วันอังคาร, เมษายน 16, 2567

ในแถลงการณ์ล่าสุดจากรัฐบาลต่อโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ที่ผ่านมา ยังได้มีการกล่าวถึง “ซูเปอร์แอป” (Super App) ที่จะใช้เป็นแพลตฟอร์มตัวกลางในการกระจายเม็ดเงินดังกล่าว (1 รัฐบาลใหม่ 1 แอพฯใหม่ ทำไมรัฐออกโครงการใหม่ต้องออกแอปใหม่ หรือ เงินภาษีนี่มันหอมหวานจริงๆ)



“ซูเปอร์แอป” สร้างยากแค่ไหน ทำไมนักพัฒนาฯ กังวลความสามารถรัฐ

ปณิศา เอมโอชา
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
14 เมษายน 2024

ในแถลงการณ์ล่าสุดจากรัฐบาลต่อโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ที่ผ่านมา หลักเกณฑ์ต่าง ๆ มีการปรับเปลี่ยนไปหลายประการจากที่เคยแถลงครั้งแรกเมื่อเดือน พ.ย. ปีก่อน

ทว่านอกเหนือจากการอธิบายที่มาของเม็ดเงิน 500,000 ล้านบาท ที่เตรียมไว้รองรับผู้มีสิทธิได้รับเงิน 50 ล้านคนแล้ว ยังได้มีการกล่าวถึง “ซูเปอร์แอป” (Super App) ที่จะใช้เป็นแพลตฟอร์มตัวกลางในการกระจายเม็ดเงินดังกล่าว แทนที่แอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" ที่มีฐานข้อมูลผู้ใช้อยู่แล้วด้วย

บีบีซีไทยได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาแอปพลิเคชันใหม่ ประเด็นที่ท้าทาย รวมถึงศักยภาพของผู้พัฒนา ที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง "ซูเปอร์แอป" ของรัฐบาลในครั้งนี้

“ซูเปอร์แอป” คืออะไร

บริษัทให้คำปรึกษาและวิจัยด้านเทคโนโลยีอย่าง Gartner ระบุว่า “ซูเปอร์แอป” อาจเทียบได้กับ “มีดพับสวิส” ซึ่งมีเครื่องมือย่อย ๆ หรือในที่นี้คือแอปพลิเคชันย่อย ๆ ให้ผู้ใช้งานได้เลือกใช้ และสิ่งที่ทำให้ซูเปอร์แอปเป็นที่นิยมก็เป็นเพราะคนรุ่นใหม่ที่เกิดมาในยุคของสมาร์ทโฟนที่ชื่นชอบความสะดวกสบาย

ด้านนิตยสาร Harvard Business Review เขียนอธิบายไว้ว่า ซูเปอร์แอป คือแอปพลิเคชันหนึ่งที่ให้บริการหลากหลายอย่างรวมอยู่ไว้ในที่เดียว

ตัวอย่างหนึ่งของแอปฯ ในลักษณะนี้คือ WeChat ซึ่งหากไม่ใช่ซูเปอร์แอปแรกของโลก ก็นับว่าเป็นตัวอย่างแรก ๆ ที่ปูทางและประสบความสำเร็จมากที่สุด

WeChat ถูกเผยแพร่ให้ดาวน์โหลดครั้งแรกเมื่อปี 2011 ภายใต้บริษัทแม่อย่างเทนเซนต์ (Tencent) ผ่านมือของ อัลเลน จาง (Allen Zhang) ในฐานะแอปพลิเคชันส่งข้อความ 11 ปี ให้หลัง WeChat มีตัวเลขผู้ใช้งานถึง 1,313 ล้านผู้ใช้งาน ตามข้อมูลล่าสุดที่มีการเผยแพร่จากเทนเซนต์และรวบรวมโดย Business of Apps

