วันเสาร์, พฤศจิกายน 18, 2560

สกัดเพื่อไทยด้วยการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ แต่ว่าถ้า คสช. เป็นรัฐบาลต่อ ก็ไม่รอดเศรษฐกิจฟุบเช่นเคย

มีคนบอกว่าจัดแบบนี้ ตีกัน เพื่อไทย จากข่าวไทยรัฐเรื่องโฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญและตัวแทนคณะกรรมการเลือกตั้ง ร่วมกันชี้แจงวิธีคำนวณจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐

independence @redbamboo16 ทวี้ตว่านั่น “คือการสกัดพรรคเพื่อไทย” สกัดยังไงดูได้จากเมื่อนักข่าวถามว่า “การคำนวณคะแนนการเลือกตั้งเช่นนี้ จะทำให้พรรคการเมืองไม่มีโอกาสได้ที่นั่ง ส.ส.เกิน ๕๐% หรือมากกว่า ๒๕๐ คนใช่หรือไม่”

นางสาวสง่า ทาทอง ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ ของ กกต. ตอบว่า “คงจะเป็นไปได้ยาก”

เพราะการนำคะแนนของ ส.ส.ระบบแบ่งเขตเลือกตั้งมาใช้คำนวนจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะทำให้เกลี่ยจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละเขต ให้มีจำนวนเฉลี่ยประมาณ ๑.๘ แสนคน ตายตัว

จึงยากที่พรรคหนึ่งพรรคใดจะสามารถมีจำนวน ส.ส. ทั้งสิ้นในสภาเกิน ๒๕๐ คน หรือแม้แต่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด ๕๐๐ คน เพราะอะไรต้องฟังจากที่นางสมิหรา เหล็กพรหม รองผู้อำนวยการสำนักบริหารการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ อธิบาย

คืองี้ รธน. มีชัย ๖๐ กำหนดจำนวน ส.ส.ทั้งหมด ห้าร้อย (ต่อไปนี้จะเรียกสภาห้าร้อยก็ด้าย ไม่ใช่โจรป่าเนอะ) “แบ่งเป็นแบบเขตเลือกตั้ง ๓๕๐ คน และแบบบัญชีรายชื่อ ๑๕๐ คน โดยจะใช้วิธีการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว

ตานี้ เมื่อเลือกตั้งเสร็จ จะรู้ผลผู้ได้รับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตทั้ง ๓๕๐ คน หรือแค่ ๙๕ เปอร์เซ็นต์ตาม รธน. สั่งก็ตาม จะคำนวณโดย “นำผลรวมคะแนนของทุกพรรคการเมืองมาหารด้วย ๕๐๐ เพื่อให้ได้ค่าเฉลี่ยนต่อ ส.ส. ๑ คน

แล้วหาจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคจะพึงมี โดยนำค่าเฉลี่ยต่อ ส.ส. ๑ คน ไปหารคะแนนของพรรคการเมืองแต่ละพรรค จะทำให้ได้จำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคจะได้...

หากพรรคใดได้ ส.ส.แบบแบ่งเขตน้อยกว่าจำนวน ส.ส.ที่พรรคการเมืองพึงมีได้ ให้จัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มเติมให้ตามที่ยังขาดอยู่ แต่หากพรรคการเมืองได้ ส.ส.แบบแบ่งเขตมากกว่าหรือเท่ากับจำนวน ส.ส.ที่จะ พึงมีได้ ไม่ต้องจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อให้กับพรรคการเมืองนั้น”


หมายความว่าพี่ คสช. ผู้เกือบวิเศษ เป็นคนบอกว่าพรรคการเมืองใด พึงมีได้จำนวนส.ส.ในสภาเท่าไหร่ตามสัดส่วนสมาชิกสภาผู้แทนฯ ที่มีเท่านั้น อย่างนี้อีกกี่ชาติพรรคการเมืองถึงจะได้กลับมาลืมตาอ้าปากใหม่

เว้นเสียแต่ว่าประชาชนสนับสนุนพรรคใดด้วยคะแนนเสียงเกิน ๒๕๐ จึงพอคุยกับเขาได้ว่าพ้มจะตั้งรัฐบาลเองละนะ ถ้าพี่ๆ อยากจอยก็ส่งพรรคตะหานมา มัลลิกา-ติ่ง สมทบตั้งรัฐบาล

ไม่งั้น คสช. ให้ลิ่วล้อไปงัดข้อ ไม่เอา ในวุฒิสภาลากตั้ง ก็จะไม่มีทางรอด แม้จะเสียงมากกว่าก็เถอะ

