thaiarmedforce.com
16 hours ago·
เมื่อวานนี้มีการอภิปรายงบประมาณปี 2568 ในสภา ซึ่งตอนหนึ่งของการอภิปรายโดย Wiroj Lakkhanaadisorn - วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ซึ่งมีข้อมูลว่ายานเกราะจำนวนมากของ #กองทัพบก นั้นจอดซ่อมเป็นเวลานาน ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ และคาดว่าจะมีความพร้อมรบไม่ถึง 2 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมดตามที่กองทัพบกตั้ง KPI ไว้ แต่ที่สำคัญก็คือ ในปี 2568 กองทัพบกได้รับการจัดสรรงบประมาณซ่อมบำรุงยานเกราะแค่ 195 ล้านบาท น้อยกว่างบรถประจำตำแหน่งที่ได้รับ 550 ล้านบาท
ประเด็นเรื่องงบซ่อมบำรุงที่กองทัพบกได้รับมากน้อยขอยกไปก่อน แต่ประเด็นของบทความนี้ก็คือ ทำไมยานเกราะของกองทัพบกจึงจอดซ่อมเป็นจำนวนมาก
แม้ว่าผู้อภิปรายจะไม่ได้ระบุถึงแบบของยานเกราะโดยตรง แต่ก็ค่อนข้างชัดว่าหมายถึงยานเกราะอย่างน้อย 3 แบบคือ VN-1 ที่ผลิตจากจีน, BTR-3E1 ที่ผลิตจากยูเครน, และ V-150 ที่ผลิตจากสหรัฐอเมริกา
ในจำนวนนี้ คิดว่ามีหลาย ๆ เหตุผลของมัน โดยแบ่งเป็นเหตุผลของแต่ละแบบดังนี้
--------------------
V-150 เป็นยานเกราะที่ใช้มานานมากหลายสิบปี จริง ๆ เป็นยานเกราะที่แทบจะหมดสภาพแล้ว และถ้าตัวเกราะเดิม ๆ นั้นถือว่าน้อยไปแล้วที่จะรับมือกับภัยคุกคามในปัจจุบันได้ แม้ว่าผู้ผลิตจะยังมีการสนับสนุนด้านอะไหล่อยู่บ้าง แต่ต้องยอมรับว่าสภาพของระบบที่ซับซ้อนต่าง ๆ เช่นเครื่องยนต์หรือระบบเกียร์ก็อาจจะเสื่อมไปตามเวลา
ดังนั้นด้วยอายุระดับคนใกล้เกษียณของยานเกราะชุดนี้ ถ้าจะมีปัญหาด้านการส่งกำลังบำรุงก็ถือว่าพอเข้าใจได้ระดับหนึ่ง
จริง ๆ มีหลายไอเดียในการแก้ปัญหานี้ อย่างแรกคือการปรับปรุงใหญ่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนเครื่องยนต์หรือเกียร์ และการเสริมเกราะหรือซ่อมโครงสร้างต่าง ๆ การมีระบบที่ใหม่ที่ใช้อุปกรณ์ในปัจจุบันน่าจะช่วยให้การส่งกำลังบำรุงง่ายขึ้น ซึ่งในประเทศไทยมีบริษัทไทยที่เสนอแผนแบบการปรับปรุง V-150 อย่างน้อยสองบริษัทคือชัยเสรีและพนัส แอสเซมบลี การปรับปรุงถือว่าเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกัน
หรือการจัดหาใหม่ก็เป็นทางเลือกที่ดีเหมือนกัน ซึ่งก็แน่นอนว่ามีบริษัทในประเทศที่สามารถสนับสนุนได้เช่นบริษัทที่เป็นพันธมิตรกับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ชัยเสรี หรือพนัส แอสเซมบลี ซึ่งก็จะเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศอีกเช่นกัน
----------------------
BTR-3E1 อาจจะถือเป็นกรณีที่โชคร้าย เพราะยูเครนถูกรัสเซียโจมตี ทำให้ขีดความสามารถของอุตสาหกรรมในประเทศถูกทำลายไปบางส่วน ที่เหลือก็ต้องสนับสนุนกองทัพยูเครนก่อน การขาดอะไหล่ของ BTR-3E1 จึงเป็นเรื่องที่โชคร้ายมากกว่าการบริหารที่ผิดพลาด
แม้จะมีแนวคิดหลายแนวคิดที่จะแก้ปัญหา เช่นเคยมีข้อเสนอของยูเครนที่จะตั้งสายการผลิตยานเกราะตระกูล BTR ในประเทศไทยซึ่งเป็นเขตนอกพื้นที่การรบ แต่แนวคิดนี้ก็ยังไม่เกิดขึ้น
ซึ่งจริง ๆ แล้วกองทัพบกก็พยายามแก้ปัญหานี้ คือมีการออกหนังสือเชิญชวนให้ผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศให้เข้าสำรวจสภาพของทั้ง BTR-3E1 และ T-84 เพื่อพยายามหาผู้ผลิตอะไหล่อื่น ซึ่งสำเร็จหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถือเป็นความพยายามที่น่าชื่นชมแล้ว ตรงนี้ก็ขอเป็นกำลังใจให้กองทัพบก
