“ความยุติธรรมกับประจำเดือน”
เป็นชื่อบทความซึ่งเขียนโดยเด็กนักเรียนมัธยมปลายในอเมริกาคนหนึ่ง
ตีพิมพ์ใน The Phillipian หนังสิอพิมพ์ของโรงเรียนประจำชื่อดัง
Phillips Academy ตั้งอยู่ที่เมืองแอนโดเวอร์ รัฐนิวแฮมเชอร์
เป็นเรื่องที่กำลังตื่นตัวในบ้านเราพอดี
เมื่อปีที่ผ่านมา ‘Period
Poverty’ หรือ ประจำเดือนบนความจน
เป็นนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองในบ้านเรา สองพรรคใหญ่ๆ หยิบยกเอามาเป็นเสาหลักชูแนวคิด
'ก้าวหน้า' ริเริ่มครั้งแรกเมื่อพฤษภาคม
๒๕๖๕ โดย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่า กทม.ขณะนั้น
พรรคเพื่อไทยนำไปจัดตั้งเป็นนโยบายหลัก
โดยจัดงาน “นิทรรศกี เพื่อผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า”
สอดคล้องไปกับการฉลองวันสตรีสากล ๘ มีนาคม “นำเสนอรายละเอียดของการศึกษานโยบาย
ทั้งแนวคิด งบประมาณ วิธีการดำเนินงาน (และ) โครงการนำร่อง” ของพรรค
เช่นกันที่พรรคก้าวไกล ก็มีการแถลงนโยบาย “เพศไหนก็คนเท่ากัน เนื่องในวันสตรีสากล” โดยระบุข้อแรกเกี่ยวกับ “ผ้าอนามัยไม่เก็บ VAT แจกฟรีในโรงเรียน” เนื่องจากก่อนหน้านี้ (กรกฎา ๖๔) มีกฏกระทรวงสาธารณสุขออกมา
ให้ผ้าอนามัยชนิดสอดในช่องคลอด
เป็นเครื่องสำอางชนิดหนึ่ง ทำให้ผ้าอนามัยเป็นสินค้าต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
จึงเกิดการรณรงค์ให้ผ้าอนามัยเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของสตรีขึ้นในประเทศไทย
ผู้มีบทบาทเด่นสร้างความตื่นตัวในสังคมขณะนั้น เห็นจะเป็น ผศ.เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยคาร์ลอสที่สาม แห่งกรุดมาดริด ประเทศสเปน เธอกล่าวในการให้สัมภาษณ์นิตยสาร ‘แอ็คทีฟ’ ว่า
“ประจำเดือนคือสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
และการที่ประเทศไทยยังไม่มีสวัสดิการผ้าอนามัยฟรี แสดงว่าสังคมไทยยังตื่นตัวไม่มากพอ”
เธอชี้ว่าเราควรจะมีผ้าอนามัยฟรีทั้งหมดเลยหรือไม่ “ก็คงจะไม่ใช่ แต่ควรจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน
เช่น ถ้าประชาชนเรียกหาหรือต้องการผ้าอนามัยก็ควรจะได้”
บทความใน THE STANDARD POP ระบุหลายต่อหลายประเทศเกือบทั่วโลก
มีการแจกผ้าอนามัยฟรี และไม่เก็บภาษีผ้าอนามัย สก๊อตแลนด์เป็นประเทศแรกที่แจกฟรี
ส่วนสหรัฐ อังกฤษ มาเลเซีย แม้แต่ไนจีเรีย และนิคารากัวได้มีการยกเลิกภาษีผ้าอนามัยแล้ว บางประเทศเก็บแต่ภาษีนำเข้า บ้างเปลี่ยนจากสินค้าฟุ่มเฟือยเป็นอุปโภคบริโภค จึงมาถึงข้อเขียนของ วาเล็นเซีย แซง ในหนังสือพิมพ์ เดอะ ฟิลลิปเปี้ยน ดังกล่าว
เรียกร้องให้ทางโรงเรียนจัดบริการฟรีผ้าอนามัย
“ที่สะอาดและมาตรฐานสูง" ไม่เพียงสำหรับผู้เรียกร้องต้องการ
แต่ให้สามารถหยิบใช้ได้อย่างสะดวกตามห้องน้ำในอาคารต่างๆ ของโรงเรียน บทความฉบับ
๑๒ มกรา ๖๗ ของเธอเขียนอธิบายว่า
ความกดดันของการที่เมื่อมีประจำเดือนเกิดขึ้นแล้ว
ไม่อาจหาผ้าอนามัยมาใช้บันเทาอาการอย่างทันท่วงที นี่คือ “ประจำเดือนบนความจน”
อย่างแท้จริง เธออ้างความรู้จากวารสาร ‘GoodRx’ ว่าความกดดันดังกล่าว จะทำให้ประจำเดือนมาไม่ปรกติ และปวดร้าว
ความยากลำบากของการมีประจำเดือนในหมู่นักเรียนหญิง
ยังทำให้ “เสียสมาธิ และการเรียนด้อยประสิทธิภาพ” อีกด้วย
เธอเล่าประสบการณ์ตนเองเมื่อประจำเดือนมาขณะอยู่ในอาคารต่างๆ หลายแห่ง แล้วหาผ้าอนามัยใช้ไม่ได้
แม้บางอาคารจะมีให้แต่จำนวนน้อยเกินไปและคุณภาพต่ำ
เธอต้องการให้โรงเรียนของเธอจัดบริการผ้าอนามัยอย่างกว้างขวาง
เทียบกับสถานศึกษาระดับวิทยาลัยหลายแห่ง ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยจ๊อร์จเมสัน
“เดี๋ยวนี้กฎหมายในหลายมลรัฐกำหนดให้
โรงเรียนรัฐบาลต้องบริการผ้าอนามัยให้นักเรียนเข้าถึงโดยง่าย”
โรงเรียนของเธอก็ต้องมาตรฐานสูงเช่นกัน
“อนามัยเกี่ยวกับการมีประจำเดือนควรได้รับความสำคัญก่อนเรื่องอื่นใด”
สาวน้อยวาเล็นเซียย้ำว่าการอำนวยให้นักเรียนเข้าถึงผ้าอนามัยฟรีและสะดวก “เป็นสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง”
ต้นเดือนหน้านี่ก็จะถึงถึงวันสตรีสากลอีกแล้ว
ไม่ทราบว่านโยบายผ้าอนามัยฟรีของพรรคการเมืองไทยไปถึงไหน
(https://theactive.net/data/gender-sexuality-20220529/, https://mgronline.com/politics/detail/9650000023093 และ https://thestandard.co/kaoklai-policy-gender-equality/99)