รวม 10 ปัญหามาตรา 112
By ilaw-freedom
on 3 February 2021
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”
มาตรา 112 หรือความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ถูกพูดถึงมานานแล้วภายใต้บริบทความขัดแย้งทางการเมือง และกำลังถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่มีการนำข้อหานี้กลับมาใช้กับผู้ชุมนุมระลอกใหม่อีกครั้งตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 และดูเหมือนว่ามีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในแง่ปริมาณคดี และขอบเขตการกระทำที่ถูกดำเนินคดี สถานการณ์เช่นนี้เองทำให้กระแสการเรียกร้องให้ "ยกเลิกมาตรา 112" ดังขึ้นอย่างต่อเนื่องเกือบทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ผ่านการแสดงออกทางสัญลักษณ์หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะในการชุมนุมขนาดใหญ่ หรือการกระจายไปหลายๆพื้นที่ในรูปแบบของการติดป้ายผ้า การพ่นสีสเปรย์ หรือการฉายเลเซอร์บนอาคาร เป็นต้น
สาเหตุที่กฎหมาย "หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ" มีปัญหาและกลายเป็นประเด็นของความขัดแย้งอยู่หลายระลอก ไม่ใช่เพียงเพราะตัวบทกฎหมายหรือการบังคับใช้ที่มีปัญหาเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงปัญหาที่ส่งผลต่ออุดมการณ์และความคิดความเชื่อของคนในสังคมอีกด้วย
๐ ปัญหาของ "มาตรา 112" อย่างน้อย 10 ข้อ ที่เป็นประเด็นในการถกเถียงมากที่สุด ; โดยแบ่งเป็น 4 ปัญหาตัวบท 4 ปัญหาการใช้ และ 2 ปัญหาโครงสร้าง
1. ปัญหาตัวบท : คนริเริ่มคดีเป็นใครก็ได้
ด้วยเหตุที่ มาตรา 112 เป็นความผิดในหมวด "ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร" บุคคลทั่วไปสามารถเป็น "ผู้กล่าวโทษ" ได้ ทำให้คนที่เดินไปบอกกับตำรวจเพื่อให้ริเริ่มการดำเนินคดีนั้นจะเป็นใครก็ได้ ไม่ต้องให้ผู้เสียหายเป็นคนเริ่มต้นคดีเอง ส่งผลให้คดีตามมาตรา 112 มีจำนวนมาก และเกิดขึ้นได้ทุกหนแห่งขอเพียงแค่มีคนเดินไปกล่าวโทษกับตำรวจเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เองทำให้กฎหมายนี้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้เพื่อกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง หรือกลั่นแกล้งคนที่มีความขัดแย้งกันในเรื่องส่วนตัว เช่น คดีของยุทธภูมิ เรื่องราวของพี่น้องที่อยู่บ้านเดียวกัน มีปัญหากัน และจุดยืนทางการเมืองไม่ตรงกัน พี่ชายจึงกล่าวโทษให้ตำรวจดำเนินคดีกับน้องชายตัวเองจากการสบถขณะดูทีวีภายในบ้าน
2. ปัญหาตัวบท : โทษหนักเกินไป
มาตรา 112 กำหนดอัตราโทษจำคุกไว้ที่สามถึงสิบห้าปี ซึ่งหมายความว่า เมื่อศาลตัดสินว่ากระทำความผิดจริงหนึ่งครั้ง โทษอย่างน้อยที่สุดที่ศาลจะลงโทษได้ คือ สามปี แม้ว่าจะเป็นการกระทำที่เล็กน้อยเพียงใดศาลก็ไม่อาจลงโทษต่ำกว่านั้นได้ ซึ่งเป็นอัตราโทษเดียวกับความผิดฐานตระเตรียมการกบฏ หรือฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ถ้าหากเทียบกับความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคล จะพบว่ามีโทษจำคุกเพียงไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือเทียบกับในประเทศอื่นที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น ญี่ปุ่น ได้มีการยกเลิกกฎหมายฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหราชอาณาจักรและนอร์เวย์ การหมิ่นประมาทกษัตริย์และบุคคลธรรมดา ต่างก็ไม่มีโทษทางอาญา หรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและบรูไน ก็มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี
3. ปัญหาตัวบท : ไม่มีขอบเขตชัดเจน
ความผิดฐาน "หมิ่นประมาท" บุคคลธรรมดา มีบทนิยามที่ระบุองค์ประกอบชัดเจนในมาตรา 326 ซึ่งแยกต่างหากกับความผิดฐาน "ดูหมิ่น" และการ "แสดงความอาฆาตมาดร้าย" บุคคลธรรมดาก็ไม่เป็นความผิด แต่มาตรา 112 รวมทั้งการ "หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย" เข้ามาเป็นความผิดในมาตราเดียวกันซึ่งกำหนดโทษเท่ากันทั้งหมด โดยประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าใจได้ทันทีเมื่ออ่านตัวบทว่า การแสดงความคิดเห็นเช่นใดจะเป็นความผิดบ้าง
4. ปัญหาตัวบท : ไม่ยกเว้นให้การแสดงความเห็นโดยสุจริต
ความผิดฐาน "หมิ่นประมาท" บุคคลธรรมดามีข้อยกเว้นในมาตรา 329-330 สำหรับการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม ให้ไม่เป็นความผิด และการพูดความจริงในเรื่องที่เป็นประโยชน์สาธารณะไม่ต้องรับโทษ แต่มาตรา 112 ไม่ได้นำข้อยกเว้นเหล่านี้มาเขียนให้ชัดเจนด้วย ทำให้การแสดงความคิดเห็นที่แม้จะเป็นไปโดยสุจริต เป็นความจริง และเพื่อประโยชน์สาธารณะก็ไม่ได้รับความคุ้มครอง อย่างไรก็ดี กฎหมายลักษณะอาญาที่แก้ไขเมื่อปี 2477 เคยยกเว้นให้การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ แต่ก็ถูกตัดออกเมื่อประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญาในปี 2499
5.ปัญหาการใช้ : ตีความกว้างขวางเกินไป
มาตรา 112 ถูกตีความและบังคับใช้อย่างกว้างขวาง เพื่อดำเนินคดีและเอาผิดกับการกระทำหลายรูปแบบอย่างไม่มีขอบเขต ประชาชนไม่สามารถเข้าใจได้ว่าการกระทำแบบใดผิดกฎหมายบ้าง ยกตัวอย่างกรณีที่ตีความกฎหมายกว้างขวางมาก เช่น การแต่งชุดไทยเดินแฟชั่น หรือการสวมเสื้อครอปท็อป ในอดีตศาลเคยตีความและตัดสินเอาผิดจำเลยเกินตัวบท เช่น คำพิพากษาที่วินิจฉัยให้มาตรา 112 ครอบคลุมถึง รัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระเทพฯ ทั้งที่สองพระองค์นี้ไม่ได้อยู่ในบุคคลที่มาตรา 112 บัญญัติคุ้มครองโดยตรงไว้
6. ปัญหาการใช้ : เจ้าหน้าที่ไม่ใช้ดุลพินิจให้เป็นประโยชน์แก่จำเลย
เมื่อประเด็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องอ่อนไหว และมาตรา 112 กำหนดโทษไว้สูงในฐานะ "ข้อหาร้ายแรง" จึงส่งผลต่อดุลพินิจการตีความและบังคับใช้ของทั้งตำรวจ อัยการ และผู้พิพากษา แม้โดยหลักการแล้วการตีความและบังคับใช้กฎหมายต้องเป็นไปอย่างเคร่งครัดเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา แต่ในคดีลักษณะนี้ เจ้าหน้าที่เองก็ได้รับแรงกดดันจนไม่กล้าใช้ดุลพินิจให้เป็นประโยชน์ต่อจำเลย เช่น การสั่งไม่ฟ้องคดี หรือการให้ผู้ต้องหาได้รับสิทธิประกันตัว หรือการพิพากษายกฟ้อง เพราะกลัวจะถูกตำหนิจากสังคม หรือกลัวส่งผลกระทบต่อตำแหน่งหน้าที่การงานของตัวเอง สถิติคดีมาตรา 112 ช่วงหลังรัฐประหารปี 2557 ถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2560 มีผู้ต้องหาหรือจำเลยเพียง 15 คนจากทั้งหมด 94 คนที่ได้ประกันตัว คิดเป็น 16 เปอร์เซ็นเท่านั้น โดยศาลมักจะให้เหตุผลในการไม่อนุญาตว่า เป็นเรื่องที่มีความร้ายแรง กระทบต่อความสงบเรียบร้อยและความรู้สึกของประชาชน
