ภาพการปิดกั้นถนนที่จังหวัดอุดรธานี เมื่อปี 2553 (ภาพจากไทยรัฐออนไลน์)
27/11/2017
By TLHR
(ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)
การดำเนินการทางการเมืองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในช่วงราวครึ่งปีหลังของปี 2560 นี้ ที่เป็นปรากฏการณ์สำคัญหนึ่งและดูเหมือนจะไม่ถูกนำเสนอหรือไม่ได้เป็นข่าวสารที่คนให้ความสนใจมากนัก ได้แก่ ปรากฏการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้าจับกุมหรือเรียกตัวคนเสื้อแดงในหลายพื้นที่ มาแจ้งข้อกล่าวหาต่างๆ จากกรณีเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2552 จนถึงก่อนการรัฐประหาร 2557 หรือบางกรณีที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาไว้นานแล้ว ก็กลับมีการเรียกตัวผู้ต้องหาไปสั่งฟ้องคดีต่อศาล
ปรากฏการณ์ “ขุด” คดีทางการเมืองมาใช้จับกุม แจ้งข้อกล่าวหา หรือสั่งฟ้องศาลดังกล่าวนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งดำเนินการดังกล่าวด้วยตนเอง แต่มีลักษณะเป็นปฏิบัติการเชิงนโยบายที่มีการสั่งการหรือเร่งรัดมาเป็นการทั่วไป เนื่องจากเกิดขึ้นในหลายพื้นที่และในลักษณะที่ใกล้เคียงกัน ปรากฏการณ์ดังกล่าวจึงสะท้อนให้เห็นถึงนโยบายที่ คสช. กำลังดำเนินการอย่างเงียบๆ และดูจะสวนทางกับนโยบาย “ปรองดอง” ที่คสช. กล่าวอ้างต่อสังคมเอาไว้ในช่วงปีที่ผ่านมา รายงานชิ้นนี้ประมวลกรณีในภูมิภาคต่างๆ เท่าที่ทราบ มาชี้ให้เห็นปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น และดูจะยังดำเนินต่อเนื่องไป
จับกุมเสื้อแดงอย่างน้อย 6 ราย คดีปิดถนนในอุดรฯ ตั้งแต่ปี 53
เริ่มต้นที่จังหวัดทางภาคอีสาน ในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 นี้ ได้ปรากฏกรณีการจับกุมดำเนินคดีชาวบ้านเสื้อแดงอย่างน้อย 6 ราย จากกรณีการชุมนุมปิดถนนที่จังหวัดอุดรธานีตั้งแต่เมื่อปี 2553
เหตุในคดีนี้ สืบเนื่องจากความพยายามในการสลายการชุมนุมของประชาชนที่ถนนราชดำเนินในวันที่ 10 เม.ย.53 ทำให้ทางคนเสื้อแดงในอำเภอหนองวัวซอ และอำเภอโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี ได้เข้าปิดกั้นถนนสายหลัก ในช่วงวันที่ 25-26 เม.ย.53 โดยให้เหตุผลว่าเพื่อสกัดกั้นไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจลงไปสมทบกำลังที่กรุงเทพฯ เพื่อสลายการชุมนุมอีก
การจับกุมที่เพิ่งเกิดขึ้นกับมวลชนที่เข้าร่วมชุมนุมดังกล่าว อาทิเช่น เมื่อต้นเดือนส.ค. (2 ส.ค.60) พนักงานสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร่วมกับตำรวจในพื้นที่ ได้เข้าจับกุมตัวนายสมพร ไชยกอง คนเสื้อแดงซึ่งประกอบอาชีพติดตั้งเครื่องเสียงในจังหวัดหนองบัวลำภู จากหมายจับที่ออกตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2553 โดยที่ไม่ได้มีการจับกุมในช่วงดังกล่าวแต่อย่างใด
สมพรถูกนำตัวไปสอบสวนที่กรุงเทพฯ และต่อมามีการแจ้งข้อกล่าวหาเรื่องการมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป กระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยกระทำการเป็นหัวหน้าหรือผู้มีหน้าที่ในการสั่งการในการมั่วสุม, เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแต่ผู้กระทำความผิดไม่เลิก, กระทำการปิดกั้นทางหลวงหรือกระทำด้วยประการใดๆ บนทางหลวงในลักษณะที่อาจเกิดอันตรายหรือเสียหายแก่ยานพาหนะหรือบุคคล
