วันอาทิตย์, กรกฎาคม 17, 2559

“เขาสั่งให้คุณทำลายรัฐธรรมนูญที่มีพื้นฐานที่มาที่เป็นธรรม คุณจะทำอย่างไร ถามผม ผมก็บอกว่าคุณมีหน้าที่ต้องปฏิเสธ เป็นหน้าที่ทางศีลธรรมที่ต้องปฏิเสธ…"





จากการเคารพกฎหมายแบบโสเครตีส ถึง คสช.


โดย สุรพศ ทวีศักดิ์

ที่มา มติชนออนไลน์
15 ก.ค. 59

“เขาสั่งให้คุณทำลายรัฐธรรมนูญที่มีพื้นฐานที่มาที่เป็นธรรม คุณจะทำอย่างไร ถามผม ผมก็บอกว่าคุณมีหน้าที่ต้องปฏิเสธ เป็นหน้าที่ทางศีลธรรมที่ต้องปฏิเสธ…ถ้าคุณถูกสั่งให้ทำรัฐประหาร เท่ากับคุณถูกสั่งให้ทำลายคุณค่าสูงสุดในการอยู่ร่วมกัน คุณต้องปฏิเสธ ตรงนี้เป็นตรรกะหรือหลักการธรรมดา”

-วรเจตน์ ภาคีรัตน์-

นั่นคือคำตอบของอาจารย์วรเจตน์ เมื่อถูกถามว่า “ถ้าผู้บังคับบัญชาสั่งให้ทำรัฐประหารจะทำอย่างไร?” ในหนังสือ “ถอดรื้อมายาคติ Deconstruct” (ดาวน์โหลดที่นี่ http://www.docfoc.com/-deconstruct)

เมื่อว่าโดยหลักการ คำสั่งของผู้บังคับบัญชาต้องชอบด้วยกฎหมาย และผู้ใต้บังคับบัญชาย่อมมีสิทธิปฏิเสธคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ในความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยยังไม่ปรากฏว่ามีการปฏิเสธคำสั่งให้ทำรัฐประหาร เพราะถือกันจนเป็น “ประเพณีไทยๆ” ไปแล้วว่าถ้าทำรัฐประหารไม่สำเร็จจะกลายเป็นกบฏ ถ้าสำเร็จก็กลายเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ที่กลไกระบบราชการและส่วนอื่นๆ ในสังคมกระตือรือร้นจะรับใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์จากรัฐประหารมากกว่าอำนาจรัฐบาลที่ประชาชนเลือกเสียอีก

เราจะเปลี่ยนประเพณีนี้ได้ก็ต่อเมื่อเราเปลี่ยนวิถีคิดใหม่อย่างถึงราก ข้อเสนอของ อ.วรเจตน์ที่ว่าเป็น “หน้าที่ทางศีลธรรม” ที่ต้องปฏิเสธคำสั่งให้ทำลายรัฐธรรมนูญที่มีพื้นฐานที่มาที่ชอบธรรม (ตามระบอบประชาธิปไตย) จึงเป็นข้อเสนอที่เราควรนำมาขบคิดกันอย่างจริงจัง

หน้าที่ทางศีลธรรมที่ต้องปฏิเสธอำนาจที่ไม่ชอบธรรมมาคู่กับหน้าที่ที่ต้องรักษาระบบที่ชอบธรรมเสมอ เมื่อโสเครตีสถูกคณะลูกขุนแห่งเอเธนส์ลงมติตัดสินประหารชีวิตด้วยการให้ดื่มยาพิษ ทั้งๆ ที่รู้ว่าคำพิพากษาเช่นนั้นไม่ยุติธรรม แต่ทำไมเมื่อมีมิตรสหายจะช่วยเหลือให้หลบหนีไปอยู่เมืองอื่น โสเครตีสกลับปฏิเสธการช่วยเหลือนั้น และยอมถูกประหารชีวิตด้วยคำตัดสินที่อยุติธรรม

เหตุผลของโสเครตีสคือ “กระบวนการตัดสินมีความชอบธรรม” โสเครตีสต่อสู้เพื่อสิ่งนี้มาโดยตลอด คือการเป็นพลเมืองภายใต้กฎหมายแห่งเอเธนส์ ซึ่งหมายถึงการเป็นพลเมืองในฐานะมนุษย์ผู้มีเหตุผลที่มีเสรีภาพจะใช้เหตุผลโน้มน้าวให้คนอื่นๆ คล้อยตาม สำหรับพลเมืองแห่งเอเธนส์หากต้องการให้ใครเชื่อตนเอง ไม่ใช่การออกคำสั่งบังคับ แต่ต้องใช้เหตุผลโน้มน้าวให้คนอื่นคล้อยตาม ชีวิตทางปรัชญาของโสเครตีสดำเนินมาในวิถีนี้ ต่อสู้เพื่อวิถีนี้ และเขาก็ได้ใช้เหตุผลอย่างเต็มที่ในการโน้มน้าวให้คณะลูกขุนเชื่อว่าเขาไม่ได้ทำผิดตามข้อกล่าวหา แม้ในที่สุดเสียงข้างมากจะตัดสินให้เขาผิดและเขาเห็นว่าไม่ยุติธรรม แต่กระบวนการไต่สวนและตัดสินมันมีความชอบธรรม จึงเป็นหน้าที่ทางศีลธรรมที่เขาต้องเคารพความชอบธรรมอันเป็นคุณค่าสูงสุดของการอยู่ร่วมกันของพลเมืองแห่งเอเธนส์

สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากสปิริตพลเมืองแห่งเอเธนส์เมื่อเกือบสามพันปีที่แล้วคือ บางครั้งเสียงข้างมากอาจนำไปสู่ผลที่ไม่พึงปรารถนา แต่ก็ต้องยอมรับเพราะมันคือระบบที่ชอบธรรมในการอยู่ร่วมกัน โดยไม่ยอมละทิ้งความเชื่อมั่นว่า กระบวนการของการยอมรับเสียงข้างมากที่อยู่บนพื้นฐานของการมีเสรีภาพในการใช้เหตุผลโน้มน้าวคนอื่นจะสามารถแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ ของตัวมันเองได้ และจะนำพาสังคมส่วนรวมไปสู่ผลลัพธ์ที่พึงปรารถนามากกว่าระบบการใช้อำนาจเด็ดขาดโดยคนคนเดียวหรือคนกลุ่มเดียว ความเชื่อมั่นดังกล่าวนี้ชัดเจนยิ่งขึ้นในวัฒนธรรมประชาธิปไตยสมัยใหม่ของตะวันตก

ข้อเสนอของ อ.วรเจตน์จะว่าไปแล้วก็สอดคล้องกับสปิริตของพลเมืองแห่งเอเธนส์อย่างโสเครตีส และสปิริตแห่งสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ในโลกตะวันตกที่ถือว่า “ประชาธิปไตยคือการเดินทาง” และในเส้นทางของประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองย่อมมีความขัดแย้ง มีปัญหาคอร์รัปชั่น การเหยียดเพศ ผิว ชาติพันธุ์ ศาสนาและอื่นๆ แต่สังคมตะวันตกก็ต่อสู้แก้ปัญหาต่างๆ เหล่านั้นมาได้บนวิถีที่ชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย

การยืนยันว่าเป็นหน้าที่ทางศีลธรรมที่ต้องรักษาวิถีหรือกระบวนการที่ชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย จึงไม่ใช่การ “ยึดทฤษฎีแบบกลไกโดยไม่มองความเป็นจริง” อย่างที่กวีบางคนกล่าวหานักวิชาการ แต่นี่แหละคือการยืนยันหลักการและความเป็นจริงไปพร้อมๆ กัน เพราะความจริงทางประวัติศาสตร์ของประเทศประชาธิปไตยในโลกนี้ล้วนมีปัญหาทั้งนั้น แต่เขาแก้ปัญหาบนวิถีหรือกระบวนการที่ชอบธรรม และความจริงของสังคมไทยที่เป็นมาตลอดก็คือการก่อปัญหามากขึ้น ซับซ้อนขึ้น เพราะใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยการทำลายวิถีหรือกระบวนการที่ชอบธรรม จนวันนี้ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าสังคมเราจะกลับไปหาวิถีหรือกระบวนการที่ชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยโดยสันติวิธีได้อย่างไร และเมื่อใด

ที่ชอบอ้างกันว่า “ธรรมคืออำนาจ” หน้าตาเป็นอย่างไรหรือ ถ้าอำนาจไม่ชอบธรรมตามวิถีหรือกระบวนการประชาธิปไตย มันจะเป็น “ธรรม” ได้อย่างไร

เช่น อำนาจที่ไม่ชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย เมื่อออกกฎหมายก็เป็นกฎหมายที่ขัดกับหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคตามระบอบประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนสากล แล้วอ้างว่า “ทุกคนต้องเคารพกฎหมาย เสมอภาคตามกฎหมาย” แต่ไม่ดูว่าการออกกฎหมาย กระบวนการบังคับใช้กฎหมาย การตีความกฎหมาย มีความชอบธรรมตามกระบวนการประชาธิปไตยหรือไม่ และอยู่บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคตามหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนสากลหรือไม่

ฉะนั้น การเรียกร้องให้เคารพกฎหมายและกระบวนการบังคับใช้ในยุครัฐบาล คสช.ที่นำไปสู่การจับกุมนักศึกษา ประชาชน ผู้สื่อข่าวที่ใช้สิทธิทางการเมืองต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน จึงเป็นคนละเรื่องกับการเคารพกฎหมายตามสปิริตพลเมืองแห่งเอเธนส์และสปิริตสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่เคารพ “ความเป็นมนุษย์” ของประชาชนในฐานะเป็นมนุษย์ผู้มีเหตุผล เสรีภาพ และศักดิ์ศรีในตัวเอง

การเปลี่ยนผ่านสังคมไปสู่ประชาธิปไตย ต้องการ “พื้นที่” ที่เปิดกว้างให้ทุกฝ่ายที่เห็นต่างมีที่ยืนเท่าเทียมกัน ให้ความแตกต่างได้ขัดแย้งกันด้วยเหตุผลและอย่างสันติ ซึ่งจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อพลเมืองแห่งสยามไทยเชื่อมั่นร่วมกันว่า เราทุกคนมีหน้าที่ทางศีลธรรมที่ต้องปกป้องวิถีหรือกระบวนการที่ชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย และถ้าอำนาจและกฎหมายใดๆ ไม่ชอบธรรมและไม่ยุติธรรมก็เป็นหน้าที่ของพลเมืองที่ต้องปฏิเสธและต่อสู้เพื่อทวงความชอบธรรมและความยุติธรรมกลับคืนมา