7. ปัญหาการใช้ : จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี
นอกจากจำเลยคดีมาตรา 112 จำนวนมากจะไม่ได้ประกันตัวในระหว่างการพิจารณาแล้ว การแสวงหาพยานหลักฐานฝ่ายจำเลยมักเป็นไปได้ยาก พยานส่วนใหญ่โดยเฉพาะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญมักไม่กล้ามาเบิกความเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ให้จำเลยเนื่องจากกลัวว่าจะมีผลกระทบถึงตัวเอง การหาหลักฐานข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ก็เป็นอำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่เท่านั้น จำเลยไม่อาจขอข้อมูลจากผู้ให้บริการหรือเข้าถึงข้อมูลในความครอบครองของคนอื่นได้ นอกจากนี้ จำเลยหลายคนเมื่อต้องเจออุปสรรคต่างๆ ในการต่อสู้คดีก็ตกอยู่ในสภาวะ "จำยอม" ให้ต้องรับสารภาพ เพื่อหวังให้ศาลพิพากษา "ลดโทษ" ลงครึ่งหนึ่ง และหวังได้สิทธิ "ลดหย่อน" ระหว่างอยู่ในเรือนจำ รวมถึงหวังกระบวนการ "ขอพระราชทานอภัยโทษ" เพื่อให้ได้กลับสู่อิสรภาพโดยเร็วที่สุด โดยไม่อาจมุ่งมั่นกับการพิสูจน์ความจริงที่อาจต้องแลกมากับการจำคุกที่ยาวนานขึ้น
8. ปัญหาการใช้ : มากน้อย-หนักเบา ตามบรรยากาศการเมือง
การบังคับใช้มาตรา 112 ได้ทำลายหลักการปกครองด้วยกฎหมาย หรือหลักนิติธรรม เพราะเป็นการใช้กฎหมายที่ปริมาณการดำเนินคดีจะมากหรือน้อย และการลงโทษจะหนักหรือเบา แปรผันตามบรรยากาศทางการเมือง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการกระทำที่ถูกกล่าวหาและตัวบทกฎหมายตามที่ควรจะเป็นเช่นเดียวกับคดีประเภทอื่น กล่าวคือ มาตรา 112 เป็นที่รู้จักในสถานการณ์การเมืองหลังการรัฐประหารปี 2549 และเริ่มใช้กันมากท่ามกลางความขัดแย้ง "เสื้อเหลือง-เสื้อแดง" จนกระทั่งหลังการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553 ก็มีการกวาดจับแนวร่วมผู้ชุมนุมดำเนินคดีอย่างน้อย 20 คน เมื่อเลือกตั้งและเปลี่ยนเป็นยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำนวนคดีก็ไม่เพิ่มขึ้นนัก แต่เมื่อการรัฐประหารโดย คสช. ช่วงปี 2557-2558 มีการจับกุมรายใหม่กว่า 60 คน คดีต้องขึ้นศาลทหารที่ตัดสินลงโทษอย่างรุนแรง ช่วงหลังเหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 9 ก็มีคดีเพิ่มขึ้นชุดใหญ่อีกครั้งก่อนที่นโยบายจะเปลี่ยน ทำให้ระหว่างเดือนมกราคม 2561 ถึงเดือนตุลาคม 2563 ไม่มีการจับกุมรายใหม่เลย จนกระทั่งพล.อ.ประยุทธ์ ประกาศว่าจะใช้กฎหมาย "ทุกบท ทุกมาตรา" ทำให้นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ถึงสิ้นเดือนมกราคม 2564 มีคดีเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 42 คดี ผู้ต้องหาอย่างน้อย 55 คน
9. ปัญหาโครงสร้าง : สร้างผลกระทบต่อสังคม