ตัวชี้วัดที่ง่ายที่สุดในความเป็น “ซูเปอร์แอป” ของ WeChat คือสถิติล่าสุดในไตรมาส 3/2023 ที่พบว่า ผู้ใช้งาน WeChat ในประเทศจีน ใช้เวลาอยู่บนแอปฯ นี้มากถึง 1 ชั่วโมง 20 นาที ต่อวัน และ 88% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าพวกเขาใช้แอปฯ ดังกล่าวทุกวัน ตามข้อมูลจาก Statista


การทำธุรกรรมทางการเงินในชีวิตประจำวันผ่าน WeChat เป็นสิ่งที่เห็นได้ทั่วไปในประเทศจีน

WeChat พัฒนาตัวเองขึ้นมาจากการเป็นแอปฯ ส่งข้อความธรรมดา มาเป็นแพลตฟอร์มเปิดให้แอปฯ อื่น ๆ เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มของตนเอง จนสร้างเป็นระบบนิเวศน์ที่ ‘รับจบ’ ทุกความต้องการของผู้ใช้งาน

ซูเปอร์แอปของไทยและในไทย

“คำว่าซูเปอร์แอป แปลว่ามันเป็นสถานที่กลาง มีบริการที่หลากหลายอยู่ในแอปฯ เดียวกัน” สมคิด จิรานันตรัตน์ ที่ปรึกษาบริษัทอะไรส์ บาย อินฟินิธัส จำกัด ซึ่งมีธนาคารกรุงไทยถือหุ้นอยู่ 51% และเป็นผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน 'เป๋าตัง' ที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 40 ล้านคน สรุป ก่อนจะกลับมาเทียบว่าในไทยอาจมีแอปพลิเคชันอย่าง “เป๋าตัง” และ “LINE” ที่มีลักษณะเทียบเคียงได้

เขาอธิบายว่า ไม่ว่าจะแอปพลิเคชันไหน ๆ ก็ไม่ได้เริ่มต้นจากการเป็นซูเปอร์แอป กรณีของ 'เป๋าตัง' ที่เขาปลุกปั้นมากับมือก็เช่นกัน



เป๋าตังเริ่มต้นจากการเป็นแอปพลิเคชันที่รองรับโครงการต่าง ๆ ของรัฐ ทั้ง ชิมช้อปใช้ คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน เราไม่ทิ้งกัน มาจนถึง เราชนะ โดยสถานะตอนแรกเป็นเพียงกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการควบคุมดูแลโดยรัฐบาลเท่านั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป มีการปรับโครงสร้างพื้นฐานของแอปฯ ให้รองรับผู้ใช้งานได้มากขึ้น เป๋าตังจึงค่อย ๆ ใหญ่ขึ้น และให้บริการอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับนโยบายของภาครัฐโดยตรง

“เป๋าตังเริ่มจากแอปฯ พื้นฐาน ให้บริการแค่ 1-2 อย่าง ไม่ใช่อยู่ ๆ เป๋าตัง บอกว่าเปิดวันนี้วันแรกจะเป็นซูเปอร์แอป มันใช้เวลาเดินทาง 4-5 ปี” สมคิด ระบุ

เหตุที่บริษัทผู้พัฒนาแอปพลิเคชันที่อาจมีทุนทรัพย์มากพอหรือมองว่าตัวเองมีความสามารถพอ แต่ไม่สามารถเริ่มต้นจากการเป็นซูเปอร์แอปเลยตั้งแต่แรก ในมุมมองของ ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ รองคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม และซีอีโอและผู้ก่อตั้งแอปพลิเคชัน iTAX ระบุว่าเป็นเพราะ การเริ่มต้นพัฒนาแอปฯ โดยบอกว่าตนเองทำได้ทุกอย่างอาจเสี่ยงทำให้ผู้ใช้งานจำไม่ได้ว่าสรุปแอปฯ นั้น ๆ ทำอะไรได้กันแน่

