THE STANDARD
15h
·
แอมเนสตี้ยื่น 7,301 รายชื่อ เรียกร้องรัฐบาลปล่อยตัว อานนท์ นำภา และนักกิจกรรม
.
วันนี้ (5 กุมภาพันธ์) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน นำ 7,301 รายชื่อ ยื่นข้อเรียกร้องถึง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หลังได้ขับเคลื่อนให้คนทั่วโลกได้มีส่วนร่วมลงชื่อและส่งจดหมายเรียกร้องถึงรัฐบาลให้ยุติการดำเนินคดีต่อ อานนท์ นำภา นักเคลื่อนไหวทางการเมือง หลังถูกศาลอาญาสั่งจำคุกรวม 8 ปี ไม่รอลงอาญา รวมไปถึงประชาชนและเยาวชนทุกคนที่ถูกดำเนินคดีความทางการเมือง โดยมี สมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง พร้อมคณะ ออกมารับหนังสือ
.
ขณะที่การชุมนุมในวันนี้แอมเนสตี้ได้แจ้งขออนุญาตจัดการชุมนุมสาธารณะไว้กับทาง สน.ดุสิต แล้ว โดยกลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มตั้งขบวนจากหน้ากระทรวงศึกษาธิการฝั่งถนนพิษณุโลก จากนั้นเคลื่อนขบวนและหยุดปราศรัยด้วยรถเครื่องขยายเสียงที่แยกสวนมิสกวัน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้นำแผงเหล็กมากั้นบริเวณแยกไม่ให้ผ่านเข้าไปยังด้านหน้าศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ (สำนักงาน ก.พ.ร.) ทำเนียบรัฐบาล เพราะเป็นพื้นที่หวงห้ามใกล้กับสถานที่ราชการ และเกรงว่าจะกระทบกับกลุ่มภาคีราชภักดี ที่จัดการชุมนุมอยู่บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ
.
ขอปล่อยตัว อานนท์-นักกิจกรรม
.
ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า การนำรายชื่อประชาชน สมาชิก นักกิจกรรมจากทั่วโลกมายื่นเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวและยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมดกับอานนท์ รวมถึงนักกิจกรรมคนอื่นๆ ในครั้งนี้ เพราะคนที่ถูกดำเนินคดีควรได้รับการนิรโทษกรรม ไม่ควรถูกดำเนินคดีจากการใช้สิทธิของตนเอง
.
“การแสดงออกการชุมนุมวันนี้จึงสื่อสารไปถึงรัฐบาลที่เป็นรัฐบาลพลเรือน รัฐบาลที่ได้ชื่อว่ามาจากการเลือกตั้ง ควรทำหน้าที่ในการปกป้องประชาชนไม่ให้ถูกจับกุม คุมขังและควรได้รับสิทธิการประกันตัว” ปิยนุชกล่าว
.
ขอรัฐบาลไทยทำตามพันธสัญญาสิทธิมนุษยชน
.
นอกจากนี้ ปิยนุชได้กล่าวย้ำถึงคำประกาศที่รัฐบาลไทยได้กล่าวไว้กับนานาชาติและประชาคมโลกว่า ประเทศไทยจะลงสมัครสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) ระหว่างปี 2568-2570 ที่ย้ำและให้พันธสัญญาว่าจะร่วมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในประเทศของตัวเอง และหากรัฐไทยต้องการเป็นส่วนหนึ่งของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ รัฐไทยจะต้องเคารพ คุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศของตนเองตามที่ได้ประกาศไว้
.
ด้านสมคิดกล่าวว่า การนำร่างกฎหมายนิรโทษกรรมหลายฉบับเข้าสภาไม่ได้เป็นการดึงถ่วงเวลา เพราะทราบว่าหากนำบางฉบับเข้าไปมีโอกาสถูกปัดตกสูง เพราะบางทีอยากได้น้ำเต็มแก้วแต่บางครั้งอาจได้น้ำครึ่งแก้วก็ต้องยอมรับ เรื่องที่เกิดขึ้นในสภามีหลายเรื่อง การมายื่นหนังสือวันนี้เข้าใจว่าเป็นความต้องการของสังคมยุคใหม่ของลูกหลานเยาวชน ตนเองยินดีกับทุกฝ่ายที่มายื่นหนังสือเพราะเชื่อว่าอย่างน้อยคนไทยด้วยกันสามารถพูดคุยกันได้ โดยจะนำข้อเรียกร้องไปปฏิบัติตามและแจ้งความคืบหน้าให้ทราบต่อไป
.
ทั้งนี้ ทางแอมเนสตี้มีข้อเรียกร้องถึงรัฐบาล 3 ข้อ คือ
.
1. ปล่อยตัวอานนท์โดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข รวมทั้งเด็กและเยาวชนซึ่งถูกดำเนินคดีเพียงเพราะการใช้สิทธิมนุษยชนของตน
.
2. ระหว่างที่ยังไม่ยกเลิกคำตัดสินว่ามีความผิดและการดำเนินคดี ต้องอนุญาตให้ อานนท์ นำภา และนักกิจกรรมคนอื่นมีสิทธิได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และประกันว่าเงื่อนไขการประกันตัวจะไม่เป็นการจำกัดโดยพลการต่อการใช้สิทธิ
.
3. แก้ไข เพิ่มเติม หรือยกเลิกกฎหมายที่ถูกใช้เพื่อจำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม
.
คปท.-พีมูฟ ปักหลักทำเนียบ
.
ต่อมาผู้ชุมนุมได้ยุติการชุมนุม แต่ยังไม่เปิดการจราจรบริเวณถนนพิษณุโลกแยกสวนมิสกวันมุ่งหน้าไปสะพานชมัยมรุเชฐ เนื่องจากมีการชุมนุมของกลุ่มพีมูฟ ซึ่งมาทวงคำตอบจากรัฐบาลกรณีหยุดบังคับประชาชนรับโฉนดชุมชน ขอให้ พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเจรจากับกลุ่มพีมูฟ และขอให้เร่งแก้ไขปัญหาที่ดินทั้งระบบ
.
ด้านเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) ที่ประกาศปักหลักชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล และอาจจะขยายไปจนถึงเทศกาลสงกรานต์หากยังไม่มีความคืบหน้าเรื่องการนำตัว ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับไปรับโทษในเรือนจำ
.
ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา
.
#TheStandardPhoto #TheStandardNews #ณาฌารัฐภักดีอาสา
https://www.facebook.com/thestandardth/posts/724626486463364?ref=embed_post