วันอาทิตย์, กรกฎาคม 10, 2559

มานุษยวิทยาว่าด้วยการข่มขืน





ที่มา FB

Pinkies Laungaramsri

มานุษยวิทยาว่าด้วยการข่มขืน

การข่มขืนนับเป็นหนึ่งในหัวข้อที่นักมานุษยวิทยาศึกษากันมานาน คำถามสำคัญในเรื่องนี้ ได้แก่ ทำไมมนุษย์จึงข่มขืน อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้คนบางกลุ่มข่มขืน และคนบางกลุ่มไม่เลือกจะทำเช่นนั้น ความหลากหลายของวัฒนธรรมการข่มขืนเกิดจากอะไร และการข่มขืนเป็นมรดกทางชีววิทยาหรือทางวัฒนธรรม?

บทความสั้นๆเรื่อง The Anthropology of Rape: Entry to the Encyclopedia of Criminology and Deviant Behavior โดย สองนักมานุษยวิทยา Nawal H.Ammar and Edna Erez จาก Kent State University ได้ประมวลให้เห็นถึงดีเบตที่สำคัญในเรื่องนี้ในวงการมานุษยวิทยาในกึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ในหมู่นักมานุษยวิทยา ข้อถกเถียงแตกออกเป็นสองสำนักคิดสำคัญ ในการพยายามวิเคราะห์ถึงสาเหตุของข่มขืน ทั้งนี้ ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่า การข่มขืน เป็นร่องรอยของวิวัฒนาการทางพันธุกรรมประเภทหนึ่ง ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นแย้งว่า วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการเกิดการข่มขืน และมนุษย์ย่อมปรับตัวไปตามวัฒนธรรมที่ตนดำรงอยู่ (cultural-environmental adaptations)

แนวคิดวิวัฒนาการนิยมน่าจะเป็นวิธีอธิบายที่คุ้นหูคนไทยมานาน แต่ในโลกตะวันตก เป็นวิธีคิดที่เสื่อมความนิยม เนื่องจากพิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่ช่วยทำให้ความเข้าใจเรื่องการข่มขืนก้าวหน้าไปไหน

สำนักคิดวิวัฒนาการนิยมนั้นเชื่อว่า ชายและหญิงมีชีววิทยาและความต้องการทางเพศที่แตกต่างกัน นักคิดในสายนี้ เชื่อว่าในเส้นทางของวิวัฒนาการระหว่างชายและหญิงที่แตกต่างกันเพื่อไปสู่การผลิตซ้ำเผ่าพันธุ์ที่สมบูรณ์ ชาย ในท่ามกลางกระบวนการคัดสรรทางเพศและการปรับตัวทางธรรมชาติ มีหน้าที่ในการแพร่กระจายสเปิร์มของตนให้มากที่สุด การข่มขืนสำหรับนักคิดในสายนี้ เป็นส่วนหนึ่งผลผลิตของความต้องการทางเพศ/ทางชีววิทยาเพื่อการสืบเผ่าพันธุ์ หากตามแนวคิดนี้ไปจนสุด ก็จะพบว่า ฐานคิดดังกล่าว เชื่อว่า การข่มขืนนั้นมีลักษณะเป็นสากลและเกิดขึ้นในมนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์

แน่นอนที่ว่า แนวคิดชีววิทยากำหนด หรือการข่มขืนในฐานะการสืบเผ่าพันธุ์ ย่อมถูกโต้แย้งอย่างหนักจากนักมานุษยวิทยาที่เชื่อในอิทธิพลของวัฒนธรรมที่หล่อหลอมพฤติกรรมทางเพศ และไม่เห็นด้วยกับการสร้างชุดความคิดที่เหมารวมในการอธิบายถึงที่มาของการข่มขืน การศึกษากลุ่มชนในหลากหลายเผ่าพันธุ์ และข้อค้นพบที่ว่า มีสังคมจำนวนไม่น้อยที่ปราศจากการข่มขืน (Rape free society) ได้ชี้ให้เห็นว่าเพศสัมพันธุ์ และเพศวิถี เป็นสิ่งที่สัมพัทธ์อย่างยิ่งและวัฒนธรรมมีบทบาทสำคัญในการหล่อหลอมวัฒนธรรมทางเพศที่แตกต่างกันของสังคมต่างเผ่าพันธุ์

