สิ่งที่กำลังเป็นปัญหาปวดเศียรเวียนเกล้าต่อผู้ปฏิบัติเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบันนี้ก็คือ
การที่ได้มีพระราชบัญญัติ(พรบ.) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พรป.) ออกมาบังคับใช้แล้วใน
2 เรื่องใหญ่ๆ อันมี
พรบ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558
ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2558 เป็นต้นมา โดยที่ก่อนหน้านั้นก็ได้มีคำสั่งหัวหน้า
คสช.ฉบับที่ 3/2558 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2558 และ พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง
พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2560 โดยที่ก่อนหน้านั้นได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ฉบับที่ 57/2557 เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ.2557 ห้ามมิให้พรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วดำเนินการประชุมหรือดำเนินกิจการใดๆ
ในทางการเมือง
จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่าตกลงจะเอาอย่างไรกันแน่
ฝ่ายรัฐบาลหรือ คสช.ก็ยังยืนยันที่จะบังคับใช้คำสั่งและประกาศของตนเองต่อไป ทั้งๆ ที่มี
พรบ. และ พรป. ประกาศใช้แล้ว โดยอ้างว่าบ้านเมืองยังไม่เรียบร้อย
จึงเกิดเป็นประเด็นปัญหาสำหรับนักกฎหมายว่าตกลงจะเอาอย่างไรกัน
เพราะที่ร่ำเรียนเขียนอ่านกันมาจากครูบาอาจารย์และตำหรับตำราก็บอกว่า ถ้ากฎหมายในเรื่องเดียวกันที่มีลำดับศักดิ์เท่ากันก็ให้ถือว่ากฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่าไปโดยปริยาย
อันนี้ตามหลักการที่ว่า
“กฎหมายใหม่ย่อมเลิกกฎหมายเก่าซึ่งมีเนื้อหาอย่างเดียวกัน” นั่นเอง
แต่บางคนก็แย้งว่าคำสั่งหรือประกาศ
คสช.นั้นมีที่มาจากรัฐธรรมนูญ ซึ่งผมก็บอกว่าทั้ง พรบ.การชุมนุมสาธารณะฯ และพรป.พรรคการเมืองฯ
ก็มาจากรัฐธรรมนูญเช่นกัน และมีลำดับศักดิ์ทางกฎหมายเท่ากันกับคำสั่งและประกาศ
คสช.ทั้ง 2 ฉบับ
ปกตินั้น กฎหมายที่มีผลใช้บังคับแล้วย่อมมีผลใช้บังคับอยู่ต่อไปจนกว่าจะได้มีการยกเลิก
ตามหลักการต่อไปนี้
1)การยกเลิกโดยตรง
1.1
มีการกำหนดเวลายกเลิกกฎหมายไว้ในกฎหมายฉบับนั้นเอง เช่น
ให้กฎหมายนี้สิ้นสุดลงเมื่อพ้นกำหนด 3 ปี 5 ปี เป็นต้น
1.2
มีกฎหมายฉบับใหม่ที่มีลักษณะเช่นเดียวกันระบุยกเลิกไว้ ซึ่งอาจเป็นกฎหมายเรื่องเดียวกัน
หรือกฎหมายอื่น ๆ หรือกฎหมายฉบับต่อ ๆ มาได้บัญญัติยกเลิกไว้ และในการยกเลิกนี้อาจเป็นการยกเลิกกฎหมายทั้งฉบับ
หรือเป็นการยกเลิกเฉพาะบางบทบางมาตราก็ได้
โดยการจะยกเลิกอย่างไรต้องระบุไว้ให้ชัดเจนในกฎหมายฉบับนั้น
1.3 เมื่อพระราชกำหนดได้ประกาศใช้แต่ต่อมาสภาฯ
ไม่อนุมัติพระราชกำหนดนั้น มีผลทำให้พระราชกำหนดนั้นถูกยกเลิกไป ทั้งนี้ ไม่มีผลกระทบต่อกิจการที่ได้กระทำไปในระหว่างที่บังคับใช้พระราชกำหนดนั้น
2)การยกเลิกโดยปริยาย หมายถึงกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติอย่างชัดแจ้งให้ยกเลิก
แต่เป็นที่เห็นได้ชัดจากเนื้อหาของกฎหมายฉบับใหม่ ว่าเป็นการยกเลิกกฎหมายเก่าไปโดยปริยาย
เช่น
2.1 กฎหมายใหม่และกฎหมายเก่ามีข้อความไม่ตรงกัน
เช่น บัญญัติข้อความนเรื่องเดียวกันแตกต่างกันออกไป
จึงถือว่ากฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่าโดยปริยาย
2.2
กรณีที่กฎหมายเก่ามีข้อความขัดกับกฎหมายใหม่ คือบัญญัติไว้อย่างตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง
ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องเดียวกัน จึงถือว่ากฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่าแล้วเช่นกัน