การดำนินคดีมาตรา 112 สร้างบรรยากาศความหวาดกลัวขึ้นอย่างกว้างขวาง สังคมตกอยู่ภายใต้วัฒนธรรมที่เชื่อว่า สถาบันพระมหากษัตริย์นั้น "แตะต้องไม่ได้" ประชาชนต้องเซ็นเซอร์ตัวเองอย่างสูงสุด และหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงประเด็นนี้ ทั้งในพื้นที่ส่วนตัวและในทางสาธารณะ สื่อมวลชนก็ไม่กล้ารายงานสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมาทั้งข้อเรียกร้องของการชุมนุมทางการเมือง หรือรายละเอียดการดำเนินคดีมาตรา 112 ภาวะเช่นนี้เอง ทำให้ข้อเท็จจริงหรือความรู้เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยมีอยู่อย่างจำกัดอันจะส่งผลต่อความรับรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทย และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่สำคัญของประชาชน
10. ปัญหาโครงสร้าง : สร้างผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
เมื่อปรากฏข่าวในทางสาธารณะว่า มีการดำเนินคดีมาตรา 112 กับประชาชนจำนวนมาก และมีการลงโทษหนัก ประชาชนจึงหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ส่งผลให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีภาพลักษณ์ที่ประกอบด้วยความหวาดกลัว ห่างไกลจากความรู้ความเข้าใจของสังคม ไม่อาจถูกตรวจสอบ และไม่สามารถปรับตัวเข้ากับโลกสมัยใหม่ได้ เมื่อมีข่าวการจับกุมดำเนินคดีสู่สายตาต่างประเทศ ชาวต่างชาติก็อาจเกิดความรู้สึกในแง่ลบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เคยมีพระราชดำรัส ไว้ว่า "....ไม่มีใครกล้าเอาคนที่ด่าพระมหากษัตริย์เข้าคุก เพราะพระมหากษัตริย์เดือดร้อน เขาหาว่าพระมหากษัตริย์เป็นคนที่ไม่ดี อย่างน้อยที่สุด ก็เป็นคนที่จั๊กจี้ ใครว่าไรซักนิด ก็บอกให้เข้าคุก ที่จริงพระมหากษัตริย์ไม่เคยบอกให้เข้าคุก..."
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”
มาตรา 112 หรือความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ถูกพูดถึงมานานแล้วภายใต้บริบทความขัดแย้งทางการเมือง และกำลังถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่มีการนำข้อหานี้กลับมาใช้กับผู้ชุมนุมระลอกใหม่อีกครั้งตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 และดูเหมือนว่ามีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในแง่ปริมาณคดี และขอบเขตการกระทำที่ถูกดำเนินคดี สถานการณ์เช่นนี้เองทำให้กระแสการเรียกร้องให้ "ยกเลิกมาตรา 112" ดังขึ้นอย่างต่อเนื่องเกือบทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ผ่านการแสดงออกทางสัญลักษณ์หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะในการชุมนุมขนาดใหญ่ หรือการกระจายไปหลายๆพื้นที่ในรูปแบบของการติดป้ายผ้า การพ่นสีสเปรย์ หรือการฉายเลเซอร์บนอาคาร เป็นต้น
สาเหตุที่กฎหมาย "หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ" มีปัญหาและกลายเป็นประเด็นของความขัดแย้งอยู่หลายระลอก ไม่ใช่เพียงเพราะตัวบทกฎหมายหรือการบังคับใช้ที่มีปัญหาเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงปัญหาที่ส่งผลต่ออุดมการณ์และความคิดความเชื่อของคนในสังคมอีกด้วย
๐ ปัญหาของ "มาตรา 112" อย่างน้อย 10 ข้อ ที่เป็นประเด็นในการถกเถียงมากที่สุด ; โดยแบ่งเป็น 4 ปัญหาตัวบท 4 ปัญหาการใช้ และ 2 ปัญหาโครงสร้าง
1. ปัญหาตัวบท : คนริเริ่มคดีเป็นใครก็ได้
