วันพฤหัสบดี, มิถุนายน 13, 2567

ปฐวี โชติอนันต์ 11 ข้อสังเกตต่อการเลือกตั้ง สว. เงียบเหงา สับสน ประชาชนไม่มีส่วนร่วม


มิถุนายน 12, 2024
Isaan Record

การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) รอบแรกจบลงไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2567 หลังจากนี้จะเป็นการเข้าสู่การเลือกตั้งรอบที่ 2 ในระดับจังหวัด และการเลือกตั้งรอบที่ 3 ในระดับประเทศต่อไป เพื่อที่คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถประกาศผลการเลือกตั้งได้ทันในเดือนกรกฎกาคม 2567 ผู้เขียนขอแสดงความยินกับผู้สมัคร สว. ทุกท่านที่ผ่านรอบอำเภอไปสู่รอบจังหวัด และแสดงความเสียใจสำหรับผู้ไม่ได้ผ่านเข้ารอบด้วย อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้ง สว. ของประเทศไทยในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการเลือกตั้งที่ซับซ้อนและลดการมีส่วนร่วมของประชาชนที่สุดแห่งหนึ่งของโลกที่เคยมีการจัดการเลือกตั้งมา เพราะผู้สมัครลงสมัคร สว. ได้นั้นต้องมีอายุ 40 ปีขึ้นไป และต้องเสียเงิน 2,500 บาท เพื่อมาเลือกกันเองภายในกลุ่มอาชีพ และเลือกไขว้กลุ่มอาชีพกันจนได้ตัวแทนกลุ่มอาชีพละ 10 คน รวมเป็น 200 คน จากที่กล่าวมาผู้เขียนได้มีการตั้งข้อสังเกตการเลือกตั้ง สว. รอบแรกที่เพิ่งผ่านพ้นไปดังต่อไปนี้

ข้อสังเกตที่ 1 ระบบการเลือกตั้ง สว. ในครั้งนี้ถูกออกแบบมาให้ดูสับสน เข้าใจได้ยาก และลดทอนการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังที่กล่าวไปผู้สมัคร สว. แต่ละกลุ่มอาชีพต้องมาเลือกกันเองภายในกลุ่ม และเลือกไขว้กลุ่มกันตั้งแต่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัดและระดับประเทศจนได้ผู้แทนทั้งหมด 200 คน จาก 20 กลุ่มอาชีพนั้น การออกแบบระบบการเลือกตั้งแบบนี้ทำให้สังคมมองว่าระบบการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก มีหลายขั้นตอนจนสับสนกว่าจะได้ผู้แทนมา มากกว่านั้น ก่อนที่จะถึงการเลือกตั้ง กฎระเบียบการเลือกตั้งจำกัดสิทธิผู้สมัครอย่างมากโดยเฉพาะการแนะนำตัวของผู้สมัคร นำมาสู่การฟ้องร้องจากทางภาคประชาชนต่อศาลปกครองให้เพิกถอนกฎระเบียบดังกล่าว ที่สำคัญ สว. ที่ได้รับเลือกมาก็ไม่ได้เป็นตัวแทนของกลุ่มคนส่วนใหญ่ในประเทศ เนื่องจากมีเพียงคนกลุ่มน้อย (ผู้ที่สมัคร สว.) เท่านั้นที่มีสิทธิได้เลือก สว. ในการเลือกตั้งรอบที่ผ่านมานั้นมีผู้สมัครมีสิทธิได้เลือกตั้งเพียง 43,818 ราย จำนวนผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอ รอบแรก จำนวน 32,190 คน และมีผู้ผ่านเข้าสู่การเลือกระดับจังหวัด 23,645 ราย

