วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 06, 2567

ชุมนุมแฟลชม็อบ #ไม่ถอยไม่ทน : ‘พิธา‘ ยืนยันยื่นอุทธรณ์ หลังศาลฟันคุก 4 เดือน ปรับ 20,000 บาท แต่ให้โอกาสประพฤติตัวใหม่ จึงให้รอลงอาญา 2 ปี


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
10h ·

วันที่ 5 ก.พ. 2567 เวลา 09.00 น. ที่ศาลแขวงปทุมวัน มีนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ ธนวัฒน์ วงค์ไชย, พริษฐ์ ชิวารักษ์, ณัฏฐา มหัทธนา, ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ปิยบุตร แสงกนกกุล, พรรณิการ์ วานิช, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ ไพรัฏฐโชติก์ จันทรขจร ในคดีจากการชุมนุมแฟลชม็อบ #ไม่ถอยไม่ทน ที่บริเวณสกายวอล์กแยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2562
.
คดีนี้จำเลยทั้ง 8 คนถูกฟ้องในข้อหาหลักตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยก่อนหน้านี้ อัยการโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอรวมคดีของธนวัฒน์กับพริษฐ์เข้ากับคดีของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ปิยบุตร แสงกนกกุล และพรรณิการ์ วานิช อดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่, ไพรัฎฐโชติก์ จันทรขจร อดีตผู้สมัคร ส.ส. จ.นครปฐม พรรคอนาคตใหม่ และ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล และนักกิจกรรมอีก 2 คน ที่ถูกฟ้องด้วยเหตุและพฤติการณ์เดียวกัน
.
ศาลพิพากษาว่าจำเลยทั้ง 8 คนมีความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 จำเลยทั้งหมดมีเจตนาเป็นผู้ริเริ่มจัดการชุมนุม โดยการโพสต์ข้อความเชิญชวนประชาชนให้เข้าร่วมการชุมนุม ลงโทษในข้อหาชุมนุมในรัศมี 150 เมตรจากพระราชวัง จำคุก 4 เดือน ปรับ 10,000 บาท และลงโทษปรับทางพินัยในข้อหาไม่แจ้งการชุมนุม 10,000 บาท และปรับฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต 200 บาท รวมลงโทษจำคุก 4 เดือน ปรับคนละ 20,200 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี
.
.
สำหรับคดีนี้เกิดขึ้นภายหลัง เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2562 คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติยื่นคำร้องให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีทางพรรกู้เงินจากธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้น ทำให้หลังจากนั้นเกิดการนัดหมายชุมนุมในลักษณะ “แฟลชม็อบ” แสดงพลังของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับเหตุการณ์ดังกล่าวในหลายจังหวัด โดยในกรุงเทพฯ มีการชุมนุมบริเวณสกาลวอล์กแยกปทุมวัน โดยใช้เวลาราว 1 ชั่วโมง ต่อมาตำรวจ สน.ปทุมวัน มีการดำเนินคดีกับแกนนำหรือบุคคลที่เข้าร่วม
.
เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้ง 8 คน โดยบรรยายพฤติการณ์กล่าวหาโดยสรุปว่า จำเลยได้ร่วมกันโพสต์เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์เชิญชวนประชาชนให้มาร่วมเรียกร้องความยุติธรรมและความเสมอภาคในสังคมกลับคืนมา ในวันที่ 14 ธ.ค. 2562 ที่สกายวอล์ก บริเวณหอศิลป์ แยกปทุมวัน เวลา 17.00 น.
.
ต่อมาวันที่ 14 ธ.ค. 2562 เวลา 17.00 – 18.00 น. โดยประมาณ จำเลยทั้งหมดเป็นผู้จัดการชุมนุมได้ไปที่บริเวณสกายวอล์ก แยกปทุมวัน ซึ่งเป็นทางเดินเชื่อมระหว่างสถานีไฟฟ้าบีทีเอสสยาม กับบีทีเอสสนามกีฬาแห่งชาติ และสะพานลอยข้ามแยกปทุมวัน อันเป็นที่สาธารณะที่บุคคลอื่นสามารถเข้าร่วมการชุมนุมได้
.
ธนาธร, ปิยบุตร, พรรณิการ์ และพิธา ได้ผลัดกันขึ้นปราศรัยแสดงจุดยืนทางการเมือง แสดงความไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาลในขณะนั้น พร้อมแสดงสัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว อันเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจำเลยที่เป็นผู้จัดการชุมนุมไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะก่อน 24 ชั่วโมง ต่อหัวหน้า สน.ปทุมวัน ทั้งในพื้นที่การชุมนุมมีประชาชนร่วมฟังการปราศรัยเป็นจำนวนมากทั่วบริเวณสกายวอล์ก ไปจนถึงบริเวณบันไดหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ และยังเป็นบริเวณที่อยู่ในรัศมี 150 เมตร จากพระราชวังสระปทุม อันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
.
