วันพุธ, พฤศจิกายน 29, 2560

ประชาไทรีรัน... คุยกับมิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2013 เรื่องคำถาม-คำตอบ และ social movement บนเวทีนางงาม



ญาดา เทพนม


คุยกับมิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2013 เรื่องคำถาม-คำตอบ และ social movement บนเวทีนางงาม


2017-11-28
ที่มา ประชาไท


“social movement” กับการตอบคำถามของมารีญา พูลเลิศลาภ มิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์สปีล่าสุดและผู้เข้ารอบ 5 คนสุดท้ายในเวทีมิสยูนิเวิร์ส 2017 กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงในโลกออนไลน์ ประชาไทชวน อ๋อ - ญาดา เทพนม มิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2013 และ มิสเซาท์อีสต์เอเชียทัวริซึมแอมบาสเดอร์ 2015 อดีตนิสิตสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุยเรื่องเวทีนางงามทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลัง เจาะลึกเรื่องการตอบคำถามบนเวที การตัดสินผู้ชนะที่เชื่อมโยงกับการเมืองระหว่างประเทศ และ social movement ในเวทีของนางงาม

อยากให้ช่วยเล่าเบื้องหลังเวทีว่าก่อนหน้าที่จะมีการตอบคำถาม เขาได้บอกอะไรเราล่วงหน้าไหม มีวิธีเตรียมตัวอย่างไร

ถ้าเป็นเรื่องคำถามที่อ๋อประกวดมาสองเวทีคือ ระดับอินเตอร์ของแกรนด์ฯ ไม่มีการบอกคำถามล่วงหน้า ของแกรนด์ไม่เหมือนเวทีอื่นเพราะมีการกล่าวสปีชที่เตรียมมาด้วยสำหรับคนที่เข้ารอบสิบคนสุดท้าย สำหรับสปีชเป็นสิ่งที่เราหัดกันมาก่อนแล้ว แต่มันจะมีรอบคำถามของ 5 คนสุดท้าย เขาจะถามเราตรงนั้นเลย

ส่วนอีกเวทีหนึ่งที่เคยประกวดคือเวที Miss Southeast Asia Tourism Ambassador เมื่อปี 2015 อันนี้เขาเหมือนเป็นเวทีเล็กๆ คนที่ตอบคำถามคือคนที่เข้ารอบ 7 คนสุดท้าย เขาจะให้คำถามมา 1 วันก่อนหน้าวันประกวดจริง คือไม่รู้ว่าใครจะเข้ารอบ แต่คำถามมีแค่คำถามเดียว ต่างกันที่แต่ละคนจะตอบกันยังไง แล้วก็มีอีกหลายเวทีในไทยและต่างประเทศที่ใช้วิธีให้คำถาม สมมติว่า คนที่เข้ารอบ 5 คนสุดท้ายต้องตอบคำถามก็จะแจกคำถาม 5 ข้อให้ทุกคนก่อนวันประกวดก็มี ทุกคนก็พยายามตอบมาทุกข้อ แต่เอาเข้าจริงไม่รู้ว่าจะจับได้ข้อไหน

ทริกในการเตรียมตัวของนางงามก็เหมือนไปสัมภาษณ์งาน ก็ต้องเก็งว่าเขาจะถามอะไรบ้าง เศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม อะไรอย่างนี้ อยู่ที่ว่าเราเก็งไปใกล้ความจริงแค่ไหน

อย่างมิสยูนิเวิร์สน่าจะไม่ให้คำถามก่อน?

ใช่ น่าจะถามสด

เรื่องการตอบคำถาม เหมือนเป็นขั้นสุดท้ายก่อนที่เขาจะตัดสิน?

ใช่ สุดท้ายนางงามที่เข้ารอบมา เขาน่าจะคัดกันมาตั้งแต่ในกองประกวดแล้วเพราะไม่สามารถตัดสินกันบนเวทีอย่างเดียว เขาก็ดูกันตั้งแต่ตอนเก็บตัว ไม่งั้นจะมีการเก็บตัวทำไม ถ้าแค่สวย เดินดี จริตดี ตอบคำถามดี แต่ไม่ใช่แค่การตอบคำถามดีจะทำให้ได้มงกุฎ

การตอบคำถามไม่ใช่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการได้มงกุฎใช่ไหม?

