(คลิป) 'เดชรัต-สามชาย-สุรวิช-วาสนา' ถก 'ประชารัฐ' คืออะไร เพื่อคนไทยหรือเพื่อนายทุน?
2017-11-19
ที่มา ประชาไท
18 พ.ย. 2560 ที่ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ พรรคใต้เตียง มธ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) จัด เสวนา "ประชารัฐคืออะไร เพื่อคนไทยหรือเพื่อนายทุน?"
โดยมีลำดับการอภิปรายตามหัวข้อย่อยของวิทยากรดังนี้ 1. "คนจนในวงล้อมของประชารัด" โดย เดชรัต สุขกำเนิด ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ 2. "นโยบายประชารัฐกับต้นทุนทางสังคมที่เพิ่มขึ้น" โดย สามชาย ศรีสันต์ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ม.ธรรมศาสตร์ 3. "นโยบายประชารัฐกับผลกระทบต่อเกษตรกร" โดย รศ.ดร.สุรวิช วรรณไกรโรจน์ ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ และ "ทุนแดงผงาด" โดย ผศ.ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย โชติศักดิ์ อ่อนสูง คปอ.
ooo
...
นักเศรษฐศาสตร์ ชี้ นโยบายประชารัฐ ทำนายทุนรวยขึ้น สวนทางคนจนเพิ่ม!
Nov 18, 2017
ที่มา คมข่าว
นายเดชรัต สุขกำเนิด ระบุสาเหตุคนจนเพิ่มขึ้นมากในสองถึงสามปีนี้ เป็นเพราะนโยบายรัฐที่สนับสนุนนายทุนให้รวยขึ้น ด้านนายสามชาย ศรีสันต์ มองว่านโยบายประชารัฐ ส่งเสริมภาคเอกชนมากกว่าประชาชน
นายสามชาย ศรีสันต์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในหัวข้อ นโยบายประชารัฐกับต้นทุนทางสังคมที่เพิ่มขึ้นว่า คำว่าประชารัฐถูกแทนที่ด้วยคำว่าประชาธิปไตยมาตั้งแต่อดีตแล้ว อย่างเช่นในเพลงชาติไทย มีการแก้คำว่าประชาธิปไตย เป็นคำว่าประชารัฐ ซึ่งความหมายของประชารัฐในปัจจุบัน แตกต่างจากความหมายเดิม โดยนโยบายประชารัฐในปัจจุบัน จะเน้นประชาชนตัวใหญ่ กีดกันประชาชนตัวเล็ก โดยมีเอกชนครอบคลุมรัฐจากนโยบายต่าง ๆ อีกทั้งนโยบายประชารัฐในปัจจุบัน เป็นการนำนโยบายประชานิยมเดิม มาเปลี่ยนชื่อ ในบริษัทประชารัฐสามัคคี ซึ่งเหมือนปลาตัวใหญ่กินปลาตัวเล็ก โดยเอกชนก็จะได้รับประโยชน์จากประชารัฐอย่างเต็มที่แทนที่จะเป็นประชาชน
นายเดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวในหัวข้อ คนจนในวงล้อมของประชารัฐ ว่า ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของคนจนคือ ค่าอาหาร เมื่อ ปัจจุบันอาหารแพงขึ้นมากทำให้คนจนประสบปัญหา โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา คนที่จนที่สุด มีรายได้น้อยลง และคนไทยมีรายได้น้อยลงเป็นจำนวนมาก ทำให้มีคนจนเพิ่มมากขึ้น ทั้งในเมืองและชนบท
นายเดชรัต ยังกล่าวอีกว่า สาเหตุที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจดีแต่คนจนกลับเพิ่มขึ้น เนื่องจากคนฐานะดีมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก แต่ขณะเดียวกันสินค้าเกษตรราคาตกต่ำ อย่างมาก รวมทั้งค่าจ้างที่แท้จริง คือ ค่าจ้าง ลบด้วยเงินเฟ้อ ลดลงเป็นอย่างมาก จากค่าเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ในช่วงสองถึงสามปีนี้
นายเดชรัต ยังได้กล่าวถึงนโยบายช้อปช่วยชาติของรัฐบาลว่ามีความแตกต่างจากนโยบายเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาลที่แล้ว ที่ประชาชนได้ประโยชน์ แต่นโยบายช้อปช่วยชาติ คนที่ได้ประโยชน์ที่สุดคือคนรวย เนื่องจากเมื่อคนจนมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็จะใช้เงินในการซื้ออาหารเพิ่ม ส่งผลต่อเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศ แต่เมื่อคนรวยรวยขึ้น ก็มักจะเที่ยวต่างประเทศ ซื้อสินค้าแบรนด์เนม ซึ่งไม่ได้ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจภายในประเทศแต่อย่างใด