วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 10, 2566

น่าเสียดาย ที่สุดท้ายแล้ว รัฐบาลชุดใหม่และแผงอำนาจของรัฐไทยหลังการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 จะไม่มี “พรรคก้าวไกล” อยู่ในนั้น ทั้งๆ ที่ก้าวไกลเป็นพรรคอันดับหนึ่งที่ชนะการเลือกตั้ง การไม่มีพรรคก้าวไกลจะนำไปสู่การสูญเสียอะไรในทางการเมืองบ้าง?



เสีย ‘ก้าวไกล’ สูญเสียอะไร? | ปราปต์ บุนปาน

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 สิงหาคม 2566
เผยแพร่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2566

น่าเสียดาย ที่สุดท้ายแล้ว รัฐบาลชุดใหม่และแผงอำนาจของรัฐไทยหลังการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 จะไม่มี “พรรคก้าวไกล” อยู่ในนั้น ทั้งๆ ที่ก้าวไกลเป็นพรรคอันดับหนึ่งที่ชนะการเลือกตั้ง

การไม่มีพรรคก้าวไกลจะนำไปสู่การสูญเสียอะไรในทางการเมืองบ้าง?

สิ่งแรกที่จะสูญเสีย คือ แรงสนับสนุนทางการเมืองอันกระตือรือร้นจาก “คนชั้นกลาง”

ผลการเลือกตั้งเมื่อเกือบสามเดือนก่อน ยืนยันว่าก้าวไกลคือสถาบันทางการเมืองที่โอบรับพลังทางการเมืองของ “คนชั้นกลาง” ทั้งในกรุงเทพมหานคร เมืองใหญ่ และเมืองใหม่ต่างๆ ทั่วประเทศ เอาไว้ได้มากที่สุด

ในสภาพการณ์ที่ “คนชั้นกลาง” รุ่นอายุ 40-50 ปีขึ้นไปจำนวนมาก หันกลับมายึดถือคุณค่าประชาธิปไตย ส่วน “ลูกหลานคนชั้นกลางรุ่นใหม่” ก็มีประชาธิปไตยเป็นทางเลือกหลักเพียงทางเลือกเดียว

แรงสนับสนุนของ “คนชั้นกลาง” คือจุดแข็งที่หายไปจากพรรคตระกูล “ไทยรักไทย” นับตั้งแต่หลังปี 2548 เป็นต้นมา (ไม่ต้องกล่าวถึงพรรคการเมืองแนวจังหวัดนิยม-ภูมิภาคนิยม-รวมบ้านใหญ่ ซึ่งมีต้นทุนลักษณะนี้อยู่เพียงน้อยนิด)

ขณะเดียวกัน พลังทางการเมืองของ “คนชั้นกลางเอียงขวา” ที่ถูกส่งมอบไปยังพรรคประชาธิปัตย์จนถึงพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติ ก็ร่อยหรอลงเรื่อยๆ

แม้กระทั่งสถาบันทางการเมืองอื่นๆ ที่เคยมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพลังทางการเมืองของ “คนชั้นกลาง” ก็สูญเสียศักยภาพส่วนนี้ไปอย่างชัดเจนในช่วงราวๆ หนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา

สำหรับสังคมการเมืองไทย “คนชั้นกลาง” ถือเป็นแหล่งสร้างความชอบธรรม เป็นพลังที่สามารถผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง และเป็นผู้ผลิตซ้ำโฆษณาชวนเชื่อที่ขยันขันแข็ง

ยิ่งกว่านั้น ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองหลายหน “คนชั้นกลาง” ยังมีสถานะเป็น “ผู้ร่วมออกใบอนุญาตให้รัฐใช้ความรุนแรง” กับประชาชนอีกฝ่ายด้วย

(พูดอีกอย่างได้ว่า ภายหลังปี 2535 เป็นต้นมา รัฐไทยไม่สามารถใช้ความรุนแรงกับประชาชนหรือไม่อาจก่อรัฐประหารได้ หากปราศจากแรงสนับสนุนของ “คนชั้นกลาง” ส่วนใหญ่)

การจัดตั้งรัฐบาลที่แปลกแยกและไร้จุดเชื่อมโยงกับพลังทางการเมืองของ “คนชั้นกลาง” จึงเต็มไปด้วยความเสี่ยง

สิ่งต่อมาที่จะสูญเสียไปพร้อมกับพรรคก้าวไกล ก็คือ “ความเป็นไปได้อันหลากหลาย” (possibilities) ในทางการเมือง

ในแต่ละยุคสมัย-ห้วงเวลา จะมี “ความเป็นไปได้” ต่างๆ ทั้งที่ตกค้างมาจากยุคก่อนหน้าและเพิ่งถือกำเนิดใหม่ ทั้งที่หนุนเสริมและย้อนแย้งกัน ผุดขึ้นมากมายในสังคมการเมือง

