วันอังคาร, พฤศจิกายน 28, 2560

ส่อง Social Movement เอ็นจีโอ ภาคประชาชนไทย ผ่าน ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี - ประชาไทรีรัน



แผ่นดินจึงดาล: ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี เอ็นจีโอและภาคประชาชน


2017-05-25
ที่มา ประชาไท


บทสัมภาษณ์ 9 นักวิชาการในชุด ‘แผ่นดินจึงดาล’ นี้ ประชาไทตัดทอนมาจากบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มในหนังสือ ‘แผ่นดินจึงดาล: การเปลี่ยนผ่านในสภาพบังคับ’ เพื่อมองอดีต ปัจจุบัน และอนาคตประเทศไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ว่ามันจะนำพาเราไปสู่อะไร


เป็นมือไม้ของรัฐราชการ เป็นนักฉกฉวยโอกาสทางการเมือง เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย ทั้งหมดนี้เป็นคำอธิบายเอ็นจีโอที่ค่อนข้างรุนแรง แต่ด้วยบทบาทของเอ็นจีโอจำนวนมากที่โลดแล่นบนเวทีประวัติศาสตร์การเมืองไทยระยะใกล้ไล่เรียงถึงปัจจุบันกาล ทำให้ ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยากจะสรุปเป็นอย่างอื่น

นี่อาจเป็นบทวิพากษ์วิจารณ์เอ็นจีโอที่ดุเดือดที่สุดชิ้นหนึ่ง ถึงกระนั้น มันก็เป็นบทวิเคราะห์อดีต ปัจจุบัน และอนาคตที่เอ็นจีโอและภาคประชาชนต้องรับฟัง เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 เพิ่มอำนาจรัฐในการจัดการทรัพยากรให้เข้มข้นขึ้นและลิดรอนสิทธิของประชาชนลง ไหนจะขบวนการเซ้งประเทศประเคนทรัพยากรให้แก่กลุ่มทุน โดยเฉพาะปัญหาที่ดินที่ปิ่นแก้วคาดว่าจะเป็นเรื่องใหญ่ในช่วง 10 ปีข้างหน้า

เอ็นจีโอไทยในฐานะส่วนขยายของรัฐราชการ


ได้เคยตั้งข้อสังเกตไว้นานแล้วว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมามีแนวโน้มที่พัฒนาการของเอ็นจีโอในไทยมีทิศทางของการกลายเป็นส่วนขยายของรัฐราชการ ทำงานร่วมกับราชการมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ ลดบทบาทของการเป็นแอคทิวิสต์ หรือการทำงานเชิง Activism ลง เอ็นจีโอไม่ได้มีทิศทางที่ชัดเจนในการสร้างเสริมอำนาจประชาชน เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม ถ่วงดุลคัดง้างรัฐและทุน หรือเป็นตัวแทนเสียงของประชาชนมาอย่างน้อยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การต้องพึ่งพาแหล่งทุนของรัฐมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงแนวทางการทำงานของเอ็นจีโอในเชิงการเมือง นอกจากจะมีแนวโน้มในการร่วมมือกับราชการมากขึ้นแล้ว ยังปรับท่าทีในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ลง เป้าหมายการทำงานถูกประนีประนอมลงเหลือเพียงทำอย่างไรจึงจะให้องค์กรอยู่รอดในทางการเงิน

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เอ็นจีโอไทยพร้อมจะวิ่งเข้าหาแหล่งทุนใดก็ตามที่โผล่เข้ามา แม้แต่ประชารัฐ ทั้งที่เอ็นจีโอเคยวิจารณ์ประชานิยมอย่างหนัก แต่พอรัฐทหารเปิดให้ภาคเอกชนกับเอ็นจีโอเข้าไปเป็นคู่สัญญาในการผันเงินเข้าสู่ชาวบ้าน เอ็นจีโอก็พร้อมกระโดดเข้าใส่ ถ้ามองพัฒนาการแบบนี้จึงไม่น่าแปลกใจว่า เหตุใดเอ็นจีโอจึงไปนั่งเป็นกรรมการที่รัฐแต่งตั้ง ไปนั่งในสภาปฏิรูปหรือกรรมการปฏิรูปประเทศ ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นความต่อเนื่องของทิศทางที่มีมาก่อนหน้านี้แล้ว ที่ทำให้เอ็นจีโอพร้อมจะเข้าไปทำงานเป็นส่วนขยายของรัฐราชการอย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ

ถ้าถามส่วนตัวว่าภาคประชาชนจะไปทางไหน นี่เป็นทิศทางกระแสหลัก จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ในภาวะที่ไม่สามารถกำหนดการทำงานของตัวเองได้ เงื่อนไขทางเศรษฐกิจหรือความไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ทางด้านแหล่งทุน หรือต้องทำงานเพื่อตอบสนองโจทย์ของแหล่งทุนมากกว่าทำงานตอบสนองประชาชน ทำงานเพื่อรักษาตัวให้รอด อยู่ให้เป็น คล้ายๆ กับเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เอ็นจีโอในไทยไปทางนั้น ผนวกเข้ากับบริบทการเมืองไทย วิธีวิเคราะห์การเมืองไทย การมองตนเองกับความสัมพันธ์กับกลุ่มอำนาจในการเมืองไทย เลยยิ่งทำให้ตำแหน่งแห่งที่ของเอ็นจีโอผูกเข้ากับสถานภาพแบบนี้โดยปริยาย เอ็นจีโอกลายเป็นกลุ่มองค์กรที่ทำงานเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับรัฐราชการ เป็นพันธมิตรกับรัฐราชการ เพื่อแลกกับความอยู่รอดของตนเอง โดยปราศจากการมองภาพอนาคตของสังคมไทย หรือคุณภาพของสังคมไทย และเห็นว่าคุณภาพของความเป็นประชาธิปไตยของสังคม ไม่เกี่ยวข้องกับพันธกิจของตนอีกต่อไป

เอ็นจีโอหันขวา

ถ้าพูดแบบเป็นกลางหน่อยก็คือ ท่าทีที่เขาผิดหวังในระบอบเลือกตั้ง ทำให้เขาตัดสินว่าการเมืองในระบอบเลือกตั้งมัน ไม่เกี่ยวข้องกับเขา ไม่เกี่ยวกับงานเอ็นจีโอ ใครก็ได้ที่มีอำนาจเข้ามา เขาพร้อมทำงานด้วย เพื่อทำให้ตัวเองและประเด็นที่ตัวเองทำนั้นอยู่รอด เป้าหมายใหญ่ของเอ็นจีโอที่ว่า ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน ที่เคยเป็นสโลแกนใหญ่ของเขากลายมาเป็น ทำงานกับรัฐเพื่อเพิ่มอำนาจให้ตัวเองหรือทำให้ตัวเองอยู่รอด นี่เป็นทิศทางที่เป็นอยู่

ดังนั้น เวลาเราบอกว่าเอ็นจีโอสวิงกลับไปทางขั้วอำนาจอนุรักษ์นิยม มันเป็นท่าทีเชิงสัมพัทธ์ เขาคงเปรียบเทียบว่าอำนาจแบบไหนให้ประโยชน์กับเขา ถ้าการเมืองในระบอบเลือกตั้งให้ประโยชน์แก่นักการเมืองมากกว่าตัวเอง เห็นนักการเมืองได้ดอกผลจากระบอบการเลือกตั้ง นักการเมืองก็กลายเป็นคู่แข่ง และเมื่อรัฐบาลทหารเป็นตัวช่วยเสริมอำนาจให้กับเอ็นจีโอในการคัดง้างกับคู่แข่ง เอ็นจีโอก็พร้อมจะเข้าร่วมกับรัฐบาลทหาร แต่ถ้าเมื่อไรก็ตามที่เห็นว่าการเข้าไปร่วมองคาพยพของรัฐบาลทหารไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ให้กับตนอย่างสมบูรณ์นักตามที่คาดหวังไว้ เราก็จะเห็นท่าทีที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน ถ้าให้พูดตรงๆ ก็คือ การไม่มีจุดยืนหรือไม่มีวิธีคิดในการมองว่าคุณภาพการเมืองควรเป็นอย่างไร และการมองว่าการเมืองไทยจะเป็นอย่างไรก็ได้ ไม่ได้สลักสำคัญอะไรกับการอยู่รอดของตน จุดยืนแบบนี้ได้ทำให้เอ็นจีโอยืนอยู่บนฐานที่ว่า ระบอบการเมือง คุณภาพทางการเมือง ไม่มีความสำคัญหรือเกี่ยวข้องกับขบวนการของเอ็นจีโออีกต่อไป

