ทัพบกไทยซื้อใหม่เอี่ยม ปตอ.แฝด/เรดาร์อเนกประสงค์ทรง Transformer สุดล้ำยิงรถถังยังได้
ที่มา ข่าวผู้จัดการออนไลน์
13 มกราคม 2559
ปตอ.ทันสมัยรุ่นใหม่ล่าสุด เออร์ลิคอน GDF007 "Twin Guns" 35 มม. ควบคุมการยิงด้วยระบบเรดาร์ ทุกอย่างเป็นดิจิตอลทั้งหมด กองทัพบกไทยจัดซื้อ 8 ระบบคู่กับเรดาร์สกายการ์ด 3 (Sky Guard 3) 4 ระบบ หรือ 2 ต่อ 1 รวมมูลค่า "หลายร้อยล้านยูโร" ยังไม่ทราบกำหนดการส่งมอบในขณะนี้. -- Reinmetall Defence.
MGRออนไลน์ -- สำนักข่าวกลาโหมหลายแห่งทั่วโลก กำลังเผยแพร่ข่าวอย่างกว้างขวาง เกี่ยวกับกองทัพบกไทยจัดหาระบบปืนใหญ่ยิงเร็วต่อสู้อากาศยานทันสมัยที่สุดระบบหนึ่งของโลก ที่ผลิตโดยกลุ่มอุตสาหกรรมกลาโหมชั้นนำแห่งเยอรมนี ซึ่งเป็นครั้งแรกที่กองทัพบกจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์จากแหล่งนี้ บางสำนักชี้ว่าการหันเข้าอาวุธจากค่ายยุโรป แสดงให้เห็นการตีตนออกห่างจากระบบอาวุธของสหรัฐอีกครั้งหนึ่ง
อาวุูธที่จัดหาเป็นระบบเรดาร์ตรวจจับเป้าหมายและควบคุมการยิง แบบเออร์ลิคอน สกายการ์ด 3 (Oerlikon Skyguard 3) จำนวน 4 ระบบ ซึ่งเป็นรุ่นที่พัฒนาทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน กับระบบปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน 35 มม.ยิงเร็วอัตโนมัติลำกล้องคู่ เออร์ลิคอน (Oerlikon) GDF007 อันเป็นรุ่นที่พัฒนาล่าสุดเช่นกัน จำนวน 8 ระบบ รวมมูลค่า "หลายร้อยล้านยูโร"
"เป็นครั้งแรกที่กองทัพบกไทย เซ็นสัญญาโครงการใหญ่โครงการหนึ่ง สำหรับเทคโนโลยีป้องกันทางอากาศจากไรน์เมทาล คำสั่งซื้อมูลค่าหลายร้อยล้านยูโร ประกอบด้วยระบบเราดาร์สกายการ์ด 3 รุ่นล่าสุดจำนวน 4 ระบบ.." โดยบริษัทไรน์เมทาลดีเฟ้นซ์ แห่งสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งเป็นบริษัทลูก จะดำเนินการเรื่องนี้ให้แก่กองทัพบกไทย บริษัทแห่งเยอรมนีประกาศเรื่องนี้ในเว็บไซต์ เมื่อวันจันทร์
ไทยกลายเป็นประเทศที่สี่ในอาเซียน ถัดจากสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่จะมีระบบ ปตอ.ทันสมัยจากเยอรมนีประจำการ เพียงแต่ของประเทศเพื่อนบ้านเหล่านั้นเป็นรุ่นเก่า GDF001-004 ที่ซื้อมาก่อน ทำให้ระบบของกองทัพไทยเป็นรุ่นก้าวหน้าที่สุด สามารถยิงกระสุนแบบ "อะเฮด" (Ahead) ได้
ตามข้อมูลในเว็บไซต์ข่าวกลาโหม ระบบ ปตอ.เออร์ลิคอน รุ่น GDF006 ขึ้นไปเท่านั้น ที่ใช้กระสุนหน่วงเวลาระเบิด Ahead ได้ โดยกำหนดระยะยิงล่วงหน้า และ ให้กระสุนแสดงพลานุภาพออกมากลางอากาศ ในจุดที่กำหนดไว้ก่อน บริเวณด้านหน้าเป้าหมาย ก่อนจะปล่อย "หัวรบ" ทังสเต็น ซึ่งเป็นโลหะที่แข็งมากชนิดหนึ่ง จำนวนกว่า 150 ชิ้น พุ่งเข้าทำลาย
ตามข้อมูลในเว็บไซต์ข่าวกลาโหม กระสุน Ahead ที่ยิงจากระบบ ปตอ.เออร์ลิคอน GDF006/007 สามารถยิงทำลายจรวดนำวิถีความเร็วต่ำกว่าเสียงทั่วไปได้อีกด้วย กระสุนชนิดนี้เป็นอีกหนึ่งแพ็คเกจ ที่รวมอยู่ในสัญญาจัดซื้อระหว่างกองทัพบกไทยกับไรน์เมทาล