จำเลยทั้งหมดได้ต่อสู้คดี โดยมีการนัดสืบพยานเป็นระยะในรอบสองปีที่ผ่านมา
.
ในวันนี้ (5 ก.พ. 2567) บรรยากาศตลอดบริเวณศาลแขวงปทุมวัน พบว่ามีเจ้าหน้าที่ศาลและตำรวจศาล เข้าตรวจค้นผู้เข้าใช้บริการศาลอย่างเข้มงวด โดยมีการตรวจค้นกระเป๋าและสัมภาระอย่างละเอียด และมีการให้แสดงตัวว่าผู้สังเกตการณ์ทุกคนมาจากหน่วยงานสังกัดใดบ้าง ก่อนเข้าฟังการพิจารณาคดี
.
ที่ห้องพิจารณาคดี 707 เจ้าหน้าที่ศาลยืนที่บริเวณหน้าห้องพิจารณาอย่างเข้มงวด โดยให้แต่ละคนลงนามในเอกสารขอเข้าอนุญาตเข้าฟังการพิจารณาคดี และแสดงบัตรประจำตัวประชาชน โดยมีตำรวจศาลเดินถ่ายรูปบัตรประชาชนของทุกคนที่อยู่ในห้อง
.
เวลา 09.30 น. ศาลนั่งพิจารณาคดี โดยเรียกให้จำเลยลุกขึ้นแสดงตัว ก่อนเริ่มอ่านคำฟ้องที่อัยการบรรยายฟ้อง และคำวินิจฉัยโดยสรุปว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 8 คนเป็นการเชิญชวนให้คนเข้าร่วมการชุมนุม แม้ต่างคนต่างเชิญชวน แต่ก็แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยทั้ง 8 คน ว่าจำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุม ซึ่งมีหน้าที่จะต้องแจ้งการชุมนุมต่อ สน.ท้องที่ที่รับผิดชอบพื้นที่ดังกล่าว และย่อมตระหนักถึงหน้าที่ในฐานะผู้จัดการชุมนุม ในการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่สัญจรผ่านไปมา ได้รับความสะดวกและประโยชน์ในการใช้พื้นที่สาธารณะตามเจตนารมณ์ทางกฎหมาย
.
แม้ในคดีนี้จะจำเลยที่ 1 (ณัฎฐา), จำเลยที่ 2 (เพนกวิน), จำเลยที่ 3 (ธนวัฒน์) และจำเลยที่ 8 (ไพรัฏฐโชติก์) จะอ้างตัวเป็นพยานจำเลยขึ้นเบิกความว่าไม่ได้เป็นผู้ขึ้นปราศรัย เพียงแค่เข้าร่วมชุมนุม ก็เนื่องจากไม่พอใจการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลในขณะนั้น และไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคอนาคตใหม่ แต่จำเลยที่ 4 – 7 ไม่ได้อ้างตัวเป็นพยานขึ้นเบิกความแก้ต่างให้กับตัวเอง และคำเบิกความของจำเลยที่ 1 – 3 และ 8 ก็ไม่ได้หักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ซึ่งปรากฏภาพข่าว และวีดิโอคลิปที่บันทึกการปราศรัยของจำเลยที่ 4 – 7 ที่ไม่ได้มีการจัดการชุมนุม หรือควบคุมจำนวนของผู้ชุมนุมให้เกิดความสะดวกต่อประชาชนที่ใช้เส้นทางสกายวอล์กสัญจรผ่านไปมาได้อย่างสะดวก
.
ทั้งพื้นที่การชุมนุมดังกล่าว ยังอยู่ใกล้พระราชวังสระปทุม ซึ่งเป็นพื้นที่ต้องห้ามจัดการชุมนุมในรัศมี 150 เมตร และแม้จำเลยที่ 8 จะอ้างว่าพื้นที่การชุมนุมมองไม่เห็นวังสระปทุม แต่จากคำเบิกความของตำรวจ สน.ปทุมวัน แสดงให้เห็นว่ามีการวัดระยะทางของวังสระปทุมกับสกายวอล์กแล้ว พบว่าพื้นที่การชุมนุมดังกล่าวอยู่ห่างจากพระราชวังเพียง 83 เมตรเท่านั้น
.
