วันพุธ, กุมภาพันธ์ 14, 2567

ภาพ ต้นฉบับ แม็กนา คาร์ตา (Magna Carta – “มหากฎบัตร”) เอกสารที่นับเป็นครั้งแรกที่มีการระบุเป็นลายลักษณ์อักษรว่า กษัตริย์จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ไม่ใช่อยู่เหนือกฎหมายหรือ “ข้าคือกฎหมาย”


โลกในนิทรรศการ - World in Exhibits is at British Library.
April 16, 2015 · · London, United Kingdom ·

ภาพ: ต้นฉบับ แม็กนา คาร์ตา (Magna Carta – “มหากฎบัตร”) ปี ค.ศ. 1215
สถานที่: ห้องสมุดสหราชอาณาจักร (British Library) กรุงลอนดอน อังกฤษ
วันที่ 15 มิถุนายน 1215 ณ ทุ่งรันนีมีด (Runnymede) ติดกับพระราชวังวินด์เซอร์ พระเจ้าจอห์นแห่งจักรวรรดิอังกฤษ ทรงจรดปากกาขนนกลงพระประมาภิไธยอย่างไม่เต็มใจใน “แม็กนา คาร์ตา” หรือ “มหากฎบัตร”
เมื่อกรุงลอนดอนถูกกองกำลังของเหล่าขุนนางที่โกรธแค้นกับความหน้าเลือดและรีดนาทาเร้นไม่เลือกหน้าของพระเจ้าแผ่นดินกรีฑาทัพเข้ายึด วังหลวงถูกปิดล้อม พระเจ้าจอห์นก็ทรงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะยอมเจรจา
นับเป็นครั้งแรกที่มีการระบุเป็นลายลักษณ์อักษรว่า กษัตริย์จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ไม่ใช่อยู่เหนือกฎหมายหรือประกาศว่า “ข้าคือกฎหมาย”
อีกทั้งเป็นครั้งแรกที่บัญญัติการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล โดย “จะไม่มีบุคคลที่ถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวโดยปราศจากอิสรภาพ หรือถูกยึดหรือกรรโชกทรัพย์สินโดยปราศจากคำตัดสินของศาล”
กษัตริย์จะทรงเรียกเก็บภาษีตามพระราชหฤทัยไม่ได้ ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาบริหารราชการแผ่นดิน (The Great Council of the Nation ประกอบด้วยขุนนางระดับบารอน 25 คน) ก่อน
ถึงแม้ แม็กนา คาร์ตา จะมีอายุไม่ถึง 12 สัปดาห์ หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายไม่มีใครปฏิบัติตามตัวบท จนพระสันตปาปา อินโนเซ้นท์ที่สาม ประกาศให้มันเป็นโมฆะในเดือนกันยายน 1215 เนื้อหาในต้นฉบับก็ถูกนำมาปัดฝุ่นและประกาศใช้เป็นระยะๆ ตลอดศตวรรษที่สิบสาม เมื่อกษัตริย์ขัดแย้งกับขุนนางอย่างต่อเนื่อง จนสุดท้าย แม็กนา คาร์ตา ฉบับปี 1297 ก็ถูกผนวกเข้าอยู่ในสารบบกฎหมายอังกฤษอย่างเป็นทางการ ในรัชสมัยของพระเจ้าเอ็ดวาร์ดที่หนึ่ง พระราชนัดดาของพระเจ้าจอห์น
แท้ที่จริง แม็กนา คาร์ตา เป็นเรื่องของการต่อรองโครงสร้างอำนาจใหม่ระหว่างกษัตริย์กับชนชั้นสูงเท่านั้น ไม่ใช่การคุ้มครองสิทธิของประชาชนทุกคนทุกหย่อมหญ้า
เพราะ “เสรีชน” (free men) ซึ่ง แม็กนา คาร์ตา คุ้มครอง หมายถึงขุนนางและเจ้าที่ดินซึ่งมีเพียงหยิบมือเดียวในประเทศ คนส่วนใหญ่ในยุคศักดินายังเป็นชาวนา “ข้ารับใช้” (serf) ขุนนาง มิใช่เสรีชนแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี หลายร้อยปีต่อมาระหว่างที่ทั่วโลกเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงออกจากระบอบศักดินา แม็กนา คาร์ตา ก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพ เป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการประกาศเอกราชและการเขียนรัฐธรรมนูญทั่วโลก