ต้องพูดว่าเป็นปัจจัยสุดท้าย ปัจจัยแรกคือหน้าตา ความสง่างาม ออร่า ทัศนคติ นิสัย ความร่าเริง ศักยภาพอื่นๆ และโปรไฟล์จะทำให้เราเข้ารอบลึกๆ แต่คำถามในรอบไฟนอลจะเป็นตัวเลือกว่าใครจะได้มงกุฎ

แต่ในกรณีที่นางสาวเอกับนางสาวบีตอบคำถามแบบที่ว่า นางสาวเอสวยกว่านางสาวบีมาก แต่นางสาวบีตอบคำถามได้ดีกว่านางสาวเออย่างมากนางสาวบีก็จะได้ไป แต่ถ้านางสาวเอสวยมาก นางสาวบีสวยรองลงมา แต่นางสาวเอตอบคำถามแย่กว่านางสาวบีเล็กน้อย เขาก็ให้นางสาวเอ เพราะอย่างไรนางงามความสวยต้องมาก่อน นางงามไม่สวยไม่ได้ เพราะฉะนั้นคนที่ตอบคำถามได้ดีน้อยกว่าแต่สวยกว่าอาจจะได้ไป

ทั้งหมดอยู่ที่เจ้าของเวทีว่าเขาจะให้น้ำหนักกับอะไรมากกว่า คำถามจึงสำคัญในแง่ที่ว่าเราไม่มีทางรู้ล่วงหน้า การเตรียมตัวด้านร่างกาย เสื้อผ้า ทุกอย่างในกองเป็นสิ่งที่เราสามารถทำล่วงหน้าได้ แต่คำถามคือสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนั้น เราไม่รู้ว่าจะเจอคำถามข้อไหน คำถามจึงมีความสำคัญที่จะชี้ชะตาเรา เป็นสิ่งเดียวที่ไม่สามารถเตรียมตัวได้

คำถามของแต่ละเวทีมันกำหนดวาระ (agenda setting) ของเวทีนั้นหรือเปล่า

เราว่าค่อนข้างนะ อย่างของมิสเวิลด์จะชัดเจนมากว่าเขาเน้นคุณค่าผู้หญิงสูงมาก คำถามของมิสเวิลด์จะเน้นไปทางสังคมการเมืองมาก เพราะเวทีนี้เขาเอานางงามเพอร์เฟกต์ คนที่ได้ก็จะเป็นหมอบ้าง นักสังคมสงเคราะห์บ้าง แล้วจะมาจากประเทศที่ให้การสนับสนุนดี เหมือนไทยที่สนับสนุนมารีญาดีมาก มันก็เป็นทุกเวทีที่ประเทศไหนคนดูเยอะ คนเชียร์เยอะก็มีเครดิตดีกว่าประเทศที่คนไม่สนใจ มันก็เป็นการตลาด เราจะให้เครดิตกับตัวแทนประเทศที่ไม่สนใจดูเวทีเราไหม เราก็ต้องให้โอกาสนางงามประเทศที่ซัพพอร์ตเวทีเรามากกว่า

ส่วนเรื่องอัตลักษณ์คำถามกับเวที อย่างมิสยูนิเวิร์สซึ่งเป็นของสหรัฐฯ แต่ก่อนคำถามก็ไม่ได้การเมืองเท่านี้ แต่สามปีก่อนมีการเปลี่ยนเจ้าของลิขสิทธิ์ ก็เหมือนจะเอาคำถามที่เป็นการเมืองเข้ามามากขึ้น ที่เห็นชัดเจนคือเน้นความสวยจากภายในมากขึ้น แบบนางงามที่มาต้องมีอะไร ไม่ใช่แค่สวย ต้องมีประเด็นในตัวเองที่ขายได้ ส่วนมิสแกรนด์อินเตอร์มีจุดยืนที่ชัดเจนอยู่แล้วคือเน้นสันติภาพ หยุดสงคราม คำถามก็จะเน้นไปทางการเมืองสังคมเป็นส่วนใหญ่