งานชาติพันธุ์นิพนธ์คลาสสิกของมาร์กาเร็ต มีด ที่ศึกษาชนเผ่าสามกลุ่มในปาปัวนิกีนี ได้พบว่า ในขณะที่ผู้หญิงชาวอะราเปช นั้นอ่อนโยนและยอมตนอยู่ใต้อำนาจของผู้ชาย ผู้หญิงของเผ่า มุนดูกูมอร์ กลับมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวและตรงไปตรงมาทางเพศ คล้ายกับผู้ชายอเมริกัน ผู้ชายเผ่าชามบูลี ในทางตรงกันข้าม กลับนุ่มนวลและมีพฤติกรรมเหมือนผู้หญิงอเมริกัน กล่าวคือ อ่อนโยนและเลี้ยงดูบุตร ในขณะที่ผู้หญิงเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจและไม่ค่อยสนใจเรื่องเนื้อตัวร่างกายสักเท่าไร ความรุนแรงทางเพศในสามกลุ่มชนจึงมีความแตกต่างกันไปอย่างสิ้นเชิง

นักคิดในสายวัฒนธรรมสัมพัทธ์ ยังพัฒนาทฤษฎีในการอธิบายเรื่องการข่มขืนต่อไปอีกว่า การข่มขืน เกี่ยวข้องกับปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างน้อยสามประการด้วยกันคือ ปิตาธิปไตยและการไร้อำนาจของผู้หญิงมีผลต่ออัตราการข่มขืนที่สูง วัฒนธรรมความรุนแรงของสังคมสนับสนุนพฤติกรรมการข่มขืน และการข่มขืนยังสะท้อนการเป็นปฏิปักษ์ต่อสถานะที่เสมอภาคของผู้หญิงอีกด้วย

งานสำรวจของ Sanday (1981) ใน 156 ชนเผ่าที่ต่างทางวัฒนธรรม ได้มีข้อค้นพบที่น่าสนใจว่า การข่มขืนเกี่ยวข้องโดยตรงกับภาวะไร้อำนาจของผู้หญิง สังคมที่ปราศจากการข่มขืน มักเป็นสังคมที่ผู้หญิงได้รับการยอมรับในฐานะผู้ที่สร้างสังคมและมีการกระจายอำนาจที่เท่าเทียมในการจัดสรรทรัพยากร และเชื่อว่าเพศชายและหญิงนั้นเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน (อาทิ ชาวทัวเร็กในซาฮาร่า ชาวบูติ และ อะชานติในอัฟริกา) ในขณะเดียวกัน สังคมที่มีอัตรการข่มขืนสูงมักเป็นสังคมที่ผู้หญิงถูกกีดกันออกจากปริมณฑลทางอำนาจ (อาทิ พิธีกรรม การตัดสินใจในครัวเรือน) และในบริบทดังกล่าว ผู้หญิงมักถูกมองว่าเป็นวัตถุแห่งการควบคุม ในขณะที่ผู้ชายเป็นผู้ที่ควบคุมทรัพยากรต่างๆ การข่มขืนจึงเป็นกลไกแห่งการควบคุมประเภทหนึ่ง