เช่น นอกจากการเดินเข้าไปในม็อบ “คนเสื้อแดง” เมื่อปี 2553 จะทำให้คุณได้พบปะกับพี่น้องโหวตเตอร์จากต่างจังหวัดที่รวมตัวกันเข้ามาทวงคืนประชาธิปไตยและหลักการ 1 สิทธิ์ 1 เสียง ถึงในย่านเศรษฐกิจใจกลางเมืองหลวงแล้ว

คุณยังจะได้เจอลัทธิพิธีบูชา “จตุคามรามเทพ” อยู่ในม็อบ เมื่อเดินไปอีกหน่อย คุณก็จะได้พบแผงแบกะดินที่นำเอาวิทยานิพนธ์และหนังสือแนวประวัติศาสตร์การเมืองที่หาซื้อไม่ได้ตามร้านหนังสือทั่วไป มาวางขายในฉบับ “ถ่ายเอกสาร”

หลังเหตุการณ์สังหารโหดพฤษภาคม 2553 ไม่กี่เดือน ข้อความต่างๆ ที่ประชาชนผู้โกรธแค้นเขียนระบายเอาไว้รอบๆ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ บ่งบอกเราว่าความขัดแย้งในสังคมการเมืองไทยได้ขยับขึ้นสูงไปอีกระดับหนึ่ง

ผมกำลังสื่อสารว่า ในบริบทหนึ่ง “คนเสื้อแดง” ซึ่งถูกอนุมานว่าหมายถึง “พรรคเพื่อไทย” ไปโดยปริยาย สามารถดำรงตนเป็นขุมพลังทางการเมืองที่รวบรวม “ความเป็นไปได้ทางการเมือง” จำนวนมากเอาไว้ได้

แต่เมื่อเวลาเคลื่อนผ่านไป “ความเป็นไปได้เดิมๆ” ยังติดค้างหลงเหลืออยู่ ขณะที่ “ความเป็นไปได้ใหม่ๆ” ก็ปรากฏตัวออกมาเพิ่มเติม

น่าสนใจว่า สถาบันทางการเมืองที่สามารถผนวกรวม “ความเป็นไปได้อันหลากหลาย” เอาไว้มากที่สุด กลับกลายเป็นพรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกล

ไม่ว่าเราจะพิจารณาจากนโยบายของพรรค ที่ชูการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูปเศรษฐกิจ (ต่อต้านทุนผูกขาด) ปฏิรูปกองทัพ ไปจนถึงการต่อสู้เรื่องเพศสภาพ

หรือหากพิจารณาจากแนวร่วมของพรรค ก้าวไกลก็สามารถหลอมรวมอดีตคนเสื้อแดง อดีตคนเสื้อเหลือง-คนเป่านกหวีด-กปปส. เรื่อยไปจนถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นหลังยุค “ความขัดแย้งเสื้อสี” และชนชั้นนำบางส่วน เข้าด้วยกัน จนกลายเป็นพลังทางการเมืองที่ไพศาลและน่าทึ่ง

ผิดกับเพื่อไทยที่สูญเสียศักยภาพด้านนี้ไปเฉยๆ

การเสียก้าวไกลจึงเป็นเสมือนการตัดตอน “ความเป็นไปได้ทางการเมือง” เหล่านี้ไปในตัว

ท้ายสุด ถึงแม้ว่าพรรคก้าวไกลจะมีศัตรูทางการเมืองที่ชัดเจน (มีลุงไม่มีเรา) แม้กลุ่มกองเชียร์พรรคที่มักถูกนิยามว่าเป็น “ด้อมส้ม” อาจมีท่าทีระแวงระวังนักการเมือง/พรรคการเมืองรุ่นเก๋าๆ (แต่สุดท้าย สิ่งที่พวกเขาระแวงไว้ก็กลายเป็นเรื่องจริง)

ทว่า ทุกฝ่ายไม่อาจปฏิเสธได้ว่าชัยชนะในสนามเลือกตั้งของพรรคก้าวไกล สะท้อนถึงการต้องการความเปลี่ยนแปลงของประชาชน ซึ่งวางหลักปักฐานอยู่บนความรัก ความศรัทธา ความหวัง และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

เราสามารถพบเห็น “พลังบวก” ดังกล่าวได้จากผู้คนด้านหน้าเวทีปราศรัย, ผู้คนรายรอบขบวนคาราวานหาเสียง และผู้คนที่ห้อมล้อม “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” และบรรดา ส.ส.ก้าวไกล หลังวันเลือกตั้ง

การสูญเสียก้าวไกล ย่อมหมายถึงการสูญสิ้นพลังแห่งความรัก ความศรัทธา ความหวัง และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ของประชาชนหลายสิบล้านคนไปพร้อมกันด้วย

ต้องอย่าลืมว่า “รัฐนาวา” ใดๆ ก็ตาม ไม่สามารถเคลื่อนหน้าไปด้วยความกลัว ความเขลา ความเกลียดชัง ความอิจฉาริษยา และอาการยึดติดหมกมุ่นอยู่กับอดีต •