GDF600/700 ยังมีกระสุนเจาะเกราะ ให้เลือกอีกหลายชนิด ไม่เพียงแต่ใช้ยิงทำลายเป้าหมายทางอากาศเท่านั้น ระบบปืนใหญ่ 35 มม.ที่แคลิเบอร์ใหญ่กว่า ปืนใหญ่แบบแกตลิงกัน (Gatling Gun) ที่ติดตั้งบนเครื่องบินโจมตีแบบ A-10 Warthog "หมูป่าเขี้ยวตัน" กองทัพอากาศสหรัฐ ยังสามารถยิงทำลายเป้าหมายภาคพื้นดิน รวมทั้งยานพาหนะและรถถัง ได้เช่นกัน
กลุ่มอุตสาหกรรมกลาโหมชั้นนำของยุโรปแห่งนี้ ผลิตระบบ ปตอ. มาเป็นเวลา 50-60 ปี พัฒนาให้ทันยุคทันสมัยมาเป็นระยะๆ ปัจจุบันมีใช้ในกว่า 40 ประเทศทั่วโลก
ถึงแม้ว่าในอุตสาหกรรมนี้ จะผลิตปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานออกมามากมายหลายแบบ ใช้ขนาดกระสุนตั้งแต่ 20 มม. 40 มม. จนถึง 52 มม. แต่ไรน์เมทาลศึกษาวิจัยและทดสอบมาก่อนหน้านี้ และ พบว่าระบบปืนใหญ่ 35 มม.ลำกล้องคู่ ให้ประสิทธิผลดีที่สุด สำหรับภารกิจต่อสู้อากาศยาน
ตามข้อมูลพื้นฐาน ระบบ ปตอ.เออร์ลิคอนตั้งแต่ GDF003 เป็นต้นมา มีน้ำหนักเกือบ 7 ตัน รวมทั้งกระสุนกว่า 1,000 นัด ที่บรรจุอัตโนมัติ มีความยาว 7.8 เมตร ปรกติลากจูงด้วยรถบรรทุก 6x6 ยิงด้วยกระสุนระเบิดกลางอากาศ หรือ กระสุนแอร์เบิสต์ 35x228 มม. มีความเร็วต้น 1,175 เมตร/วินาที แต่ละลำกล้องมีอัตราการยิง 550 นัด/นาที
ระบบเรดาร์สกายการ์ด เจเนอเรชั่นที่ 3 ซึ่งเป็นรุ่นทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน ใช้ชี้เป้า ติดตามผลการยิง ควบคุมการยิงระบบปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานเออร์ลิคอน GDF007 ด้วยเลเซอร์ ยิงได้ทั้งอากาศยาน จรวดนำวิถีจนถึงรถถัง. -- Reinmetall.
2
ปตอ.เออร์ลิคอนรุ่นใหม่ มีระยะยิงหวังผลถึง 4,000 เมตร หรือ 13,000 ฟุต ระบบติดตั้งบนแท่น 4 ล้อ ก้ม/เงยได้ตั้งแต่ -5 จนถึง 92 องศา และ หมุนรอบได้ 360 องศา
ไรน์เมทาลดีเฟ้นซ์ยังผลิตระบบปืนใหญ่อีกหลายระบบ สำหรับแพล็ตฟอร์มต่างๆ รวมทั้งปืนใหญ่เสถียร ติดตั้งบนเรือรบฟริเกตหรือเรือพิฆาต ที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมอย่างมาก ปืนใหญ่ที่ติดตั้งบนยานยนต์ต่างๆ สำหรับยิงโจมตี สนับสนุนกองกำลังทหารราบด้วย
เออร์ลิคอน GDF โดยพื้นฐานเป็นระบบลากจูง มีอัตลักษณ์สำคัญคือ เมื่อจะติดตั้งจะต้องพับล้อทั้งสี่เข้าด้านใน ทำให้มองเห็นแต่ไกลเป็นรูปลักษณ์ "ทรานฟอร์เมอร์" (Transformer) ปัจจุบันหลายประเทศได้พัฒนา GDF รุ่นแรกๆ ของตน ขึ้นติดตั้งบนรถล้อยาง 6 ล้อ ระบบของเยอรมนียังสามารถติดตั้งบนแพลตฟอร์มตีนตะขาบได้หลายรุ่น รวมทั้งเลโอพาร์ด 1 (เลพเพิด 1) แม้กระทั่ง T-55 ของโซเวียต/รัสเซีย
เชื่อว่าในอนาคต ระบบ ปตอ. GDF007 ของไทยก็จะสามารถอัปเกรด ขึ้นติดตั้งบนยานยนต์ล้อยาง หรือ แพลตฟอร์มตีนตะขาบที่มีอยู่แล้ว ได้เช่นเดียวกัน
เว็บไซต์Forecastinternational.Com ที่เชี่ยวชาญเป็นพิเศษ เกาะติดตลาดอุตสาหกรรมกลาโหมมาเป็นเวลานาน ตั้งเป็นข้องสังเกตว่า การจัดหาระบบปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน มูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์จากเยอรมนี แสดงให้เห็น"การออกห่าง" จากอาวุธสหรัฐที่คุ้นเคย หลังจากสัมพันธ์สองฝ่ายทีมีมานานเริ่มมีปัญหา หลังการรัฐประหารปี 2557.