Siripan Nogsuan Sawasdee
8h
งานวิจัยเรื่อง “Youth Study: Thailand” สนับสนุนโดยมูลนิธิ Friedrich Ebert Stiftung ชิ้นนี้ ทำในช่วงที่การชุมนุมของเยาวชนยังร้อนแรง และโควิดเป็นโรคที่น่าเกรงขาม เสร็จสมบูรณ์มาซักระยะ แต่กระบวนการพิมพ์เป็นเล่มใช้เวลายาวนาน
กระนั้น ผู้วิจัยคิดว่าข้อค้นพบจากการศึกษาน่าจะช่วยให้เราทำความเข้าใจกลุ่มคนที่สังคมเรียกว่า “คนรุ่นใหม่” ได้พอสมควร ข้อค้นพบหลักเช่น
1. คนอายุ 14-34 มีความหวังกับอนาคตตัวเอง มากกว่าฝากความหวังไว้กับอนาคตประเทศ
2. ระดับความพึงพอใจต่อความเป็นไปในสังคมสัมพันธ์โดยตรงกับรายได้ของครอบครัว
3. สิ่งที่พวกเขากลัวที่สุดคือ ความยากจนที่เพิ่มขึ้นและไม่สามารถทำให้ชีวิตก้าวหน้าขึ้นจากที่เป็นอยู่
4. คนที่อยากย้ายประเทศจริงจังมีอยู่ประมาณ 10% ของผู้ตอบแบบสอบถาม เหตุผลหลักคือ อยากให้สภาพความเป็นอยู่ในชีวิตดีขึ้น และต้องการรายได้ที่สูงขึ้น
5. เกินครึ่งของคนรุ่นใหม่สนใจการเมือง แหล่งข้อมูลมากจาก Internet, social media และ โทรทัศน์
*(โทรทัศน์ยังเป็นแหล่งข้อมูลที่มองข้ามไม่ได้)
6. คนที่ยอมรับว่ามีความเห็นทางการเมืองแตกต่างจากพ่อแม่ หรือผู้ปกครอง มีประมาณ 10% ซึ่งพบในกลุ่มคนฐานะยากจนมากกว่าฐานะดี ในเมืองมากกว่าชนบท ในเพศชายมากกว่าเพศหญิง
7. กลุ่มที่เข้าร่วมกับการเคลื่อนไหวของเยาวชน มีประมาณ 15% ส่วนใหญ่ มาจากครอบครัวรายได้กลาง ๆ รองลงมาคือจากครอบครัวระดับล่าง มากกว่าคนฐานะดี
8. พวกเขาประเมินสถาบันทางการเมือง เช่น รัฐบาล สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา ศาล ทหาร ตำรวจ ติดลบจนน่าวิตก โดยไม่มีความไว้เนื้อเชื่อใจในสถาบันทางการเมืองใดเลย
9. ยังมีความเชื่อถือในพรรคการเมืองในกลุ่มคนรุ่นใหม่ แต่เขาเหล่านี้ไม่ไว้วางใจผู้นำที่มีอำนาจเด็ดขาด ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือโดยวิถีนอกประชาธิปไตย
10. มากกว่า 70% มีแนวคิดประชาธิปไตย และเชื่อในแนวทางสันติ แต่ก็เป็นห่วงว่าความรุนแรงอาจเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
ท่านที่สนใจสามารถเข้าไปกดอ่านจากลิงค์นี้ได้ค่ะ
https://thailand.fes.de/publications