วันอาทิตย์, เมษายน 21, 2567

มาทำความรู้จัก สมชาย แสวงการ ตัวตึงวงการสภาแต่งตั้ง อยู่ในสภามากว่า 17 ปี (คนที่เคยเป็นทุกอย่าง แต่ไม่เคยเป็นสับปะรด)


iLaw
8h·

ทำความรู้จัก สมชาย แสวงการ ตัวตึงวงการสภาแต่งตั้ง อยู่ในสภามากว่า 17 ปี
.
ในบรรดา 250 สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดพิเศษ ที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สมชาย แสวงการ เป็นหนึ่งใน สว. ที่มีบทบาทในหน้าสื่ออยู่บ่อยครั้ง ด้วยลักษณะการอภิปรายและการแสดงออกทางสีหน้าที่เป็นเอกลักษณ์ การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือแม้แต่พรรคการเมืองฝ่ายค้านผ่านโซเชียลมีเดียส่วนตัวหรือในหน้าสื่ออยู่บ่อยครั้ง รวมถึงประสบการณ์ในรัฐสภาที่ยาวนานเกิน 17 ปี ทำให้เมื่อพูดถึง สว. หลายคนอาจจะนึกชื่อของ สมชาย แสวงการ ขึ้นมาเป็นชื่อแรกๆ
.
สว. วัย 62 ปี เดิมทำงานสายสื่อมวลชนมาก่อน เคยเป็นบรรณาธิการข่าว สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 อสมท. ต่อมาในปี 2549 เส้นทางชีวิตของสมชายเริ่มเบนเข้าสู่ถนนการเมือง ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หลังรัฐประหารปี 2549 โดยในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 กำหนดให้ สนช. มาจากการแต่งตั้งผ่านการสรรหาบุคคลจากกลุ่มต่างๆ ในภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม และภาควิชาการ จากภูมิภาคต่างๆ
.
หลังจากรัฐธรรมนูญ 2550 ประกาศใช้ กำหนดให้สว. มี 150 คน มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละหนึ่งคน และที่เหลือมาจากการสรรหาจากผู้ได้รับเสนอชื่อในองค์กรต่างๆ สมชาย ก็ได้เป็น สว. สรรหาตามรัฐธรรมนูญ 2550 ถึงสองสมัย สว. 2551 และ สว. 2554
.
แม้สถานการณ์การเมืองจะพลิกผัน เมื่อ คสช. รัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่เส้นทางการเป็นสมาชิกรัฐสภาของสมชายก็ไม่สั่นคลอน เขายังได้รับแต่งตั้งให้เป็น สนช. ในปี 2557 ทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติในระหว่างที่ คสช. ครองอำนาจอยู่ หลังกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จัดทำรัฐธรรมนูญ ผ่านประชามติประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญ 2560 สมชาย แสวงการ ก็ยังได้เป็นหนึ่งใน 250 สว. ชุดพิเศษ ทำหน้าที่ระยะห้าปีแรกที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ อาจกล่าวได้ว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2549 จนถึงกลางปี 2567 สมชายไม่เคยเว้นว่างจากตำแหน่งสนช. หรือ สว. เลย
.
นอกจากนี้ สมชาย แสวงการ ยังเป็นหนึ่งใน สว. ที่ขวางการแก้รัฐธรรมนูญ 2560 อยู่หลายครั้ง ในการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญเมื่อ 17-18 พฤศจิกายน 2563 มีร่างแก้รัฐธรรมนูญเจ็ดฉบับที่เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวาระหนึ่ง โดยในจำนวนนี้ มีสามฉบับที่เสนอแก้รัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มาเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ คือ ร่างภาคประชาชน ร่างพรรคร่วมรัฐบาล และร่างพรรคเพื่อไทย สมชายโหวต “ไม่เห็นชอบ” ทั้งสามฉบับ และในจำนวนเจ็ดฉบับที่เสนอ เขาโหวตเห็นชอบร่างแก้รัฐธรรมนูญเพียงสองฉบับ ซึ่งเป็นการแก้รายมาตราเรื่องยกเลิกอำนาจ สว. เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ และเรื่องบัตรเลือกตั้งสองใบ
.
อย่างไรก็ดี ร่างแก้รัฐธรรมนูญตั้ง สสร. มาเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับภาคประชาชนตกไปในวาระหนึ่ง แต่ร่างที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลผ่านวาระหนึ่ง จนกระบวนการพิจารณารายมาตราในวาระสองแล้วเสร็จ จ่อเข้าสู่วาระสามซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการพิจารณา เส้นทางการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ได้เดินหน้าต่อ เมื่อสมชาย แสวงการ จับมือกับไพบูลย์ นิติตะวัน สส.พรรคพลังประชารัฐ ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐสภามีอำนาจในการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยที่ 4/2564 ระบุว่าต้องทำประชามติถามประชาชนเสียก่อน นำมาสู่ปัญหาว่าการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ต้องทำกี่ครั้ง ทำตอนไหน
.
ในการแก้รัฐธรรมนูญครั้งอื่นๆ ส่วนใหญ่สมชาย แสวงการ ก็โหวต “ไม่เห็นชอบ”
แก้รัฐธรรมนูญ “รื้อระบอบประยุทธ์” เมื่อ 16-17 พฤศจิกายน 2564
แก้รัฐธรรมนูญ ปิดสวิตช์ สว. ตัดอำนาจเลือกนายกฯ เมื่อ 6-7 กันยายน 2565
แก้รัฐธรรมนูญ ปลดล็อกท้องถิ่น 7 ธันวาคม 2565
.
ยกเว้นการแก้รัฐธรรมนูญ เรื่องระบบเลือกตั้ง ซึ่งเสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ ในวาระหนึ่ง เมื่อ 23-24 มิถุนายน 2564 สมชาย โหวต “เห็นชอบ” แต่ในวาระสาม เมื่อ 10 กันยายน 2564 สมชายโหวต “งดออกเสียง”
.....
Bundit Hui Pornpitakchaikul
เคยเป็นทุกอย่าง แต่ไม่เคยเป็นสับปะรดใช่มั้ยคับ