จำเลยทั้งหมดเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง การโพสต์เชิญชวนย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าการชุมนุมจะส่งผลกระทบต่อการสัญจรของประชาชนที่ไม่ได้เข้าร่วม และทำให้มีผู้เข้าร่วมการชุมนุมเป็นจำนวนมาก พิเคราะห์แล้วเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งหมด เป็นการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มีเจตนาจัดการชุมนุม ไม่ได้มีการแจ้งการชุมนุม และไม่อำนวยความสะดวกทางสาธารณะให้ประชาชนใช้สัญจร
.
พิพากษาให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มาตรา 7 เรื่องการชุมนุมในรัศมี 150 เมตร จากพระบรมมหาราชวัง จำคุก 4 เดือน ปรับ 10,000 บาท แต่เมื่อประเมินทางการศึกษา และสถานะทางสังคมแล้ว จำเลยทั้งหมดเป็นบุคคลมีชื่อเสียงและย่อมรู้เรื่องการใช้สิทธิและเสรีภาพว่าสิ่งใดกระทำได้หรือไม่ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้การกระทำผิดก็สืบเนื่องมาจากการแสดงออกทางการเมือง ไม่ใช่การกระทำผิดร้ายแรง โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี
.
คดีนี้ยังมีความผิดที่มีโทษปรับทางพินัย ได้แก่ ข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ให้ลงโทษปรับทางพินัยในข้อหานี้เพิ่มอีก 10,000 บาท
.
นอกจากนี้ จำเลยยังทำการปราศรัยผ่านโทรโข่งที่เชื่อมกับเครื่องขยายเสียงไฟฟ้า โดยไม่มีการขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ ลงโทษปรับทางพินัย 200 บาท รวมเป็นต้องจ่ายค่าปรับคนละ 20,200 บาท
.
.
อ่านบนเว็บไซต์ : (https://tlhr2014.com/archives/64492)

(https://www.facebook.com/lawyercenter2014/posts/797364615567344?ref=embed_post)
.....

The Reporters
14h ·

UPDATE: ‘พิธา‘ ยืนยันยื่นอุทธรณ์ หลังศาลฟันคุก 4 เดือน ย้ำไม่อยู่ในระยะ 150 เมตรจากวังสระปทุม ทนายเทียบกรณีอื่นใช้สถานที่เดียวกันแต่ศาลยกฟ้อง ยกเปรียบม็อบปิดสนามบินเป็นเดือน แต่ถูกปรับ 2 หมื่น
วันนี้ (5 ก.พ. 67) ภายหลังศาลแขวงดุสิตมีคำพิพากษา จำเลยจากกรณีกรณีการทำกิจกรรมไม่ถอยไม่ทนของอดีตแกนนำพรรคอนาคตใหม่เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2562 โดยศาลพิพากษาว่ามีความผิดตาม พรบ.ชุมนุมสาธารณะ จัดการชุมนุมในระยะไม่เกิน 150 เมตรจากพระราชวัง พิพากษาลงโทษจำคุก 4 เดือน ปรับคนละ 10,000 บาท โดยให้รอลงอาญาสองปีและศาลปรับในคดีพินัย ฐานไม่แจ้งการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่เป็นเงินคนละ 10,000 บาทและฐานใช้เครื่องขยายเสียงอีก 200 บาท โดยจำเลยทั้งหมดยื่นต่อสู้คดีชั้นอุทธรณ์ต่อ
นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ กล่าวว่า อัยการโจทก์ได้ฟ้องตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ฐาน ไม่แจ้งการชุมนุมขัดขวางทางเข้าออกรถไฟฟ้าการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ขออนุญาตและความผิดฐานจัดชุมนุมใน ระยะไม่เกิน 150 เมตรจากพระราชวังสระปทุม ซึ่งเป็นที่ประทับของเชื้อพระวงศ์ชั้นเจ้าฟ้าขึ้นไปมีความผิดตามกฎหมาย