ข้อสังเกตที่ 2 การเลือกตั้ง สว. ในรอบนี้ ภาคประชาสังคมต้องทำงานกันหนักมากในการประชาสัมพันธ์ในเรื่องของกฎเกณฑ์การเลือกตั้ง และเชิญชวนให้ประชาชนที่มีสิทธิในการลงรับสมัครเลือกตั้ง สว. ออกมาใช้สิทธิของตนเอง ภารกิจดังกล่าวควรเป็นหน้าที่หลักของ กกต. ในการดำเนินประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ประชาชนลงสมัคร หรือให้ความรู้กับประชาชนในการเลือกตั้งครั้งนี้ มากกว่าที่จะปล่อยให้ภาคประชาชนต้องช่วยกันรณรงค์ ผิดกับหลักการในการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยที่ผู้จัดการเลือกตั้งต้องเป็นผู้นำในการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกตั้งให้ได้มากที่สุด

ข้อสังเกตที่ 3 การทำงานของ กกต. ในช่วงของการเลือกตั้ง สว. ในรอบแรกยังถูกตั้งคำถามถึงมาตรฐานการทำงาน กล่าวคือ บางอำเภอ กกต. สามารถให้ผู้สังเกตการณ์เข้าไปนั่งดูการนับคะแนนในเขตที่มีการจัดพื้นที่ไว้ซึ่งอยู่ข้างในอาคารที่ทำการเลือกตั้งและเห็นกระบวนการเลือก สว. แต่บางเขต กกต. ไม่อนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์เข้าไปดูการนับคะแนนในห้อง มากกว่านั้น ห้องที่ใช้จัดการเลือกตั้งมีการปิดทึบทำให้ผู้สังเกตการณ์ไม่สามารถจะมองเห็นได้ ดังนั้น ผู้สังเกตการณ์ทำได้แค่เพียงนั่งอยู่ด้านนอกและดูผ่านหน้าจอถ่ายทอดเท่านั้น เมื่อผู้สังเกตการณ์ต้องการทราบว่าการเลือกตั้งสว. ถึงขั้นตอนไหนแล้ว ต้องรอให้เจ้าหน้าที่ กกต. เดินออกมาถึงเข้าไปสอบถามและรับทราบได้

ข้อสังเกตที่ 4 ความสนใจของประชาชนในการจับตาดูการเลือกตั้ง สว. มีน้อยมาก บางเขตการเลือกตั้งที่เป็นพื้นที่ในเมือง มีแนวโน้มที่จะมีประชาชนและอาสาสมัครการเลือกตั้งเข้าไปจับตาดูกระบวนการเลือกตั้ง แต่บางเขตการเลือกตั้งที่อยู่ในเขตอำเภอที่ห่างจากตัวเมืองมากๆ มีเพียงญาติพี่น้องของผู้รับสมัครมาเป็นผู้สังเกตการณ์เท่านั้น หรือบางอำเภอแทบไม่มีเลยมีแต่เจ้าหน้าที่ กกต. ปฏิบัติงานเท่านั้น

ข้อสังเกตที่ 5 ในช่วงการรับสมัครเลือกตั้ง สว. มีการตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงวันแรกๆ มีการขนคนมาลงรับสมัครกันเป็นส่วนมาก แต่พอมีนักข่าวเปิดเผยข้อมูลแก่ประชาชน การขนคนมาสมัครเป็นกลุ่มจำนวนมากจึงลดลงเพราะกลัวผิดกฎหมายการเลือกตั้ง นอกจากนี้ มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าผู้มาลงสมัครเลือกตั้งบางท่านยังไม่เข้าใจถึงขั้นตอนการกรอกเอกสาร หรือ การเลือกกลุ่มที่ตนเองสมัคร แต่จะมีคนที่พาพวกเขามาด้วยนั้นจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกรอกใบสมัครให้ มากกว่านั้น มีการจ่ายเงินค่าใบสมัครและค่าเสียเวลาในการเดินทางแก่ผู้สมัครด้วย

