วันพฤหัสบดี, เมษายน 04, 2567

เช็กสถานการณ์คดีการเมือง - การคุกคาม ปชช. หลังรัฐบาล ‘เศรษฐา’ ทำงานกว่า 7 เดือน ยัง ‘น่ากังวล’ เพราะยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลง ‘เชิงบวก’ เกิดขึ้นอย่างที่ประชาชนหลายคนตั้งความหวังไว้


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
11h
·
เช็กสถานการณ์คดีการเมือง - การคุกคาม ปชช.
หลังรัฐบาล ‘เศรษฐา’ ทำงานกว่า 7 เดือน
ระหว่างเปิดอภิปรายทั่วไป
.
นับตั้งแต่การจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรค ‘เพื่อไทย’ ได้สำเร็จและเข้ารับการถวายสัตย์ปฏิญาณตน เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2566 ปัจจุบัน (3 เม.ย. 2567) ผ่านมาเกือบ 7 เดือนแล้วที่รัฐบาลชุดปัจจุบันซึ่งนำโดย ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ได้ทำหน้าที่บริหารประเทศ
.
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการผลัดเปลี่ยนเป็นรัฐบาลนำโดยพรรคที่ขึ้นชื่อว่าเป็นพรรคการเมืองฝั่ง ‘ประชาธิปไตย’ มานานมากกว่า 2 ไตรมาสแล้ว แต่สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในมิติที่เกี่ยวกับคดีการเมืองยังคง ‘น่ากังวล’ เพราะยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลง ‘เชิงบวก’ เกิดขึ้นอย่างที่ประชาชนหลายคนตั้งความหวังไว้
.
สถานการณ์ราว 7 เดือนที่ผ่านมา โดยภาพรวมยังคงมีประชาชนทยอยถูกคุมขังในคดีการเมืองทุกเดือน ผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองเมื่อถูกคุมขังในเรือนจำแล้วก็ยากจะได้รับสิทธิประกันตัว ทั้งยังคงมีประชาชนถูกดำเนินคดีจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แสดงความคิดเห็น และชุมนุมโดยสงบ ตลอดจนยังคงมีประชาชนถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามคุกคาม ไปหาถึงบ้านอย่างต่อเนื่อง
.
.
ประชาชนยังคงถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตาม - คุกคาม : อย่างน้อย 144 กรณี
.
ภายใต้การบริหารของรัฐบาลเศรษฐา ยังคงมีรายงานจากประชาชนและนักกิจกรรมจากหลายพื้นที่ทั่วประเทศว่า ถูกเจ้าหน้าที่รัฐไปติดตามคุกคามในเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมือง จำนวนไม่น้อยกว่า 144 กรณี หรือคิดเป็นค่าเฉลี่ยกว่า 20 กรณีต่อเดือน
.
การติดตาม - คุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าว มีหลายรูปแบบด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการไปหาถึงบ้านพักหรือที่ทำงาน ติดตามสอดแนมระหว่างกิจกรรมหรือบริเวณที่พักอาศัย การเรียกมาพูดคุยและโทรติดต่อสอบถามข้อมูล หรือแม้กระทั่งการเข้าแทรกแซง รบกวน ปิดกั้นกิจกรรม
.
ตัวอย่างเช่น การที่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นตำรวจนอกหรือในเครื่องแบบ หรือตำรวจสันติบาล เดินทางไปพูดคุย ถ่ายภาพ สอบถามข้อมูลส่วนตัวของประชาชนและนักกิจกรรมที่ตั้งโต๊ะล่ารายชื่อสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน เมื่อช่วงวันที่ 1-14 ก.พ. ที่ผ่านมา บางกรณีเจ้าหน้าที่รัฐเดินทางไปถึงบ้านพัก รวมถึงมีกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐเจรจาไม่ให้จัดกิจกรรมในแคมเปญนี้ด้วย แม้ว่าการเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรนั้นจะเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญก็ตาม (ย้อนดูประมวลสถานการณ์)
.
