วันพุธ, มิถุนายน 12, 2567

ตลาดแห่งนี้ "เป็นความอัปยศของกรุงเทพมหานคร" ไฟไหม้ตลาดขายสัตว์ในจตุจักร เจ้าของร้านงูสวยงามเผยสูญเงินนับ 2 ล้าน



ไฟไหม้ตลาดขายสัตว์ในจตุจักร เจ้าของร้านงูสวยงามเผยสูญเงินนับ 2 ล้าน

11 มิถุนายน 2024
บีบีซีไทย

เหตุไฟไหม้ที่ตลาดศรีสมรัตน์ ตลาดขายสัตว์ภายในพื้นที่ของตลาดนัดจตุจักรชื่อดังของกรุงเทพมหานคร สร้างความเสียหายให้กับร้านค้าขายสัตว์ 118 คูหา และคาดว่ามีสัตว์ตายกว่า 1,000 ตัว เบื้องต้นสันนิษฐานว่า สาเหตุมาจากไฟฟ้าลัดวงจร

ปลาสวยงาม นก สุนัข แมว ไก่ งูสวยงาม และสัตว์แปลกนำเข้าจากต่างประเทศชนิดอื่น ๆ คือ สัตว์ที่ตายจากเหตุไฟไหม้ตลาดค้าสัตว์เลี้ยงในตลาดจตุจักร เมื่อช่วงเช้ามืดที่ผ่าน โดยการรายงานของสื่อไทยหลายสำนักระบุว่า อาจถึงหลักพันตัว

สำนักงานเขตจตุจักร เปิดเผยว่า เหตุไฟไหม้เกิดที่โซนจำหน่ายปลากัดและสัตว์เลี้ยง เมื่อเวลาประมาณ 4.10 น. และเจ้าหน้าที่ดับเพลิงจากหลายเขตเข้าควบคุมเพิลงไฟไหม้ โดยเพลิงสงบในเวลา 4.38 น.

หน่วยงานของ กทม. ระบุว่า โครงการตลาดศรีสมรัตน์ที่ตั้งอยู่ด้านหลังห้างเจเจมอลล์ ใกล้กับโครงการมิกซ์ ถนนกำแพงเพชร 3 เป็นพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีร้านค้า 118 คูหา พื้นที่รวม 1,400 ตารางเมตร จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบร้านค้าและพื้นที่ได้รับความเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้ 1,300 ตารางเมตร

เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างตรวจสอบรายละเอียด เบื้องต้นสันนิษฐานว่า เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร

จากการบอกเล่าของคนคนที่เห็นเหตุการณ์คนหนึ่ง ซึ่งอยู่ในร้านตรงข้ามร้านต้นเพลิงและรอดจากถูกไฟไหม้ กล่าวว่า เพลิงเริ่มมาจากร้านหัวมุมถนนที่เคยขายนก แต่ปัจจุบันหันมาขายสุนัขพันธุ์เล็ก ร้านดังกล่าวเจ้าของร้านเลี้ยงขายเองไม่มีลูกจ้าง ตอนกลางคืนจะเกิดพัดลมทิ้งไว้ให้สุนัขในร้านทั้งคืนจึงคาดว่าอาจเกิดไฟฟ้าลัดวงจร จนเป็นเหตุให้เกิดไฟไหม้ดังกล่าว



เจ้าของร้านงูสวยงาม เผยงูถูกไฟไหม้ตายเกือบหมด สูญนับ 2 ล้าน

ณัฏฐณิชา กาญจนกิจเจริญ เจ้าของร้านคนบ้างู ซึ่งขายงูพันธุ์สวยงามในโครงการดังกล่าว เปิดเผยว่า รู้ข่าวไฟไหม้เมื่อเวลาเกือบ 5.00 น. จึงรีบเดินทางมาที่ร้าน ซึ่งพบว่าเจ้าหน้าที่ดับเพลิงได้เข้าระงับเพลิงไหม้ที่ด้านในแล้ว แต่ผลจากไฟไหม้ทำให้งูพันธุ์สวยงามของร้านตายเกือบทั้งหมด เหลือรอดมาแค่ 10 ตัว คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมประมาณ 2 ล้านบาท เนื่องจากงูบอลไพธอนหรืองูหลามบอล มีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ตัวละ 2,000 บาท ไปจนถึงหลักแสน นอกจากนี้ยังมีงูที่ทางร้านเลี้ยงไว้แต่ไม่ได้ขายตายจากการถูกไฟไหม้ด้วย