ด้วยเหตุที่ มาตรา 112 เป็นความผิดในหมวด "ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร" บุคคลทั่วไปสามารถเป็น "ผู้กล่าวโทษ" ได้ ทำให้คนที่เดินไปบอกกับตำรวจเพื่อให้ริเริ่มการดำเนินคดีนั้นจะเป็นใครก็ได้ ไม่ต้องให้ผู้เสียหายเป็นคนเริ่มต้นคดีเอง ส่งผลให้คดีตามมาตรา 112 มีจำนวนมาก และเกิดขึ้นได้ทุกหนแห่งขอเพียงแค่มีคนเดินไปกล่าวโทษกับตำรวจเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เองทำให้กฎหมายนี้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้เพื่อกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง หรือกลั่นแกล้งคนที่มีความขัดแย้งกันในเรื่องส่วนตัว เช่น คดีของยุทธภูมิ เรื่องราวของพี่น้องที่อยู่บ้านเดียวกัน มีปัญหากัน และจุดยืนทางการเมืองไม่ตรงกัน พี่ชายจึงกล่าวโทษให้ตำรวจดำเนินคดีกับน้องชายตัวเองจากการสบถขณะดูทีวีภายในบ้าน
2. ปัญหาตัวบท : โทษหนักเกินไป
มาตรา 112 กำหนดอัตราโทษจำคุกไว้ที่สามถึงสิบห้าปี ซึ่งหมายความว่า เมื่อศาลตัดสินว่ากระทำความผิดจริงหนึ่งครั้ง โทษอย่างน้อยที่สุดที่ศาลจะลงโทษได้ คือ สามปี แม้ว่าจะเป็นการกระทำที่เล็กน้อยเพียงใดศาลก็ไม่อาจลงโทษต่ำกว่านั้นได้ ซึ่งเป็นอัตราโทษเดียวกับความผิดฐานตระเตรียมการกบฏ หรือฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ถ้าหากเทียบกับความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคล จะพบว่ามีโทษจำคุกเพียงไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือเทียบกับในประเทศอื่นที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น ญี่ปุ่น ได้มีการยกเลิกกฎหมายฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหราชอาณาจักรและนอร์เวย์ การหมิ่นประมาทกษัตริย์และบุคคลธรรมดา ต่างก็ไม่มีโทษทางอาญา หรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและบรูไน ก็มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี
3. ปัญหาตัวบท : ไม่มีขอบเขตชัดเจน
ความผิดฐาน "หมิ่นประมาท" บุคคลธรรมดา มีบทนิยามที่ระบุองค์ประกอบชัดเจนในมาตรา 326 ซึ่งแยกต่างหากกับความผิดฐาน "ดูหมิ่น" และการ "แสดงความอาฆาตมาดร้าย" บุคคลธรรมดาก็ไม่เป็นความผิด แต่มาตรา 112 รวมทั้งการ "หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย" เข้ามาเป็นความผิดในมาตราเดียวกันซึ่งกำหนดโทษเท่ากันทั้งหมด โดยประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าใจได้ทันทีเมื่ออ่านตัวบทว่า การแสดงความคิดเห็นเช่นใดจะเป็นความผิดบ้าง
4. ปัญหาตัวบท : ไม่ยกเว้นให้การแสดงความเห็นโดยสุจริต
ความผิดฐาน "หมิ่นประมาท" บุคคลธรรมดามีข้อยกเว้นในมาตรา 329-330 สำหรับการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม ให้ไม่เป็นความผิด และการพูดความจริงในเรื่องที่เป็นประโยชน์สาธารณะไม่ต้องรับโทษ แต่มาตรา 112 ไม่ได้นำข้อยกเว้นเหล่านี้มาเขียนให้ชัดเจนด้วย ทำให้การแสดงความคิดเห็นที่แม้จะเป็นไปโดยสุจริต เป็นความจริง และเพื่อประโยชน์สาธารณะก็ไม่ได้รับความคุ้มครอง อย่างไรก็ดี กฎหมายลักษณะอาญาที่แก้ไขเมื่อปี 2477 เคยยกเว้นให้การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ แต่ก็ถูกตัดออกเมื่อประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญาในปี 2499
