วันอังคาร, มิถุนายน 18, 2567

เปิดข้อต่อสู้คดี 112 ของทักษิณ ก่อนอัยการนัดส่งตัวฟ้องศาล 18 มิ.ย.


17 มิถุนายน 2024
บีบีซีไทย

อัยการสูงสุด (อสส.) นัดส่งตัวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยื่นฟ้องต่อศาลในคดีมาตรา 112 หลังจาก อสส. มีคำสั่งฟ้อง แต่เลื่อนนัดส่งตัวฟ้องมาจากปลายเดือน พ.ค. เนื่องจากนายทักษิณอ้างว่าติดโควิด

นายทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้ปรากฏตัวที่สำนักงาน อสส. เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ตามนัดหมายของสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 ที่ให้ไปรับฟังคำสั่งคดี แต่นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงาน อสส. ยังเดินหน้าอ่านคำสั่ง อสส. ตามกำหนดเดิม

อสส. ได้สั่งฟ้องนายทักษิณ ฐานร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 มาตรา 112 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

การสั่งฟ้องในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาจากกรณีที่นายทักษิณ ให้สัมภาษณ์สื่อที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อปี 2558

คดี 112 ของนายทักษิณ ประสบกับเหตุ “เลื่อน” จากทั้งฝ่ายอัยการ และนายทักษิณ ฝ่ายละหนึ่งครั้ง การต่อสู้คดีของนายทักษิณ ยังรวมถึงการยื่นขอความเป็นธรรมอย่างน้อย 1 ครั้งในเดือน ม.ค. ด้วย

ส่วนการยื่นขอความเป็นธรรมครั้งที่สองที่มีรายงานข่าวในช่วงสามสัปดาห์ที่ผ่านมา มติชนออนไลน์และกรุงเทพธุรกิจ รายงานตรงกันว่า นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ ระบุว่า “ไม่มี” พร้อมยืนยันว่านายทักษิณ จะเดินทางเข้ารายงานตัวต่ออัยการในวันพรุ่งนี้ (18 มิ.ย.)


คดีนี้เริ่มต้นเมื่อปี 2558 โดย พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการทหารบก (ทบ.) ซึ่งมีอีกหมวกหนึ่งคือ เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มอบหมายให้ พล.ต.ศรายุทธ กลิ่นมาหอม ผู้อำนวยการสำนักพระธรรมนูญ กองทัพบก เป็นโจทย์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ (ยศในขณะนั้น) จากกรณีให้สัมภาษณ์สื่อเกาหลีใต้ในปีเดียวกัน

บีบีซีไทยประมวลความเคลื่อนไหว ตลอดจนข้อเหมือน-ข้อต่าง จากคดี 112 ในกรณีอื่น ๆ

ข้อต่อสู้ของทักษิณ หลังอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้อง

หลังจากการเลื่อนนัดอัยการในวันที่ 29 พ.ค. ปรากฏความเคลื่อนไหวในทางคดี ได้แก่ กระแสข่าวการยื่นขอความเป็นธรรมครั้งที่ 2 ของนายทักษิณ และการให้สัมภาษณ์ของนายทักษิณ

หลังจากเลื่อนนัดอัยการเพราะติดโควิด นายทักษิณ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ขณะเดินทางไปเป็นประธานงานอุปสมบทของบุตรชายนายกเทศมนตรีตำบลธัญบุรี จ.ปทุมธานี โดยยืนยันว่าวันที่ 18 มิ.ย. จะเดินทางไปพบพนักงานอัยการแน่นอน เพราะไม่มีเหตุอะไรให้ต้องเลื่อน หลังเลื่อนมาสองครั้ง โดยครั้งแรกเป็นฝ่ายอัยการเลื่อนเอง และครั้งที่สองที่เขาติดโควิด

เขากล่าวถึงคดี 112 ด้วยว่า "ไม่เห็นมีอะไรเลย" และมองว่า “คดีนี้จะเป็นตัวอย่างให้คนเห็นว่า ตอนปฏิวัติมียัดข้อหาอย่างไร เพราะคดีนี้ไม่มีมูลแม้แต่นิดเดียว แต่พยายามตีความเพื่อให้มีมูล แล้วพอคนหนึ่งสั่งฟ้อง คนอื่นก็ไม่กล้าสั่งไม่ฟ้อง ก็เลยสั่งฟ้อง ๆ ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่หลักกฎหมาย”

