วันอาทิตย์, สิงหาคม 20, 2566

รายงานทนายเข้าเยี่ยม “น้ำ” วารุณี ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง หลังถูกศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 1 ปี 6 เดือน ในคดีมาตรา 112 กรณีโพสต์เฟซบุ๊กเป็นภาพรัชกาลที่ 10 ขณะเปลี่ยนเครื่องทรง “พระแก้วมรกต” เป็นชุดกระโปรงยาวสีม่วงจากแบรนด์ Sirivannavari


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
Yesterday
·
16 ส.ค. 2566 ทนายความได้เข้าเยี่ยม “น้ำ” วารุณี ชาวพิษณุโลกวัย 30 ปี ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง หลังถูกศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 1 ปี 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. 2566 ในคดีมาตรา 112 กรณีโพสต์เฟซบุ๊กเป็นภาพรัชกาลที่ 10 ขณะเปลี่ยนเครื่องทรง “พระแก้วมรกต” เป็นชุดกระโปรงยาวสีม่วงจากแบรนด์ Sirivannavari และใส่ภาพสุนัข โดยศาลอุทธรณ์รวมถึงศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์คดี
.
น้ำโบกมือทักทายขณะเปิดประตูเข้าไปในห้องเยี่ยม วันนี้เธอออกมาค่อนข้างเร็วเพราะมีเยี่ยมญาติต่อหลังจากคุยกับทนายความ
.
เธออัพเดทเรื่องความเป็นอยู่ให้ฟังว่า “ตอนนี้เพื่อนที่นอนข้างๆ กันย้ายไปแดนนอก เค้าเป็นคนที่คอยให้คำปรึกษาหนูมาตลอดค่ะ พอเค้าไปแล้ว หนูก็นอนเร็วขึ้นเพราะไม่รู้จะคุยกับใคร ตื่นเร็วขึ้นด้วย ตี 4 ก็ลืมตาละ”
“ช่วงนี้หนูสวดมนต์ทุกวันเลยค่ะ ตื่นแล้วก็สวดเลย วันละ 20 นาที เพื่อนๆ ต้องภูมิใจในตัวหนู (หัวเราะ) แต่ถ้ารอบนี้ไม่ได้ประกัน ก็ไม่รู้ว่าจะมีกะจิตกะใจสวดต่อรึเปล่า”
.
ภายหลังทนายแจ้งความคืบหน้าของคดีให้ฟัง ว่าได้เตรียมยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาเสร็จแล้ว และจะยื่นประกันตัวอีกครั้งหลังยื่นอุทธรณ์แล้ว
น้ำบอกว่า “ก็ทั้งกลุ้มและมีความหวังกับการยื่นประกันครั้งนี้มากค่ะ เรายอมรับทุกอย่าง ทุกเงื่อนไขที่จะทำให้ถูกปล่อยตัวแล้ว แม้หนูจะรู้สึกว่าคดี ม.112 มันไม่มีมาตรฐานเลย บางคนได้ประกัน บางคนไม่ได้ประกัน บางคนรอลงอาญา มันไม่มีหลักเกณฑ์ที่หนูจะสามารถคิดคำนวณได้ว่าหนูจะรอดหรือไม่รอด เผลอๆ ทำขนาดนี้ ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะได้รึเปล่า”
“แต่ก็ลุ้นนะคะ ยื่นประกันตอนไหนหนูก็มีความหวังตอนนั้น เหมือนเราซื้อหวยแล้วรอลุ้นทุกวันที่ 1 กับ 16 แหละค่ะ (หัวเราะ)”
.
น้ำยังบอกเล่าถึงสภาพจิตใจในช่วงนี้ว่าเธอยังคงทำอะไรช้าเหมือนเดิม เพราะยาที่กิน
“ตอนนี้หนูช้ามากเลยค่ะ เพราะกินแต่ยาขั้วซึมเศร้า แต่มีวันหนึ่ง หนูได้ยินเสียงคนร้องไห้อยู่ห้อง 5 แล้วมีเพื่อนปลอบเขาว่า ทำไมจะอยู่ไม่ได้ล่ะ ทีคนอื่นยังอยู่ได้เลย หนูก็เลยคิดว่า หนูก็จะต้องอยู่ให้ได้เหมือนกัน แต่ก็เครียดแหละค่ะ เพราะหนูเป็นหัวหน้าครอบครัว อยากออกไปทำงานมากกว่า”
“ยังกินข้าวได้ค่ะ เพื่อนพยายามยัดอะไรใส่ปากตลอด (หัวเราะ)”
.
จากนั้นได้เล่าให้ฟังว่าหากน้องสาวได้ทำงานประจำ เธอก็เบาใจ แต่คงได้เจอน้องสาวน้อยลง
“ช่วงนี้น้องสาวติดธุระเลยไม่ค่อยได้มาเยี่ยม ไม่เจอกันหลายวันแล้ว หนูก็เลยถือโอกาสซ้อมว่า เออ ถ้าน้องได้งานประจำทำ คือหนูก็จะเบาใจขึ้นแหละ แต่ก็จะไม่ได้มาหาบ่อยๆ ก็คงจะเป็นแบบนี้ละมั้ง (ยิ้ม) แต่ยังโชคดีที่หนูมีทนายมาเยี่ยมตลอด”
.
