วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 19, 2560

รู้หรือไม่? เลือกตั้งครั้งหน้าอาจมีพรรคการเมืองหายไป อย่างน้อย 20 พรรค





รู้หรือไม่? เลือกตั้งครั้งหน้าอาจมีพรรคการเมืองหายไป อย่างน้อย 20 พรรค
.
"เราจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองใหม่ๆ นักการเมืองใหม่ๆ ให้ประชาชน ได้พิจารณาในการเลือกตั้งครั้งต่อไปหรือไม่" เป็นคำถามจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. ที่กล่าวต่อสื่อมวลชนผ่านไปยังประชาชน เชิงชี้นำเพื่อเตือนประชาชนให้รู้ว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าอย่าเลือกพรรคการเมืองหน้าเดิมเข้ามา
.
ฟังคำพูดหัวหน้าคสช. ดูเหมือนจะดีที่เราจะต้องมีพรรคการเมืองหน้าใหม่ มีอุดมการณ์ ความคิด ลงสนามเลือกตั้งเพื่่อเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารประเทศ
.
แต่เมื่อกลับมาเปิด พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 ที่ร่างโดยมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. และสมาชิกคสช. แล้ว จะพบว่าพรรคการเมืองใหม่ๆ นักการเมืองใหม่ๆ จะเกิดขึ้นยากลำบากมากภายใต้กติกาใหม่ที่ร่างในยุคคสช. เพราะการจะจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่จะต้องมีสมาชิกเริ่มต้น 500 คน และต้องมีทุนประเดิมอีก 1,000,000 บาท หากเปรียบเทียบกับ พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2550 กำหนดให้มีสมาชิกเริ่มต้นเพียง 15 คน ไม่ต้องมีทุนประเดิมก็สามารถตั้งพรรคการเมืองได้
.
สำหรับพรรคการเมืองเก่า ข้อมูลพรรคการเมือง ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 ของกกต. ระบุว่า ปัจจุบันมีพรรคการเมือง 69 พรรค ในจำนวนนี้มี 20 พรรค ที่มีสมาชิกพรรคไม่ถึง 500 คน เช่นเดียวกับการตั้งพรรคการเมืองใหม่ พรรคดังกล่าวต้องหาสมาชิกเพิ่มให้ถึง 500 คน ภายใน 180 วัน นับแต่พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ประกาศใช้ นั้นคือ วัน 5 เมษายน 2561 จะต้องดำเนินการให้เสร็จ หากเสร็จไม่ทันเวลาพรรคนั้นจะต้องถูกยุบ เว้นแต่นายทะเบียนพรรคการเมือง อนุญาตให้ขยายระยะเวลาแต่จะไม่เกิน 3 ปี
.
ด้วยเหตุนี้การเลือกตั้งครั้งหน้าจึงยากที่จะมีพรรคหน้าใหม่เกิดขึ้น หรือพรรคเล็กๆ ที่มีอุดมการณ์จะอยู่รอดได้
.
๐ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ "ตั้งพรรคยาก ยุบพรรคง่าย ห้ามประชานิยม" https://ilaw.or.th/node/4654
๐ 10 กลไกตามรัฐธรรมนูญ ที่ส่อทำให้การเลือกตั้งไร้ความหมาย https://ilaw.or.th/node/4663
๐ ข้อมูลพรรคการเมืองที่ยังดำเนินการอยู่ ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20171106155158.pdf


iLaw