วันศุกร์, เมษายน 12, 2567

ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ขอสื่อสารถึงรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ในกรณีการแก้ไขปัญหากากแคดเมียมว่า อย่ารีบปิดจบปัญหาด้วยการแก้ไขแบบเฉพาะหน้า เพียงแค่ขนส่งนำกลับไปฝังกลบที่เดิม แต่ต้องมีการตรวจสอบความผิดพลาดเพื่อเก็บรับบทเรียน และลงโทษคนกระทำละเมิดกฎหมายด้วย


มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)
10h
·
ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง
ขอสื่อสารถึงรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน
ในกรณีการแก้ไขปัญหากากแคดเมียมว่า
อย่ารีบปิดจบปัญหาด้วยการแก้ไขแบบเฉพาะหน้า
เพียงแค่ขนส่งนำกลับไปฝังกลบที่เดิม
.
แต่ต้องมีการตรวจสอบความผิดพลาดเพื่อเก็บรับบทเรียน และลงโทษคนกระทำละเมิดกฎหมายด้วย
เพื่อให้เข็ดหลาบและไม่เป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดี
.
นอกจากนั้นควรถือโอกาสสะสางปัญหาเชิงระบบและนโยบายด้านการจัดการกากอุตสาหกรรม เพื่อไม่เกิดเหตุการณ์เสี่ยงภัยแบบนี้ขึ้นในสังคมไทยอีก

#กากแคดเมียม #กากอุตสาหกรรม #มลพิษแคดเมียมแม่ตาว #หยุดภัยมลพิษ #อุตสาหกรรมรีไซเคิล #dirtyrecycle #Ewaste #PollutionFreeEARTH
.....

มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)
13h
·
“ผู้ก่อกำเนิด” กากแคดเมียม
มีหน้าที่ตามกฎหมายมากกว่าการขนกลับ
.
เป็นข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้และรับรู้กันทั่วไปอยู่แล้วว่า บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) คือเจ้าของและผู้ก่อให้เกิด “กากแคดเมียมซอมบี้” อันตราย ปริมาณมากกว่า 13,800 ตัน ที่กำลังกระจายไปยังพื้นที่หลายจุด ใน จ. สมุทรสาคร ชลบุรี และล่าสุดนี้คือที่เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ
.
“กากแคดเมียมซอมบี้” มีต้นกำเนิดจาก ต. หนองบัวใต้ อ. เมือง จ. ตาก อันเป็นที่ตั้งหลุมฝังกลบของเบาด์ แอนด์ บียอนด์ฯ ซึ่งในอดีตคือบริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่และโรงถลุงแร่สังกะสี บริษัทจำกัดมหาชนซึ่งมีการให้สถานะตนเองว่า “เป็นผู้ผลิตโลหะสังกะสีแห่งเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
.
ผาแดงอินดัสทรีฯ เคยเป็นหนึ่งในผู้ถูกฟ้องในคดีที่ชาวบ้านลุ่มน้ำแม่ตาว อ. แม่สอด จ. ตาก ยื่นฟ้อง ว่าเป็นต้นเหตุทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารแคดเมียมในลำน้ำแม่ตาว นาข้าว ตลอดจนสิ่งแวดล้อมใกล้เคียงบริเวณที่บริษัทได้รับสัมปทานทำเหมืองแร่สังกะสี เมื่อปี 2552 จนส่งผลให้ชาวบ้านล้มป่วย ผลผลิตข้าวจากที่นาแถบนั้นขายไม่ได้และต้องทำลายทิ้งด้วยวิธีพิเศษ ส่วนผืนดินยังคงใช้เพาะปลูกไม่ได้ต่อมาอีกหลายๆ ปี
.
ดังนั้นนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผาแดงอินดัสทรีฯ หรือเบาด์ แอนด์ บียอนด์ฯ มีความพัวพันกับปัญหามลพิษแคดเมียม เพียงแต่ผลสรุปของมลพิษแคดเมียมครั้งก่อนคือไม่สามารถหาผู้กระทำผิดได้ และผาแดงอินดัสทรีฯ ก็รอดพ้นจากการเป็นผู้ก่อมลพิษ
.
แต่ในครั้งนี้ เบาด์ แอนด์ บียอนด์ฯ เป็นผู้ขุดเอา “ตะกอนแคดเมียม” ที่ถูกฝังกลบอยู่ใต้ดินบนพื้นที่ของบริษัทฯ ขึ้นมาเอง เท่ากับเป็นผู้ปลุกเอากากอันตรายที่ถูกจัดการจบกระบวนการไปแล้วให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง จากนั้นเบาด์ แอนด์ บียอนด์ฯ ยังได้ทำสัญญาที่จะนำส่งกากไปยังบริษัทเจ แอนด์ บี แมททอล จำกัด ที่ จ. สมุทรสาคร โดยมีการขออนุญาตส่วนราชการตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2548 และ พ.ศ. 2566
.
ในเรื่องการขนย้าย ทางเบาด์ แอนด์ บียอนด์ฯ ได้รับอนุญาตจากอุตสาหกรรมจังหวัดตาก ในเบื้องต้นจึงเท่ากับว่า หากการขอขนย้ายหรือแผนของบริษัทฯ ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ความรับผิดชอบย่อมเป็นของผู้อนุญาต ว่าอนุญาตในสิ่งที่ไม่ควรอนุญาตได้อย่างไร แต่สำหรับการดำเนินการจริง หากมีปัญหาในกระบวนการอย่างไร ความรับผิดชอบยังคงเป็นของเจ้าของ “สิ่งปฏิกูลและวัสดุไม่ใช้แล้ว” โดยที่เป็นหน้าที่ของผู้อนุญาตที่จะต้องกำกับ ติดตาม ควบคุม และสั่งการให้แก้ไข
.
แม้ในช่วงต้นของการขนย้าย เรื่องนี้จะยังอยู่ในบังคับของประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2548 แต่ประกาศฉบับปี 2566 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งเป็นเวลาที่การขนย้ายยังคงไม่เสร็จสิ้น
.
กฎหมายปี 2566 กำหนดชัดแจ้งว่า “ผู้ก่อกำเนิด” มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบทั้งเรื่องการขนส่งและการจัดเก็บสิ่งปฏิกูลและวัสดุไม่ใช้แล้ว แม้แต่เมื่อมีการนำออกนอกโรงงานไปแล้ว ดังนั้นการขนส่งหรือการจัดเก็บที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในรายละเอียดที่ออกตามมาจากประกาศกระทรวงดังกล่าว จึงยังคงเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของเบาด์ แอนด์ บียอนด์ฯ ด้วย ไม่อาจตัดตอนว่าเป็นเรื่องของเจ แอนด์ บี แมททอลฯ ลำพังได้
.
การที่นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน X ออกมาเมื่อเย็นวานนี้ (10 เมษายน 2567) ว่า ผลหารือร่วมคือ ทางเบาด์ แอนด์ บียอนด์ฯ รับปากว่ายินดีขนกากกลับไปหลุมฝังกลบ จ. ตาก ภายในวันที่ 30 เมษายน นี้ ก่อนตบท้ายว่า “ทุกปัญหาของพี่น้อง ผมเร่งแก้ไขอย่างเต็มที่”
.
ถ้าหากพี่น้องของนายกฯ คือ เบาด์ แอนด์ บียอนด์ฯ นี่ถือเป็นการแก้ไขปัญหาให้อย่างเต็มที่จริงๆ เนื่องจากกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่า ในกรณีที่ “ปรากฏข้อเท็จจริงว่าสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วดังกล่าวยังไม่ได้รับการจัดการ...” ผู้ก่อกำเนิดมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้อง “นำไปจัดการจนกว่าสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วนั้นจะได้รับการจัดการแล้วเสร็จตามที่ได้รับอนุญาต”
.
เพียงแต่ว่า หน้าที่ตามกฎหมายของผู้ก่อกำเนิดกากมิได้มีเพียงส่วนนี้เท่านั้น ยังมีหน้าที่รับผิดชอบต่อบรรดาความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย ซึ่งกรณีกากแคดเมียมนี้ชัดเจนอยู่แล้วว่าเกิดความเสียหายแผ่กระจายกว้างขวาง และอาจมีผลกระทบลึกซึ้งในระยะยาวต่อไปด้วย โดยเฉพาะทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน
.
อีกทั้งกรณีนี้เกิดขึ้นได้ก็ด้วยมหกรรมการกระทำผิดกฎหมายอย่างขนานใหญ่ โดยอาจถึงขั้นสมรู้ร่วมคิดด้วยหรือไม่? …ประเด็นเหล่านี้ จะปล่อยผู้กระทำความผิดลอยนวลไม่ต้องรับโทษไม่ได้!!!
.
การยินยอมและยินดีต่อการรับปากของผู้ก่อมลพิษเพียงว่าจะรับผิดชอบนำกากแคดเมียมซอมบี้กลับฝังลงดินอีกครั้ง จึงเป็นการช่วยแก้ปัญหาแก่พี่น้องบริษัทเอกชน แต่ยังไม่ใช่การช่วยเหลือประชาชนและสังคม
.
อนึ่ง เบาด์ แอนด์ บียอนด์ฯ มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 3 อยู่ด้วย นายกฯ เศรษฐา ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวง จึงต้องระวังประเด็นผลประโยชน์ซ้อนทับ ให้ดี
.
ภาพจาก: (https://shorturl.at/tyFST)