รวมถึงมีหลายกรณีที่ประชาชนและนักกิจกรรมถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามไปพบตัว ในช่วงที่จะมีสมาชิกราชวงศ์หรือบุคคลสำคัญทางการเมืองเดินทางไปในพื้นที่นั้น ๆ เพื่อตรวจสอบความเคลื่อนไหว แม้แต่กรณีที่เป็นการเดินทางไปในพื้นที่ของ ‘เศรษฐา’ เองก็ตาม
.
.
ประชาชน - นักกิจกรรมยังทยอย ‘ถูกคุมขัง’ เกือบทุกสัปดาห์ สิทธิประกันยังเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะคดี ม.112
.
ตลอดเกือบ 7 เดือนที่ผ่านมา มีประชาชนและนักกิจกรรมทางการเมืองยังคงทยอย ‘ถูกคุมขัง’ ในเรือนจำจากคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง จำนวนอย่างน้อย 24 คน เฉลี่ยเดือนละประมาณ 3 - 4 คน ในจำนวนทั้งหมดนี้เป็นคดีที่มีข้อกล่าวหาหลักเป็นมาตรา 112 อย่างน้อย 18 คน
.
ในกลุ่มจำเลยหรือผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ที่ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวในตอนแรกและต้องเข้าเรือนจำนั้น พบว่าในช่วงรัฐบาลใหม่ ไม่มีกรณีที่ศาลเปลี่ยนแปลงคำสั่งเกิดขึ้นเลย ส่วนคดีข้อหาอื่นมีเพียง 6 คนเท่านั้นที่ศาลอนุญาตให้ประกันตัวภายหลังจากถูกคุมขังไปเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ทำให้ผู้ต้องขังการเมืองส่วนใหญ่ถูกคุมขังยาวนาน แม้ว่าคดีความจะยังคงไม่สิ้นสุด บางคดีศาลยังไม่มีคำพิพากษา ส่วนใหญ่ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี รายงานตัวและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเสมอมาก็ตาม ขณะที่การไม่ได้ประกันตัว ทำให้บางคนก็ตัดสินใจไม่ต่อสู้คดีต่อในศาลชั้นสูงขึ้นไปอีกด้วย
.
การมีคนต้องถูกคุมขังอย่างต่อเนื่อง นั่นทำให้ถึงสิ้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา จำนวนผู้ต้องขังทางการเมืองทั้งระหว่างต่อสู้คดีและคดีสิ้นสุดแล้วพุ่งสูงถึง 45 คนแล้ว ซึ่งนับว่ามากที่สุดในรอบอย่างน้อย 4 ปี
.
สิทธิประกันตัวเป็นเรื่องยากเข็ญ แม้แต่กับกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็น ‘ประชาชนธรรมดา’ ไม่ได้มีอำนาจกำหนดวาระทางการเมืองหรือไม่ได้มีคนรู้จักมากมาย หรือแม้ว่าเหตุในคดีหลายคนมองว่าไม่ได้ร้ายแรงขนาดกับต้องถูกคุมขังระหว่างการต่อสู้คดีหรือถูกจำคุกด้วยโทษสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น อาทิ กรณี ‘วารุณี’ ประชาชน ถูกพิพากษาจำคุก 1 ปี 6 เดือน คดีโพสต์รูปพระแก้วมรกตสวมชุดกระโปรง, กรณี ‘กัลยา’ อดีตพนักงานราชการ ถูกพิพากษาจำคุก 6 ปี คดีโพสต์เฟซบุ๊ก 4 ข้อความ, “แม็กกี้” พนักงานรับจ้าง ถูกพิพากษาจำคุก 25 ปี เพราะทวีต 18 ข้อความ ฯลฯ
.
นอกจากนี้ รัฐบาลชุดนี้ยังไม่เคยให้ความเห็น หรือมีท่าทีตอบสนองต่อข้อเรียกร้องและการประท้วงของผู้ต้องขังการเมืองในเรือนจำ ‘แม้แต่ครั้งเดียว’ โดยตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค. จนถึงปัจจุบันมีผู้ต้องขังการเมือง อย่างน้อย 4 คน อดอาหารประท้วง ได้แก่ บุ้ง ตะวัน แฟรงค์ และบัสบาส
.