ข้อสังเกตที่ 6 การเลือกตั้ง สว. รอบนี้ มีการการจับกลุ่มอาชีพผู้สมัครลงรับเลือกตั้งกันเป็นทีมเพื่อลงในอำเภอเดียวซึ่งจะทำให้มีโอกาสเข้ารอบต่อไปมากขึ้น มากกว่านั้น ผู้สมัครบางทีมที่รู้ว่าถ้าลงรับสมัครในกลุ่มที่ตนเองมีความถนัดและต้องชนกับอีกทีมหนึ่ง เช่น กลุ่มการศึกษา ส่งผลให้มีโอกาสได้รับเลือกน้อยมาก ก็จะพาทีมไปลงรับสมัครในกลุ่มอาชีพอื่นที่ตนเองมีความเกี่ยวข้อง เช่น กลุ่มประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์ และ/หรือ เลือกลงในเขตอำเภอเดียวกันหรือลงในเขตอำเภออื่นที่มีแนวโน้มว่าจะมีผู้สมัครลงในกลุ่มนั้นไม่มาก ทั้งนี้ตามกฎหมายเลือกตั้ง สว. ม.19 และ ม.40 ระบุว่า กลุ่มผู้สมัครใดมีผู้สมัครไม่เกินกว่า 5 คน สามารถผ่านเข้ารอบการเลือกไขว้กลุ่มได้เลยโดยไม่ต้องเลือกกันเองในกลุ่มตั้งแต่รอบแรก มากกว่านั้น กรณีบางอำเภอ กลุ่มใดไม่มีผู้สมัครให้งดการดำเนินการให้มีการเลือกในกลุ่มนั้นและไม่มีผลกระทบต่อการเลือกในกลุ่มอื่น และในเขตอำเภอใดมีผู้สมัครไม่เกินห้ากลุ่มไม่ต้องจัดให้มีการแบ่งสาย ด้วยกติกาการเลือกตั้งดังกล่าวที่เขียนไว้ เราจะเห็นผู้สมัครที่รู้ว่าจะมีโอกาสชนะน้อยในการเลือกตั้งรอบแรกพยายามหนีไปลงในกลุ่มอาชีพอื่นและ/หรือเขตอำเภออื่นที่มีผู้สมัครน้อยคนเพื่อให้ตัวเองได้ผ่านเข้ารอบได้ง่ายมากขึ้นและสามารถมาตกลงกับผู้สมัครในกลุ่มในการแลกเปลี่ยนคะแนนในรอบไขว้กลุ่มได้

ข้อสังเกตที่ 7 เมื่อเลือกตั้งภายในกลุ่มเสร็จ กกต. จะมีการจับฉลากเลือกไขว้กลุ่มทันที แต่ก่อนที่จะมีการเลือกไขว้กลุ่ม บางเขตเลือกตั้ง กกต. จัดให้มีการรับประทานอาหารกลางวัน ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่ผู้สมัครแต่ละกลุ่มรู้แล้วว่าตัวเองอยู่สายไหน ทำให้เขาเหล่านั้นเข้าไปคุยแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับกลุ่มคนที่อยู่ในสายเดียวกับเขา อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงการเลือกในรอบไขว้กลุ่ม ผู้สมัครบางท่านไม่ได้ทำตามที่ตกลงกันไว้ว่าจะผลัดกันเลือกทำให้สอบตกก็มี หรือแกล้งทำบัตรเสียเพราะมีความไม่ชอบกันเป็นส่วนตัวก็มี

ข้อสังเกตที่ 8 มีการตั้งกลุ่มว่าที่ผู้สมัคร สว.กันหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นในระดับประเทศ 77 จังหวัด กลุ่มในจังหวัดของตน หรือกลุ่มจังหวัดของแต่ละอาชีพ จากการสังเกตการณ์พบว่า ผู้สมัคร สว. ที่เป็นสมาชิกของกลุ่มจะมีการแนะนำตัวและผลงานที่ตนเองได้ทำมา มากกว่านั้น บางท่านมีการแสดงจุดยืนทางการเมืองของตนให้ผู้สมัครท่านอื่นได้รับทราบ สำหรับในกลุ่มของแต่ละจังหวัด ผู้สมัคร สว. บางท่านได้มีการส่งข้อความเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในจังหวัดให้ผู้สมัครท่านอื่นได้รับทราบ และแสดงความต้องการที่อยากจะเข้าไปแก้ไขปัญหานั้นผ่านทางกฎหมายถ้าได้รับเลือกเป็น สว. นอกจากนั้น ผู้สมัครบางท่านได้มีการส่งข้อความหาผู้สมัครท่านอื่นๆ ทางแชทส่วนตัวในเชิงแนะนำตัวว่าเป็นผู้ลงสมัครในจังหวัดเดียวกัน หรือในเขตเดียวกันเพื่อให้ผู้สมัครท่านอื่นๆ ได้รับทราบ

