วันอาทิตย์, กุมภาพันธ์ 04, 2567

จดหมายเปิดผนึก ถึงประธานรัฐสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร์ทั้งหลาย เรื่อง รัฐสภาต้องปกป้องอำนาจประชาชน และต้องนำเรื่องศาลรัฐธรรมนูญเข้าสู่การหารือในรัฐสภา จาก คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)


.....
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน-กป.อพช.
12h ·

จดหมายเปิดผนึก
ถึงประธานรัฐสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร์ทั้งหลาย
เรื่อง รัฐสภาต้องปกป้องอำนาจประชาชน และต้องนำเรื่องศาลรัฐธรรมนูญเข้าสู่การหารือในรัฐสภา
การที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ตามที่นายธีรยุทธ์ สุวรรณเกษร ยื่นร้องให้พิจารณา การกระทำของพรรคก้าวไกล ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ว่ามีความผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 หรือไม่นั้น ซึ่งศาลมีการวินิจฉัยสรุปความว่า “การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นเพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย”
พวกข้าพเจ้าเห็นว่า การวินิจฉัยดังกล่าวขัดกับเจตนารมณ์ของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน อันแสดงถึงการแทรกแซงสถาบันนิติบัญญัติจากฝ่ายตุลาการ โดยสร้างบรรทัดฐานใหม่ในทางการเมืองด้วยการไม่เคารพต่อกระบวนการทางการเมืองและกระบวนการบัญญัติบทกฏหมายของระบบรัฐสภาไทย อีกทั้งยังเป็นการไม่เคารพต่ออำนาจของประชาชนซึ่งเป็นที่มาของอำนาจดังกล่าว ที่ออกแบบมาเพื่อถ่วงดุลกันระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการ ที่จะต้องยืนอยู่บนฐานอำนาจที่อิสระระหว่างกันอย่างเหมาะสม ด้วยเพราะศาลรัฐธรรมนูญกำลังทำให้สังคมเข้าใจไปว่า นโยบายของพรรคก้าวไกลที่มีการเสนออย่างชัดเจนว่าให้มีแก้ไขประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 112 มีเจตนาแฝงที่ต้องการยกเลิกมาตราดังกล่าว โดยพยายามอ้างเหตุผลประกอบต่างๆนาๆที่อยู่นอกเหนือจากคำร้องตั้งต้น และยังหมิ่มเหม่ต่อการสร้างความเข้าใจของประชาชนให้ผิดเพี้ยนไปจากเจตนารมณ์ของพรรคที่ต้องการใช้กระบวนการทางรัฐสภาเป็นทางออกเพื่อคลี่คลายความไม่เข้าใจต่อเรื่องนี้ของสังคมไทยโดยรวม รวมถึงคำกล่าวหาที่ร้ายแรงเกินความจริงที่ว่าเป็นผู้ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งยังเห็นได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญมีการใช้อำนาจลดทอนศักดิ์ศรีของระบบรัฐสภา อันเป็นสถาบันที่มากจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งมีสิทธิโดยชอบตามรัฐธรรมนูญในการบัญญัติ ยกเลิก หรือแก้ไขกฏหมายได้ทุกฉบับ ซึ่งมีบทบัญญัติที่เป็นระบบระเบียบควบคุมกำกับอยู่แล้ว
พวกข้าพเจ้า จึงขอเรียกร้องไปยังประธานรัฐสภาและสมาชิกรัฐสภาทั้งหลาย ได้โปรดออกมาปกป้องสถาบันทางการเมืองที่มาจากอำนาจของประชาชน ด้วยการนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาหารือในที่ประชุมรัฐสภา และขอให้มีการใช้กระบวนการรัฐสภาดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งภายใต้เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจไว้ เพื่อสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองที่ถูกต้อง เป็นอิสระ ไร้การแทรกแซง ทั้งนี้เพื่อธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยฯที่แท้จริงต่อไป
ด้วยความเคารพ
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567