นอกจากนี้แล้ว การข่มขืนยังเป็นผลพวงมาจากการยอมรับทางสังคมต่อความรุนแรงทางวัฒนธรรม (Cultural spillover of violence) ซึ่งมีบทบาทในการค้ำจุนการข่มขืน ให้เป็นเรื่องปกติ งานศึกษาของ Le Vine (1959) ชี้ให้เห็นว่า ผู้ชายชาวกูซีในเคนย่า สามารถที่จะกระทำการทางเพศที่รุนแรงต่อภรรยาตนเองได้อย่างชอบธรรมและได้รับการสนับสนุนจากสังคม ในฐานะที่เป็นการแสดงให้เห็นถึงอำนาจของสามี และแน่นอนที่ว่าอัตราของการข่มขืนในชนเผ่านี้ สูงอย่างน่าตกใจ ภายใต้การรับรองของสังคม

ในบางสังคม การข่มขืนยังเป็นผลสะท้อนของความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่ผู้หญิงตีตนเสมอชาย งานศึกษาของ Russell (1975) ชี้ให้เห็นว่า หลายกรณีในสหรัฐอเมริกา ผู้ข่มขืน กระทำการเพราะรู้สึกว่า Ego ของตนนั้นถูกคุกคามจากผู้หญิง ในขณะที่งานของ Hammoud (1997) ชี้ให้เห็นว่าการข่มขืนผู้หญิงในอียิปต์เกิดมากในหมู่คนงานผู้หญิงที่ออกจากบ้านมาทำงานในพื้นที่สาธารณะที่ผู้ชายครองความเป็นใหญ่อยู่ ส่วนงานของ Lauren Zimmer-Tamakoshi (1999) ในปาปัวนิวกีนี ก็พบว่า อัตราการข่มขืนที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นผลมาจากความรู้สึกกลัวและไม่มั่นคงที่ผู้ชายรู้สึกต่อการที่ผู้หญิงมีอิสระและเป็นเอกเทศมากขึ้น ทั้งนี้ชีวิตที่ไม่แน่นอนในเมืองใหญ่ การหันไปหาเหล้าเพื่อปลอบประโลม และการปราศจากเครือข่ายทางสังคมในการสนับสนุนชีวิตทางสังคมที่ไม่มั่นคง ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงอย่างมีนัยยะสำคัญ

งานศึกษาเหล่านี้ ช่วยให้มองเรื่องการข่มขืนพ้นไปจากทัศนะคติในวงจำกัดแคบๆที่มักผลักความผิดและภาระไปที่เพศหญิง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การแต่งตัวโป๊เป็นสาเหตุของการข่มขืน หรือความต้องการทางเพศของผู้ชายเป็นสิ่งธรรมชาติที่ควบคุมไม่ได้ วิธีการอธิบายแบบนี้ ไม่เพียงทำให้เหยื่อ กลายเป็นผู้กระทำผิด หากแต่ยังเป็นการฉุดเพศชาย ให้กลับลงสู่วิวัฒนาการถอยหลังของของการเป็นสัตว์ก่อนยุคที่จะมีวัฒนธรรม/อารยธรรม ที่ควบคุมภาวะทางชีววิทยาของตนไม่ได้อีกด้วย

หากเชื่อว่าสังคมที่ปลอดจากการข่มขืนนั้นดำรงอยู่ อย่างน้อยในชนเผ่าที่นักมานุษยวิทยาได้เคยเข้าไปศึกษา ย่อมแสดงว่า สมมติฐานว่าการข่มขืนเป็นลักษณาการสากลของเพศสัมพันธ์ชาย-หญิง นั้นย่อมเป็นเรื่องสมมติฐานที่ผิด และหากเชื่อว่า วัฒนธรรมและอำนาจ เป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดวัฒนธรรมการข่มขืน คำตอบสำหรับการไปให้พ้นจากสังคมข่มขืน ย่อมอยู่ที่การเปลี่ยนวัฒนธรรม และความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างหญิงและชาย และการทำอย่างไรจึงจะทำให้เรื่องเพศ และเพศสัมพันธ์ สามารถที่จะวางอยู่บนการเคารพเสรีภาพ การเคารพในความเป็นส่วนตัว ของเนื้อตัวร่างกายของกันและกัน ทั้งในคนที่รู้จัก และระหว่างที่คนที่แปลกหน้าในสังคมไทยได้

.....