พ่อบ้านเยอรมัน
August 12
·
"สงครามก็แพ้ ประเทศก็แตกแยก วันหยุดก็เยอะ ทำงานก็น้อย แต่ทำไมเยอรมนีจึงเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จได้"
สาเหตุนึงที่ทำให้พ่อบ้านตัดสินใจเลือกมาศึกษาต่อที่เยอรมนีก็คือ พ่อบ้านอยากเรียนรู้ครับว่า
"ทำไมเยอรมันหรือเยอรมนีจึงกลายเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จได้มากมายจนกลายมาเป็นมหาอำนาจอย่างในปัจจุบัน"
ถึงแม้ว่าสมัยตอนที่พ่อบ้านมาเรียนต่อทีนี่เยอรมนีจะไม่ใช่ประเทศแรกๆ ที่นักเรียนไทยจะมาศึกษาต่อ แต่จริงๆ แล้วพ่อบ้านว่าที่นี่มีอะไรที่น่าเรียนรู้มาก คุณลองนึกตามพ่อบ้านดูนะครับ
- เยอรมนีเป็นผู้แพ้สงครามโลกทั้งสองครั้งจนประเทศแทบล่มสลาย
- เยอรมนี กลายเป็นหนี้มหาศาลและเศรษฐกิจพังพินาศมาหลายวิกฤต
- เยอรมนี เคยถูกแบ่งออกเป็นสองฟากอย่างชัดเจน
หรือเอาเรื่องง่ายๆ คือทั้งๆ ที่วันหยุดพักร้อนของคนเยอรมันโดยเฉลี่ยคือ 30 วันต่อปี(24 วันตามกฏหมาย) โดยไม่นับวันหยุดราชการที่มีอย่างมากมาย และเมื่อเทียบเวลาการทำงานของคนเยอรมันแล้วถือว่าน้อยกว่าประเทศอื่นมากเลยทีเดียว
"แต่ทำไมพวกเค้าถึงยังสามารถพลิกฟื้นประเทศ และกลายมาเป็นหนึ่งในมหาอำนาจในด้านต่างๆ ของโลกอย่างเช่นในปัจจุบันได้"
มันจึงเป็นเสน่ห์ที่ทำให้พ่อบ้านอยากค้นหาและมันต้องหาคำตอบให้ได้!! จึงทำให้พ่อบ้านตัดสินใจมาเรียนต่อที่เยอรมนี และก็ตัดสินใจมีภรรยาเยอรมันด้วยอ่ะนะ 555
เคล็ดลับที่ 1 "พวกเค้าการจัดการเวลาได้ดี"
ใช่แล้วครับสิ่งแรกคืออุปนิสัย ซึ่งสิ่งที่ขึ้นชื่อของคนเยอรมันก็คือ การจัดการเวลาอย่างมีระเบียบอย่างเคร่งครัดและการตรงต่อเวลาเป็นที่หนึ่ง
ซึ่งคนเยอรมันโดยส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนรุ่นก่อนนั้นเค้าจะมองว่าเวลาทำงานคือทำงาน เวลาเล่นคือเล่น เวลาเที่ยวคือเที่ยว
ดังนั้นถ้าคุณจ้างงานคนเยอรมัน 8 ชั่วโมงสิ่งที่คุณจะได้คือ"เครื่องจักรหนึ่งตัว" ที่ทำงานให้คุณตลอดเวลาจนกว่าจะเลิกงาน
แต่ถ้าเวลาเลิกงานก็คือเลิกงานถ้าไม่คอขาดบาดตายจริงๆ เค้าจะไม่โทรหากันเวลาเลิกงานเพราะถือว่าเป็นเวลาส่วนตัวและครอบครัวของพวกเขานั่นเองครับ ซึ่งคำว่า "ครอบครัว" ของคนเยอรมันนี่ถือว่าเป็นสิ่งที่มีค่ามาก ใช่ครับคนเยอรมันรักงาน แต่รักครอบครัวมากกว่า โดยคุณจะเห็นได้เลยว่าคนเยอรมันหลายคนยอมลดเงินเดือนยอมลาออกจากงานเพื่อที่จะมีเวลาให้กับครอบครัวมากขึ้น
เคล็ดลับที่ 2 "พวกเค้ารู้จักการวางระบบ"
อะไรก็ตามที่มันต้องใช้คนเยอะๆ อะไรก็ตามที่มันต้องทำซ้ำๆ อะไรก็ตามที่มันทำแล้วไม่ค่อยเกิดประโยชน์ หรือแม้กระทั่งอะไรก็ตามที่ต้องการความโปร่งใส