เรื่องปัจจัยทางการเมืองระหว่างประเทศ เรื่องสปอนเซอร์ทางธุรกิจมีส่วนตัดสินไหม

มีอยู่แล้ว ในประเทศไม่เท่าไหร่ เพราะในภาพกว้าง ยังไงผู้จัดงานก็คือคนที่เลือกนางงาม อาจมีที่สปอนเซอร์ถูกใจคนนี้ก็ได้ตำแหน่งพิเศษไป (เช่น เบสท์สไมล์ เมืองไทยประกันชีวิต คือเมืองไทยประกันชีวิตชอบคนนี้ก็เลยให้ตำแหน่งนี้) แต่ว่าในเวทีใหญ่เมืองไทยเราไม่เห็นว่ามีสปอนเซอร์เลือกว่าใครจะได้มงกุฎ

ส่วนระดับโลก มันแล้วแต่บริบทเวทีว่าเวทีนั้นเป็นอะไร ของใคร อย่างเวทีแกรนด์อินเตอร์เนชันแนลเป็นเวทีเกิดใหม่ ไม่ใช่เวทีที่เข้าไปยุ่งกับการเมืองเยอะ และเวทีก็เป็นเอกชนของคนๆ เดียว ไม่ใช่บริษัทมหาชน เลยมีการแทรกแซงจากกลุ่มธุรกิจและการเมืองน้อย เพราะอย่างไรก็เป็นเจ้าของคนเดียว เช่น นาย ก. จากไทยซื้อลิขสิทธิ์ก็ส่งนางงามไปประกวด ดังนั้นคนเลือกผู้ชนะก็คือนาย ก. แต่ถ้าสปอนเซอร์ชอบคนนี้อยากจะให้ตำแหน่งดีๆ ก็อาจจะมี แต่สุดท้ายเจ้าของลิขสิทธิ์ก็เป็นคนเลือกอยู่ดี หรืออย่างมิสเวิลด์ เจ้าของมูลนิธิของมิสเวิลด์ที่ชื่อจูเลียเขาก็เลือกเอง และก็ไม่ได้เข้าไปพัวพันกับการเมืองมากตั้งแต่ต้นแล้ว

แต่ในกรณีมิสยูนิเวิร์สต่างออกไป เพราะถ้าไปดูต้นกำเนิดของมันจริงๆ คือมันเกิดขึ้นในช่วงสงครามโลก เป็นการประกวดเพื่อสันติภาพในช่วงแรกเริ่ม เป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เวทีมิสยูนิเวิร์สผ่านมือคนมาเยอะ ผ่านแม้แต่มือ โดนัลด์ ทรัมป์ ดังนั้นเราคิดว่าการเมืองมีผลกับมิสยูนิเวิร์สเต็มๆ เพราะเรารู้ว่าสหรัฐฯ มีการใช้ซอฟต์พาวเวอร์อย่างวัฒนธรรม ภาพยนตร์ ซีรีส์ นางงาม การทูต

เหมือนสหรัฐฯ เป็นเจ้าของมิสยูนิเวิร์ส การที่เวทีระดับโลกของอเมริกาจัดประกวดแล้วให้มงกุฎนางงามประเทศหนึ่งมันเป็นเรื่องใหญ่พอที่จะกระทบถึงความเป็นไปของประเทศนั้น เลยไม่แปลกใจที่จะเห็นว่านางงามหลายคนที่ได้ตำแหน่งมิสยูนิเวิร์ส รวมถึงของไทยคือพี่ปุ๋ย (ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก) และพี่อาภัสรา หงสกุล ก็สามารถคาดเดาได้ว่ามีผลทางการเมือง เพราะคุณอาภัสราก็ได้ในยุคสงครามเย็นที่ไทยเป็นฐานทัพให้กองทัพสหรัฐฯ หรืออย่างฟิลิปปินส์ในปี 2015 เพราะฟิลิปปินส์ตอนนั้นก็ยินยอมการมีฐานทัพสหรัฐฯ ในฟิลิปปินส์ แต่ทั้งหมดก็คือการคาดเดาเพราะในความเป็นจริงอาจจะไม่ใช่ก็ได้ เช่นปีล่าสุดที่ฝรั่งเศสได้ไปก็ไม่เห็นว่ามีผลกับการเมืองเท่าไหร่ อาจจะแล้วแต่บางปี อาจจะมีเรื่องของการเมืองเบื้องหลังในบางปี