นายทักษิณ ย้ำด้วยว่า “อันนี้เรียกว่าผลไม้ที่เกิดจากต้นไม้ที่เป็นพิษ คือ การทำคดีตั้งแต่ต้น ก็มีการข่มขู่พนักงานสอบสวน โดยผู้บังคับบัญชา... คดีมันไม่ควรจะเป็นคดี"


นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนายทักษิณ ชินวัตร เดินทางเข้าพบอัยการเพื่อขอเลื่อนฟังคำสั่ง อสส. เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2567

ทันทีที่ความเคลื่อนไหวเรื่องการยื่นขอความเป็นธรรมปรากฏออกมา พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ก็ออกมาตอบคำถามสื่อเรื่องนี้ว่า "เป็นสิทธิที่สามารถทำได้" พร้อมระบุว่า "กระบวนการยุติธรรมทางอาญาจะเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายสามารถยื่นขอความเป็นธรรมได้ตลอด ไม่มีข้อห้ามในขั้นตอนใด ๆ และอำนาจในการพิจารณาก็เป็นของ อสส."

ก่อนหน้านี้ นายทักษิณ ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมมาแล้วครั้งหนึ่งในเดือน ม.ค. ในวันที่อัยการเข้าไปแจ้งข้อหาระหว่างที่เขานอนอยู่ที่ชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจ

เมื่อ 29 พ.ค. ทนายความอดีตนายกฯ กล่าวด้วยว่า นายทักษิณพร้อมต่อสู้คัดค้านว่าคำสั่งฟ้องของ อสส. ในคดีมาตรา 112 ไม่ชอบและไม่มีเหตุผลเพียงพอ

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต่อสู้ขอความยุติธรรม เช่น คลิปวิดีโอที่ใช้กล่าวหา เห็นว่าไม่ใช่คลิปต้นฉบับที่นายทักษิณให้สัมภาษณ์ในวันนั้น และมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าเป็นการตัดต่อ นี่คือพยานหลักฐานที่นำมากล่าวหา ถ้าอัยการตอบคำถามนี้ต่อศาลไม่ได้ ก็จะต้องรับผิดชอบ และขอถามไปยังทหารจากกองทัพบกที่เป็นคนมาแจ้งความว่าจะรับผิดชอบต่อหลักฐานที่เป็นเท็จอย่างไร

คดี 112 ของทักษิณ แตกต่างจากคดีบุคคลทั่วไปหรือไม่

แล้วกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับคดี 112 ของนายทักษิณ มีความแตกต่างจากคดีที่ประชาชนหรือผู้ชุมนุมตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาหรือไม่ ตั้งแต่ขั้นของการฟ้องไปจนถึงชั้นศาล

สำหรับในชั้นอัยการ พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวกับบีบีซีไทยว่า การเลื่อนนัดเป็นปกติในหลาย ๆ คดี เพราะโดยกระบวนการยุติธรรมไทยค่อนข้างใช้เวลากว่าอัยการจะมีความเห็น ดังนั้น จึงอาจมีการเลื่อน 2-3 ครั้ง หรือหลายครั้ง เช่น คดีการชุมนุมที่มีผู้ถูกกล่าวหาหลายคน การเลื่อนนัดกว่าจะฟ้องไม่ได้แปลกแต่อย่างใด

แต่สิ่งที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นในคดีอื่น ๆ คือ การที่อัยการออกมาแถลงต่อสาธารณะว่าจะสั่งฟ้อง หรือแม้แต่อัยการมีความเห็นจะสั่งฟ้องแล้ว ยังมีการยื่นขอความเป็นธรรมอีก ถือเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยเกิดขึ้น แต่ทั้งนี้ในกรณีนี้ "เป็นลักษณะของคดีที่มีความเกี่ยวข้องทางการเมืองอยู่สูง และคดี 112 ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง"

อย่างไรก็ตาม ทนายสิทธิฯ ยืนยันว่า ผู้ถูกดำเนินคดีการเมืองและผู้ต้องขังทางการเมืองทุกคน ควรได้รับสิทธิการประกันตัวเหมือนกัน รวมทั้งกรณีของนายทักษิณที่อัยการจะส่งตัวฟ้องในวันที่ 18 มิ.ย. ด้วย