ในวันนี้ศาลอ่านคำพิพากษาประมาณ 1 ชั่วโมง เชื่อว่าการที่จำเลยทั้งแปดเชิญชวนให้ไปชุมนุมนั้น เป็นผู้จัดชุมนุมแบ่งหน้าที่กันทำและมีการชุมนุมที่ขัดขวางการเข้าออกรถไฟฟ้าแต่ความผิดเหล่านี้มีโทษปรับเป็นพินัยคือไม่มีความผิดในทางอาญา โดยศาลเชื่อว่าการชุมนุมของจำเลยการชุมนุมในระยะ 150 เมตรจากพระราชวังสระปทุม แม้จุดที่ยืนชุมนุมอยู่จะอยู่เกินกว่า 150 เมตรตามข้อต่อสู้ของจำเลย แต่เนื่องจากมีกลุ่มผู้ชุมนุมตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้กล่าวหาอยู่ในระยะที่ไม่เกิน 150 เมตร ก็ถือว่าเราเป็นผู้จัดชุมนุมจึงต้องรับผิดชอบศาลจึงมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยทั้ง 8 คน ให้จำคุก 4 เดือนปรับ 10,000 บาทแต่พิเคราะห์ถึงความประพฤติฐานะความเป็นอยู่แล้ว ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน ศาลพิพากษารอการลงโทษ 2 ปี และศาลลงโทษปรับตามความผิดพินัยอีกคนละ 10,200 บาท ฐานไม่แจ้งการชุมนุมและใช้เครื่องขยายเสียง
นายพิธา กล่าวว่า พวกเราจะมีการอุทธรณ์คดีนี้ต่อในหลายประเด็น เรื่องหนึ่งคือการได้สัดส่วนของกฎหมาย ซึ่งแน่นอนว่าการชุมนุมสาธารณะโดยสันติส อาจมีความกระทบกระทั่งต่อสังคมบ้าง โดยได้ยกตัวอย่างการชุมนุมที่สนามบินที่มีโทษปรับเพียง 20,000 บาทโดยไม่มีโทษทางอาญาอื่นแต่อย่างใด จึงได้ปรึกษากับทนายความว่าให้ดูคำพิพากษาย้อนหลังว่าเคยได้มีการชุมนุมที่สถานสถานสถานที่นี้กี่ครั้งและมีคำพิพากษากันอย่างไรและตนยังมองว่ายังมีความคลาดเคลื่อนเรื่องข้อเท็จจริง เพราะไม่แน่ใจว่าระยะทาง 150 เมตร นั้นวัดจากจุดไหนถึงจุดไหน แต่จุดที่พวกตนยืนกันได้วัดแล้วว่าเกินระยะ 150 เมตรแน่นอน ต้องการอุทธรณ์เพื่อให้ข้อเท็จจริงปรากฎ
“การควบคุมวาระทางสังคมผ่านการชุมนุมอย่างสันติเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แน่นอนว่าหากมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพคนอื่นก็อาจจะมีโทษ แต่ต้องได้สัดส่วนกับเหตุ เพราะฉะนั้นจะใช้สิทธิในการอุทธรณ์ต่อ รวมถึงพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่อาจคลาดเคลื่อน” นายพิธา กล่าว
ทนายความ กล่าวเพิ่มว่า กรณีนี้อยากให้ไปคัดคำพิพากษาโดยละเอียดมาดู คำพิพากษาแบบนี้เราเห็นต่างอย่างแน่นอน เพราะหากยกตัวอย่างการชุมนุมที่สกายวอล์ค ที่เดียวกัน ตำรวจเคยฟ้องข้อหานี้แล้วศาลอาญากรุงเทพใต้พิจารณายกฟ้อง สถานที่เดียวกันเลย อัยการก็ไม่อุทธรณ์แล้ว เพราะฉะนั้นอย่างเช่นนายพิธาพูดคือให้เอาความจริงมาพูดกันดีกว่า ตนเคารพในคำพิพากษาแต่เคารพในความเป็นจริงมากกว่า คดีนี้จึงเหมาะสมที่จะอุทธรณ์เพราะความเป็นจริง ไม่ได้เป็นตามที่โจทก์ฟ้องมา
นอกจากนี้ในกรณีการแจ้งการชุมนุมทนายความได้ยกตัวอย่างศาลแขวงเชียงรายได้เคยพิจารณาว่าเจตนารมย์ของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ ไม่ต้องขออนุญาตแจ้งให้ทราบ และเมื่อเจ้าพนักงานในพื้นที่ทราบแล้วก็ไม่ต้องแจ้งแล้วในกรณีนี้ในทางนำสืบเห็นได้ชัดว่า มีการชุมนุมในวันที่ 14 ธันวาคม แต่พนักงานสอบสวนบอกว่ารู้มาก่อนแล้วตั้งแต่วันที่ 13 กรณีนี้เคยมีคำวินิจฉัยศาลแขวงเชียงราย ว่าหากผู้จัดชุมนุมโพสต์แล้วตำรวจรู้แล้วถือว่าเป็นการแจ้งให้ทราบแล้วเพราะเจตนาของ พ.ร.บ.นี้ มีเพียงแค่นี้
