ภาพ Prachatai
แถลงการณ์กลุ่มญาติผู้เสียหายจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมืองปี 2553
ต่อกรณีมติอำมหิตอัปยศของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
กรณี คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติต่อคำร้องขอให้ถอดถอนและคำกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ สั่งใช้กำลังทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือนเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในวันที่ 10 เมษายน 2553 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมากว่ารับฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม กับพวก ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว โดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ หรือเป็นผู้ก่อหรือใช้ให้มีการฆ่าผู้อื่น โดยเจตนาเล็งเห็นผล และมีมติให้ข้อกล่าวหาตกไปนั้น
กลุ่มญาติผู้เสียหายฯ ขอแสดงความไม่เห็นด้วยต่อมติของ ป.ป.ช. ดังกล่าว เนื่องจาก
1. กระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช. ไม่ชัดเจน กระบวนการได้มาซึ่งข้อเท็จจริงไม่โปร่งใส ไม่มีการเรียกพยานหลักฐานไปให้ข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านหรือไม่ และไม่มีการเรียกพยานจากทางผู้เสียหายไปให้ปากคำ ฯลฯ
2. กลุ่มญาติผู้เสียหายฯ เห็นว่าการบาดเจ็บล้มตายของประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมากมาจากนโยบายรัฐบาลโดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ หรือเป็นผู้ก่อหรือใช้ให้มีการฆ่าผู้อื่น โดยเจตนาเล็งเห็นผลไม่ใช่ “ความรับผิดเฉพาะตัว” โดยมีปัจจัยประกอบ ดังต่อไปนี้
2. กลุ่มญาติผู้เสียหายฯ เห็นว่าการบาดเจ็บล้มตายของประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมากมาจากนโยบายรัฐบาลโดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ หรือเป็นผู้ก่อหรือใช้ให้มีการฆ่าผู้อื่น โดยเจตนาเล็งเห็นผลไม่ใช่ “ความรับผิดเฉพาะตัว” โดยมีปัจจัยประกอบ ดังต่อไปนี้
2.1 การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง นำไปสู่การใช้กองกำลังติดอาวุธเพื่อสลายการชุมนุม
2.2 การใช้กระสุนจริงในการสลายการชุมนุม
2.3 การเข้าสลายการชุมนุมในยามวิกาล
2.4 กระบวนการการป้ายสีผู้ชุมนุมว่าเป็นพวกล้มเจ้าและสมควรตาย ส่งผลให้ทหารในสังกัดและประชาชนที่สนับสนุนเห็นชอบต่อการสลายการชุมนุมด้วยกำลังอาวุธ ด้วยการแสดงผังล้มเจ้าและนำมาใช้ประโยชน์ ซึ่งภายหลัง พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. ได้ยอมรับในเวลาต่อมาว่าเป็นความเท็จ
2.5 การให้ข้อมูลเท็จว่ากลุ่มผู้ชุมนุม มีกองกำลังติดอาวุธในนามชายชุดดำ และทหารที่เสียชีวิตในวันที่ 10 เมษายน เกิดจากน้ำมือของชายชุดดำ
2.6 การจัดวางพลซุ่มยิงตามพื้นที่ด่านเข้มแข็ง ทำให้มีประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตจำนวนมาก กระจายกันในหลายพื้นที่ และผู้เสียชีวิตล้วนแต่ถูกยิงที่จุดสำคัญ
2.7 การปฏิเสธที่จะเจรจา/ต่อรองโดยสิ้นเชิง
3. กลุ่มญาติผู้เสียหายฯ เห็นว่าการที่ ป.ป.ช.อ้างอยู่หลายครั้งว่าการสลายการชุมนุมเป็นไปตามหลักสากลนั้นเป็นข้อวินิจฉัยที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรง เนื่องจากปฏิบัติการดังกล่าวไม่เป็นไปตามหลักสากลที่กล่าวอ้าง เป็นการใช้อำนาจและกำลังเกินกว่าเหตุ ขัดกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่รัฐไทยเป็นภาคี ดังมีข้อเท็จจริงของการสลายการชุมนุมที่ขัดกับหลักสากลเกิดขึ้น ต่อไปนี้
3.1 ไม่มีการแจ้งให้ผู้ชุมนุมและผู้ที่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงทราบล่วงหน้าเกี่ยวกับการสลายการชุมนุม
3.2 การใช้กระบอง แก๊สน้ำตา และกระสุนยางอย่างไม่ได้สัดส่วน และไม่แยกแยะ
3.3 การสลายการชุมนุมยามวิกาล ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก
3.4 การอนุญาตให้ใช้กระสุนจริงในการสลายการชุมนุมทั้งสองครั้ง (10 เมษายน และ 19 พฤษภาคม)