5.ปัญหาการใช้ : ตีความกว้างขวางเกินไป
มาตรา 112 ถูกตีความและบังคับใช้อย่างกว้างขวาง เพื่อดำเนินคดีและเอาผิดกับการกระทำหลายรูปแบบอย่างไม่มีขอบเขต ประชาชนไม่สามารถเข้าใจได้ว่าการกระทำแบบใดผิดกฎหมายบ้าง ยกตัวอย่างกรณีที่ตีความกฎหมายกว้างขวางมาก เช่น การแต่งชุดไทยเดินแฟชั่น หรือการสวมเสื้อครอปท็อป ในอดีตศาลเคยตีความและตัดสินเอาผิดจำเลยเกินตัวบท เช่น คำพิพากษาที่วินิจฉัยให้มาตรา 112 ครอบคลุมถึง รัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระเทพฯ ทั้งที่สองพระองค์นี้ไม่ได้อยู่ในบุคคลที่มาตรา 112 บัญญัติคุ้มครองโดยตรงไว้
6. ปัญหาการใช้ : เจ้าหน้าที่ไม่ใช้ดุลพินิจให้เป็นประโยชน์แก่จำเลย
เมื่อประเด็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องอ่อนไหว และมาตรา 112 กำหนดโทษไว้สูงในฐานะ "ข้อหาร้ายแรง" จึงส่งผลต่อดุลพินิจการตีความและบังคับใช้ของทั้งตำรวจ อัยการ และผู้พิพากษา แม้โดยหลักการแล้วการตีความและบังคับใช้กฎหมายต้องเป็นไปอย่างเคร่งครัดเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา แต่ในคดีลักษณะนี้ เจ้าหน้าที่เองก็ได้รับแรงกดดันจนไม่กล้าใช้ดุลพินิจให้เป็นประโยชน์ต่อจำเลย เช่น การสั่งไม่ฟ้องคดี หรือการให้ผู้ต้องหาได้รับสิทธิประกันตัว หรือการพิพากษายกฟ้อง เพราะกลัวจะถูกตำหนิจากสังคม หรือกลัวส่งผลกระทบต่อตำแหน่งหน้าที่การงานของตัวเอง สถิติคดีมาตรา 112 ช่วงหลังรัฐประหารปี 2557 ถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2560 มีผู้ต้องหาหรือจำเลยเพียง 15 คนจากทั้งหมด 94 คนที่ได้ประกันตัว คิดเป็น 16 เปอร์เซ็นเท่านั้น โดยศาลมักจะให้เหตุผลในการไม่อนุญาตว่า เป็นเรื่องที่มีความร้ายแรง กระทบต่อความสงบเรียบร้อยและความรู้สึกของประชาชน
7. ปัญหาการใช้ : จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี
นอกจากจำเลยคดีมาตรา 112 จำนวนมากจะไม่ได้ประกันตัวในระหว่างการพิจารณาแล้ว การแสวงหาพยานหลักฐานฝ่ายจำเลยมักเป็นไปได้ยาก พยานส่วนใหญ่โดยเฉพาะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญมักไม่กล้ามาเบิกความเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ให้จำเลยเนื่องจากกลัวว่าจะมีผลกระทบถึงตัวเอง การหาหลักฐานข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ก็เป็นอำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่เท่านั้น จำเลยไม่อาจขอข้อมูลจากผู้ให้บริการหรือเข้าถึงข้อมูลในความครอบครองของคนอื่นได้ นอกจากนี้ จำเลยหลายคนเมื่อต้องเจออุปสรรคต่างๆ ในการต่อสู้คดีก็ตกอยู่ในสภาวะ "จำยอม" ให้ต้องรับสารภาพ เพื่อหวังให้ศาลพิพากษา "ลดโทษ" ลงครึ่งหนึ่ง และหวังได้สิทธิ "ลดหย่อน" ระหว่างอยู่ในเรือนจำ รวมถึงหวังกระบวนการ "ขอพระราชทานอภัยโทษ" เพื่อให้ได้กลับสู่อิสรภาพโดยเร็วที่สุด โดยไม่อาจมุ่งมั่นกับการพิสูจน์ความจริงที่อาจต้องแลกมากับการจำคุกที่ยาวนานขึ้น
8. ปัญหาการใช้ : มากน้อย-หนักเบา ตามบรรยากาศการเมือง
