต่คดียังคงไม่เสร็จสิ้น ซึ่งความล่าช้าเช่นนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในศาลทหาร สาเหตุจากการพิจารณาคดีแบบไม่ต่อเนื่อง เช่น มีนัดสืบพยานวันที่ 17 มกราคม 2560 และนัดหมายอีกครั้งวันที่ 24 เมษายน 2560 หรือนัดหมายสืบพยานวันที่ 5 กันยายน 2560 แต่พยานไม่มาศาล จึงต้องนัดหมายใหม่อีกครั้งวันที่ 7 มีนาคม 2561 ทิ้งระยะห่างไปมาก
ooo
ooo
เรามา social movement เรื่องความรุนแรงในสถาบันของ #น้องเมย กันต่อนะ อย่าให้เรื่องเงียบเหมือนอีกหลายคดีที่คนตายอย่างปริศนาและไร้ซึ่งความโปร่งใส เราต้องขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้กันต่อครับ— John Winyu (@johnwinyu) November 27, 2017
ooo
คดีทหารโผล่อีก! พ่อพลทหารขอคำอธิบาย ลูกชายโดนครูฝึกซ่อมจนสะโพกหัก