"คนเยอรมันจะจัดการให้เป็นระบบ ระเบียบให้หมด เพื่อง่ายต่อการจัดการและเพื่อความเป็นธรรม"
ถ้าคุณทำงานร่วมกับคนเยอรมันคุณจะเห็นว่าคนเยอรมันให้ความสำคัญกับการประชุมเป็นอย่างมาก โดยการประชุมนั้นจะต้องเคลียร์ชัดเจนว่าจะคุยกันเรื่องอะไรเวลาในการประชุมเท่าไหร่ ซึ่งการประชุมของคนเยอรมันนั้นหลายครั้งพ่อบ้านนึกว่าอยู่ในสงครามเพราะหลายครั้งจะมีการถกเถียงกัน และพูดตรงประเด็นมากๆ(เอาเป็นว่าพูดแบบนี้ที่ไทยมีต่อยกัน)
แต่สิ่งที่ดีคือในการประชุมนั้นจะเป็นการประชุมเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด วางระบบให้ดีเพื่อแก้ปัญหา สานต่องานของคนเก่าโดยไม่มีเรื่องของการเมืองมายุ่งมากมาย เอาเป็นว่าประชุมจบไปดื่มเบียร์กันต่อได้เลย
เคล็ดลับที่ 3 "พวกเค้าให้ความสำคัญกับความโปร่งใส"
เยอรมันเคยเป็นประเทศที่เคยมีปัญหาการทุจริตเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในสมัยก่อนในช่วงสงครามโลกและหลังแพ้สงครามครับ
"เป็นที่แน่นอนว่าการทุจริตนั้นเป็นปัญหาที่ถ่วงประเทศแบบสุดๆ ทั้งถ่วงความเจริญและถ่วงคุณภาพชีวิต"
ซึ่งวิธีแก้ปัญหาของเค้าก็คือใช้วิธีเดียวกับข้อสองโดยจะทำการจัดการระบบในการตรวจสอบ แล้วซ้อนระบบตรวจสอบอีกที ซึ่งรูปแบบการตรวจสอบของเยอรมันนั้นถ้าให้เทียบจริงๆ พ่อบ้านมองว่าดีมาก
เพราะเป็นระบบที่ช่วยสร้างระบบและระเบียบวินัยอีกขั้นนึง ยกตัวอย่างระบบการตรวจสอบของเยอรมันเช่นถ้าเราขึ้นรถไฟ หรือรถโดยสารสาธารณะในเยอรมัน เค้าจะไม่มีเครื่องตรวจตั๋วให้เราครับ โดยเค้าจะให้เราวิ่งขึ้นรถได้เลยแต่วันดีคืนดี เค้าจะสุ่มตรวจ ซึ่งถ้าคุณไม่ได้ซื้อตั๋วนี่คุณโดนค่าปรับทีเดียวจุกแน่นอน
หรือเอาง่ายๆว่า ถ้าเกิดเค้ากลัวการ Bias หรือช่วยเหลือกัน ลองนึกสภาพว่าการสอบใหญ่ๆ ของเยอรมันในหนึ่งครั้งอาจจะต้องใช้ระบบในการทำข้อสอบถึง สามต่อ โดย ต่อที่หนึ่งให้สถาบันนี้เป็นคนสอน แต่ให้สถาบันที่สองเป็นคนออกข้อสอบ และ!! ให้สถาบันที่สามเป็นคนตรวจข้อสอบ ซึ่งส่วนตัวพ่อบ้านมองว่าถือว่าโปร่งใสมากเลยทีเดียว
เคล็ดลับที่ 4 "พวกเค้าการกระจายความเจริญ"
ถ้าเรามองถึงโครงสร้างของเศรษฐกิจของเยอรมนีแล้วเราจะเห็นได้ว่าเยอรมนีอาจจะมีบริษัทที่มีชื่อเสียงมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Audi, Bosch, Benz, BMW, Bafs ซึ่งอาจจะดูเหมือนว่าบริษัทเหล่านี้เป็นคนขับเคลื่อนความเจริญหลักของประเทศแต่รู้มั้ยว่าความจริงเป็นแค่ส่วนนึงเท่านั้น!!!