ณัฏฐณิชา กล่าวว่า ร้านของเธอย้ายมาอยู่โครงการนี้เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้ขายอยู่ในตลาดสัตว์เลี้ยงอีกโซนหนึ่งของจตุจักร และงูที่ขายในร้านเป็นจุดที่บรีดเดอร์งูบอลไพธอนหรือผู้เพาะพันธุ์งู ส่งงูสวยงามมาโชว์และขายที่นี่ ซึ่งส่วนใหญ่มีราคาสูง

เจ้าของร้านคนบ้างู ระบุว่า หลังจากนี้ จะประสานกับทางเจ้าหน้าที่ในเรื่องของประกันว่า ทางร้านสามารถเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนใดได้บ้าง



6 ปีที่ผ่านมา เกิดเหตุไฟไหม้ที่จตุจักรแล้วอย่างน้อย 3 ครั้ง

บีบีซีประมวลข้อมูลที่ปรากฏในสื่อมวลชนตลอดช่วง 6 ปีที่ผ่านมา พบว่า ที่ตลาดนัดจตุจักร ซึ่งถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของกรุงเทพมหานครสำหรับทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ได้เกิดเหตุไฟไหม้อย่างน้อย 3 ครั้ง รวมทั้ง เหตุร้ายครั้งล่าสุด ดังนี้
  • มิ.ย. 2562: เกิดเพลิงไหม้ที่โซนขายเสื้อผ้าโครงการ 25 ซอย 3/2 เพลิงลุกไหม้เสียหายทั้งหมด 120 ห้อง พื้นที่เพลิงไหม้เสียหายโดยประมาณ 1,000 ตารางเมตร ไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต
  • พ.ย. 2564: เกิดไฟไหม้ที่โครงการ 11 จุดที่เพลิงเริ่มไหม้มาจากร้านขายเฟอร์นิเจอร์ที่เชื่อมต่อกันหลายห้อง เพลิงลุกลามขยายวงไปถึง 10 ห้อง รวมพื้นที่ 50 ตารางเมตร ก่อนที่จะควบคุมเพลิงได้ ผู้อำนวยการตลาดนักจตุจักร ยอมรับว่าสายไฟที่ใช้ตลาดเป็นสายไฟเก่า และมีการติดตั้งแอร์แต่กำลังไฟของตลาดมีแอมป์น้อย จึงอาจทำให้เกินกำลังไฟไปได้
  • มิ.ย. 2567: เกิดเหตุไฟไหม้ที่โครงการตลาดศรีสมรัตน์ มีร้านค้า 118 คูหา พื้นที่รวม 1,400 ตารางเมตร จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบร้านค้าและพื้นที่ได้รับความเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้ 1,300 ตารางเมตร


สำหรับตลาดศรีสมรัตน์ เป็นตลาดที่จำหน่ายสัตว์เลี้ยงหลากหลายชนิด โดยเมื่อปี 2565 สำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เคยลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า มีร้านค้าที่ขายสัตว์ป่าต่างประเทศเป็นจำนวนมาก แต่ในปัจจุบันการค้าสัตว์ป่าต่างประเทศ ไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ 2562

สำหรับสัตว์ป่าที่นำเข้าจากต่างประเทศที่พบได้แก่ หนูแกสบี้ เมียแคท ชูก้าไรเดอร์ คาบีบาร่า นกแอฟริกันเกรย์ ลิงมาโมเสท แรคคูน นกแก้วตระกูลคอนัวร์ นกแก้วมาคอร์ นกตระกูลแอมมะชอน และกระต่าย เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีร้านค้าที่จำหน่ายสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทนก อย่างเช่น นกปรอดหัวโขน แต่พบว่านกดังกล่าวได้ซื้อมาจากฟาร์มที่ได้รับอนุญาตที่ถูกต้องจากกรมอุทยานฯ

ชุดปฏิบัติการปราบปรามการกระทำความผิดด้านสัตว์ป่าและพืชป่า (ชุดเหยี่ยวดง) เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า โดยปกติจะมีการตรวจร้านจำหน่ายสัตว์เหล่านี้เดือนละ 1-2 ครั้ง เพื่อตรวจสอบว่ามีการลักลอบค้าสัตว์ป่าคุ้มครองหรือไม่

เปิดจุดอ่อนของสถานที่แบบตลาดนัด จุดไหนเสี่ยงไฟไหม้มากที่สุด

น.ส.บุษกร แสนสุข ประธานคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมป้องกันอัคคีภัย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) และเลขาธิการ วสท. กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ในภาพรวมตลาดนัดในไทยที่มีลักษณะคล้ายกับตลาดจตุจักร ไม่ได้มีการแบ่งโซนนิ่งที่ได้มาตรฐาน และระบบไฟฟ้า การเดินสายไฟต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับผู้ค้าแต่ละร้านที่ทำไปตามสภาพของตัวเองเท่านั้น เหล่านี้คือสิ่งที่น่าเป็นห่วงว่าอาจนำมาซึ่งเหตุอัคคีภัย