น้ำขอให้ทนายความเล่าเรื่องการความคืบหน้าเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลให้ฟัง แล้วจึงให้ความเห็นว่า“ปวดหัว ยุ่งเหยิงมากเลยอะ”
ทั้งเมื่อรู้ว่ารัฐบาลจะตัดเบี้ยผู้สูงอายุ เดือนละ 600 บาท ออก หากไม่ได้พิสูจน์ว่ามีฐานะยากจน น้ำก็ตกใจ และเห็นใจผู้สูงอายุหลายๆ คนที่อาจจะได้รับผลกระทบ โดยเธอมีความเห็นว่า “งบที่ควรตัด ก็ไม่ตัด ดันมาตัดงบที่ไม่ควรตัด แย่จริงๆ”
.
นอกจากนี้น้ำบอกว่าเธอได้รับจดหมายผ่านระบบออนไลน์จากคนข้างนอก 2 ฉบับ แม้ว่าจะไม่ได้ใส่นามสกุลมาก็ตาม
​.
0000000
.
17 ส.ค. 2566 ทนายความได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาในคดีของวารุณี และยังยื่นขอประกันตัวเธออีกครั้ง โดยเป็นการยื่นเป็นครั้งที่ 4 (มีการอุทธรณ์คำสั่งไปยังศาลฎีกาอีก 1 ครั้ง)
ศาลอาญามีคำสั่งส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณา
.
0000000
.
18 ส.ค. 2566 ทนายความเข้าเยี่ยมวารุณีอีกครั้ง น้ำยังรอลุ้นผลการประกันตัวด้วยความหวัง
“ตื่นเต้น แล้วก็เครียดมากค่ะ บอกทุกคนว่าไม่อยากคุยกับทนายเลย (หัวเราะ) เครียดจนถึงขนาดฝันว่าไปไหว้พระแก้วมรกตเลย กินยานอนหลับแล้วก็ยังตื่นทุกชั่วโมง เพิ่งได้นอนตอนตีสอง ยาวจนถึงตีห้า แล้วก็ตื่นมาสวดมนต์ต่อ เพื่อนๆ ก็มานั่งฟังหนูระบาย มาปลอบใจกัน เขาก็บอกว่าครั้งนี้น่าจะได้ออกแล้วนะ ก็ภาวนาขอให้เป็นอย่างนั้น”
.
“วันนี้วันที่ 51 แล้วนะ ที่หนูเข้ามาอยู่ในเรือนจำ อยู่ในนี้เก่งเลขมาก นั่งนับวันทุกวัน” น้ำเล่าถึงการนับวันรอคอยภายในเรือนจำ
.
“หนูอยู่ในนี้ก็ไม่ได้ทำตัวมีปัญหา คนในเรือนจำยังบอกว่าเป็นเคส 112 ที่สุภาพเรียบร้อย ก็ไม่รู้ว่าทำไมศาลถึงไม่เห็นใจ ไม่ให้หนูออกไปใช้ชีวิต ทำงานเสียภาษี
.
“บางคนในเรือนจำก็ไม่รู้จักมาตรา 112 หนูก็เล่าให้เค้าฟังว่า มันต้องได้รับการแก้ไขนะ เพราะใครก็ฟ้องได้ สมมติว่าหนูเกลียดพี่ หนูก็ไปค้นเฟซบุ๊กตอนพี่พูดถึงสถาบัน เอาไปแจ้งความ ไม่ก็พวกรักสถาบันฯ ไปแจ้ง
.
“มันมีหลายคนใช้กฎหมายข้อนี้ ในการทำลายคนที่เกลียด แล้วมันเสียเวลาชีวิตมาก การไปรายงานตัว ไปทำนู่นทำนี่ ยิ่งถูกฟ้องต่างจังหวัดที่ไกลๆ ยิ่งแย่
.
“พอเข้ามาอยู่ในเรือนจำ ความเป็นอยู่ก็ไม่ดี อะไรที่ไม่เคยกินก็ได้กิน หนูเคยเห็นคนเอามาม่ามาบี้ผสมกับข้าวต้ม ใส่ผงมาม่าให้มันมีรสชาติ ทั้งที่น้ำข้าวต้มมันไม่ได้ร้อนจนต้มมาม่าได้อะ งง เพราะอยู่ข้างนอกเราก็ไม่เคยกินแบบนี้”
.
เมื่อถามว่าหากได้ประกันตัวไปแล้ว สิ่งแรกที่อยากทำคืออะไร เธอบอกว่า “ก็คงขอไปตั้งหลักด้วยการพักผ่อนที่ต่างจังหวัดก่อนค่ะ กลับมาก็คงหางานประจำทำ เพราะภาระเยอะ (หัวเราะ) จากนั้นก็คงเดินสายแก้บน”
.
0000000
.
ในเย็นวันเดียวกันนี้ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้อง เห็นว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ประกอบกับศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาเคยไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
.
“ส่วนจำเลยอ้างว่าเจ็บป่วยนั้นกรมราชทัณฑ์สามารถดูแลจัดการให้ได้ และหากยังคงรักษาพยาบาลอยู่ในเรือนจำอาการจะไม่ทุเลาดีขึ้น จำเลยชอบที่จะร้องขอให้ส่งตัวไปรักษายังโรงพยาบาลหรือสถานบำบัดรักษาทางสุขภาพจิตนอกเรือนจำได้ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 55 จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์”
.
ปัจจุบัน (18 ส.ค.) วารุณีถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางมาแล้ว 52 วัน
.
.
อ่านในเว็บไซต์: https://tlhr2014.com/archives/58479