สมพรได้รับการประกันตัว และคดียังอยู่ในชั้นอัยการ กรณีนี้ญาติเปิดเผยว่าในวันเกิดเหตุ สมพรได้เข้าไปติดตั้งเครื่องเสียงและไมโครโฟน ไม่ได้เป็นแกนนำในการชุมนุมแต่อย่างใด ญาติยังระบุข้อมูลจากการสอบถามตำรวจที่เข้าจับกุม โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนยันว่าทำตามหน้าที่ และมีนโยบายให้รื้อคดีที่ค้างคาเหล่านี้
ในวันเดียวกับที่มีการจับกุมสมพร ยังมีคนเสื้อแดงในพื้นที่อำเภอโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี ถูกเรียกตัวมาที่ว่าการอำเภอ ก่อนจะถูกควบคุมตัวจากหมายจับที่ออกตั้งแต่ปี 2553 ในข้อหาและพฤติการณ์ในลักษณะเดียวกันกับนายสมพร และคดียังอยู่ในชั้นอัยการเช่นกัน
ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 พ.ย.60 เจ้าหน้าที่ดีเอสไอร่วมกับตำรวจในพื้นที่ ยังได้เข้าจับกุมคนเสื้อแดงอีกรายหนึ่งในอำเภอหนองวัวซอ โดยใช้หมายจับของศาลอุดรธานีที่ออกตั้งแต่เมื่อปี 2553 จากกรณีการปิดถนนในช่วงเดือนเมษายน 2553 เช่นเดียวกัน คนเสื้อแดงรายนี้ถูกควบคุมตัวที่สถานีตำรวจหนองวัวซอหนึ่งคืน ก่อนจะได้รับการประกันตัว
นอกจากนั้น เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคม 2560 ศาลจังหวัดอุดรธานียังได้อ่านคำพิพากษาในกรณีของนักจัดรายการวิทยุคนเสื้อแดง กับพวกอีกรายหนึ่ง จากการปิดกั้นถนนบริเวณหน้า สภ.โนนสะอาด อำเภอโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี เมื่อปี 2553 โดยศาลพิพากษาจำคุก เป็นเวลา 4 ปี โดยที่จำเลยทั้ง 2 คน ให้การรับสารภาพ จึงลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี โดยล่าสุดคดีนี้ทั้งสองคนไม่ยื่นอุทธรณ์คดี ทำให้ถูกคุมขังอยู่ภายในเรือนจำ
จับกุมเสื้อแดงอุบลฯ คดีเผาโลงจำลองประท้วงเมื่อปี 53
ในภาคอีสานเช่นเดียวกัน เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 60 เจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.วารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ได้เข้าจับกุมนายพงษ์ศักดิ์ ตุ้มทอง อดีตดีเจเสื้อแดง ที่บริเวณศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีหลังเก่า ในข้อหาร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น และร่วมกันชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองมากกว่า 10 คนขึ้นไป
เหตุในคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 25 เม.ย.53 พงษ์ศักดิ์กับกลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งได้ไปชุมนุมที่ราชธานีอโศก ซึ่งเป็นสำนักสงฆ์สาขาของสันติอโศกในจังหวัดอุบลราชธานี นอกจากมีการปราศรัยแล้ว ได้มีกิจกรรมเผาโลงศพจำลอง เพื่อเป็นการประท้วงท่าทีทางการเมืองของสมณะโพธิรักษ์ และพลตรีจำลอง ศรีเมือง