ข้อเรียกร้องส่วนหนึ่งของพวกเขาทั้ง 4 คนเป็นการเรียกร้องโดยตรงต่อฝ่ายบริหาร ยกตัวอย่างเช่นข้อเรียกร้องคัดค้านว่า ‘ประเทศไทยไม่สมควรเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ’ เพราะจนถึงปัจจุบันรัฐบาลไทยยังคงไม่จัดการหรือแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนหลายอย่าง ซึ่งหนึ่งในนั้นปัญหาคดีการเมืองและผู้ต้องขังการเมือง
.
ส่วนข้อเรียกร้องอื่น ๆ อย่างการขอให้คืนสิทธิประกันตัว หรือปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม แม้ว่าฝ่ายบริหารจะไม่ได้มีอำนาจในเรื่องนี้โดยตรง แต่รัฐบาลก็สามารถออกนโยบายหรือสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชะลอคดีความที่ยังอยู่ในชั้นตำรวจและอัยการไว้ก่อน ในช่วงที่รอการพิจารณาเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม หรือไม่ยื่นขอฝากขังผู้ต้องหาคดีทางการเมืองต่อศาล หากว่าผู้ถูกกล่าวหาเดินทางไปตามนัดหมายทุกครั้ง ไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี และไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน
.
.
คดีการเมืองยังคงมีเพิ่มขึ้น แจ้งข้อหาคดีชุมนุมคดีแรกในรัฐบาล
คดี ม.112 ทะลุ 300 คดีแล้ว
.
ประชาชนยังคงถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง โดยพบว่าตลอดเกือบ 7 เดือน ในรัฐบาลเศรษฐามีคดีการเมืองเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 39 คดี เป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 15 คดี และในจำนวน 35 คดีนี้มีมูลเหตุเกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลเศรษฐา จำนวน 10 คดี
.
นั่นทำให้นับตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบันมีคดีการเมืองสะสมอย่างน้อย 1,293 คดี โดยที่เป็นคดีที่ยังไม่สิ้นสุด 748 คดี ในจำนวนนี้เป็นยอดคดีมาตรา 112 ที่ทะลุเป็น 301 คดี เรียบร้อยแล้ว
.
ล่าสุดตำรวจยังมีการแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ต่อแกนนำของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) 2 คน จากกรณีการชุมนุม #พีมูฟทวงสิทธิ ซึ่งเป็นการชุมนุมติดตามประเด็นปัญหาที่ดินและทรัพยากรของเครือข่ายประชาชนที่ข้างทำเนียบรัฐบาล ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 โดยแจ้งข้อหาแยกเป็น 4 คดี เท่าที่ทราบข้อมูล ชุดคดีนี้นับเป็นคดีจากการชุมนุมในช่วงรัฐบาลนี้คดีแรก หลังจากก่อนหน้านี้มีคดีที่เป็นการแจ้งข้อกล่าวหาย้อนหลังไปจากเหตุการชุมนุมที่เกิดก่อนการตั้งรัฐบาล
.
แม้ดูเหมือนว่าจะเป็นตัวเลขที่ไม่ได้มากเท่าไหร่เมื่อเทียบกับจำนวนคดีที่เกิดขึ้นก่อนหน้าในยุคสมัยของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ก็สะท้อนว่าสถานการณ์การดำเนินคดีทางการเมืองยังคงไม่มีแนวโน้มจะยุติลงเสียทีเดียว ในรัฐบาลชุดนี้ ยังคงมีคดีการเมืองเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ พนักงานสอบสวนยังคงสั่งฟ้องคดีต่อพนักงานอัยการ ศาลยังคงอนุมัติออกหมายจับหรืออนุญาตให้ฝากขัง รวมทั้งไม่ให้ประกันตัวจำนวนไม่น้อย อัยการยังคงยื่นฟ้องคดีต่อศาล และคดีความในชั้นศาลยังคงดำเนินการพิจารณาคดีและทยอยมีคำพิพากษาตามลำดับ ภายใต้ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังดำรงอยู่ต่อไป
.
.
อ่านบนเว็บไซต์ : https://tlhr2014.com/archives/66097
.....