“ต้นกำเนิดของซูเปอร์แอปทุกตัว มันต้องเกิดจากการเป็นแอปฯ หนึ่งที่ทำหน้าที่หนึ่งให้ได้ก่อน”

ผู้ก่อตั้ง iTax อธิบายต่อว่า เมื่อแอปฯ หนึ่ง ๆ ทำหน้าที่ของตัวเองได้ดีแล้ว มียอดผู้ใช้งานเข้ามามากขึ้น จึงค่อยมามองหาหนทางพัฒนาต่อยอดว่า สามารถทำอะไรเพิ่มขึ้นได้ไหม เช่นจากกรณีของ WeChat บริษัทจึงเริ่มมองเรื่องช่องทางการชำระเงินต่อ ๆ มา

“การเป็นซูเปอร์แอปตั้งแต่วันแรก โดยมากไม่ค่อยเกิด” ผศ.ดร.ยุทธนา กล่าว

ปัดฝุ่นแอปฯ ที่มีอยู่มาใช้งาน - ‘ทางรัฐ’

ในแถลงการณ์ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 10 เม.ย. นั้น นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าการจัดทำระบบสำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้น จะเป็นการพัฒนาโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม “โดยมีเป้าหมายให้เป็น Super App ของรัฐบาล”

ต่อมาในวันที่ 11 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่ารัฐบาลจะใช้แอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ สพร. อยู่แล้ว และเริ่มเปิดให้บริการประชาชนมาตั้งแต่เดือน ก.ย. 2564 เป็นแอปฯ หลัก ไม่ใช่การสร้างแอปฯ ใหม่ขึ้นมาจากศูนย์อย่างที่หลายคนเคยเข้าใจ

ปัจจุบันแอปฯ ทางรัฐ รองรับการให้บริการหลากหลายรูปแบบจากองค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ อาทิ การตรวจสอบข้อมูลทะเบียนรถ บริการอบรมออนไลน์ต่อใบขับขี่ การตรวจสอบสิทธิการรักษาพยาบาล ไปจนถึงบริการของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

แอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” เริ่มเปิดให้บริการประชาชนมาตั้งแต่เดือน ก.ย. 2564

ผศ.ดร.ยุทธนา ในฐานะที่สวมหมวกเป็นนายกสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทยด้วย อธิบายว่า มีความเป็นไปได้ที่แม้จะมีการสั่งการให้ สพร. และกระทรวงดิจิทัลฯ เป็นผู้รับผิดชอบ แต่ก็อาจต้องไปจบที่การว่าจ้างภาคเอกชนเข้ามาช่วยพัฒนาผ่านการประมูลงาน ซึ่งเขาอธิบายว่า ที่เขาประเมินเช่นนั้น ไม่ใช่ว่าฝั่งรัฐบาลไม่มีบุคลากรเก่ง ๆ เพียงแต่หากก่อนหน้านี้หน่วยงานของรัฐไม่ได้เน้นที่การพัฒนาแอปพลิเคชัน การจะจ้างโปรแกรมเมอร์มาเป็นพนักงานประจำก็อาจจะไม่จำเป็น

"เราเข้าใจว่าวันนี้ถ้ายังไม่มี (โปรแกรมเมอร์ประจำ) แล้วจะทำ (แอปพลิเคชัน) ให้เร็ว โดยมากเขาจะใช้วิธีขึ้นให้เร็วที่สุดก่อน ก็คือไปหาทีมที่เขามีประสบการณ์ ตอนนี้เชื่อว่าถ้าทำคงไม่ได้จ้าง full-time หรอก คิดว่าไปจ้าง part-time หรือไปหาผู้รับจ้าง เปิด TOR (เอกสารที่กำหนดขอบเขตและรายละเอียด) แล้วก็ทำกันมากกว่า"