3.5 การวางพลซุ่มยิง (Sniper) บนพื้นที่สูง โดยมีเป้าหมายที่พลเรือนผู้บริสุทธิ์ และเป็นการเล็งไปยังจุดสำคัญของร่างกาย เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตด้วยการซุ่มยิงจำนวนมาก
3.6 การประกาศ “เขตการใช้กระสุนจริง” ในหลายพื้นที่ เสมือนเป็นใบอนุญาตให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้กระสุนจริงโดยขาดวิจารญาณ ต่อเมื่อถูกองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศโจมตีอย่างหนัก จึงมีการปลดป้ายออกจากพื้นที่
3.7 การขัดขวางการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ ประชาชนจำนวนไม่น้อยต้องเสียชีวิตเพราะหน่วยแพทย์อาสาไม่สามารถเข้าทำการช่วยเหลือได้ทันท่วงที เพราะทหารไม่อนุญาตให้เข้าพื้นที่ รวมทั้งการยิงสกัด อีกทั้งหน่วยแพทย์อาสาหน่วยต่างๆเองก็ถูกข่มขู่คุกคาม ทำร้ายจนเสียชีวิตจำนวน 6 ราย แม้จะมีการแต่งกายและใส่เครื่องหมายที่ชัดเจนก็ตาม
4. กลุ่มญาติผู้เสียหายฯ เห็นว่าข้อกล่าวอ้างของ ป.ป.ช. ว่าการที่ ศอฉ.ปรับเปลี่ยนรูปแบบปฏิบัติการทำให้สามารถลดความสูญเสียได้เป็นจำนวนมากนั้นเป็นเท็จ เพราะเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2553 ศอฉ.ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการด้วยการมีคำสั่งจัดตั้งด่านแข็งแรงรอบพื้นที่การชุมนุมสี่แยกราชประสงค์ จำนวน 6 จุด มาตรการดังกล่าว นำไปสู่
4.1 มีการวางพลซุ่มยิง (Sniper) บนพื้นที่สูง
4.2 มีการประกาศ “เขตการใช้กระสุนจริง” ในหลายพื้นที่ โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันแนวร่วมเข้าไปในพื้นที่การชุมนุม
4.3 มีการขัดขวางการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์
4.4 มีการสลายการชุมนุมยามวิกาล ด้วยอาวุธสงครามและกระสุนจริง
ทำให้มีผู้เสียชีวิตเฉพาะช่วงระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคม รวม 58 ราย และบาดเจ็บจำนวนมาก
5. กลุ่มญาติผู้เสียหายฯ เห็นว่าข้อวินิจฉัยของ ป.ป.ช. นอกจากจะเป็นความผิดพลาดร้ายแรงแล้ว ยังปราศจากบรรทัดฐานของความยุติธรรมหากเปรียบเทียบกับคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช. เองต่อกรณีการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) ที่หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 51 โดยมีมติชี้ว่าสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีกับพวกมีความผิด ทั้งที่กรณีการสลายการชุมนุม นปช. ของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์กับพวก มีความรุนแรงหนักหน่วงอย่างต่อเนื่องต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
จากประมวลข้อเท็จจริง(บางส่วน) ที่กลุ่มญาติผู้เสียหายฯได้รวบรวมมา จะเห็นได้ว่าคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช.ให้คำร้องต่อการถอดถอนนายอภิสิทธิ์และพวกตกไปนั้นไม่ได้ยืนอยู่บนหลักฐานข้อเท็จจริงตามที่ ป.ป.ช.ได้แถลงไว้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช. ซึ่งนอกจากจะไม่โปร่งใสและไม่สามารถตรวจสอบได้แล้ว ยังเป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือให้อาชญากรในการสั่งการสังหารหมู่ประชาชนให้พ้นผิด บิดเบือนกระบวนการยุติธรรม เข้าข่ายการปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตด้วยเช่นกัน
สิ่งที่น่าเสียใจคือ กรณีดังกล่าวเป็นทั้งความอัปยศขององค์กรอิสระที่มีรากมาจากรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และเป็นทั้งความอำมหิตของการใช้อำนาจรัฐในการช่วยเหลือเกื้อกูลให้พ้นผิด เห็นดีเห็นงามกับการสังหารประชาชนและทิ้งเรื่องราวและลืมความขัดแย้งไว้เบื้องหลัง โดยมิพักจะทำความเข้าใจและหาสาเหตุไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำอีกในอนาคต
อย่างไรก็ตาม กลุ่มญาติผู้เสียหายฯจะขอยืนหยัดต่อสู้เพื่อให้ความจริงปรากฏ และนำอาชญากรที่มีส่วนร่วมในการสังหารหมู่ประชาชนในทุกระดับมาลงโทษ เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์เยี่ยงนี้ขึ้นอีกในอนาคต
กลุ่มญาติผู้เสียหายจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมืองปี 2553
วันพุธที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2553