----------------------
ส่วน VN-1 นั้นเป็นยานเกราะที่เพิ่งจัดหามา และยังมีการจัดหาต่อเนื่องจนถึงปีนี้
เท่าที่รับทราบ ปัญหาของ VN-1 คืออะไหล่หรือการซ่อมบำรุงที่ช้ามาก เพราะสายการส่งกำลังบำรุงของจีนแตกต่างจากสายการส่งกำลังบำรุงของกลุ่มประเทศ NATO และรัสเซียซึ่งมีซัพพลายเออร์ในตลาดค่อนข้างมาก ใช้ทดแทนกันได้ แต่ซัพพลายเออร์ของจีนนั้น แทบทั้งหมดอยู่ภายในจีน ถูกควบคุมโดยผู้ผลิตไม่กี่แห่ง ดังนั้นทำให้มีตัวเลือกน้อยมาก และมีลักษณะกึ่งผูกขาดและถูกควบคุมโดยรัฐบาลจีนค่อนข้างเข้มงวด
รวมถึงอีกปัญหาหนึ่งคือมาตรฐานอุปกรณ์ของจีนไม่ได้อ้างอิงกับใคร โดยเฉพาะระบบตะวันตกที่เป็นระบบที่กองทัพไทยใช้เป็นหลัก ชิ้นส่วนบางส่วนที่ผลิตที่อื่นแม้อาจจะดูใช้ได้ แต่ถ้าไม่ได้รับการรับรองว่าเป็นไปตามมาตรฐานของจีน กองทัพก็อาจไม่กล้าสั่งซื้อมาใช้งาน
ดังนั้นถ้า VN-1 หรือแม้แต่อาวุธจีนในภาพรวมจะมีปัญหาด้านการส่งกำลังบำรุงก็ไม่แปลก เพราะสายการส่งกำลังบำรุงและมาตรฐานต่าง ๆ นั้นแตกต่างและมีลักษณะเฉพาะมากเกินไป
-----------------------
จริง ๆ ปัญหาของความพร้อมรบของยานเกราะกองทัพบกนั้น เมื่อถอยกลับมาดูจะพบว่าเป็นปัญหาของการจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพ ซึ่งขาดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ไม่มีการวางมาตรฐานการจัดหาให้เป็นภาพรวม ทำให้การจัดซื้อมีความหลากหลาย อย่างที่เราดูจะพบว่าเรามียานเกราะทั้งจากสหรัฐอเมริกา ยูเครน และจีน ซึ่งสายส่งกำลังบำรุงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง มาตรฐานต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน ทำให้การส่งกำลังบำรุงซับซ้อนและที่สำคัญคือแพงมาก
ซึ่งปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นกับกองทัพเรือเช่นกัน ดังนั้นถ้าตราบใดกองทัพยังไม่มีการวางยุทธศาสตร์ในการจัดหา แต่ปล่อยให้ระบบบริษัทนายหน้าและผู้บังคับบัญชาที่เลี้ยงดูกันมาและขึ้นมาอยู่ในตำแหน่ง และผู้กำหนดและชี้เป็นชี้ตายการจัดหาตามใจชอบ ก็จะมีปัญหาอยู่แบบนี้ต่อไป และจะหนักขึ้นเรื่อย ๆ จนกองทัพไม่สามารถดำรงความพร้อมรบได้เลย
ปัญหานี้อาจแก้ได้ด้วยการสร้างมาตรฐานทางทหารหรือ Military Standard ที่จะใช้บังคับกับทั้งประเทศว่าใครจะขายอาวุธให้ไทยต้องเป็นไปตามมาตรฐานนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรดำเนินการมานานแล้วแต่ยังไม่ดำเนินการให้สำเร็จสักที โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศไทยจะผลักดัน Offset ให้เป็นหลัก ยิ่งต้องมีมาตรฐานทางทหารเพื่อป้องกันระบบอาวุธที่เข้ากับกองทัพไทยไม่ได้แต่ใช้ Offset มาเป็นตัวนำ หรือแม้แต่ถ้าไม่มี Offset ก็ยังควรต้องมี เพราะที่ผ่านมาก็ชัดเจนแล้วว่าเมื่อไม่มี Military Standard ใช้แต่ระบบ กมย.เหล่าทัพที่ใช้วิจารณญาณมากกว่าหลักการ กองทัพไทยก็จะพบกับปัญหาการส่งกำลังบำรุงที่จะเลวร้ายลงเรื่อย ๆ อย่างแน่นอน
พูดง่าย ๆ คือการจัดหาของกองทัพไทยก็ยังมั่วอยู่แบบนี้เช่นเดิม .....
.....
Atukkit Sawangsuk
15 hours ago
·
ยานเกราะ 3 ประเทศ 3 ยี่ห้อ ใครขึ้นมาเป็น ผบ.ก็ซื้อตามอำเภอใจ ตามการล็อบบี้ของนายหน้า
แล้วจะรบกับใคร เก่งแต่กับประชาชน