2.3 แม้กฎหมายใหม่และกฎหมายเก่ามีบทบัญญัติในกรณีใดกรณีหนึ่งเป็นอย่างเดียวกัน
ก็ยังต้องถือว่ากฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่าเช่นเดียวกัน นั่นคือกฎหมายใหม่ไม่ประสงค์จะให้ใช้หรืออ้างอิงกฎหมายเก่า
แม้ว่าจะมีข้อความเดียวกับกฎหมายใหม่ก็ตาม มิฉะนั้นจะออกกฎหมายใหม่มาทำไม
2.4 เมื่อยกเลิกกฎหมายในลำดับที่สูงกว่าแล้ว
กฎหมายในลำดับรองที่ออกโดยอ้างอิงอำนาจตามกฎหมายที่สูงกว่าย่อมถูกยกเลิกไปโดยปริยาย
เช่น เมื่อยกเลิกพระราชบัญญัติแล้ว
พระราชกฤษฎีกาที่ออกโดยอำนาจของพระราชบัญญัตินั้นจะถูกยกเลิกไปในตัวด้วย เพราะพระราชบัญญัติเป็นกฎหมายแม่บท
เมื่อกฎหมายแม่บทถูกยกเลิกไปแล้ว พระราชกฤษฎีกาซึ่งออกมาเพื่อจะให้มีดำเนินการให้เป็นกฎหมายแม่บทก็จะถูกยกเลิกไปด้วย
ฯลฯ
แต่ในเรื่องของรัฐธรรมนูญเมื่อถูกฉีกหรือถูกยกเลิกแล้วไทยเรายังมีความลักลั่นกันอยู่อย่างมาก
เช่น เมื่อประชาชนจะยื่นเสนอร่างกฎหมายก็อ้างว่า รัฐธรรมนูญเก่าถูกยกเลิกไปแล้วรัฐธรรมนูญใหม่
(ชั่วคราวปี 57) ไม่มีเรื่องนี้จึงเสนอไม่ได้
ส่วนในกรณีองค์กรอิสระทั้งหลายที่ตั้งขึ้นโดย
พรป. ทั้งปี 40 และ 50 กลับยังคงอยู่ต่อหน้าตาเฉย โดยอ้างว่ารัฐธรรมนูญถูกยกเลิกไปก็จริงแต่
พรป. ไม่ได้ถูกยกเลิกไปด้วยนี่ อย่างนี้ก็มี
จากหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่า เมื่อมี
พรบ.การชุมนุมสาธารณะฯ ออกมาบังคับใช้แล้วคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ที่ห้ามชุมนุมหรือมั่วสุมตั้งแต่
5 คนขึ้นไปย่อมสิ้นผลไปโดยปริยายตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2558 เป็นต้นมาแล้ว
และในทำนองเดียวประกาศ คสช.ที่ 57/2557 ในส่วนของการห้ามดำเนินการประชุม
หรือดำเนินกิจการใดๆ ในทางการเมืองย่อมสิ้นผลไปโดยปริยายเช่นกัน
กอปรกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พ.ศ.2560 มาตรา 279 วรรคแรก บัญญัติให้การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมประกาศหรือคำสั่งของ
คสช.หรือหัวหน้าคณะ คสช. ให้กระทำได้โดยทำเป็นพระราชบัญญัติ ซึ่งทั้งสองกรณีก็มี พรบ.ว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะฯ
และพรป.ว่าด้วยพรรคการเมืองฯ ออกมาบังคับใช้แล้ว
ประเด็นที่เป็นปัญหาเกิดขึ้นอยู่ที่ การเลือกปฏิบัติหรือการเลือกบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ยังลักลั่นในเรื่องของการชุมนุมสาธารณะ
เดี๋ยวใช้ พรบ.ชุมนุมฯ เดี๋ยวใช้คำสั่งคสช.ฯ
และการไม่กล้าดำเนินการประชุม
หรือดำเนินกิจการใดๆ ในทางการเมืองของพรรคการเมืองตาม พรป.ว่าด้วยพรรคการเมืองฯ เพราะเกรงจะถูกดำเนินคดีหรือถูกดำเนินการด้วยวิธีอื่นใด(ทั้งๆ ที่ในข้อเท็จจริง พรรคการเมืองมีการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองโดยพฤตินัยกันอยู่แล้ว
ไม่เช่นนั้นจะมีแถลงการณ์ในนามของพรรคฯ ออกมาได้อย่างไรหากไม่มีการประชุมกัน) เป็นตัวอย่างเห็นได้ชัดถึงความลักลั่นดังกล่าวข้างต้น
ผมอยากเรียกร้องให้นักกฎหมายได้ใช้ความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ
และความกล้าหาญที่จะยืนหยัดและยืนยันความถูกต้องตามหลักวิชาการ ในการตีความกฎหมายเพื่อที่จะให้บ้านเมืองกลับสู่ทำนองคลองธรรมตามหลักนิติรัฐนิติธรรม
ผู้มีอำนาจมาแล้วก็ไป
แต่ผู้ปฏิบัติหรือเจ้าหน้าที่ยังคงอยู่พร้อมด้วยพยานหลักฐานต่างๆ
สิ่งที่ทำผิดทำนองคลองธรรม ผิดหลักวิชาการในตอนนี้ อาจจะยังไม่ได้ส่งผลต่อผู้ปฏิบัติเพราะคิดว่า
“เมื่อเสียงปืนดังขึ้น เสียงกฎหมายก็เงียบลง”
แต่อย่าลืมนะครับว่า“เมื่อเสียงปืนเงียบลง
เสียงกฎหมายก็ดังขึ้น” ได้เช่นกันครับ ใครทำเลอะๆเทอะๆ ไว้ก็รอรับผลแห่งการกระทำนั้นเถิดนะ
-----------