ข้อสังเกตที่ 9 สื่อสำนักใหญ่ๆ มักจะให้พื้นที่กับผู้สมัคร สว. ที่มีชื่อเสียงในระดับประเทศมากกว่าผู้สมัคร สว. ท่านอื่นๆ ผลที่ตามมาคือ ผู้สมัคร สว. ในระดับประเทศเหล่านั้นได้รับการแนะนำตัวให้ผู้สมัครและประชาชนได้รู้จักโดยที่ยังไม่ต้องทำอะไร ยิ่งการเลือกตั้งเข้าสู่รอบระดับจังหวัดและระดับประเทศ ผู้สมัครที่สื่อกระแสหลักให้ความสนใจจะยิ่งได้รับพื้นที่ในการออกข่าวมากขึ้น และเป็นรู้จักของผู้สมัครท่านอื่นมากขึ้น ณ จุดนี้มีการตั้งข้อสังเกตความได้เปรียบและเสียเปรียบในการแนะนำตัวผู้สมัคร สว.เกิดขึ้น

ข้อสังเกตที่ 10 มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าการเลือกตั้ง สว. ในรอบนี้มีการใช้เงินน้อยกว่าเลือกตั้ง สส. หรือการเลือกตั้งท้องถิ่น เนื่องจากผู้สมัครที่ต้องการซื้อเสียงสามารถที่จะกำหนดได้ว่าตนเองต้องการเสียงเท่าไรในการที่จะผ่านในแต่ละรอบการคัดเลือกจนไปถึงระดับประเทศ การที่รู้ว่าต้องการเสียงมากน้อยเท่าไร ผู้สมัครที่ต้องการซื้อเสียงสามารถที่จะกำหนดทีมผู้สมัครของตนในแต่ละอำเภอหรือในแต่ละจังหวัดได้ หรือขอซื้อคะแนนเสียงจากผู้สมัครท่านอื่นที่เขาคิดว่าไม่มีโอกาสผ่านในรอบต่อไปได้ เมื่อลองคำนวณเรื่องการเลือกอย่างมีเหตุผล (Rational Choice) ผู้สมัคร สว. เมื่อได้เป็น สว.แล้วจะได้รับเงินและผลประโยชน์ตอบแทนในการเป็น สว. มากกว่าจำนวนเงินที่ลงไปเป็นอย่างมาก สิ่งเหล่านี้จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้การเลือกตั้ง สว. รอบนี้มีแนวโน้มที่จะมีการซื้อเสียงกันมาก เพราะเขารู้ว่าจะต้องไปซื้อกับใครคนไหนและติดต่อใคร