เขาเสริมว่าหากยกตัวอย่างจากข้อมูลที่เขามีตอนนี้ จากสมาชิกสมาคมที่เป็นสตาร์ทอัพราว 200 ราย จะมีสตาร์ทอัพที่มีผู้ใช้งานแอปพลิเคชันเกินหนึ่งล้านคนอยู่ประมาณ 10 ราย แต่ก็เสริมว่า หากภาครัฐจะให้เอกชนขนาดใหญ่เข้ามาช่วยพัฒนาก็เป็นไปได้

“แต่องค์กรที่ทำได้ถึง 50 ล้านคน เรายังนึกไม่ออกเหมือนกัน ใกล้เคียงที่สุดก็คือกรุงไทยที่เขาทำเป๋าตังนี่ใกล้เคียงที่สุดแล้ว 40 ล้านคน” ผศ.ดร.ยุทธนา กล่าว

ความท้าทาย เมื่อแอปฯ มี ‘ความซับซ้อนสูง’


ในฐานะผู้ปลุกปั้นแอปพลิเคชันที่เหมือนจะใกล้เคียงการสามารถรองรับการใช้งานของผู้ใช้ราว 50 ล้านคนได้มากที่สุด สมคิดตั้งคำถามว่า รัฐบาลแน่ใจใช่หรือไม่ว่าหน่วยงานที่ภาครัฐสั่งการให้เป็นผู้รับผิดชอบนั้นมีความรู้และประสบการณ์ในการทำแอปพลิเคชันมากเพียงพอ

เมื่อบีบีซีไทยถามว่า อะไรบ้างที่อาจเป็นความท้าทายของการพัฒนาแอปฯ ขึ้นมารองรับระบบเงินดิจิทัล 10,000 บาท เขาตอบว่า อันดับแรกคือการรองรับผู้ใช้งาน 50 ล้านคน ซึ่งต้องใช้โครงสร้างระบบสถาปัตยกรรมการสร้างที่เพียงพอ

อันดับที่สองคือระบบการพิสูจน์ตัวตนแล้วยืนยันว่าเป็นผู้ที่มีสิทธิรับเงินจริง ๆ

ปัจจุบัน แอปฯ 'ทางรัฐ' มีตัวเลขผู้ดาวน์โหลดแอปฯ บนกูเกิลเพลย์มากกว่า 500,000 ครั้ง ทว่าไม่มีการเปิดเผยตัวเลขผู้ดาวน์โหลดแอปฯ จากฝั่งแอปเปิลสโตร์ ทั้งนี้แอปฯ ทางรัฐ ได้คะแนนการรีวิวบนแอปสโตร์เพียง 2.6/5 คะแนน

โดยผู้ที่ให้คะแนนหนึ่งถึงสองดาวจำนวนหนึ่งระบุว่า แอปพลิเคชันมีปัญหากับระบบการลงทะเบียน ทั้งการแสกนใบหน้า ซึ่งเป็นหนึ่งในระบบยืนยันตัวตนสำคัญของแอปฯ และการแสกนบัตรประชาชนหรือเอกสารต่าง ๆ


ผู้ดาวน์โหลดแอปฯ ทางรัฐ ไปใช้บางส่วนระบุว่า แอปฯ ยังมีปัญหาในหลายจุด

ความท้าทายประการต่อมาคือการออกแบบระบบที่รองรับเงื่อนไขการใช้จ่ายเงินของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่มีความซับซ้อนในฝั่งของร้านค้า นั่นคือจะถอนเงินสดได้ก็ต่อเมื่อมีการใช้จ่ายรอบที่สองขึ้นไป

สมคิด อธิบายต่อไปว่า กรณีที่เป็นร้านค้าเล็ก ๆ ผู้ค้าเองก็อาจจะได้เงินสนับสนุน 10,000 บาทด้วย ดังนั้นจึงจะมีทั้งก้อนเงินที่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ ก้อนเงินแรกที่ได้จากผู้ซื้อสินค้าที่รัฐห้ามถอนออกมาต้องนำไปซื้อสินค้ามาขายต่อยอดอีกรอบหนึ่งก่อน ซึ่งเงินแต่ละก้อนก็มีเงื่อนไขที่ต่างกันออกไป เอามาปนกันไม่ได้ ซึ่งเขาย้ำว่า “มันก็ไม่ใช่ว่าเป็นระบบการเงินแบบทั่วไป มันก็ต้องทำเป็น ต้องเข้าใจและออกแบบให้มันไม่หลง”

