วันอังคาร, เมษายน 16, 2567

มารู้จัก 'เมือง 15 นาที' แนวคิดการวางผังเมืองที่ทุกคนสามารถเดินไป ร้านค้า โรงเรียน สถานพยาบาล และสวนสาธารณะ ได้ภายใน 15 นาที ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ไอเดียก็คือ การที่คนต้องขับรถตลอดเวลา ทำให้คนไม่ได้เดิน ไม่ได้ออกกำลัง ถ้าทำแบบนี้ทั้งชีวิตจะทำให้สุขภาพไม่ดี


BrandThink
4d
·
SOCIETY: รู้จัก 'เมือง 15 นาที'
แนวคิดการวางผังเมืองที่ทุกคนสามารถเดินไป
ร้านค้า โรงเรียน สถานพยาบาล และสวนสาธารณะ
ได้ภายใน 15 นาที ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนก็ตาม
.
ถ้าคุณคิดว่าการเดินทางไกลๆ และต้องสู้กับรถติดคือความทุกข์ของชีวิต สิ่งที่เราจะเล่าต่อไปนี้อาจทำให้คุณมีความหวังขึ้นมาบ้าง
.
ในยุโรปเมื่อหลายปีก่อนเริ่มมีแนวคิดว่า เราควรจะเปลี่ยนหน้าตาของเมืองให้เป็นมิตรกับผู้อยู่อาศัยมากกว่าที่มันเป็นมาในตลอดศตวรรษที่ 20
.
เราต้องเริ่มก่อนว่า ผังเมืองสมัยใหม่ไม่น้อยได้รับอิทธิพลจากสังคมอเมริกัน ซึ่งเป็นสังคมที่เน้นการเดินทางโดยการขับรถยนต์ส่วนตัว ผังเมืองอเมริกาถูกวางโดยคิดว่าทุกคนมีรถยนต์ขับ จะไปไหนก็ต้องขับรถยนต์ และไอเดียแบบนี้ก็แพร่ไปทั่วโลกในช่วงสงครามเย็นอันเป็นช่วงพีกของอิทธิพลอเมริกัน
.
อย่างไรก็ดีในช่วงหลังๆ หลายประเทศหลายเมืองก็เริ่มตระหนักว่าการทำแบบนี้ไม่ได้สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในเมือง จึงเริ่มมีการวางผังเมืองใหม่
.
ไอเดียก็คือ การที่คนต้องขับรถตลอดเวลา ทำให้คนไม่ได้เดิน ไม่ได้ออกกำลัง ถ้าทำแบบนี้ทั้งชีวิตจะทำให้สุขภาพไม่ดี แต่ที่คนต้องขับรถ เพราะสิ่งต่างๆ มันเข้าถึงได้ด้วยการขับรถเท่านั้น ปัญหาจึงเป็นงูกินหาง ดังนั้นการวางผังเมืองใหม่เลยมุ่งเน้นว่า ทุกคนที่อาศัยอยู่ในเมืองจะต้องสามารถเข้าถึง 'บริการสาธารณะที่จำเป็น' ทั้งหลายได้ด้วยการเดิน ซึ่งนั่นคือการวางจุดบริการสาธารณะต่างๆ เพิ่มให้คนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
.
ประเทศแรกๆ ที่ทำแบบนี้คือเนเธอร์แลนด์ แต่สิ่งที่เนเธอร์แลนด์ทำคือการประยุกต์ว่าไม่จำเป็นต้องเดิน แต่ใช้ปั่นจักรยานแทนก็ได้ โดยอูเทรกต์ (Utrecht) ของเนเธอร์แลนด์น่าจะเป็นเมืองแรกๆ ในโลกที่สามารถเคลมว่าทุกจุดในเมืองสามารถเดินทางไปรับบริการสาธารณะที่จำเป็นได้ภายใน 15 นาที
.
อย่างไรก็ดี คนแรกๆ ที่พูดถึง 'เมือง 15 นาที' (15-Minute City) ในแบบคอนเซ็ปต์เลย คือนักวิชาการด้านการวางผังเมืองจากมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ (Sorbonne University) ของฝรั่งเศส นามว่า ‘การ์ลอส โมเรโน’ (Carlos Moreno) เขาเสนอไอเดียนี้ขึ้นในปี 2016 โดยให้นิยามชัดๆ ว่า 'เมือง 15 นาที' คือเมืองที่ทุกคนในเมืองสามารถ 'เดิน' ไปร้านค้า โรงเรียน สถานพยาบาล สวนสาธารณะ ร้านอาหาร โรงยิม และสถาบันทางศิลปวัฒนธรรม ได้ภายใน 15 นาที โดยบังเอิญมากๆ ที่ในปีเดียวกันนี้เมืองเซี่ยงไฮ้ของจีนก็ประกาศแผนจะทำให้คนของเขาเข้าถึงบริการสาธารณะต่างๆ ได้ในระยะเดิน 15 นาทีจากทุกจุดในเมืองเช่นกัน โดยของจีนจะเรียกไอเดียนี้ว่า ‘Community Life Circle’ หรือเป็นภาษาจีนกลางว่า 社区生活圈 (อ่านว่า ‘เช่อชูเชิงหัวชวน’)
.
