วันพุธ, มิถุนายน 05, 2567

กลุ่มนิติศาสตร์ชี้ ระเบียบวิธีเลือก สว.๖๗ มีปัญหาบานเบอะ จี้ กกต.เร่งแก้

ก่อนจะถึงวันเลือก สว.๖๗ ระดับอำเภอไม่กี่วัน กลุ่มนิติศาสตร์ภาคประชาชนพบปัญหาบานเบอะ ในวิธีการเลือก สว.แบบพิศดารของไทย ยื่นข้อเรียกร้องให้ กกต.เร่งจัดการแก้ไขด่วน ไม่เช่นนั้นเละตุ้มเป๊ะแน่

นักกฎหมายจากหลายองค์กร เช่น ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มธ. พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต นิด้า ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ไอลอว์ กฤต แสงสุรินทร์ วีว้อท ร่วมเสวนาปัญหาการเลือก สว.๖๗ โดยมี ปริมวิษา ทองฉอ้อน ดำเนินรายการ

พบว่านอกจากเงื่อนไขซับซ้อนไม่เอื้อให้คนเข้าสมัคร ไหนจะเกณฑ์อายุต้องเกิน ๔๐ ปี แล้วยังต้องเสียค่าสมัครอีกคนละ ๒,๕๐๐ บาท กับการกำหนดลักษณะต้องห้ามหลายอย่างผู้สมัครไม่ทราบมาก่อน ทำให้หลายคนถูกตัดสิทธิ เช่นเรื่องเป็นสมาชิกพรรคการเมือง

ไม่เท่านั้น กกต.ได้อำนาจมากและเด็ดขาดโดยไม่ต้องรับผิดชอบ ในการตัดสิทธิและลบชื่อออก ผู้สมัครมีเวลาเพียง ๓ วันยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อคัดค้าน ข้อนี้ตัวแทน We Watch เสนอว่า กกต.ควรเป็นตัวกลางอำนวยความสะดวกแก่ผู้ถูกตัดสิทธิ

ด้านตัวแทนไอลอว์ชี้ว่าข้อกำหนดระบุอาชีพของผู้สมัครลักลั่น มีอาชีพให้เลือกจำกัด เช่นพิธีกร ต้องไปรวมอยู่กลุ่มสื่อมวลชน หรืออาชีพกร๊าฟฟิคดีไซเนอร์ ต้องเลือกอาชีพช่างศิลป์แทน เป็นต้น

นอกนั้นมีกติกาที่ให้ผู้สมัครสามอันดับแรกได้รับเลือกระดับอำเภอ แต่ถ้ามีผู้ได้คะแนนไม่ถึงสามคน อำเภอไหนมีผู้สมัครอยู่กลุ่มเดียวก็จะตกรอบไปเลย ไม่สามารถเข้าไป เลือกไขว้ได้ เช่น อ.สามชัย กาฬสินธุ์ อ.เมืองยาง ราชสีมา อ.เชียงกลาง น่าน เป็นต้น

ผศ.ปริญญา กล่าวว่าการออกแบบกติกาผิดพลาดอย่างนี้ กกต.ควรจะตีความและใช้กฎหมายในทางสนับสนุนเสรีภาพของผู้สมัคร เมื่อเห็นว่าจะมีผู้สมัครอำเภอใดตกรอบต้องรีบประกาศเนินๆ ให้ผู้สมัครสามารถไปร้องเรียนได้ทันท่วงที

ทาง รศ.พิชายกล่าวถึงกรณีที่บางอำเภอมีผู้ไปสมัครกันน้อย เพราะการประชาสัมพันธ์ของ กกต.ไม่ดีพอ ส่วนที่เป็นห่วงกันว่าจะมีผู้เข้ารอบเพราะการ จัดตั้ง อาจทำได้ในระดับอำเภอ แต่ระดับจังหวัดเชื่อว่าจะทำได้ยาก เพราะมีผู้สมัครหลายกลุ่มอาชีพ

(https://www.ilaw.or.th/articles/38683)