วันศุกร์, เมษายน 19, 2567

อุ้ย ! คนดีย์ถูกจับได้ว่า เส้นทางการเรียนปริญญาเอกของ สว. คนนี้ ดูง่ายกว่านักศึกษาคนอื่นเยอะเลย


iLaw
9h
·

สมชาย แสวงการ เป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่มีบทบาทในสภาและหน้าข่าวบ่อยครั้ง ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา อดีตผู้สื่อข่าวก้าวกระโดดในหน้าที่การงานและการศึกษา นอกจากจะได้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ตั้งขึ้นหลังการรัฐประหารทั้งสองครั้งในปี 2549 และ 2557 รวมถึงเป็น สว. สรรหาถึงสองสมัย ในปี 2551 และปี 2554 ด้านวิชาการ ก็มีความก้าวหน้าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ปี 2565 สมชายยังสำเร็จการศึกษาดุษฎีบัณฑิตหรือปริญญาเอก ได้เป็นถึง “ดอกเตอร์” ด้วย
.
อย่างไรก็ตาม เส้นทางการเรียนปริญญาเอกของสมชายอาจดูง่ายกว่านักศึกษาคนอื่น เนื่องจากมีการพบว่าดุษฎีนิพนธ์ซึ่งเป็นส่วนสำคัญอันขาดไม่ได้ในการเป็นดอกเตอร์นั้นมีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
.
สว. แต่งตั้ง วิจัยที่มา สว.
.
สมชายสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกในปี 2565 จากหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารกระบวนการยุติธรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเลือกทำดุษฎีนิพนธ์ในหัวข้อ “รูปแบบและวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย” โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาคือ ศาสตราจารย์ อุดม รัฐอมฤต หนึ่งในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 (กรธ.) ชุดมีชัย ฤชุพันธุ์ ปัจจุบันอุดมเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ได้รับมติเห็นชอบโดยวุฒิสภาที่มีสมชายเป็นสมาชิก
.
งานวิจัยยาว 264 หน้า (รวมภาคผนวกและประวัติผู้เขียนที่มีความยาวสองหน้า) สำรวจที่มาของ สว. ทั้งในต่างประเทศและในประวัติศาสตร์ไทยที่ผ่านมา โดยผู้เขียนเห็นว่า สว. ระบบ “เลือกกันเอง” ตามรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น “เป็นแนวทางที่มีความเป็นไปได้” แต่ก็ยังมีความเห็นเพิ่มเติม เช่น เสนอให้ผู้สมัครในกลุ่มเลือกกันเองแทนการเลือกไขว้ หรือให้มีกลุ่มอาชีพผู้เชี่ยวชาญเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย
.
ลอกงานสถาบันพระปกเกล้า
.
เมื่อตรวจสอบดุษฎีนิพนธ์ของสมชาย พบว่ามีข้อความหลายท่อนตอนที่เหมือนกับงานวิชาการอื่น ๆ ที่หัวข้อคล้ายกัน ที่เด่นชัดที่สุดคือหนังสือของสถาบันพระปกเกล้า “รูปแบบการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาของประเทศไทย” เขียนโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภูมิ มูลศิลป์ และชมพูนุท ตั้งถาวร ตีพิมพ์ในปี 2558 ซึ่งดุษฎีนิพนธ์ของสมชายมีข้อความที่เหมือนกันมากกว่า 30 หน้า
.
ตั้งแต่หน้า 38 ในดุษฎีนิพนธ์ของสมชาย หัวข้อ 2.3.1 “กลุ่มที่หนึ่ง: กลุ่มประเทศที่กำหนดให้ความเป็นตัวแทนของวุฒิสภายึดโยงกับพื้นที่” ไปจนถึงหน้า 64 ซึ่งเป็นหน้าสุดท้ายของบทที่สอง มีเนื้อหาตรงกับหน้าที่ 77-115 ของหนังสือสถาบันพระปกเกล้า ในหน้า 38 ของดุษฎีนิพนธ์ของสมชายถึงกับลอกเอาเชิงอรรถของหน้า 77 ในหนังสือสถาบันพระปกเกล้ามาทั้งหมด
.
รูปแบบการลอกนั้นไม่ได้มีแค่การลอกทางตรงเท่านั้น ในหน้า 80 ของหนังสือสถาบันพระปกเกล้า มีเชิงอรรถขนาดยาวที่อธิบายพลวัตของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติในระบอบประธานาธิบดี งานวิจัยของสมชายก็ยกเอาเชิงอรรถทั้งหมดนี้มาใส่ในเนื้อหาในหน้า 40-41
.
ลอกทั้งหมดโดยแค่ใส่อ้างอิง
.
นอกจากการคัดลอกแบบไม่อ้างอิงผลงานต้นทางแล้ว ยังพบว่าในบางส่วนของดุษฎีนิพนธ์ของสมชาย มีการใส่เชิงอรรถงานที่อ้างอิงเอาไว้ แต่กลับคัดลอกข้อความทั้งหมดแทนที่จะสรุปแนวคิดและเขียนใหม่เป็นภาษาของตัวเองเพื่อป้องกันการคัดลอกผลงาน
.
ยกตัวอย่างเช่น ในหน้า 65 ของดุษฎีนิพนธ์ หัวข้อ “รูปแบบและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาประเทศอังกฤษ” ห้าบรรทัดแรกของเนื้อหาเหมือนกับเนื้อหาส่วนแรกของงาน “สภาขุนนางอังกฤษ” ที่เขียนโดยปณิธัศร์ ปทุมวัฒน์ ตีพิมพ์เมื่อปี 2558 ในวารสารจุลนิติของ สว. เอง แม้ว่าจะมีการใส่เชิงอรรถถึงงานของปณิธัศร์ไว้ด้านล่าง แต่เนื้อหาก็เหมือนเกือบทั้งหมด หรือในหน้าที่ 66 ของดุษฎีนิพนธ์ก็มีการคัดลอกเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับ Parliament Act 1911 จากงานของปณิธัศร์มาไว้ด้วยอีกเช่นกัน
.
ยังพบอีกว่ามีการคัดลอกเนื้อหาในหน้า 72-73 จากหน้าที่ 117-119 ในวิทยานิพนธ์ของวัชรพล โรจนวงรัตน์ “รูปแบบวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาที่เหมาะสมกับอำนาจหน้าที่วุฒิสภาแห่งราชอาณาจักรไทย” ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2560 โดยมีการใส่เชิงอรรถไว้ด้านล่าง แต่ก็มีเนื้อหาเหมือนกันคำต่อคำ
.
ลอกงาน iLaw
.
ดุษฎีนิพนธ์ของสมชายมีการอ้างถึงงานของ iLaw ด้วย โดยเป็นบทความ “รวมข้อมูล 250 สว. ‘แต่งตั้ง: กลไกหลักสืบทอดอำนาจจากยุค คสช.’” ซึ่งมีการอ้างถึงสถิติของ สว. ที่ถูกแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าประกอบด้วยบุคคลที่เคยรับตำแหน่งในยุค คสช. โดยมีเนื้อหาเหมือนกันทุกคำ ไม่มีการปรับเปลี่ยนคำใหม่ เพียงแต่มีการตัดรายชื่อของ สว. ที่บทความยกตัวอย่างให้เห็นเท่านั้น เช่น ปรีชา จันทร์โอชา, อภิรัชต์ คงสมพงษ์, พรทิพย์ โรจนสุนันท์, คำนูณ สิทธิสมาน, วัลลภ ตังคณานุรักษ์
.
https://www.ilaw.or.th/articles/29527