วันอาทิตย์, เมษายน 21, 2567

คนดีย์ที่ว่องไวยิ่งกว่ากามนิตหนุ่ม - เร็วทันใจ! สว. สมชายแก้ดุษฎีนิพนธ์ เพิ่ม footnote แต่เนื้อหายังลอกเหมือนเดิม

https://www.facebook.com/iLawClub/posts/827949936045294?ref=embed_post

iLaw
12h·

จากการเปิดเผยว่าดุษฎีนิพนธ์ของสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่มาจากการแต่งตั้ง มีเนื้อหาที่เหมือนกับงานวิจัย บทความ หรือหนังสืออื่นหลายจุด การตรวจสอบล่าสุดไม่ถึงหนึ่งวันหลังจากเปิดเผย พบว่ามีการแก้ไขดุษฎีนิพนธ์ในระบบของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว แต่เป็นเพียงการเพิ่มเชิงอรรถ (footnote) ในบางตอนเท่านั้น ส่วนเนื้อหาที่คัดลอกมานั้นไม่ได้มีการแก้ไข ยังเหมือนกับงานอื่นเช่นเดิม
.
เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 เวลา 18.00 น. โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) เปิดเผยว่าดุษฎีนิพนธ์เรื่อง “รูปแบบและวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย” ของ สว. สมชาย แสวงการ จากสาขาวิชาการบริหารกระบวนการยุติธรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการคัดลอกเนื้อหาจากแหล่งข้อมูลอื่น เช่น จากหนังสือของสถาบันพระปกเกล้ากว่า 30 หน้า จากบทความในจุลสาร “จุลนิติ” ของ สว. หลายชิ้น รวมถึงจากบทความเกี่ยวกับ สว. แต่งตั้งของไอลอว์
.
จากนั้นในวันต่อมา 19 เมษายน 2567 เวลา 11.32 น. สำนักข่าว Spring News ลงคำสัมภาษณ์ของสมชาย โดย สว. แต่งตั้งชี้แจงว่าตนไม่ได้คัดลอกงานมาจากผลงานของคนอื่น ปัญหาที่ปรากฏนั้นเป็น “การตกหล่นเชิงอรรถและบรรณานุกรมในบททบทวนวรรณกรรม” ซึ่งตนไม่เห็นว่าเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย และการตกหล่นอ้างอิง “เป็นความผิดพลาดเล็กน้อยที่แก้ไขแล้ว”
.
สมชายเสริมว่าการแก้ไขผ่านการขอการอนุมัติ และได้รับคำอนุมัติเรียบร้อยแล้ว
.
จากการตรวจสอบดุษฎีนิพนธ์ฉบับแก้ไขเร็วด่วนของสมชายซึ่งดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเวลาประมาณ 11.45 น. ในวันเดียวกัน พบว่า มีการเพิ่มเชิงอรรถ (footnote) โดยใช้เครื่องหมายดอกจัน (*) ที่หัวข้อของเนื้อหาที่มีการคัดลอกมา โดยเฉพาะส่วนที่มาจากหนังสือของสถาบันพระปกเกล้า โดย ภูมิ มูลศิลป์ และชมพูนุช ตั้งถาวร เรื่อง“รูปแบบการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาของประเทศไทย” (รูปในคอมเมนต์)
.
อย่างไรก็ตาม เนื้อหาทั้งหมดยังเหมือนเดิม กล่าวคือ ข้อความในหน้า 38-64 (ในฉบับแก้ไขเลื่อนมาเป็นหน้า 65) ตรงกับหน้า 76-115 ของหนังสือสถาบันพระปกเกล้าเช่นเดิม ด้านข้อความส่วนอื่นที่คัดลอกมาจากแหล่งข้อมูลอื่นโดยใส่เชิงอรรถให้ ซึ่งรวมถึงที่มาจากไอลอว์ด้วยนั้น ไม่มีการแก้ไขแต่อย่างใด
.
อีกทั้ง การแก้ไขนี้ก็ไม่ได้เพิ่มข้อความหรือใบปะหน้าที่ทำให้ผู้อ่านทราบได้ว่าอย่างชัดเจนว่าดุษฎีนิพนธ์ฉบับนี้มีการแก้ไขที่แตกต่างจากเมื่อครั้งที่เผยแพร่ครั้งแรก
.
หอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้คำนิยาม Plagiarism ไว้ว่า “การแอบอ้างงานเขียนหรืองานสร้างสรรค์ดั้งเดิมของผู้อื่นทั้งหมดหรือนำมาบางส่วนมาใส่หรือมาใช้ในงานของตนเองโดยไม่มีการอ้างอิงแหล่งที่มา (Citation) หรือประกาศเกียรติคุณ (Acknowledgment) ทั้งด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ” โดยมีทั้งรูปแบบการลอกข้อความมาโดยไม่อ้างอิง การลอกความคิดมาโดยดัดแปลงใหม่ให้คล้ายว่าเป็นของผู้เขียน การอ้างอิงผิด ไปจนถึงการไม่ใส่เครื่องหมาย อัญประกาศ (" ") ให้ถูกต้อง ซึ่งแม้จะมีการอ้างอิงแล้ว ก็ยังถือว่าเป็น “การโจรกรรมทางวิชาการ” เช่นเดิม การหลีกเลี่ยง Plagiarism นั้น ผู้เขียนจึงต้องเขียนงานให้รัดกุม หากจะนำแนวคิดผู้อื่นมาใช้ก็ควรอ้างอิงให้ถูกต้อง และกลั่นออกมาเขียนเป็นภาษาของตนเองให้ได้
.
การเพิ่มเชิงอรรถก็ยังไม่อาจหลีกเลี่ยงข้อครหาว่ามีการคัดลอกได้ ไม่ว่าจะเป็นบททวนวรรณกรรมหรือส่วนใดก็ตามในงานวิจัย ก็ต้องทำการอ้างอิงให้ถูกต้อง ซึ่งไม่ได้รวมถึงแค่การมีเชิงอรรถเท่านั้น แต่หมายถึงการสรุปความด้วยตัวเองเพื่อแสดงความเข้าใจต่อเนื้อหาที่ตนเขียนด้วย สมชายกล่าวเองว่าว่าตนลอกบางเนื้อหามา “อันไหนที่เห็นว่าดีก็ลอกแล้วเอามาใส่” เพียงแต่ “ที่ไม่ใส่ชื่อคนเพราะมันหมิ่นประมาท”
.
สำหรับกระบวนการแก้ไขที่รวดเร็วของสมชายนั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ได้มีช่องทางในการแก้ไขวิทยานิพนธ์เอาไว้ จึงเป็นคำถามว่าการแก้ไขสายฟ้าแลบดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร ช่องทางหนึ่งที่พอจะเป็นไปได้ตามที่ ห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระบุคือในกรณีที่ส่งวิทยานิพนธ์เข้าระบบผิดเอาไว้ โดยต้องมีอาจารย์ที่ปรึกษาพร้อมด้วยกรรมการสอบลงนามอนุมัติด้วย หมายความว่า หากมีการแก้ไขในช่องทางนี้ ผู้อนุมัติในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาของสมชาย คือ ศาสตราจารย์ อุดม รัฐอมฤต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนปัจจุบัน ต้องเซ็นยินยอมให้มีการแก้ไขได้ภายในเวลาไม่นาน
.
อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าในกรณีดุษฎีนิพนธ์ของสมชายนั้นสามารถใช้ช่องทางการแก้ไขนี้ได้หรือไม่ เพราะห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระบุว่าการแก้ไข “ควร” ทำให้เสร็จก่อนวันสุดท้ายของภาคการศึกษา อีกทั้งยังไม่ชัดเจนว่าคณะกรรมการสอบดุษฎีบัณฑิตคนอื่นทราบถึงการแก้ไขนี้หรือไม่ เนื่องจากหน้าที่มีลงนามลายเซ็นอนุมัติการจบการศึกษายังคงเป็นเช่นเดิมไม่มีการแก้ไข
.
ด้านข้อบังคับหรือระเบียบอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าสามารถแก้ไขดุษฎีนิพนธ์ที่ผู้เขียนสำเร็จการศึกษาแล้วได้ผ่านช่องทางใด ประกาศคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่องแนวปฏิบัติการทำวิทยานิพนธ์ และการค้นคว้าอิสระ พ.ศ. 2563 ข้อ 33 เพียงระบุว่าห้ามไม่ให้ “คัดลอกผลงานหรือส่วนหนึ่งของผลงานของบุคคลอื่น หรือของตนเองที่ได้นำเสนอหรือเผยแพร่ไปแล้วโดยไม่จัดทำการอ้างอิงให้ถูกต้องตามระเบียบวิจัย”

อ่านเวอร์ชั่นเว็ปไซต์ มีวิทยานิพนธ์ด้วย
(https://www.ilaw.or.th/articles/29719)