พงษ์ศักดิ์ระบุว่า เขารับหน้าที่ดูแลเครื่องเสียงและเครื่องปั่นไฟในงานเท่านั้น ไม่ได้เป็นผู้ก่อเหตุเผาโลงศพจำลอง และผู้ชุมนุมก็ไม่ได้ปล่อยให้ไฟลุกไหม้สร้างความเสียหายแต่อย่างใด โดยหลังการชุมนุมไม่นาน พงษ์ศักดิ์ได้รับหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งเขาก็ได้เซ็นรับทราบแล้ว แต่ตำรวจก็ไม่เคยติดต่อมาอีกเลย ทั้งที่เขาพักอยู่ในอุบลฯ มาตลอด ไม่ได้หลบหนี
ในการสอบสวน พงษ์ศักดิ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยไม่มีทนายความอยู่ด้วย ตำรวจยังมีการขอตรวจสอบโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ต พร้อมขอพาสเวิร์ดเข้าเครื่องและพาสเวิร์ดเข้าไลน์ ซึ่งพงษ์ศักดิ์ก็ได้ให้ความร่วมมือ ก่อนได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 60,000 บาท หลังจากคุมขังที่สภ.วารินชำราบ 1 คืน
สั่งฟ้อง 2 คดีรวด กรณีติดป้ายแยกประเทศล้านนาตั้งแต่ปี 57
ขณะเดียวกันในพื้นที่ภาคเหนือ ก็มีการ “ขุด” กรณีการติดป้ายข้อความ “ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กู ขอแยกเป็นประเทศล้านนา” ซึ่งพบติดในพื้นที่ต่างๆ ทางภาคเหนือหลายจังหวัด ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นมีนาคมปี 2557 ระหว่างการชุมนุมของกลุ่มกปปส. ในขณะนั้น ขึ้นมาแจ้งข้อกล่าวหาและสั่งฟ้องคดีตามมาตรา 116 หรือที่รู้จักกันในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” อีกถึง 2 คดี
สำหรับกรณีป้ายดังกล่าว เคยมีการดำเนินคดีมาตรา 116 กับนายออด สุขตะโก, นางถนอมศรี นามรัตน์ และนายสุขสยาม จอมธาร สามสมาชิกของกลุ่มแม่สรวยรักประชาธิปไตย ซึ่งเป็นกลุ่มเสื้อแดงที่เคยทำกิจกรรมในพื้นที่อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ในศาลจังหวัดเชียงรายตั้งแต่ปี 2557 จากป้ายที่ติดอยู่บริเวณสะพานลอยในอำเภอเมืองเชียงราย ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาให้รออาญาทั้งสามคนไว้ เมื่อปี 2558 และคดีได้เสร็จสิ้นไปแล้ว
ภาพป้ายที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 116
.
หากแต่ในช่วงเดือนมีนาคม 2560 กลับมีการเรียกตัวผู้ต้องหาทั้งสามคนนี้ ไปสั่งฟ้องคดีข้อหาเดียวกัน ต่อศาลจังหวัดพะเยา จากกรณีการพบป้ายข้อความดังกล่าวที่ติดในอำเภอเมืองพะเยา โดยคดีนี้เคยมีการแจ้งข้อกล่าวหาคาไว้อยู่ที่ชั้นตำรวจกว่า 3 ปี จนผู้ต้องหาทั้งสามคนนึกว่าคดีไม่ได้มีการดำเนินการต่อแล้ว แต่กลับมีการสั่งฟ้องในปีนี้ โดยระบุว่าเป็นความเห็นสั่งฟ้องของทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ในเดือนมิถุนายนและสิงหาคม 2560 ทั้งสามคนยังถูกพนักงานสอบสวน สภ.แม่ลาว แจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 116 เพิ่มอีก จากกรณีป้ายพบติดที่อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย ก่อนจะมีการสั่งฟ้องกรณีนี้ต่อศาลจังหวัดเชียงราย ทำให้ถึงปัจจุบันทั้งสามคนถูกดำเนินคดีกรณีติดป้ายถึงสามคดีด้วยกัน โดยในสองกรณีใหม่นี้ ทั้งสามคนยืนยันว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการติดป้ายดังกล่าวแต่อย่างใด คดีจึงยังอยู่ในระหว่างการต่อสู้ในชั้นศาล
คุมตัว “คนขายกาแฟเสื้อแดง” ดำเนินคดีร่วมก่อการร้ายปี 53
