วันจันทร์, เมษายน 08, 2567

ปัจจัยที่ทำให้ฝ่ายต่อต้าน รัฐบาลเผด็จการทหารเมียน ได้เปรียบในช่วงนี้


สมาชิกกองกำลัง PDF

ที่มา บีบีซีไทย
(https://www.bbc.com/thai/articles/c2585l84vxro)

ผศ.ดร.ลลิตา ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเมียนมา จาก ม.เกษตรศาสตร์ บอกว่ากำลังใจของทหารเมียนมาแทบไม่เหลือแล้ว เพราะรู้สึกว่ารบไปก็ไม่มีวันที่จะชนะ ดังนั้น วิธีการที่เห็นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา คือ ทหารเมียนมาเลือกที่จะยอมแพ้และจำนนต่อฝ่ายต่อต้าน

“ตอนแรกก็เริ่มจากทหารยศนายพัน พันเอก ฯลฯ ซึ่งเป็นผู้คุมกองร้อย ที่ยอมแพ้และวางอาวุธ แต่ต่อมาในเมียวดี เราเห็นกรณีทหารยอมแพ้จำนวน 500-600 คน ในเวลาเดียวกัน ซึ่งหมายความว่าเขาไม่มีทั้งขวัญกำลังใจและไม่ต้องการรบอะไรให้ใครอีกต่อไปแล้ว เราจะเห็นแบบนี้เกิดขึ้นเรื่อย ๆ แบบโดมิโน เอฟเฟ็ค (Domino Effect)”

นักวิชาการจาก ม.เกษตรศาสตร์ยังมองว่า นโยบายการบังคับเกณฑ์ทหาร เก็บภาษีเพิ่ม รวมถึงขูดรีดส่วยจากประชาชน ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่บ่อนทำลายเสถียรภาพรัฐบาลทหารจากภายในด้วยเช่นกัน

ด้าน รศ.ดร.ดุลยภาค บอกว่า อาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ที่กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐฉานตอนเหนือและรัฐคะฉิ่น รวมถึง NUG นำมาใช้นั้น ส่วนใหญ่รับมาจากจีนซึ่งผ่านการรับ-ส่งต่อกันเป็นทอด ๆ เช่น ดูได้จากความได้เปรียบของกลุ่มภราดรภาพซึ่งเป็นผู้นำปฏิบัติการ 1027 ก็มาจากพลานุภาพของอาวุธหนักและแรงหนุนจากทหารของจีน

“จีนต้องการควบคุมเกมภูมิรัฐศาสตร์ในเมียนมาและไม่ต้องการให้มหาอำนาจอย่างอินเดีย สหรัฐอเมริกา เข้ามามีอิทธิพลในเมียนมาอยู่แล้ว จึงสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่มเพื่อให้กลุ่มเหล่านี้รับอิทธิพลจากจีนมากกว่าประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ ดังนั้น จึงส่งผลให้ฝ่ายต่อต้านเข้มแข็งเหนือทหารพม่าได้ แต่ขณะเดียวกันก็ล็อคให้ทหารพม่ายังอยู่ในวงเจรจากับฝ่ายต่อต้านด้วย ซึ่งนี่คือกลยุทธ์ของจีน” อาจารย์จาก ม.ธรรมศาสตร์ ระบุ

นอกจากนี้ทางฝ่ายต่อต้านซึ่งนำโดยรัฐบาลพลัดถิ่น NUG ยังมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับกองกำลังชาติพันธุ์กลุ่มอื่น ๆ ซึ่งมีจุดยืนต่อต้านรัฐบาลทหารเช่นเดียวกัน อันเห็นได้การทำงานด้านการรบที่สอดคล้องประสานกันระหว่างกองกำลังพิทักษ์ประชาชนหรือพีดีเอฟ (People’s Defense Force – PDF) ซึ่งเป็นปีกทหารของ NUG กับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความชำนาญการรบในพื้นที่

จุดจบของรัฐบาลทหารใกล้มาถึงหรือไม่ ?

พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ยึดอำนาจรัฐบาลทหารพลเรือนและบริหารประเทศผ่านสภาบริหารแห่งรัฐเมียนมาหรือเอสเอซี (State Administration Council-SAC) มากว่า 3 ปีแล้ว แต่หนทางทางการเมืองของเขากลับไม่ราบรื่นอย่างที่คิดและถูกต่อต้านอย่างหนักรัฐบาลพลัดถิ่นและกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ส่งผลให้เมียนมาตกอยู่ในสภาพสงครามการเมือง ทำให้ประชาชนกว่า 2.6 ล้านคนกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ และพลเรือนจำนวนหลายพันคนถูกคร่าชีวิต จากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ

แต่ความพ่ายแพ้อย่างต่อเนื่องของกองทัพเมียนมานับตั้งแต่เกิดปฏิบัติการ 1027 ซึ่งนำโดยกลุ่มภราดรภาพ ทำให้หลายฝ่ายเริ่มมองว่ารัฐบาลทหารกำลังเพลี่ยงพล้ำและกำลังเข้าใกล้จุดจบเร็ว ๆ นี้