ทนายสิทธิฯ ชี้ว่า หนึ่งในปัญหาของคดี 112 คือการที่อัยการสั่งฟ้องต่อการกระทำที่ไม่ได้ระบุถึงพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

สถิติของคดีมาตรา 112 ตามการรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 จนถึงวันที่ 31 พ.ค. 2567 มีผู้ถูกกล่าวหาในคดี 112 อย่างน้อย 272 คน ในจำนวน 303 คดี จากคดีทางการเมืองทั้งสิ้น 1,296 คดี

ศูนย์ทนายฯ รายงานว่า ในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ศาลพิพากษาไปกว่า 10 คดี เป็นศาลชั้นต้น 8 คดี และศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ศาลละ 1 คดี

การประกันตัวในชั้นอัยการและศาลชั้นต้น

ทนายพูนสุขยังให้ข้อมูลด้วยว่า ที่ผ่านมา คดี 112 ในชั้นอัยการส่วนใหญ่จะได้รับการประกันตัว จะมีเพียงบางคดี เช่น คดีของ "วุฒิ" ผู้ถูกกล่าวหา ม. 112 จากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ไม่ได้รับการประกันตัวตั้งแต่ขั้นที่อัยการส่งตัวฟ้องต่อศาลและถูกขังก่อนมีคำพิพากษานานถึง 11 เดือน ขณะที่คดีในศาลชั้นต้น ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการประกันตัว

"หลักการของศาลชั้นต้นเป็นขั้นที่คดียังไม่ถึงที่สุด จึงควรได้รับการประกันตัว หลายคนที่อยู่ในเรือนจำตอนนี้ ยังเป็นการต่อสู้ระหว่างพิจารณา" พูนสุขกล่าว พร้อมระบุชื่อผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่ได้รับการประกันตัว เช่น อานนท์ นำภา, สิรภพ นักศึกษาปริญญาโท หรือเก็ท โสภณ นักกิจกรรมกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ

ทนายความสิทธิมนุษยชน ระบุด้วยว่า แนวโน้มสิทธิการประกันตัวยังไม่ดีนัก เพราะหลังจากการเสียชีวิตของ "บุ้ง" เนติพร เสน่ห์สังคม นักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง ในเรือนจำ แม้ "ส่งผลเล็กน้อย" ต่อการได้รับการประกันตัวของ น.ส.ตะวัน ตัวตุลานนท์ และนายณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร แต่สิทธิการประกันตัวควรเป็นสิทธิพื้นฐานของทุกคนตั้งแต่ต้น

"กรณีของ 'แอมมี่ ปูน' (ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก และให้ประกันตัวเมื่อเดือน พ.ค.) ไม่แน่ใจว่าเป็นผลจากกรณีบุ้งเสียชีวิตหรือไม่ แต่มันไม่ควรต้องอาศัยเอฟเฟกต์ใด ๆ ในเรื่องนี้ เพราะถึงที่สุดแล้วคดีที่ยังไม่ถึงที่สุดควรได้รับการประกัน"

คดี 112 จากการแจ้งข้อหาของ คสช.

คดีความของนายทักษิณ เกิดในยุคของ คสช. ที่ทหารเป็นผู้ฟ้องร้อง

ในช่วงดังกล่าวมีประชาชนหลายรายที่ถูกดำเนินคดีเช่นกัน ทนายพูนสุขกล่าวว่า ในช่วงของ คสช. มีการใช้ศาลทหารในการพิจารณาคดี ต่อมาถูกย้ายมายังศาลยุติธรรม กรณีที่รุนแรงที่สุดคือ คดีของ "อัญชัญ" อดีตข้าราชการระดับสูง ที่ถูกตั้งข้อหาในปี 2558 ก่อนถูกศาลตัดสินจำคุกรวม 29 ปี 174 เดือน (หรือราว 43 ปี 6 เดือน)

นอกจากนี้ ยังมีคดีฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวของ คสช. ก่อนถูกดำเนินคดี 112 อีกข้อหา เช่นกรณีของ "สิรภพ" ผู้ใช้นามปากกา Rungsila เขียนบทความและกวีเกี่ยวกับการเมืองเผยแพร่บนเว็บไซต์และเฟซบุ๊กส่วนตัว