คนที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเยอรมันที่แท้จริงนั้นไม่ใช่บริษัทขนาดใหญ่หรือกลุ่มทุนผูกขาดอื่นใด แต่กลับกลายเป็นบริษัทขนาดเล็กหรือที่เรารู้จักในคำว่า SME (Mittelstand)
ขอย้อนกลับไปนิดว่าสาเหตุที่พ่อบ้านต้องกล่าวถึงคำว่ากลุ่มทุนผูกขาดเพราะว่ากฏหมายเรื่องการผูกขาดทางธุรกิจที่นี่ค่อนข้างเข้มงวดและแรงมากจนบริษัทในแต่ละอุตสาหกรรมจะต้องมีการแบ่งสัดส่วนทางการตลาดอย่างชัดเจนและยากที่จะผูกขาด
เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวจริงของประเทศหรือก็คือ SME นั้นมีโอกาสที่จะเติบโต และแข่งขันได้ ในโครงสร้างทางเศรษฐกิจของเยอรมันในปัจจุบันใน 100% มีบริษัทขนาดเล็กเป็นสัดส่วนสูงถึง 99% และ 1% เป็นบริษัทขนาดใหญ่
และบริษัทขนาดเล็กเหล่านี้ของเยอรมันมีศักยภาพที่สูงเป็นอย่างมากจนสามารถทำให้เกิดการจ้างงานท้องถิ่นได้แทบทุกเมืองของประเทศเยอรมนี และอยากจะบอกว่าบริษัทขนาดเล็กหลายบริษัทสามารถจ่ายเงินเดือนได้มากกว่าบริษัทขนาดใหญ่เสียอีก
จึงทำให้ประชาชนไม่จำเป็นจะต้องแห่กันเข้ามาหางานทำในเมืองหลวง แต่ในทางกลับกันหลายคนแย่งจะไปอยู่ต่างจังหวัดด้วยซ้ำไป และเมืองแต่ละเมืองต่างก็มีงาน สิ่งที่ตามมาก็คือภาษี ใช่แล้วครับภาษีที่จ่ายให้กับองค์กรท้องถิ่นนั้นสูงมากจนทำให้แต่ละเมืองสามารถสร้างโครงสร้างพื้นฐานของตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นถนน, รถราง, รถใต้ดิน และอื่นๆ โดยไม่กระจุกตัวอยู่แต่ในเมืองหลวงเท่านั้น เรียกว่าเป็นการกระจายความเจริญอย่างทั่วถึง
ซึ่งพ่อบ้านบอกได้ว่าส่วนนึงที่บริษัทพวกนี้เกิดได้เพราะเกิดจากการจัดการของภาครัฐที่มีส่วนในการผลักดันเป็นอย่างมากไม่ว่าจะเป็นการช่วยหาตลาดในการส่งออก การพัฒนาความรู้ในการทำธุรกิจระหว่างประเทศ การปล่อยเงินกู้ในอัตราที่ดอกเบี้ยต่ำมากหรือไม่มีดอกเบี้ยเลย สิทธิพิเศษทางภาษีและอื่นๆ เพื่อช่วยผลักดันให้บริษัทขนาดเล็กโตมาเป็นขนาดกลางและเป็นขนาดใหญ่ในอนาคต
แม้แต่กลยุทธ์ในการแข่งขันก็มีความแตกต่างโดยในบางประเทศเราอาจจะเคยได้ยินคำว่าปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่สำหรับบริษัทที่นี่จะใช้คำว่ารวมกันเป็นฝูงเสียมากกว่า ซึ่งกลยุทธ์หลักในการแข่งขันของบริษัทขนาดเล็กในเยอรมันคือการแข่งขันในเรื่องเทคโนโลยีและคุณภาพมากกว่าการแข่งขันเรื่องราคา บริษัทเยอรมันจะไม่เคยกลัวบริษัทที่นำสินค้าราคาถูกมาขาย มีหลายบริษัทในจีนพยายามมาขายของในเยอรมันแล้วก็ต้องถอยกลับไปไม่เป็นท่าด่วยคำว่า "German Quality"