“แล้วนอกจากเงินที่มีหลายก้อนแล้ว มันยังต้องมีเงินส่วนที่ต้องไปเบิกอีก ใช่ไหมครับ ว่าเงินที่จะต้องไปเบิก จะต้องตามไหมว่าเงินก้อนไหนไปเบิกกับงบตัวไหน ไปเบิกจาก ธ.ก.ส. หรือไปเบิกจากเงินของงบปี 2567 หรืองบ 2568 อันนี้มันก็เป็นความซับซ้อนตามมาอีก” สมคิด กล่าว

ในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ที่ผ่านมา มีการชี้แจงว่าแหล่งเงินของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมูลค่า 500,000 ล้านบาทนี้ จะมีแหล่งเงินทั้งหมด 3 ที่ ได้แก่:
  • เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท ซึ่งมีการขยายกรอบวงเงินไว้
  • การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ่ายให้กลุ่มประชาชนที่เป็นเกษตรกร จำนวน 17 ล้านคนเศษ โดยใช้ปีงบประมาณ 2568 ผ่านกลไกมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง 2561
  • เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท ซึ่งมาจากการบริหารจัดการของรัฐบาล โดยอาจรวมถึงงบกลางด้วย

เมื่อถามเรื่องไทม์ไลน์ในการพัฒนาระบบ สมคิดตอบว่า หากเป็นกรณีการต่อยอดจากแอปฯ เป๋าตัง อาจใช้เวลาราว 6-8 เดือน ส่วนถ้าเริ่มจากศูนย์อาจใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี เพราะต้องใช้เวลาในการทดสอบ ออกแบบ และทำให้มั่นใจว่าสิ่งที่ออกแบบมาทดสอบแล้วใช้ได้ ข้อมูลการเงินต่าง ๆ ทำออกมาได้ถูกต้อง ไม่สับสน และระบบสามารถที่จะยืนระยะได้ “ไม่ใช่ยืนสักพักแล้วล้มลงไป”



ความยากของการพัฒนาซูเปอร์แอปรัฐ

ที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด สมคิดย้ำว่า เป็นการคิดแค่พัฒนาแอปฯ เพื่อมารองรับแค่เพียงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตโครงการเดียวเท่านั้น ยังไม่นับการพัฒนาให้เป็นซูเปอร์แอป ซึ่งเขาชี้ว่าเป็นโครงการที่มีความสลับซับซ้อนของความต้องการสูงมาก

เขากล่าวว่าระบบใดก็ตามที่มีความซับซ้อนสูง แปลว่าความสามารถต้องสูงเท่าทัน ถ้าความสามารถต่ำ แต่ความซับซ้อนสูง โอกาสสำเร็จก็จะน้อยมาก ๆ เพราะฉะนั้นเราต้องพัฒนาความสามารถให้สูงกว่าความซับซ้อน โอกาสที่จะประสบความสำเร็จจึงจะมีสูง

“ทีนี้ใครจะเป็นคนประเมินว่าสิ่งที่คุณบอกมา ความต้องการที่คุณบอกมาซับซ้อนขนาดนี้ แล้วคนทำความสามารถขนาดไหน เอาอยู่ไหม ประสบการณ์และความรู้ที่เขาทำ เขาเอาอยู่ไหม คือเวลาพูดมันพูดได้หมดว่าจะเอาอะไรบ้าง แต่เวลาทำคุณประเมินยังไงว่าระบบที่จะทำ คุณเอาอยู่จริง ๆ นะ”