ในกรุงเทพมหานครเอง ก็มีการควบคุมตัวอดีตผู้ชุมนุมเสื้อแดง จากการชุมนุมทางการเมืองในอดีตเช่นกัน ได้แก่ กรณีของนายศักดา แก้วผูกนาค หรือ “นัท” ขายกาแฟรถเข็นที่สนามหลวงและในที่ชุมนุม ถูกจับกุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.60 โดยเป็นการจับตามหมายจับของศาลอาญาในปี 2560 นี้ ในข้อหาร่วมกันหรือสนับสนุนให้มีการก่อการร้ายกับแกนนำนปช. ในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 อันเป็นข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 135/2
สำหรับกรณีของศักดา ในปี 2553 ทางดีเอสไอเคยยื่นคำร้องต่อศาลในการขอออกหมายจับมาแล้วอย่างน้อยสองครั้ง แต่ศาลก็ยกคำร้องทั้งสองครั้ง โดยในเดือนมิถุนายน 2553 ศาลยกคำร้องโดยเห็นว่าพยานหลักฐานผู้ต้องหายังไม่เพียงพอที่จะออกหมายจับ และในเดือนธันวาคม 2553 ศาลยกคำร้องโดยเห็นว่าคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการว่าจะมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาหรือไม่ กรณียังไม่มีเหตุจำเป็นให้ออกหมายจับ ก่อนที่ในปี 2560 ทางดีเอสไอจะมีไปการขอศาลออกหมายจับนายศักดาอีกครั้ง และศาลได้อนุมัติหมายจับในที่สุด
ศักดาถูกฝากขังและควบคุมตัวในเรือนจำตั้งแต่ถูกจับกุม จนถึงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จึงได้รับอนุญาตให้ประกันตัว ด้วยหลักทรัพย์ซึ่งได้มาจากการระดมทุน จำนวน 600,000 บาท โดยทางพนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษก็ได้มีคำสั่งฟ้องคดีต่อศาลอาญาไปแล้ว
นอกจากศักดาแล้ว มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ดีเอสไอยังได้มีการควบคุมตัวผู้ต้องหาในข้อหาร่วมกันก่อการร้ายนี้อีกรายหนึ่งด้วย
ภาพการชุมนุมของคนเสื้อแดงในกรุงเทพฯ เมื่อปี 2553
แจ้งข้อหาแกนนำ นปช. กรณีเปิดเผยเอกสารกท.ต่างประเทศตั้งแต่ปี 52
ด้านแกนนำนปช.เอง ก็ได้ถูกรื้อฟื้นกรณีตั้งแต่เมื่อปี 2552 มาแจ้งข้อกล่าวหาและดำเนินคดี โดยเมื่อวันที่ 2 พ.ย.60 ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนกองปราบปรามได้มีการออกหมายเรียกณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และก่อแก้ว พิกุลทอง สองแกนนำนปช. ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 123 เรื่องการกระทำการให้ได้มาซึ่งข้อความเอกสารอันปกปิดไว้เป็นความลับ เพื่อความปลอดภัยของประเทศ และข้อหาตามมาตรา 124 เรื่องการกระทำให้ผู้อื่นล่วงรู้หรือได้ไปซึ่งข้อความ เอกสาร หรือสิ่งใดๆ อันปกปิดไว้เป็นความลับเพื่อความปลอดภัยของประเทศ ทั้งสองข้อหามีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 10 ปี
เหตุในกรณีเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อปี 2552 โดยนายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ และนายสังคม ดำรงค์ยุทธภูมิ ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดี โดยกล่าวหาว่ากลุ่มแกนนำได้นำหนังสือของกระทรวงการต่างประเทศ ไปเผยแพร่ผ่านรายการ “ความจริงวันนี้” และยังนำไปตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ความจริงวันนี้ ฉบับวันที่ 22-24 ธันวาคม 2552 อีกด้วย โดยระบุว่าการเผยแพร่ดังกล่าวทำให้กระทรวงการต่างประเทศได้รับความเสียหาย