รัฐธรรมนูญ 2560 กับปัญหาการจัดการทรัพยากรที่รออยู่ข้างหน้า


รัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการที่ทหารสถาปนาขึ้นและกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานใหญ่ทางกฎหมายของบ้านเมืองแล้ว หลังจากนี้ไปจะขยับอะไรไม่ได้หรือขยับได้ยากมาก ไม่ต้องคิดถึงเรื่องปฏิรูปกฎหมายอื่นๆ มติ ครม. หรือเวทีต่อรองของภาคประชาชนกับรัฐบาลที่เคยมีมา รัฐบาลที่ประชาชนไม่ได้เลือกมาย่อมออกกฎหมายตามอำเภอใจของตน

ในอีก 10 ปีข้างหน้านี้ เรื่องการพรากสิทธิจากที่ดินจะเป็นเรื่องใหญ่ ที่จริงก็ไม่ใช่แค่เฉพาะในไทย ที่ผ่านมาไปทำวิจัยในลาวก็พบว่าสถานการณ์หนักมาก เขตเศรษฐกิจพิเศษไทยกำลังเดินตามรอยของลาว ที่พูดว่าขบวนการเซ้งประเทศ มันคือการเซ้งที่ดินจำนวนมหาศาลให้กับทุน ซึ่งเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าถ้าเขาเอาที่ดินไปแล้ว จะเอาไปทำอะไร เขตเศรษฐกิจพิเศษที่ถูกประกาศกันทั่วประเทศ เกือบทั้งหมดอยู่ในเขตชายแดนในจังหวัดสำคัญๆ กินพื้นที่มหาศาลและมีกรอบเวลายาวเป็นชั่วอายุคน ในสนามการแข่งขันของทุนนิยมในประเทศด้อยพัฒนาในภูมิภาคนี้ เขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นสินค้าที่ถูกนำมาขายอย่างดุเดือด ทั้งที่ไม่ได้มีอะไรที่การันตีได้ว่ารัฐไทยจะมีความสามารถแข่งกับลาวหรือประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ในการดึงกลุ่มทุนมาลงทุนในพื้นที่ได้ แต่สิ่งที่รัฐทำคือการประกาศเขตไปก่อน ยึดที่ดินมาก่อน อันนี้น่าจะเป็นประเด็นหรือเป็นชนวนสำคัญก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวใหญ่ในอนาคตอย่างแน่นอน

ปัญหาคือเอ็นจีโอไทยไม่เคยทำงานที่พ้นไปจากการจัดตั้งมวลชน ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันเป็นสิ่งที่ทำได้ยากและมีความจำเป็นต้องพัฒนายุทธศาสตร์อื่นๆ มาทำงาน รวมไปถึงคำถามที่ว่าคือเอ็นจีโอมีความรู้เกี่ยวกับปัญหาที่ดินที่ออกไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่ สามารถมองเห็นปัญหานี้ในฐานะที่เป็นปัญหาร่วมในระดับภูมิภาคหรือไม่ และสามารถยกระดับปัญหานี้ขึ้นมาเพื่อขยายฐานทำงานที่กว้างขวางกว่ารายกรณีได้หรือไม่ นี่เป็นโจทย์ที่ต้องคิดนอกกรอบการทำงานแบบเดิมๆ

คำถามสำคัญจึงเป็นเรื่องที่ว่า ในสมรภูมิความขัดแย้งหลังการเมืองยุคเสื้อสี ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ยึดโยงอยู่กับประชาชน และสังคมที่ไร้กติกา ใครจะทำหน้าที่เป็น Catalyst ให้เกิดการรวมตัวของผู้คนที่เดือดร้อนจากรัฐอำนาจนิยม โดยส่วนตัวคิดว่า คำตอบในเรื่องนี้คงต้องมองในสังคมยุคหลังเอ็นจีโอ ในคนรุ่นใหม่ๆ นอกวัฒนธรรมอุปถัมภ์ของภาคประชาชน ในกลุ่มคนที่กล้าคิดและกล้าตั้งคำถามต่อความเสื่อมถอยของประชาธิปไตย อันเป็นรากฐานของปัญหาที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ รวมถึงในชุมชนเอ็นจีโอที่ดำรงอยู่