"ลักษณะการก่อสร้างที่เป็นเพิงต่อ ๆ กันไป ส่วนใหญ่เป็นการสร้างแบบนี้ ส่วนการเดินสายไฟ อุปกรณ์ไฟฟ้า อาจไม่ได้มีการติดตั้งอย่างถูกต้องตามมาตรฐาน ทั้งการเดินท่อร้อยสาย คัทเอาต์ เบรกเกอร์ ที่ได้มาตรฐานทุกร้าน"

น.ส.บุษกร กล่าวด้วยว่า จากที่เคยตรวจสอบตลาดนัดลักษณะนี้ มักพบการต่อปลั๊กพ่วงกระจายไปในร้านอีกหลายจุด ซึ่งนี่คือจุดอ่อนที่ทำให้เกิดไฟไหม้หากใช้อุปกรณ์ที่ไม่ได้มีมาตรฐาน เพราะอุปกรณ์ที่มีมาตรฐาน หากมีการใช้กระแสไฟเกินอุปกรณ์จะตัดไฟทันที



ความเสี่ยงของร้านค้าที่จำหน่ายสัตว์ยังมีสูงกว่าตลาดรูปแบบอื่น

ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบวิศวกรรมป้องกันอัคคีภัยจาก วสท. บอกด้วยว่า ความเสี่ยงของร้านค้าที่จำหน่ายสัตว์ยังมีสูงกว่าตลาดรูปแบบอื่น ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า ร้านขายสัตว์ มีการใช้งานทั้งวันทั้งคืน จากการต้องเปิดออกซิเจน เปิดพัดลมไว้ให้กับสัตว์ในร้าน ดังนั้น อุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ จะมีการใช้งานหนักมาก ระบบไฟฟ้าจึงต้องติดตั้งให้ถูกต้องและมีระบบการตัดไฟด้วย

"โซนสัตว์เลี้ยง ระบบไฟฟ้ามันจะถูกใช้งานหนักมากและใช้ตลอดเวลา 24 ชม. การจัดการจึงต้องเร่งสำรวจระบบไฟฟ้า และให้ความรู้กับทุกร้านในเรื่องการตรวจสอบไม่ให้ใช้ไฟเกินพิกัด" น.ส.บุษกร กล่าว

"บางคนไม่รู้ว่าปลั๊กต่อพ่วงจะต้องดูยังไงให้กระแสไฟไม่เกิน เช่น รู้ไหมว่ากระติกน้ำร้อนใช้ไฟกี่วัตต์ ถ้าเสียบเกินปุ๊ป จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเสียบแล้วอุปกรณ์ไม่ตัดมันก็อยู่ในความเสี่ยง"

ส่วนลักษณะของสถานที่ในกรณีเหตุไฟไหม้จตุจักร สังเกตได้ว่าเพลิงลุกลามไปเยอะ และต้องใช้เวลานานในการเข้าถึงจุดกึ่งกลางของตลาด เหตุเป็นเพราะว่าโครงสร้างของตัวตลาดติดกัน และร้านค้าอาจมีสิ่งของจำนวนมากกีดขวาง ทำให้การดับเพลิงไม่สามารถเข้าถึงจุดเกิดเหตุได้รวดเร็ว