แล้วในฐานะที่เป็นตัวแทนประเทศไทยไปตอบคำถาม มันมีกรอบการตอบที่ควรต้องตอบ ไม่สามารถตอบในเชิงลบเกี่ยวกับการเมืองในไทยได้ ทั้งที่ความเป็นประชาธิปไตยก็เป็นสิ่งที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญ แบบที่หลายฝ่ายคาดกันว่าที่มารีญาตอบแบบนั้นเพราะต้องเซฟตัวเองหรือเปล่า?

ไม่รู้จริงๆ เพราะคำถามนี้มันไม่ได้นำเข้าเรื่องการเมืองอย่างเดียวนะ คำว่า social movement ไม่ใช่เรื่องการเมือง การเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างเดียว คิดว่า หนึ่ง มารีญาไม่ได้อยากชูประเด็นการเมือง สอง มันคงเป็นสิ่งที่เขานึกได้ในเวลานั้น เขาคงพยายามตอบว่าเยาวชนไทยเป็นกำลังสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนประเทศที่จะเป็นสังคมสูงอายุ เพราะเราเป็นคนรุ่นใหม่และเราต้องดูแลเขา ซึ่งโอเค ปัญหาคือเธอตอบไม่ตรงคำถาม เพราะคำถามคืออะไรเป็น social movement แต่เยาวชนไม่ใช่ social movement เยาวชนคือประธานที่จะไปทำ social movement คำตอบคลาดเคลื่อนจริง ก็อาจจะเข้าใจได้ว่าตื่นเต้น

ส่วนการไม่พยายามดึงเข้าการเมืองก็เป็นไปได้ แต่อาจเพราะความตื่นเต้น จริงๆ คำถามนี้ก็ตอบไปอย่างอื่นได้ เช่น social movement ทุกวันนี้คือการให้เกียรติทางด้านเชื้อชาติ สีผิว เพศตรงข้าม LGBT หรือเรื่องการเปิดกว้างและมีอิทธิพลของโซเชียลมีเดียก็ได้เหมือนกัน

แต่สังเกตคำถามที่นางงามฟิลิปปินส์ได้ในปี 2015 ที่ถามคำถามเรื่องฐานทัพในฟิลิปปินส์ แล้วเขาตอบโปรอเมริกา แล้วเขาก็ชนะ

ก็อันนั้นคำถามนำคำตอบ คำถามที่นางงามฟิลิปปินส์ได้คือคุณคิดอย่างไรกับการที่สหรัฐฯ เข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศคุณ มันก็ตอบได้สองอย่างคือดีกับไม่ดี คำถามนี้เหมือนจะปลายเปิดแต่จริงๆ เป็นคำถามปลายปิดที่ตอบได้แค่ว่าชอบหรือไม่ชอบ เยสหรือโน แต่กรณีมารีญาเป็นคำถามปลายเปิด แถมให้คำว่า why มาอีก ยิ่งเปิดกว้าง ถ้าจะตอบให้แบบโปรอเมริกาว่ามีการลิดรอนสิทธิในประเทศ มีการเรียกร้องสิทธิ ก็มีสิทธิเข้ารอบกว่านี้เหมือนกันเพราะมันตรงคำถามและกลับมาเข้าทางอเมริกา