ข้อสังเกตสุดท้าย ถึงแม้ว่าจะมีการลงสมัครกันเป็นกลุ่ม หรือมีแนวโน้มที่จะซื้อเสียงกันเป็นจำนวนมากเพื่อให้ตนเองได้เป็น สว. อย่างไรก็ตาม ด้วยระบบการเลือกตั้งที่กำหนดเป็นกลุ่มอาชีพ อาชีพละ 10 คน ที่จะได้เป็น สว. การเลือกตั้งในลักษณะนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถและรักในระบอบประชาธิปไตยมีโอกาสที่จะเข้าไปเป็น สว. ได้ผ่านการเลือกตั้งในกลุ่มอาชีพของตนเอง ในกรณีที่พวกเขาสามารถที่จะรวมกลุ่มกันได้อย่างเหนียวแน่นและโน้มน้าวให้ผู้สมัครที่อยู่ในกลุ่มอื่นเลือกพวกเขาได้ ผลที่ตามมาคือ ถึงแม้เราจะเห็น สว. ที่มาจากกลุ่มอาชีพที่หลากหลายก็ตาม แต่เมื่อมีการรวมกลุ่ม สว. แล้วเราอาจจะเห็น สว. แยกออกเป็นกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่ม สว.ฝ่ายที่สนับสนุนประชาธิปไตยออกตัวชัดเจนในช่วงการเลือกตั้ง ฝ่าย สว. ที่มาจากฝั่งอนุรักษ์นิยม สว. ที่มาจากการสนับสนุนของพรรคการเมือง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หลังจากที่รู้ผล สว. แล้วต้องมาดูสัดส่วนว่าจะมีฝ่ายไหนมากกว่า และจะมีการต่อรองกันเพื่อชิงตำแหน่งประธานวุฒิสภาอย่างไร เนื่องจากประธานวุฒิสภามีอำนาจในการกำหนดวาระการประชุมพิจารณากฎหมายต่างๆ ยิ่งกว่านั้น ผลการเลือกตั้ง สว. จะทำให้สังคมเห็นทิศทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่ถูกร่างขึ้นมาโดยคณะรัฐประหารต่อไปในอนาคต รวมถึงการเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่หนึ่งคนหมดอายุลงแล้วในเดือนกันยายน 2566 และใกล้หมดวาระหนึ่งคน ในเดือนพฤศจิกายน 2567 สี่คนในเดือนเมษายน 2570 หนึ่งคนในเดือนสิงหาคม 2570 และอีกหนึ่งคนในเดือนมกราคม 2573 รวมถึงคณะกรรมการ ปชช. ที่จะหมดวาระลงใน ธันวาคม 2567 อีกสามคน

ทั้งหมดนี้เป็นข้อสังเกตเบื้องต้นในการเลือกตั้ง สว. รอบแรกในระดับอำเภอ หลังจากนี้จะมีการเลือกในระดับจังหวัดและระดับประเทศต่อไป ทั้งนี้ ขอให้ทุกท่านช่วยกันจับตามองการเลือกตั้ง สว. มีเหตุการณ์อะไรที่ผิดปกติก็ขอให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบเพื่อทำให้การเลือกตั้ง สว. ออกมาอย่างโปร่งใสมากที่สุด ซึ่งตำแหน่ง สว. ถือว่าเป็นอีกกลไกและสถาบันการเมืองหนึ่งที่จะทำให้ประเทศเข้าสู่วิกฤตการณ์การเมืองหรือนำประเทศออกจากวิกฤตการณ์การเมืองที่อาจจะมีขึ้นในอนาคตได้
อ้างอิงThai PBS. (2567). เปิดยอดผู้สมัคร สว.ผ่านเข้าสู่ระดับจังหวัด 23,645 คน. สืบค้น 12 มิถุนายน 2567 จาก https://www.thaipbs.or.th/news/content/340854
โปรดดูเงินเดือนและสิทธิพิเศษต่างๆที่สว.จะได้รับใน iLaw. (2567). เป็น สว. เงินเดือนเท่าไหร่? ได้สวัสดิการ-สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง?. สืบค้น 12 มิถุนายน 2567 จาก https://www.ilaw.or.th/articles/28411
iLaw. (2567). ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่สว.ชุดพิเศษแต่งตั้ง จะทยอยหมดวาระในปี 2570. สืบค้น 12 มิถุนายน 2567 จาก https://www.ilaw.or.th/articles/6109
Post Today. (2567). เปิดวาระ กรรมการป.ป.ช. จับตา 3 บิ๊ก นับถอยหลัง พ้นตำแหน่งปลายปี2567. สืบค้น 12 มิถุนายน 2567 จาก https://www.posttoday.com/politics/708106


https://theisaanrecord.co/2024/06/12/election-of-senators/