ในมุมมองของ ผศ.ดร.ยุทธนา เมื่อภาครัฐต้องการพัฒนาแอปพลิเคชันของตัวเองขึ้นมา ยังไม่ต้องมองเรื่องความเป็นซูเปอร์แอป แล้วต้องมีการจ้างภาคเอกชนเข้ามาช่วยพัฒนานั้น อาจเกิดปัญหาตามมาได้ 2 ประการ

ประการแรกคือ เมื่อเป็นการประมูลงานเข้ามา ก็ต้องมีการแข่งขันเรื่องราคา ซึ่งเขาตั้งคำถามว่า ถ้าต้องการแอปพลิเคชันที่ใช้งานได้ดี รองรับผู้ใช้งานได้จำนวนมหาศาล แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่มาพร้อมกับราคาที่ต้องจ่ายซึ่ง ผศ.ดร.ยุทธนา ตั้งคำถามว่ารัฐบาลจะยอมจ่ายได้หรือไม่

ประการที่สอง คือสิ่งที่เรียกว่า TOR (เอกสารที่กำหนดขอบเขตและรายละเอียด) ซึ่ง ผศ.ดร.ยุทธนา ยกตัวอย่างว่า หากมีการตกลงขอบเขตรายละเอียดแล้ว แต่ระหว่างการพัฒนาผู้พัฒนาพบว่าควรมีการปรับปรุงอื่น ๆ เพิ่มขึ้นมาที่อยู่นอกเหนือกับขอบเขตที่ตกลงกันเอาไว้ อาจทำให้เกิดความล่าช้าในการพัฒนาจากประเด็นเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างรอบใหม่

ซูเปอร์แอปของภาครัฐ



นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง อธิบายว่าเหตุผลหลักที่รัฐบาลปัจจุบันไม่ใช้แอปฯ เป๋าตัง นั้น “เนื่องจากแอปฯ ทางรัฐ เป็นแอปฯ ของรัฐจริง ๆ แต่เป๋าตังเป็นของแบงก์” นั่นคือเป็นของธนาคารกรุงไทย

ปัจจุบันธนาคารกรุงไทยมีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 55% รองลงมาคือ บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์จ จำกัด, บริษัท สเตท สตรีท ยุโรป ลิมิเต็ด และ สหกรณ์ออมทรัพย์การไฟฟ้า ฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำกัด ในสัดส่วน 7.62%, 3.22% และ 2.99% ตามลำดับ

ทั้งนี้ ธนาคารกรุงไทย ไม่ถือเป็นหน่วยงานของรัฐตามบทนิยามคำว่า “หน่วยงานของรัฐ”

ในฐานะนักพัฒนาแอปพลิเคชัน ผศ.ดร.ยุทธนา มองว่า หากรัฐบาลต้องการพัฒนาซูเปอร์แอปของภาครัฐขึ้นมาต่อยอดให้ได้นอกเหนือไปจากแค่โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ก็นับเป็นหลักการที่เป็นไปได้ แต่ต้องกลับมาถามว่าจะทำอย่างไรให้บริการภาครัฐทั้งหมดเข้าไปอยู่ในแอปฯ ดังกล่าว

“ตอนนี้ถ้าเราพูดกันตรง ๆ ระบบไอทีของทุก ๆ กระทรวง ทบวง กรม ไม่มีใครเป็นศูนย์กลางเลยนะครับ ทุกคนเป็นศูนย์กลางจักรวาลของตัวเองหมด สรรพากรก็มีแอปฯ ของสรรพากร สาธารณสุขก็มีแอปฯ ของสาธารณสุข กรมควบคุมโรคก็มีแอปฯ ของควบคุมโรค คือทุกที่มีแอปฯ ของตัวเองหมดเลย ทุกคนอยากมี ‘legacy’ ทุกคนอยากมีของตัวเองหมด ความยากก็คือ แล้วมันจะมารวมกันได้ยังไง”

https://www.bbc.com/thai/articles/czkv4v1r115o