แต่ รศ.ดร.ดุลยภาค ตั้งคำถามว่าความพ่ายแพ้ของ SAC ที่หลายฝ่ายมองว่ากำลังจะเกิดขึ้นนั้น มีนิยามคำว่า “ความพ่ายแพ้” อย่างไร

“หากความพ่ายแพ้ในที่นี่ มันหมายถึงว่า ทหารพม่ายอมเจรจากับฝ่ายต่อต้านหรือนักรบกลุ่มชาติพันธุ์หลาย ๆ พื้นที่ที่ตนเองพ่ายแพ้หรือยอมจำนน และยอมให้กลุ่มที่ชนะยึดครองพื้นที่ไปก่อน หนทางนี้มีความเป็นไปได้สูง ซึ่งกำลังเกิดขึ้นแล้วในบางพื้นที่ และคงเกิดขึ้นต่อเนื่องเพราะทหารพม่าในหลายพื้นที่เริ่มยอมรับความพ่ายแพ้และยอมวางอาวุธ โดยทางทหารพม่าคงยอมให้อีกฝ่ายดูแลพื้นที่ไปเลย และถอนกำลังออกมากระจุกกันอยู่ที่ใจกลางของประเทศซึ่งเป็นฐานที่มั่นสำคัญแทน

แต่ถ้าหากเป็นการยอมแพ้ในแง่ที่ว่าทหารพม่าทั้งประเทศรวมถึง SAC จะประกาศออกจากการเมือง ยอมรับอำนาจเหนือของพลเรือน และให้ NUG กับกลุ่มชาติพันธุ์ร่วมกันปกครองประเทศ อันนำไปสู่การสร้างสหพันธรัฐประชาธิปไตย คงไปไม่ถึงจุดนั้น เพราะกองทัพพม่าไม่ต้องการให้ชนกลุ่มน้อยเข้าถือครองดินแดนเป็นจำนวนมากจนเกินไป เพราะว่ามันเป็นอันตรายและนำไปสู่การล่มสลายของสหภาพเมียนมาในความคิดของกลุ่มทหารชนชั้นนำซึ่งมีมาอย่างยาวนาน”



อาจารย์จาก ม.ธรรมศาสตร์ยังเห็นว่า ถึงแม้กองทัพเมียนมาสูญเสียพื้นที่ควบคุมให้กับฝ่ายต่อต้านมากขึ้น แต่หากมองในภาพรวม ทางกองทัพยังไม่สูญเสียจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ๆ เช่น เมืองล่าเสี้ยวซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดทางรัฐฉานตอนเหนือ รวมถึงเมืองมยิจีนาซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐคะฉิ่นและเป็นที่ตั้งของศูนย์บัญชาการทหารเมียนมาซึ่งดูแลพื้นที่ภาคเหนือของประเทศทั้งหมด ถึงแม้ NUG ประกาศออกมาแล้วว่าจะให้ KIA เป็นปีกทหารที่ดูแลแนวรบทางภาคเหนือเช่นกัน ซึ่งส่งผลให้แนวรบทางตอนเหนือของประเทศจะรุนแรงมากขึ้น

“กองทัพพม่ายังมีปริมณฑล มีเมืองทหาร ที่ยังพอเพียงอยู่ และการออกกฎหมายบังคับเกณฑ์ทหารจะช่วยเพิ่มกองหนุนให้กองทัพเมียนมาได้ ซึ่งเขาก็รอเวลานี้อยู่” รศ.ดร.ดุลยภาค กล่าว

ขณะที่ ผศ.ดร.ลลิตาประเมินว่าจุดจบของ SAC อาจมาไวกว่าที่คาด หากเราหมายถึงความพ่ายแพ้ของพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย และองคาพยพของระบอบเผด็จการทหารที่เข้าสู่อำนาจจากการรัฐประหารครั้งล่าสุด แต่การสร้างสหพันธรัฐประชาธิปไตยหลัง SAC ลงจากอำนาจนั้น จะกลายเป็นปัญหาในอนาคตอันใกล้ที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อจากนี้

“โอกาสที่ NUG จะพูดคุยกับกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มและเห็นตรงกันเป็นเรื่องยากมาก ดังนั้น เราอย่าคาดหวังมากว่าเหตุการณ์ในพม่ามันจะกลับมาสู่ความปกติสุข เพราะเอาจริง ๆ ตั้งแต่เขาได้รับเอกราชมา ก็ไม่เคยมีความสงบสุขหรือความปกติเกิดขึ้นเลย แล้วถ้าหาก NUG ได้กลับมา [บริหารประเทศ] ไปไล่ดูรายชื่อแล้วจะพบว่าคนที่เข้าร่วมในตอนหลัง ส่วนใหญ่มาจากพรรค NLD (สันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย) หมดเลย จึงทำให้หลายฝ่ายมองว่า NUG ไม่ต่าง NLD ซึ่งทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ก็ไม่ยอมรับด้วย” ผศ.ดร.ลลิตา กล่าว