หลังจากนั้นไอเดียก็ก่อตัวมาเรื่อยๆ ในวงวิชาการ และมีการพูดคุยกันเป็นประจำ จนมาโด่งดังในระดับสาธารณะเมื่อ ‘อานน์ อิดาลโก’ (ANNE HIDALGO) แห่งพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศส หาเสียงเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กรุงปารีสสมัยที่ 2 ด้วยคอนเซ็ปต์ 'เมือง 15 นาที' ในแบบของโมเรโน และนี่จึงทำให้ไอเดียนี้ยิ่งขยายกว้างออกไป
.
ณ ปัจจุบัน ไอเดีย 'เมือง 15 นาที' มีรูปแบบย่อยๆ หลากหลาย มีทั้งไอเดียเมือง 10 นาที | เมือง 1 ไมล์ | เมือง 20 นาที ฯลฯ
.
ระยะเดินทางก็เป็นการเดินเท้าบ้างและจักรยานบ้าง แต่ไอเดียรวมๆ เหมือนกัน คือ การออกแบบให้คนสามารถเข้าถึงสิ่งจำเป็นต่อชีวิตในระยะที่เดินได้ เพื่อให้คนจำเป็นต้องใช้รถยนต์น้อยลง ซึ่งนั่นจะทำให้คนสุขภาพดีขึ้น และอากาศก็จะดีขึ้นด้วย
.
และปัจจุบันนี้ก็มีเมืองที่พยายามจะเปลี่ยนไปแบบนี้อีกหลายเมือง ในยุโรปมีเยอะมาก ทั้งที่ทำไปแล้วและกำลังทำ ในตะวันออกกลางประเทศที่มีเมืองที่พยายามจะวางผังเมืองใหม่ไปในแนวทางนี้ ก็เช่นที่อิสราเอลและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือกระทั่งประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ ก็มีความพยายามจะทำแบบนี้เช่นกัน โดยสิงคโปร์นั้นวางแผนจะทำให้สำเร็จภายในปี 2040
.
เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะในอนาคตในเมืองไทยไม่ช้าก็เร็ว ก็น่าจะมีการพูดคุยกันในประเด็นพวกนี้มากขึ้น
.
ทั้งนี้ ก่อนที่ประเด็นเหล่านี้จะมาถึงบ้านเรา ก็ต้องบอกก่อนว่า แม้ว่าจะฟังดูดีกับไอเดียเรื่อง 'เมือง 15 นาที' แต่ก็ถูกฝ่ายอนุรักษนิยมในโลกภาษาอังกฤษโจมตีหนักมากๆ ว่าเป็นแนวคิด 'สังคมนิยม' ที่ว่ากันไปใหญ่โตว่าเป็นแผนการลิดรอนสิทธิคนขับรถยนต์ ไปจนถึงเป็นแผนที่รัฐจะ 'ขัง' คนไว้ในพื้นที่ชุมชนแคบๆ จะได้ควบคุมง่ายๆ ซึ่งก็แน่นอน มันไม่มี 'หลักฐาน' มายืนยันจะเป็นแบบนั้นจริง
.
สำหรับชาวไทยเอง เราคงเห็นว่าเริ่มมีการพูดคุยในแง่ของผังเมืองและแนวคิดเมืองเดินได้กันมากขึ้นเรื่อยๆ แต่อย่างไรก็ตามหัวเมืองใหญ่โดยเฉพาะกรุงเทพฯ เอง ยังมีอีกหลากหลายเงื่อนไขกว่าจะไปถึงจุดนั้น เอาเป็นว่าเราก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่า ทางผู้เกี่ยวข้องจะมีแนวทางยกระดับความเป็นอยู่ของคนเมืองให้ดีขึ้นอย่างไรกันได้บ้างในอนาคต
.
#SOCIETY #BrandThink #CreativeChange
#Empowering #Diversity #PositiveImpact