‘มติชน’ ถาม ศิริกัญญา ตันสกุล หนึ่งใน ส.ส.ก้าวไกลที่ร่วมลงชื่อเสนอแก้ไข #มาตรา112 ว่า “หากผลการพิจารณาคดีออกมาในทางลบ และ ๔๔ ส.ส.ถูกตัดสิทธิ์ มีแผนรองรับหรือไม่” คุณไหมตอบว่า
“คิดว่าระยะเวลาของกระบวนการยุติธรรมจะไม่รวดเร็ว จึงพอมีเวลาเตรียมแกนนำรุ่นต่อไปขึ้นมาแทนที่ได้แน่นอน เพราะฉะนั้นไม่กังวล” เหตุด้วย ดูจากศักยภาพของ ส.ส.และผู้ที่มาร่วมทำงาน หลายคนมีสูงมาก
จนรับรองได้ว่า “อุดมการณ์และวิธีคิดของพรรคจะสืบทอดต่อไปได้” เหตุที่ไม่กังวลเพราะเตรียมตัวสำหรับกรณีเลวร้ายที่สุดไว้แล้ว เรื่องนี้เป็นฉากทัศน์ที่คาดไว้ “และมีข้อต่อสู้ในเชิงคดี ที่น่าจะทำให้เราไม่ถูกตัดสินว่าทําผิดจริยธรรม และถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง”
ข้อต่อสู้จะเป็นอย่างไรสุดแท้แต่ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ประมวลเอาไว้บ้างแล้ว ในฐานที่เป็นองค์กรที่ “ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนจากการใช้อำนาจรัฐหลังการรัฐประหาร ๒๕๕๗...รวมถึงการถูกดำเนินคดีมาตรา ๑๑๒”
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้พรรคก้าวไกล ‘เลิก’ แก้ไขกฎหมายอาญา ม.๑๑๒ “ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต” ข้อนี้ศูนย์ทนายฯ เห็นว่า “ก้าวก่ายการใช้อำนาจนิติบัญญัติ...อย่างร้ายแรง”
ศูนย์ฯ อ้างกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ว่า ประชาชนมีสิทธิในการใช้อำนาจนิติบัญญัติ “เลือกหรือเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ หรือการตัดสินประเด็นสาธารณะผ่านการทำประชามติ”
ศาลฯ สั่งให้พรรคก้าวไกลเลิกกระทำการแก้ไข ม.๑๑๒ ทั้งที่เกิดขึ้นแล้ว และในอนาคต เป็นคำสั่ง ‘คลุมเครือ’ “ที่เกินกว่าอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ” ในเมื่อการแก้ไขดังกล่าวนั้น “ไม่เป็นการกระทบกระเทือนต่อสถานะของสถาบันกษัตริย์”
อีกทั้งยังเป็นการ “ใช้สิทธิตามกติการะหว่างประเทศ หรือข้อ ๑๙ ของ ICCPR” ศูนย์ทนายฯ ยังระบุจะแจ้งด้วยว่า “แม้กระทั่งยกเลิกมาตรา ๑๑๒ ก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองหรือพระราชอำนาจ” แต่อย่างใด
“พระมหากษัตริย์ก็ยังได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายที่บุคคลใด ๆ จะดูหมิ่น หมิ่นประมาทไม่ได้ เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป ซึ่งมิใช่การล้มล้างการปกครอง”
(https://www.facebook.com/lawyercenter2014/posts/aC8LdF4SnKQx2 และ https://twitter.com/MatichonOnline/status/1753279001567936649)