คำแนะนำป้องกันไฟไหม้

คำแนะนำจากเลขาธิการ วสท. ต่อการปิดความเสี่ยงอัคคีภัยในตลาดนัด ได้แก่
  • การก่อสร้างควรมีการเว้นหรือเบรกหลังคาไม่ให้แต่ละร้านติดกัน เพื่อป้องกันไฟลุกลาม และให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงเข้าถึงได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ควรจัดให้เส้นทางเดินส่วนกลางต้องกว้างอย่างน้อย 1 เมตร
  • จุดซัพพลายน้ำดับเพลิงหรือหัวประปาแดง ตลาดต้องคำนึงถึงแหล่งซัพพลายน้ำ ต้องขอหัวประปาแดงมาประจำตามจุด เพราะ เมื่อใดที่วัสดุที่เก็บไว้มีปริมาณมากจนเกินพิกัด (Fire load) เช่น โซนขายสัตว์เลี้ยงจะมีสิ่งของประเภทพลาสติก ถังออกซิเจน หรือสิ่งของที่เสี่ยงต่อการติดไฟ เชื้อเพลิงลักษณะนี้ การดับไฟต้องใช้น้ำเยอะและดับต่อเนื่อง หากน้ำจากรถดับเพลิงหมดก็จะลำบาก การมีหัวประปาจะทำให้ดับเพลิงทำได้ดีขึ้น
  • เจ้าของพื้นที่หรือตลาด ควรเริ่มลงทุนเดินระบบไฟฟ้าใหม่ จัดถังดับเพลิงติดตั้งทุกร้านหรือทุก ๆ 45 เมตร
  • เจ้าของพื้นที่ควรจัดทีมฉุกเฉินดูแล 24 ชั่วโมง เพื่อจัดการเหตุเบื้องต้น ก่อนที่ทีมระงับเหตุหรือดับเพลิงจากภายนอกจะเข้าถึงพื้นที่ เนื่องจาก "3 นาที มันก็ไหม้ไปเยอะ ทีมภายนอกเข้าได้เร็วที่สุดที่ตั้งเป้าคือ 8 นาที แต่มันก็ช้าไปสำหรับการจัดการเหตุลักษณะแบบนี้"
"ถ้ามองกลับกัน หากเหตุเกิดตอนกลางวันก็น่ากลัว ไม่รู้จะหนีทางไหน เพราะไม่มีป้ายบอกทางหนีไฟ" เลขาธิการ วสท. กล่าวถึงประสบการณ์การเดินตลาดจตุจักรในอดีต

ตลาดแห่งนี้ "เป็นความอัปยศของกรุงเทพมหานคร"

นายเอ็ดวิน วีก ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า บอกกับบีบีซีไทยว่า เหตุการณ์ไฟไหม้ในครั้งนี้เป็นเรื่องน่าเศร้า และสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของสวัสดิภาพสัตว์จำนวนมากที่ถูกเลี้ยงไว้ในห้องเช่าขนาดประมาณ 12-20 ตารางเมตร กลางกรุงเทพฯ ซึ่งไม่ใช่สภาพที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกับสัตว์ เนื่องจากพวกมันมีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศร้อนและอากาศถ่ายเทไม่สะดวก

"เป็นสถานที่เก็บสัตว์ที่เล็กมาก แออัด ไม่มีสวัสดิภาพอะไรเลย มันเป็นความทารุณทรมานของสัตว์" โดยนายเอ็ดวินบอกว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สัตว์ในกรงตกอยู่ในความเสี่ยงเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยเกิดเหตุไฟฟ้าลัดวงจรที่สวนสัตว์พาต้าเมื่อปี 2563 มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ไม่มีสัตว์ตัวใดได้รับบาดเจ็บหรือตาย

ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่ากล่าวต่อว่า ถึงแม้การซื้อขาย นำเข้า ส่งออก สัตว์ต่าง ๆ ในตลาดแห่งนี้อาจทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่การประกอบกิจการก็ควรคำนึงถึงสวัสดิภาพของสัตว์มากกว่าที่เคยเป็นมา โดยเขาเห็นผู้ประกอบการต่าง ๆ ไม่ควรเก็บสัตว์ต่าง ๆ ไว้ในร้าน โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืนที่ไม่มีผู้ดูแล

"กรมอุทยานแห่งชาติฯ กรมปศุสัตว์ และ กรุงเทพมหานคร ควรเข้ามาจัดระเบียบหลังจากนี้ ว่าจะทำอย่างไรให้สวัสดิภาพสัตว์ดีมากขึ้น พวกเขาไม่สมควรแออัดกันอยู่ในกรงหรือห้องเล็ก ๆ เช่นนั้น" นายเอ็ดวิน กล่าว

ในแถลงการณ์ของมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่าที่เผยแพร่วันนี้ (11 มิ.ย.) นายเอ็ดวินยังระบุด้วยว่าตลาดแห่งนี้ "เป็นความอัปยศของกรุงเทพมหานคร สถานที่แห่งนี้ได้รับอนุญาตให้ขายสัตว์อย่างไม่มีจรรยาบรรณและมักจะผิดกฎหมายมานานเกินไป"

เขาจึงต้องการเรียกร้องให้กรุงเทพมหานครไม่อนุญาตให้มีการขายสัตว์ต่าง ๆ เช่นนี้ต่อไปอีก โดยเฉพาะสัตว์ป่า เนื่องจากพบว่าส่วนใหญ่ถูกลักลอบเข้ามาในไทยอย่างผิดกฎหมายด้วย

https://www.bbc.com/thai/articles/cxxxlzyl0keo