แม้ทั้งณัฐวุฒิและก่อแก้วจะเข้ารับทราบข้อหาเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน และได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ต้องประกัน แต่ก็ยังต้องต่อสู้คดีนี้ต่อไป ทั้งนอกจากทั้งสองคนนี้ ผู้ที่ถูกแจ้งความจากกรณีนี้ยังได้แก่ นายจตุพร พรหมพันธุ์, นายวรวุฒิ วิชัยดิษฐ์ และนางสุพัฒภาย์ พัฒนรพันธุ์ ด้วย ซึ่งพนักงานสอบสวนระบุว่าจะออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาต่อไป
กรณีนี้รายงานข่าวระบุว่าผู้แจ้งความยังมีการไปแจ้งความไว้ที่ สน.นางเลิ้งด้วย แต่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเห็นว่าเป็นคดีเดียวกัน จึงได้มีคำสั่งให้โอนคดีมาให้ตำรวจกองปราบปรามทำคดีดังกล่าว
สู่คำถามเรื่องนโยบาย “ปรองดอง” ของ คสช.
เป็นที่น่าสังเกตว่า การดำเนินการในกรณีต่างๆ ดังกล่าวเท่าที่ทราบ เกิดมากขึ้นคาบเกี่ยวกับช่วงของการพิพากษาคดีจำนำข้าวของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในเดือนสิงหาคม-กันยายน 2560 และพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 ในเดือนตุลาคม 2560
นอกจากนั้น ตั้งแต่ในช่วงต้นปีนี้ ทางคสช. เอง ยังดำเนินโครงการสร้างความสามัคคีปรองดองทางการเมือง โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง (ป.ย.ป.) และการจัดระดมความคิดเห็นเพื่อจัดทำ “ร่างสัญญาประชาคม เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง” จนกระทั่งมีการประกาศสัญญาประชาคมดังกล่าวอย่างเงียบๆ ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ “สัญญา” ที่มีลักษณะเป็นนามธรรมดังกล่าว กลับไม่ได้มีการกล่าวถึงปมปัญหาในการจัดการกับคดีทางการเมืองต่างๆ ที่เกิดขึ้น และยังดำเนินอยู่ระหว่างความขัดแย้งในสังคมไทยหลายปีที่ผ่านมา
ภาพ “สัญญาประชาคม” 10 ข้อ ที่ทางป.ย.ป.จัดทำ (ภาพจากมติชนออนไลน์)
.
การจับกุมหรือสั่งฟ้องคดีดังกล่าว ยังเกิดขึ้นภายใต้ความรู้สึกของประชาชนจำนวนมากที่ไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม (ดูตัวอย่างผลสำรวจของกรุงเทพโพลล์ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 ซึ่งพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 76.8 มีความเชื่อมั่นค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ต่อการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐว่ามีความบริสุทธิ์ ยุติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ)
ขณะเดียวกัน ในยุค คสช. เอง การใช้กระบวนการทางกฎหมายยังกลายไปเป็นเครื่องมือในการจัดการกับผู้เห็นต่างหรือฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอีกด้วย (ดูรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)
ปรากฏการณ์ “ขุด” คดี ที่มีแนวโน้มจะมุ่งดำเนินการต่อกลุ่มการเมืองฝ่ายเดียว จึงดูจะยิ่งตอกย้ำความรู้สึก “สองมาตรฐาน” ซึ่งสั่งสมเรื่อยมาตลอดความขัดแย้งทางการเมือง และดูจะยิ่งสวนทางกับแนวทางการสร้างความปรองดองที่ คสช. กล่าวอ้าง และยังใช้งบประมาณจำนวนมากกว่า 1,300 ล้านบาท ดำเนินการโครงการมาจนถึงปัจจุบัน