การบังคับใช้มาตรา 112 ได้ทำลายหลักการปกครองด้วยกฎหมาย หรือหลักนิติธรรม เพราะเป็นการใช้กฎหมายที่ปริมาณการดำเนินคดีจะมากหรือน้อย และการลงโทษจะหนักหรือเบา แปรผันตามบรรยากาศทางการเมือง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการกระทำที่ถูกกล่าวหาและตัวบทกฎหมายตามที่ควรจะเป็นเช่นเดียวกับคดีประเภทอื่น กล่าวคือ มาตรา 112 เป็นที่รู้จักในสถานการณ์การเมืองหลังการรัฐประหารปี 2549 และเริ่มใช้กันมากท่ามกลางความขัดแย้ง "เสื้อเหลือง-เสื้อแดง" จนกระทั่งหลังการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553 ก็มีการกวาดจับแนวร่วมผู้ชุมนุมดำเนินคดีอย่างน้อย 20 คน เมื่อเลือกตั้งและเปลี่ยนเป็นยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำนวนคดีก็ไม่เพิ่มขึ้นนัก แต่เมื่อการรัฐประหารโดย คสช. ช่วงปี 2557-2558 มีการจับกุมรายใหม่กว่า 60 คน คดีต้องขึ้นศาลทหารที่ตัดสินลงโทษอย่างรุนแรง ช่วงหลังเหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 9 ก็มีคดีเพิ่มขึ้นชุดใหญ่อีกครั้งก่อนที่นโยบายจะเปลี่ยน ทำให้ระหว่างเดือนมกราคม 2561 ถึงเดือนตุลาคม 2563 ไม่มีการจับกุมรายใหม่เลย จนกระทั่งพล.อ.ประยุทธ์ ประกาศว่าจะใช้กฎหมาย "ทุกบท ทุกมาตรา" ทำให้นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ถึงสิ้นเดือนมกราคม 2564 มีคดีเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 42 คดี ผู้ต้องหาอย่างน้อย 55 คน
9. ปัญหาโครงสร้าง : สร้างผลกระทบต่อสังคม
การดำนินคดีมาตรา 112 สร้างบรรยากาศความหวาดกลัวขึ้นอย่างกว้างขวาง สังคมตกอยู่ภายใต้วัฒนธรรมที่เชื่อว่า สถาบันพระมหากษัตริย์นั้น "แตะต้องไม่ได้" ประชาชนต้องเซ็นเซอร์ตัวเองอย่างสูงสุด และหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงประเด็นนี้ ทั้งในพื้นที่ส่วนตัวและในทางสาธารณะ สื่อมวลชนก็ไม่กล้ารายงานสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมาทั้งข้อเรียกร้องของการชุมนุมทางการเมือง หรือรายละเอียดการดำเนินคดีมาตรา 112 ภาวะเช่นนี้เอง ทำให้ข้อเท็จจริงหรือความรู้เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยมีอยู่อย่างจำกัดอันจะส่งผลต่อความรับรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทย และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่สำคัญของประชาชน
10. ปัญหาโครงสร้าง : สร้างผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
เมื่อปรากฏข่าวในทางสาธารณะว่า มีการดำเนินคดีมาตรา 112 กับประชาชนจำนวนมาก และมีการลงโทษหนัก ประชาชนจึงหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ส่งผลให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีภาพลักษณ์ที่ประกอบด้วยความหวาดกลัว ห่างไกลจากความรู้ความเข้าใจของสังคม ไม่อาจถูกตรวจสอบ และไม่สามารถปรับตัวเข้ากับโลกสมัยใหม่ได้ เมื่อมีข่าวการจับกุมดำเนินคดีสู่สายตาต่างประเทศ ชาวต่างชาติก็อาจเกิดความรู้สึกในแง่ลบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เคยมีพระราชดำรัส ไว้ว่า "....ไม่มีใครกล้าเอาคนที่ด่าพระมหากษัตริย์เข้าคุก เพราะพระมหากษัตริย์เดือดร้อน เขาหาว่าพระมหากษัตริย์เป็นคนที่ไม่ดี อย่างน้อยที่สุด ก็เป็นคนที่จั๊กจี้ ใครว่าไรซักนิด ก็บอกให้เข้าคุก ที่จริงพระมหากษัตริย์ไม่เคยบอกให้เข้าคุก..."