แต่การที่มารีญาจะสามารถตอบให้ตรงคำถามและไม่ก่อให้เกิดความแตกแยกในประเทศตัวเอง เพราะตอนนี้คนในประเทศมีทั้งที่สนับสนุนและต่อต้านทหาร สมมติมารีญาตอบว่าที่บ้านฉันมีการเคลื่อนไหวเรื่องนี้ๆ เช่นพี่ตูน บอดี้สแลม สิทธิของ LGBT ซึ่งก็ตรงคำถามและไม่ทำให้เกิดแรงเสียดทานในประเทศ ก็เป็นคำตอบที่ตรงคำถาม เข้าทางอเมริกาและมารีญาก็อาจจะเข้ารอบเหมือนกัน

มันอยู่ที่การตัดสินใจว่าจะตอบอะไร ตัวนางงามเองมีคลังข้อมูลมากขนาดไหน คนเรามีความสามารถไม่เหมือนกัน มารีญาจบธุรกิจมาเขาอาจจะตอบคำถามเรื่องเศรษฐกิจได้ดีกว่า แต่มารีญาไม่ได้จบรัฐศาสตร์ กฎหมาย ไม่ได้ชินกับเรื่องการเมืองขนาดนั้น อาจเป็นเรื่องที่เขาคิดไม่ทันตอนนั้น คำถามที่เขาตอบไม่ได้ผิด แต่มันไม่ได้ถูกเรียบเรียงคำพูดให้ออกมาสอดคล้องกับคำถามได้เป๊ะๆ

ถ้าอย่างนั้นกรอบและข้อจำกัดของการตอบคำถามของนางงามคืออะไรบ้าง เมื่อตัดเวลาที่จำกัดออกไปแล้ว?

จริงๆ ไม่มีกรอบอะไรหรอก แค่ตอบคำถามชัดเจน ตรงประเด็น ไม่เวิ่นเว้อ กล้าแสดงจุดยืนของตัวเอง พร้อมให้เหตุผล ต้องมีความมั่นใจในการตอบ แต่ถ้าจะให้ดีไปกว่านั้นคือ ตอบในสิ่งที่เจ้าของเวทีจะต้องถูกใจ ซึ่งเราก็ต้องระมัดระวังด้วยว่าคำตอบนั้นจะไม่ไปสร้างแรงเสียดทานกับคนในประเทศเราด้วย ดังนั้นการเตรียมตัว เก็งคำถามมาก่อนก็ช่วยได้

เพิ่มเติมเรื่องมารีญา จริงๆ ตอนที่ดูในวิดิโอพรีเซนต์ เราเห็นว่ามารีญาพยายามทำกิจกรรมเพื่อเยาวชนเพื่อป้องกันการท้องก่อนวัยอันควร ซึ่งสิ่งที่มารีญาทำก็ถือเป็นการช่วยผลักดันให้สังคมหันมาสนใจแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจังได้ พูดง่ายๆ คือเธอสามารถหยิบเรื่องใกล้ตัวจากวิดีโอพรีเซนต์ของเธอมาตอบคำถามได้

การได้ตำแหน่งนางงามถือเป็น social movement อย่างหนึ่งไหม แบบเป็นตัวแทนองค์กรที่คนภายนอกมองว่าต้องทำหน้าที่ต่างๆ เช่นช่วยเหลือเด็ก?

จริงๆ ต้องมีการตีความคำว่า Social movement คือการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม ซึ่งก็ตรงตัวว่าต้องมาจากประชาชน ไม่ใช่แค่คนเพียงคนเดียว แต่ต้องหลายๆ คนรวมกันถึงจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

สิ่งที่ปู ไปรยาทำ ถ้าคนไทยให้ความสำคัญมากกว่านี้เขาก็อาจจะเป็นคนหนึ่งที่ทำให้ก่อให้เกิด social movement ตอนที่เขาทำงานที่ UNHCR ที่ไปเยี่ยมโรฮิงญา แต่คนไทยไม่ค่อยอินกับประเด็นโรฮิงญาเท่าไหร่ ไม่เหมือนตอนพี่ตูนที่คนไทยอินมากจนเกิดเป็นกระแสทั้งการบริจาคและในโซเชียลมีเดีย