ตอนนี้เขาก็ปูทางไปสู่จุดนั้นด้วยการปรับ ครม. อีกเป็นครั้งที่ ๕ ในระยะเวลายังไม่สี่ปี ซึ่งแน่นอน ยืนยันแล้ว สาม ป.ยังอยู่ แต่ก็ต้องยกเครื่องทีมเศรษฐกิจออกทั้งกระบิ ยกเว้น สม (คบ) คิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่พยายามจะอยู่ยาวเคียงข้าง คสช. โดยคุยควันโขมงว่าตอนนี้เร่งแก้ปัญหา พอถึงต้นปีหน้าฟันธง

ตั้งเป้าหมายคนไทยทุกคนที่ยังมีความยากจนอยู่ จะต้องหายจนให้ได้ในปีหน้า ที่ บก.ลายจุดเขาถามแซะว่าหมายถึง คนไทยจะจนกันหมดทั้งประเทศหรือเปล่า เพราะนั้น “จะใกล้เคียงความจริงยิ่งกว่า” นะ
และถ้าจะเอาหลักฐานจะจะแจ้งแจ้ง ก็ต้องไปดูที่นักเศรษฐศาสตร์ ม. เกษตร ท้วงไว้เรื่องนี้ ที่ว่าไม่ใช่หายจนแต่เป็น จน จมลึกลงไป เพราะที่จริงแล้วประเทศไทยมีคนจนเพิ่มขึ้น ไม่ใช่จะเสกให้ปีหน้าหายจนได้ง่ายๆ อย่างใจนึก

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด เขียนเฟชบุ๊คแจงข้อมูลจริงให้รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจทราบว่าสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชี้ให้เห็นว่า “ล่าสุดนั้นคนจนในประเทศไทยกลับเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ลดลง”

สัดส่วนของคนจนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก ๗.๒๑% (หรือมีคนจน ๗ คนในประชากร ๑๐๐ คน) เป็น ๘.๖๑% และเป็นการเพิ่มจำนวนครั้งที่สามที่แตกต่างจากสองครั้งแรก

“ตรงที่สองครั้งแรกจะเกิดในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำ (อัตราการเติบโตของ GDP ติดลบ) แต่ครั้งนี้กลับไม่ใช่ เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงเป็นบวกอยู่ แต่รายได้ของพี่น้องคนจนกลับลดลง”


มิหนำซ้ำมีข่าวสื่อนอกรายงานว่า ไอ้ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก หรือ อีอีซีที่ฝันนักฝันหนาว่าจะมีต่างด้าวมาลงทุนกันตรึมน่ะ ต่างชาติไม่ค่อยสนมากเท่าประเทศเพื่อนบ้านเรา อย่างเวียดนาม พม่า และเขมร

Asia Times เผยแพร่รายงานเมื่อวันพุธที่ ๑๕ พฤศจิกายน ชี้ว่าผลงานของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ล้มเหลวมาแล้วสองเรื่อง คือไทยแลนด์ ๔.๐ กับเขตเศรษฐกิจพิเศษ...

รายงานกล่าวว่า รัฐบาลทหารไทยไม่สามารถดึงดูดการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ
ตามตัวเลขของ UNCTAD นั้น ในปี (ค.ศ.) ๒๐๑๖ ประเทศไทยได้รับเม็ดเงินลงทุน ๑.๕ พันล้านดอลลาร์ฯ ต่ำกว่าแทบทุกประเทศในภูมิภาค”

(เวียดนามได้ ๑๒.๖ พันล้านดอลลาร์ มาเลเซีย ๙.๙ พันล้านดอลลาร์ ฟิลิปปีนส์ ๗.๙ พันล้านดอลลาร์ พม่า ๒.๑ พันล้านดอลลาร์ เขมร ๑.๙ พันล้านดอลลาร์)

แม้รัฐบาล คสช. จะมาถูกทางในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก แต่การเตรียมการยัง (แกล้ง) หลงทาง คือไม่มีการรับฟังความเห็นประชาชนในพื้นที่ มีอ้างการสำรวจตรวจผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ทว่าทำแบบรวดเร็ว รวบรัดรู้เอง แจ้งผลผ่านแต่ชาวบ้านไม่รู้ผ่านจริงแค่ไหน

ศรีสุวรรณ จรรยา นักท้วง คสช. ตัวยง ชี้ว่า “รัฐบาลไม่รับฟังความเห็นของประชาชน ไม่เปิดรับการมีส่วนร่วมในกระบวนการอีอีซี...” แม้นว่านี่เป็นยุคเผด็จการทหาร “ไม่มีใครกล้าออกมาคัดค้าน แต่หลังเลือกตั้งสถานการณ์จะไม่เหมือนกัน”


ชี้ให้เห็นว่าโครงการสวยหรู คิดได้ พูดได้ หากว่าทำได้ด้วยก็จะดีแน่ แต่ (อีกที) เรื่องทำได้นี่ไม่ค่อยเห็นมาสามปีจะถึงสี่อีกไม่นาน แล้วจะให้เชื่อว่าทำได้แน่แบบ ศรัทธาบอด’ (blind faith) อีกน่ะเหรอ ใครอยากเสี่ยง