บารอน อัลเฟรด เดนนิง ผู้พิพากษาศาลฏีกาอังกฤษ อธิบายสั้นๆ ว่า แม็กนา คาร์ตา “คือเอกสารรัฐธรรมนูญที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ – มันวางรากฐานของเสรีภาพปัจเจก ต่อต้านการใช้อำนาจตามอำเภอใจของทรราชย์”
แม็กนา คาร์ตา ฉบับปี 1215 วันนี้เหลือเพียงสี่ชิ้น เขียนบนแผ่นหนังด้วยลายมือในภาษาละติน ภาษาของชนชั้นสูงในสมัยนั้น (ต้องเขียนด้วยลายมือและเผยแพร่ด้วยการลอกทั้งฉบับ เพราะอีกสองร้อยปีกว่าแท่นพิมพ์จะถือกำเนิด) พระราชลัญจกรลงตราประทับครั่ง
นักประวัติศาสตร์วันนี้เห็นพ้องต้องกันว่า แม็กนา คาร์ตา ส่วนหนึ่งอาจมองได้ว่าเป็นผลจากการที่ขุนนางลุกฮือขึ้นต่อต้าน “สถาบัน” กษัตริย์ เพราะอำนาจและสิทธิของขุนนางถูกริบอย่างต่อเนื่องมาแล้วตั้งแต่รัชสมัยของพระอัยกา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพฤติกรรมส่วนพระองค์เองของพระเจ้าจอห์นคือชนวนที่ทำให้เหตุการณ์บานปลาย บารอน 25 คนตกลงจับมือกันก่อกบฎ
ห้องสมุดสหราชอาณาจักร สถานที่เก็บรักษาและจัดแสดง แม็กนา คาร์ตา ฉบับที่เก่าแก่ที่สุด อธิบายรัชสมัยของพระเจ้าจอห์นไว้ว่า
“ด้วยเกณฑ์วัดทุกอย่างที่เราจะวัดกษัตริย์ยุคกลางได้ ต้องนับว่าจอห์นล้มเหลวในทุกด้าน พระองค์ทรงเป็นผู้นำทางทหารที่ไร้ความสามารถ ห้าปีแรกของรัชกาลได้เสียดินแดนนอร์มังดีและพื้นที่ส่วนใหญ่ของตระกูลในฝรั่งเศสไป ...คนสมัยนั้นคาดหวังว่ากษัตริย์ต้องปกป้องสถาบันศาสนา(คริสต์) แต่จอห์นทรงทะเลาะกับพระสันตปาปา อินโนเซ้นท์ที่สาม (1161-1216) จนถูกตัดขาดจากศาสนา พระสันตปาปาประกาศ “โทษต้องห้าม” กับอังกฤษทั้งประเทศ (Interdict คือห้ามไม่ให้คนเข้าร่วมในพิธีศักดิ์สิทธิ์หรือฝังในแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์) คนคาดหวังให้กษัตริย์มอบความยุติธรรมให้กับราษฎร แต่จอห์นใช้พระราชกำหนดและสถาบันต่างๆ อย่างท้องพระคลังกดขี่ขูดรีดบารอนให้จ่ายค่าปรับมโหฬารและไม่เป็นธรรม คนคาดหวังให้กษัตริย์มีศักดิ์ศรีเยี่ยงอัศวิน (chivalrous) แต่ว่ากันว่าจอห์นทรงชอบหัวเราะเยาะโชคร้ายของคนอื่น และย่ำยีภรรยาและบุตรสาวของราษฎร”
เป็นเวลากว่า 800 ปีมาแล้วที่โลกได้เรียนรู้ว่า ชาติใดโชคดีได้ผู้ครองอำนาจเป็น “คนดี” ก็ดีไป แต่ถ้าโชคร้ายได้คนอย่างพระเจ้าจอห์น ประชาชนย่อมเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า
เหตุนี้จึงต้องสร้างหลักประกันแห่งอนาคต ด้วยการเรียกร้องให้ผู้ครองอำนาจอยู่ใต้กฎหมาย และประชาชนทุกคนต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างไม่เลือกปฏิบัติ
มิใช่ไปยินดีปรีดากับการยึดอำนาจ ฉีกทิ้งกฎหมายสูงสุด ทำลายหลักประกันของคนทั้งชาติ
เพียงเพราะเชื่อว่าผู้ฉีกเป็น “คนดี”
ข้อมูลเพิ่มเติม: (http://www.bl.uk/magna-carta)