ใครจะรู้ว่าบริษัทยักษ์ใหญ่หลายบริษัทอย่าง SAP หรือ Recaro ก็มีจุดกำเนิดมาจากการเป็นบริษัทขนาดเล็กในเมืองที่พูดชื่อไปก็แทบไม่มีคนรู้จักอย่าง Walldorf กับ Kirchheim
เคล็ดลับที่ 5 "พวกเค้าให้ความสำคัญกับ บุคลากร"
ที่นี่ให้ความสำคัญกับคำว่า บุคลากรเป็นอย่างมาก เพราะเค้ามีระบบสวัสดิการและระบบการศึกษาที่เป็นพื้นฐานได้ดีระดับนึง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสวัสดิการที่พร้อมจะสนับสนุนคุณแม่และเด็กที่เกิดขึ้นมา เช่นในส่วนของการสนับสนุนค่าใช้จ่ายของเด็กรายเดือน หรือการให้ลาอยู่กับบุตรนับปี
ระบบการศึกษาที่มีการกระจายตัวทั่วประเทศ ซึ่งระบบการศึกษาของเยอรมนีอาจจะไม่ใช่ระบบที่ดีที่สุด แต่พ่อบ้านมองว่าระบบการศึกษาของที่นี่นั้นเป็นระบบที่สามารถสอนให้คนทำงานได้ดีมากที่สุดระบบนึงเลยครับ
อาทิระบบการศึกษาสายอาชีพที่คุณจะต้องเรียนและพร้อมๆ กับทำงานไปด้วยตลอดเวลา เสมือนกับคุณได้นำความรู้ที่ได้เรียนมาไปใช้งานได้เลยทันที หรือถ้าคุณไม่ได้ไปในสายอาชีพแล้วอยากศึกษาต่อมหาวิทยาลัย ที่เยอรมนีก็สนับสนุนในส่วนของค่าเทอม แถมยังมีทุนให้ทั้งนักศึกษาในประเทศและที่มาจากนอกประเทศ
ซึ่งแน่นอนครับเหตุผลก็คือ เพราะพวกเค้าจะได้มาเป็นบุคลากรในการนำพาสร้างระบบและร่วมพัฒนาประเทศมุ่งไปข้างหน้าไงครับ
ถ้าใครอ่านมาถึงตรงนี้จะเห็นได้เลยว่าเคล็ดลับของเยอรมันนี้มันช่างเรียบง่ายเสียจริง
เพียงแค่ รู้เวลา, รู้หน้าที่, รู้วิธีจัดการ, รู้ว่าควรลงทุนกับอะไร และแบ่งปันอย่างทั่วถึงเพียงเท่านั้นเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ถ้าพูดออกไปหลายๆ คนก็บอกว่าเราก็ทำอยู่ ประเทศนี้ก็เป็น แบบนี้ก็ใช้ แต่เรื่องแบบนี้พ่อบ้านแนะนำว่าควรจะต้องสัมผัสจริงๆ แล้วคุณจะรู้ได้เลยว่า
การจะทำให้เหมือนหรือเทียบเท่าแบบเยอรมนีนี่
"มันยาก"
เพราะเค้าทำกันเป็นระบบเป็นนิสัยสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งพ่อบ้านเชื่อว่าถ้าคุณทำงานร่วมกับคนเยอรมันคุณอาจจะเคยอุทานคำว่า
"คนเยอรมันนี่มันเยอรมันจริงๆ"
ว่าแต่คุณคิดว่ามีเหตุผลไหนอีกบ้างมาลองเล่าให้พ่อบ้านฟังด้วยนะครับ?
ปล. บุคลิกและลักษณะนิสัยข้างต้นนั้นไม่ใช่เป็นของคนที่นี่ทุกคน หากแต่ว่าเป็นบุคลิกภาพในภาพรวม(ที่เป็นที่ยอมรับ) และมากพอจนสามารถนำพาประเทศเข้มแข็งมาจนถึงทุกวันนี้
#พ่อบ้านเยอรมัน #เยอรมนี #เยอรมัน #germany #german #quality #business