อีกทั้งศาลยังเชื่อว่ามีการขัดขวางทำให้คนเดินไปใช้บริการรถไฟฟ้าได้ไม่สะดวก แต่ในการนำสืบฝั่งจำเลย เบิกพยานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยบนรถไฟฟ้า ก็พบว่าในวันนั้นมีปริมาณผู้ใช้งานตามค่าเฉลี่ย เพราะฉะนั้นจึงจะเป็นประเด็นที่จะให้ศาลสูงเป็นผู้วินิจฉัย
“ผมยกตัวอย่างว่าสมมุติว่าผิด คุณยึดสนามบินศาลอาญาปรับแค่ 20,000 บาท แต่ทำไมไปสกายวอล์คศาลก็บอกว่าชุมนุมสั้นๆ หากจะขัดขวางจริงก็อาจจะนิดหน่อยในช่วงเวลา 45 นาที แต่ทำไมลงโทษจำคุกตั้ง 4 เดือน ผมว่ามันไม่ได้ผิดปกติแต่มันเป็นคำวินิจฉัยที่ผมรับไม่ได้“ นายกฤษฎางค์ ทนายความ กล่าว
ด้านนายพิธา กล่าวเสริมว่า หลักใหญ่สำคัญทั้งในเชิงนิติศาสตร์รัฐศาสตร์หรือสังคมศาสตร์คือหลักการได้สัดส่วน แน่นอนบางครั้งอาจมีการใช้เสรีภาพเกินขอบเขต แต่การเกินขอบเขตจะลงโทษในลักษณะไหนจะต้องได้สัดส่วนและเสมอภาค
นายปิยบุตร แสงกนกกุล หนึ่งในจำเลย กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีนี้สะท้อนถึงการใช้ดุลพินิจที่หนีไม่พ้นคนทั่วไปนำไปเปรียบเทียบกับการชุมนุมของหลายกลุ่มที่ผ่านมากระทำการยึดสนามบินแล้วศาลลงโทษปรับเพียง 20,000 บาทเท่านั้นเมื่อเราเปรียบเทียบแล้ว แม้จะคนละกรณีกันแต่ความเดือดร้อนเสียหายของประชาชนคนทั่วไปที่เดือดร้อนจากการชุมนุม หากดูที่กรณีวันที่ 14 ธันวาคม 2562 การชุมนุมของพวกเราสั้นมากใช้เวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมงแล้วแยกย้ายกันกลับ ตอนจบก็ยังช่วยกัน ทำความสะอาดด้วย แต่ถูกศาลพิพากษาจำคุก 4 เดือนรอลงอาญา 2 ปี ส่วนความไม่เหมาะสมหรือสมเหตุสมผลของกฎหมาย ตนเชื่อว่าพรรคก้าวไกลก็จะมีการไปขับเคลื่อนกันต่อ เพราะตั้งแต่ทำงานสมัยอนาคตใหม่ก็เคยตั้งประเด็นเรื่องพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ มีความเกินกว่าเหตุไปนิดหน่อยในหลายเรื่อง ที่จำกัดเสรีภาพในการชุมนุมมากจนเกินไป
“ถามว่าการชุมนุมของพวกเรา มีประชาชนเดือดร้อนเทียบเป็นน้ำหนักแล้วมันเท่าเทียมกับการต้องติดคุก 4 เดือนหรือ แต่ในอีกกรณีที่มีการยึดสนามบินเป็นเวลาเกือบเดือน มีผู้เสียหายจากการชุมนุมแน่นอนชัดเจน แต่บทลงโทษคือ 20,000 บาท
ผมยังยืนยันเสรีภาพการชุมนุมไม่ว่าเป็นฝ่ายไหนก็ตาม แต่หากเปรียบเทียบสองกรณีนี้แม้เป็นกฎหมายคนละฉบับ คนละกรณี แต่หากวัดจากความเดือดร้อนของประชาชน ผมคิดว่ากรณี 14 ธันวา 62 ของพวกเรา ประชาชนจะได้รับความเดือดร้อนอยู่บ้าง แต่ไม่น่าถึงขนาดที่จะต้องส่งผลให้พวกเราโดนจำคุกเป็นเวลา 4 เดือนแล้วรอลงอาญา“ นายปิยบุตร กล่าวทิ้งท้าย
เรื่อง: ทศ ลิ้มสดใส
ภาพ: ธนาภรณ์ วุฒิสนธิ์
#TheReporters #เดอะรีพอร์ตเตอร์
#พรบชุมนุมสาธารณะ #ไม่ถอยไม่ทน #อนาคตใหม่

(https://www.facebook.com/TheReportersTH/posts/727584336230271?ref=embed_post)