ยูนิ ศรี ราฮายู คือคนรับจ้างทำงานบ้านที่กำลังลงชิงชัยที่นั่งในสภากรุงจาการ์ตา
ผู้สมัครรับเลือกตั้งชาวอินโดนีเซีย ผู้ใช้เงินจากการรับจ้างทำงานบ้าน เป็นทุนในการใช้หาเสียง
รายา ลัมบันราว
Role,บีบีซีแผนกภาษาอินโดนีเซีย
7 กุมภาพันธ์ 2024
ฉันอยู่ในบ้านหลังเล็ก ๆ ที่แออัดของ ยูนิ ศรี ราฮายู ซึ่งตั้งอยู่บนถนนที่หนาแน่นไปด้วยผู้คนและบ้านเรือน ทางตอนใต้ของกรุงจาการ์ตา ห้องนั่งเล่นและห้องนอนเป็นห้องเดียวกัน แต่มันถูกกั้นเป็นสัดส่วนด้วยตู้เสื้อผ้าที่ทำจากไม้
“ฉันมีชีวิตปากกัดตีนถีบ แต่ก็ยังมองโลกในแง่บวก” ราฮายูบอกกับฉัน
การใช้ชีวิตในเมืองหลวงเป็นเรื่องท้าท้ายสำหรับผู้มีฐานะเช่นเธอ แต่เธอยังคงมุ่งมั่นที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งที่กำลังมาถึง
“คุณสามารถพูดได้ว่าเงินทุนหาเสียงของฉันมาจากการขัดส้วม” แม่หม้ายลูกสี่ผู้นี้ กล่าว
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวอินโดนีเซียกว่า 200 ล้านคนจะไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งวันที่ 14 ก.พ. นี้ เพื่อเลือกประธานาธิบดีคนต่อไป ตลอดจนสมาชิกสภานิติบัญญัติ และสมาชิกสภาในระดับชาติและภูมิภาค
รายาฮูกำลังแย่งชิงตำแหน่งในสภากรุงจาการ์ตาที่มีอยู่ 106 ที่นั่ง จากผู้สมัครจำนวนกว่า 1,800 คน
แม้ผู้สมัครส่วนใหญ่มักใช้เงินจำนวนหลายล้านหรือหลายพันล้านรูเปียห์สำหรับการหาเสียง แต่ราฮายูจัดสรรเงินค่าจ้างรายเดือนของเธอที่ได้อยู่ประมาณ 5 ล้านรูเปียห์ (ประมาณ 11,000 บาท) สำหรับการชิงชัยตำแหน่งในสภาครั้งนี้
มันไม่ต่างจากการต่อสู้ของเดวิดกับยักษ์โกไลแอธในตำนาน ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เธอจะชนะการเลือกตั้ง
ราฮายูขี่จักรยานยนต์เพื่อไปหาเสียงกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยตรง
“ฉันเป็น ‘ผู้สมัครดูห์อะฟา’” ราฮายู กล่าวถึงคำที่สื่อถึงคนชายขอบของสังคมหรือผู้ที่อาศัยอยู่ในสถานะทางเศรษฐกิจที่ด้อยกว่า
ราฮายูตระเวนหาเสียงในช่วงวันหยุดซึ่งเธอมีไม่มากนัก โดยขี่จักรยานยนต์ซอกแซกไปตามตรอกซอกซอยต่าง ๆ ของกรุงจาการ์ตา เพื่อไปพบผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามบ้านทีละหลัง
เมื่อไปถึง เธอจะแนะนำตัวเองพร้อมกับแจกปฏิทินและสติกเกอร์รูปใบหน้าเธอ ของเหล่านี้จะมีรอยปั๊มนูนเป็นโลโก้สีส้มของพรรคแรงงานซึ่งเธอเป็นตัวแทน
“ขอคำสวดอวยพรและการสนับสนุนจากคุณ” ราฮายูกล่าว ขณะกำลังแจกเอกสารการเลือกตั้งอันมีค่าของเธอ
“ส่วนใหญ่แล้ว ฉันใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อแชร์โปสเตอร์หาเสียง เพราะมันมีราคาถูกกว่า” เธอบอก
บางคนให้การตอบรับเธอในเชิงบวก ขณะที่บางคนก็ไม่แยแส แต่ดูเหมือนว่ามันไม่ได้ส่งผลต่อราฮายูมากนัก
“คนทำงานบ้านต้องมีตัวแทนในสภา เพื่อเราจะได้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสำหรับพวกเขา” เธอบอก