โลกออนไลน์ก็สำคัญมากๆ ที่จะก่อให้เกิด social movement ขอพูดถึงคำถามมารีญาที่ว่า คุณคิดว่าอะไรเป็น social movement ที่สำคัญที่สุดในสังคม สิ่งที่แวบเข้ามาในหัวเราคือ social movement ที่สำคัญสุดในยุคเราคือโซเชียลมีเดีย ตอนนี้ถ้าคุณไปโบกธงหน้าสภาก็ไม่มีใครสนใจคุณเท่ากับการที่คุณขอให้เพจเฟสบุ๊คลงวิดีโอให้หน่อย อาจจะมีคนรู้มากกว่าที่คุณไปโบกธงหน้าสภาอีก

พลังของ social movement ที่เกิดจากโซเชียลมีเดียมีผลมาก มันทำให้การตายของเด็กคนหนึ่งเป็นที่สนใจ มันทำให้ความลับของค่ายทหารถูกเปิดโปง ทำให้คนเห็นพฤติกรรมต่างๆ ของคนในสังคมและลุกขึ้นมาต่อต้าน หรือทำให้เกิดการล่าแม่มด มันทำให้เกิดทั้งด้านบวกและลบของ social movement ใครที่สามารถนำประเด็นในโซเชียลมีเดียได้ คุณกำลังถือไพ่เหนือคนอื่นเพราะคุณทำให้เกิด social movement ได้ ผู้นำทาง social movement ในยุคนี้มาจากโซเชียลมีเดียเยอะขึ้น

ทีนี้กลับมาที่ประเด็นนางงาม สมมตินางงามไทยได้ตำแหน่งมิสยูนิเวิร์ส ก็จะก่อให้เกิดความปิติยินดี คนอาจจะตื่นเต้น แต่มันเป็นกระแสมากกว่า มาเร็วแล้วก็ไปเร็ว ดีใจที่นางงามเราได้มงกุฎ กลับมาก็ต้อนรับ แล้วก็รับงานๆ มีชื่อเสียง รับเงิน ก็จบ แต่ว่า social movement มันจะเกิดได้ต่อเมื่อตัวนางงามหรือทีมงานทำอะไรที่สังคมรู้สึกว่าอยากมีส่วนร่วมด้วย ซึ่งโดยปกติเมื่อได้มงกุฎเขาต้องไปทำงานกับองค์กรแม่ที่อเมริกา ตอนนั้นก็แล้วแต่องค์กรแม่ว่าจะพาไปทำกิจกรรมอะไรบ้างเพื่อสังคมบ้าง ซึ่งที่ผ่านมากองมิสยูนิเวิร์สทำน้อยเมื่อเทียบกับที่อื่น ที่ทำเยอะคือมิสเวิลด์ เขาทำกิจกรรมเพื่อสังคมเยอะมาก ระดมทุนเยอะมาก แล้วก็มีการรับเงินบริจาคจากประเทศที่ส่งนางงามเข้าประกวดด้วย

มิสยูนิเวิร์สดูไม่ค่อยมีภาษีจากเรื่องนี้เท่าไหร่?

ไม่ค่ะ มิสยูนิเวิร์สไม่ค่อยมีเรื่องนี้เท่าไหร่ มิสแกรนด์ฯ ก็มีบ้างประมาณร้อยละ 30 มีไปตะวันออกกลาง ช่วยเหลือเด็ก เอาผ้าห่มไปให้เด็กที่อิรัก ก็มีบ้าง แม้คนมีชื่อเสียงในไทยมีเยอะมาก แต่ถ้าเขาไม่ใช้ชื่อเสียงของเขาทำให้สังคมคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่างก็ไม่มีประโยชน์ ที่พี่ตูนทำเรียกว่า social movement เพราะเขาทำให้คนสนใจประเด็นสาธารณสุขมากขึ้น เพราะจริงๆ ประเด็นโรงพยาบาลก็มีมาตั้งนานแล้ว โรงพยาบาลเล็กๆ ที่อุปกรณ์ไม่พอ แต่ไม่มีใครพูดถึง พอพี่ตูนออกมาวิ่ง สังคมก็ถูกทำให้คิดว่า เออ โรงพยาบาลแถวบ้านเราแย่ ต้องหาเงินช่วย