"หลายคนในช่วงนั้นเลือกลี้ภัยออกนอกประเทศ ถูกอุ้มหาย หรือเสียชีวิตรวม 9 คน ซึ่งมีความเคลื่อนไหวเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ" ทนายพูนสุข กล่าว

จากการเก็บข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า มีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ในช่วง คสช. อยู่ในอำนาจ อย่างน้อย 169 คน

ใครเป็นผู้ยื่นฟ้องและไทม์ไลน์คดี

เรื่องนี้ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2558 ภายหลังการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 เป็นเวลาหนึ่งปี

26 พ.ค. 2558 พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งมีอีกหมวกหนึ่งคือ เลขาธิการ คสช. ได้มอบหมายให้ พล.ต.ศรายุทธ กลิ่นมาหอม ผู้อำนวยการสำนักพระธรรมนูญ กองทัพบก เป็นโจทย์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศในขณะนั้น) อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ศาลอาญา ในคดีดำเลขที่ 1824/2558 ฐานความผิดหมิ่นประมาทและหมิ่นสถาบันฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, มาตรา 326 และมาตรา 328 ซึ่งเป็นฐานความผิดหมิ่นประมาท หลังจากนายทักษิณได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อต่างประเทศและกล่าวปาฐกถาที่ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งฝ่ายความมั่นคงเห็นว่ามีเนื้อหากระทบต่อความมั่นคงและเกียรติภูมิของไทย

19 ก.ย. 2559 ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อสส. (ในขณะนั้น) "มีความเห็นควรสั่งฟ้อง" นายทักษิณ แต่นายทักษิณ ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาหลบหนีอยู่ที่ต่างประเทศ จึงมีการออกหมายจับภายในอายุความ 15 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดในปี 2573

22 ส.ค. 2566 นายทักษิณเดินทางกลับประเทศไทย เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยเขาได้รับพระราชทานอภัยลดโทษตามที่ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขึ้นไป เหลือโทษจำคุก 1 ปี แต่ไม่ได้นอนเรือนจำแม้แต่คืนเดียว

17 ม.ค. 2567 ในระหว่างนอนอยู่ชั้น 14 ของ รพ.ตำรวจ อธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน และคณะ เข้าแจ้งข้อกล่าวหาและพฤติการณ์และข้อเท็จจริงทางคดีกับนายทักษิณ โดยเจ้าตัวให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อ อสส.

18 ก.พ. 2567 ทักษิณ กลับบ้านจันทร์ส่องหล้า หลังได้รับการพักโทษ แต่ไม่ปรากฏว่ามีการอายัดตัวในคดี 112



19 ก.พ. 2567 พนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) นำตัวนายทักษิณส่งพนักงานอัยการ สำนักงานคดีอาญา อัยการเห็นควรให้ปล่อยตัวชั่วคราวนายทักษิณ โดยวางหลักทรัพย์เป็นสมุดบัญชีธนาคาร 500,000 บาท และไม่ได้กำหนดเงื่อนไขอื่น

โฆษก อสส. ชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นการอายัดตัวว่า หลังกรมราชทัณฑ์ปล่อยตัว ได้มีพนักงานสอบสวนเข้าไปอายัด-รับตัวตามปกติ ซึ่งตามปกติต้องส่งตัวไปที่พนักงานอัยการ แต่ด้วยเป็นวันหยุด “ทางพนักงานสอบสวนก็ให้ปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวน โดยให้สาบานตนและให้ประกันตัวไปโดยไม่มีหลักประกัน"

10 เม.ย. 2567 อสส. เลื่อนนัดฟังคำสั่งคดี 112 ของนายทักษิณ ชินวัตร เป็นวันที่ 29 พ.ค.

29 พ.ค. 2567 อสส. สั่งฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดี 112 โดยเลื่อนนัดส่งตัวฟ้องต่อศาลเป็น 18 มิ.ย. หลังเจ้าตัวแจ้งติดโควิด-19

18 มิ.ย. 2567 อัยการนัดส่งตัวฟ้องต่อศาล

https://www.bbc.com/thai/articles/ckmm75y53r5o