ผู้ที่จบการศึกษาระดับมัธยมปลายเช่นเธอยอมรับว่า ตนเองไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง โดยสหภาพแรงงานเป็นผู้เสนอชื่อราฮายูเป็นผู้สมัครในนามพรรคแรงงาน
“ตอนแรก ฉันไม่อยากทำ” เธอบอก “แต่พวกเขาต้องการเติมเต็มสัดส่วนผู้สมัครหญิงให้ครบ 30% ตามข้อบังคับ ฉันผ่านขั้นตอนการลงทะเบียนมาอย่างไม่เต็มใจนัก แต่ก็ผ่านการทดสอบทุกอย่างในเวลาต่อมา”
ราฮายูซึ่งเป็นคนรับจ้างทำงานบ้านมาตั้งแต่ปี 2018 บอกว่า เธอเคยมีประสบการณ์ถูกเลือกปฏิบัติ ถูกล่วงละเมิดทางเพศ และถูกด่าทอด้วยวาจารุนแรงในที่ทำงาน
ราฮายูกำลังไปเยือนบ้านทีละหลังเพื่อแนะนำตัว และพบปะผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อาจเป็นฐานเสียงของเธอ
ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งอินโดนีเซีย ระบุว่า มีคนงานในอินโดนีเซียมากกว่า 135 ล้านคน โดย 60% เป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งรวมถึงอาชีพทำงานบ้านด้วย
มีข้อตกลงระดับท้องถิ่นที่ช่วยปกป้องพวกเขา แต่รัฐสภาแห่งชาติยังไม่ได้ลงสัตยาบันร่างกฎหมายแรงงาน มันจึงเป็นการง่ายที่นายจ้างจะเพิกเฉย
“คนทำงานบ้านต้องเผชิญกับความรุนแรงมากมาย บางคนถึงกับต้องจบชีวิตลง” ราฮายู กล่าว
“ฉันรู้มาว่ามีกรณีที่มีคนถูกน้ำร้อนลวก อีกคนถูกไฟดูด สถานการณ์ของแรงงานหญิง [นอกระบบ] ไม่โอเคเลย”
ข้อมูลจากเครือข่ายแห่งชาติเพื่อการรณรงค์ของคนทำงานบ้าน (JALA PRT) ระบุว่า ระหว่างปี 2012-21 แรงงานรับจ้างทำงานบ้านมากกว่า 400 คน ต้องเผชิญกับความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ
‘แค่คนธรรมดา’
นายสลาเมต วิโดโด อายุ 44 ปี บอกว่า เขาต้องการเรียกร้องสิทธิให้ผู้พิการในเมืองที่เขาอยู่
ภายในเมืองโซโลทางตอนกลางของเกาะชวาซึ่งห่างจากกรุงจาการ์ตาประมาณ 100 กิโลเมตร นายสลาเมต วิโดโด คนทำสบู่วัย 44 ปี กำลังลงชิงชัยตำแหน่งในสภาเมือง
“ผมดูเหมือนผู้สมัครที่น่าสงสาร เพราะผมเป็นคนจน” วิโดโด กล่าว ขณะที่มือของเขากำลังแตะรถเข็น
เขาป่วยเป็นโรคโปลิโอตอนเด็ก ทำให้ขาทั้งสองข้างเป็นอัมพาต วิโดโดเลี้ยงชีพด้วยการทำสบู่และขายสบู่เหลวบรรจุขวด
เขาหาเสียงด้วยการแจกขวดสบู่ที่มีสติกเกอร์ใบหน้าของเขา รวมถึงหมายเลขผู้สมัครและโลโก้พรรคที่เขาสังกัดติดอยู่ โดยพรรคนี้มีชื่อว่า พรรคความยุติธรรมจงเจริญ (Prosperous Justice Party)
“ผมแจกจ่ายสบู่ขวดให้กับบรรดาแม่บ้านที่ผมเจอ” เขาบอก
แต่การพิมพ์สติกเกอร์ก็มีค่าใช้จ่าย ซึ่งเขาไม่มีเงินสำหรับสิ่งนี้ ดังนั้น วิโดโดจึงไม่พิมพ์สติกเกอร์ในจำนวนมากนัก
ในทุก ๆ วัน เขาพยายามกันเงินไว้จำนวน 10,000 รูเปียห์ (ประมาณ 23 บาท) และเมื่อเก็บเงินได้มากพอ จึงสั่งซื้อสติกเกอร์เป็นชุด ๆ
“ผมสั่งทำสติกเกอร์ก็ต่อเมื่อผมมีกำไร ถ้าผมหาเงินได้มากกว่านี้ ผมก็จะสั่งทำเพิ่ม” วิโดโด กล่าว
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นายวิโดโดทำและขายสบู่จากบ้านตัวเอง
เรื่องราวของราฮายูและวิโดโดอาจดูเหมือนเป็นเรื่องงมเข็มในมหาสมุทร สำหรับการเมืองของอินโดนีเซีย แต่ไม่ได้มีเพียงแค่พวกเขาเท่านั้นที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง
ยังมีผู้สมัครคนอื่น ๆ ที่มีพื้นเพป็นคนชายขอบและกำลังลงแข่งขันในการเลือกตั้งปี 2024 ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่เยอะที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยทางพรรคแรงงานหาเสียงผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ว่า “ไม่มีคนมีชื่อเสียง ไม่มีคนดัง แค่คนธรรมดาเท่านั้น”
นอกจากนี้ ผู้สมัครจากทั้งหมด 24 พรรคการเมือง ยังมีความหลากหลายมากกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นผู้สมัครจากกลุ่มคนข้ามเพศ ตัวแทนชุมชนพื้นเมือง หรือพนักงานรับส่งสินค้าออนไลน์ด้วยรถจักรยานยนต์ซึ่งรู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า ไรเดอร์
อย่างไรก็ตาม โอกาสที่พวกเขาจะชนะจริง ๆ นั้น “อาจต่ำ” จากข้อมูลของฮารียะห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองจากมหาวิทยาลัยแห่งอินโดนีเซีย โดยเธอบอกว่าพวกเขายังขาดแรงหนุน 3 ด้าน คือ ทุนทรัพย์ การเมือง และสังคม
สินทรัพย์ทางการเงินมีความสำคัญต่อการจัดหาเงินทุนสำหรับกิจกรรมการหาเสียงที่พรรคอาจอุดหนุนให้ไม่ครอบคลุม เช่น สื่อหาเสียง ค่าจ้างและการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องมีต้นทุนทางการเมืองเพื่อช่วยให้สามารถวางตำแหน่งผู้สมัครบนบัตรเลือกตั้งได้อย่างมีกลยุทธ์ กล่าวคือยิ่งตำแหน่งอยู่สูงยิ่งดี
“ต้นทุนทางสังคม เช่น ความนิยม หรือการได้รับความยอมรับจากสาธารณะ ก็มีความสำคัญเช่นกัน” ฮารียะห์กล่าว “ถ้าเราคำนวณตามหลักคณิตศาสตร์ มันเป็นเรื่องยากสำหรับผู้สมัครที่ไม่มีผู้อุปถัมภ์ [เพื่อให้ได้รับการเลือกตั้ง]”
โปสเตอร์หาเสียงติดอยู่ทั่วทุกมุมถนนในอินโดนีเซีย
ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่สร้างความหนักใจให้กับราฮายู
“บ่อยครั้งที่ฉันรู้สึกขาดความมั่นใจในการลงแข่งขันกับผู้สมัครคนอื่น ๆ ซึ่งมีต้นทุนทางการเงินที่ดีกว่า มีความนิยมมากกว่า และมีเครือข่ายมากกว่า” เธอยอมรับ
“ฉันรู้จักผู้สมัครบางคนที่แจกจ่ายน้ำมันปรุงอาหาร ข้าวสาร หรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง”
แต่เธอเชื่อว่าประสบการณ์การเลือกตั้งครั้งนี้ จะมีค่าสำหรับแรงงานทำงานบ้านในรุ่นถัดไปที่จะเดินตามรอยเท้าของเธอ
“อาจต้องใช้เวลา 10-15 ปี ที่คนทำงานบ้านอย่างเราจะได้เป็นสมาชิกสภา แต่อย่างน้อยมันได้เริ่มขึ้นแล้ว เพื่อไปให้ถึงจุดนั้น”
ที่มา https://www.bbc.com/thai/articles/c4n3jgyg5ygo