วันศุกร์, มีนาคม 24, 2566

“มันรุนแรงมากเลยเหรอ แค่เสื้อตัวเดียวคุณกลัวมากเลยเหรอ สงสัยมากเลยว่าเสื้อตัวนี้มันไปทำอะไรให้ใคร" เรื่องราวของ วรรณภา ‘นักโทษ’ คดีความมั่นคงของรัฐและ ‘แม่เลี้ยงเดี่ยว’ ของลูกชายทั้งสอง


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
2d

วรรณภา: ‘นักโทษ’ คดีความมั่นคงของรัฐและ ‘แม่เลี้ยงเดี่ยว’ ของลูกชายทั้งสอง
.
นักโทษหญิงที่ถูกคุมขังอยู่ในคดีการเมืองที่คดีถึงที่สุดแล้ว ปัจจุบันมีอย่างน้อย 2 คนเท่านั้น ได้แก่ “ป้าอัญชัญ” ในคดีมาตรา 112 ที่หลายคนรู้จักกันเป็นอย่างดี ส่วนอีกคนหนึ่งเธอมีชื่อว่า “#วรรณภา” แม่เลี้ยงเดี่ยววัย 35 ปี
.
วรรณภาเพิ่งถูกคุมขังในฐานะ “#นักโทษเด็ดขาด” ไปเมื่อปลายปี 2565 ที่ผ่านมา จากการที่ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนโทษจำคุก 3 ปี ในข้อหา “เป็นอั้งยี่” กรณีแจกเสื้อยืดสีดำที่มีสัญลักษณ์ “สหพันธรัฐไท” ซึ่งถูกรัฐไทยมองว่ามีความมุ่งหมายต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศไทยไปเป็นระบอบสหพันธรัฐที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข โดยหวังจะแบ่งแยกพื้นที่การปกครองของประเทศออกเป็นมลรัฐต่างๆ
.
สุดท้ายวรรณภาต้องจำใจทิ้งลูกชายหัวแก้วหัวแหวนวัยกำลังโตทั้งสองคนไว้เบื้องหลัง และก้าวเท้าเข้าเรือนจำอีกเป็นหนที่ 2 โดยก่อนหน้านั้นเธอเคยถูกคุมขังมาแล้ว 1 ครั้ง เป็นเวลา 19 วัน จากการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโทษจำคุก เมื่อช่วงกลางปี 2564 ก่อนศาลฎีกาจะให้ประกันตัวในเวลาต่อมา โดยหนึ่งในเงื่อนไขของการปล่อยตัวคือให้ติดกำไล EM ซึ่งวรรณภาต้องใส่มาตั้งแต่นั้นจนถึงวันที่เธอกลับเข้าเรือนจำอีกครั้งในครั้งนี้ คิดเป็นเวลานานกว่า 1 ปีครึ่ง
.
วรรณภามีลูกชายอยู่ด้วยกันสองคน อายุ 13 ปี และ 18 ปี เธอเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ตั้งใจเลี้ยงดูลูกทั้งสองอย่างดีที่สุดด้วยขาลำแข้งตลอดมา ที่ผ่านมาเธอทำงานรับจ้างมาแล้วหลายอย่าง ตั้งแต่ขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ขับรถแท็กซี่ ขายของ รับจ้างคัดแยกพัสดุที่คลังสินค้า ฯลฯ โดยก่อนหน้านี้ชีวิตเธอและลูกๆ ก็ดำเนินไปอย่างลำเข็ญพอสมควรอยู่แล้ว เพราะวรรณภาทำงานหาเงินเพียงคนเดียว แต่ทว่าครอบครัวมีรายจ่ายหลายทาง ไม่ว่าจะเป็นค่าเล่าเรียนลูกทั้งสองคน ค่าเช่าห้อง และจิปาถะอีกหลายอย่าง
.
ชีวิตของวรรณภายิ่งลำบากเข้าไปกันใหญ่ เมื่อต้องถูกดำเนินคดีนี้ การมีประวัติอาชญากรรมในคดีความที่ยังไม่สิ้นสุด การถูกให้ติดกำไล EM และการต้องเดินหน้าสู้คดีขณะที่มีภาระรายล้อมตัว ทำให้เธอต้องถูกไล่ออกจากงาน กลายเป็นคนที่มีงานทำไม่เป็นหลักแหล่ง คาดเดาไม่ได้ รายได้ของเธอจึงลดฮวบลงหลายเท่าตัว
.
วรรณภาเคยเล่าว่า เธอเคยถูกไล่ออกจากห้องเช่าหลายต่อหลายครั้ง เพราะค้างจ่ายค่าเช่าหลายเดือนติดต่อกัน ตลอดกว่า 4 ปี ตั้งแต่ถูกดำเนินคดีนี้ ไม่เคยมีครั้งไหนที่เธอมีเงินพอให้ไปจ่ายค่าเช่าตรงเวลาเลย วรรณภาต้องวิ่งวุ่นทำงานตัวเป็นเกลียว กู้หนี้ยืมสิน เพื่อนำมาใช้จ่ายให้พอผ่านไปได้ในแต่ละวัน
.
ถึงกระนั้นเธอก็อยากให้ลูกทั้งสองคนได้เรียนหนังสือสูงที่สุดเท่าที่จะมีแรงส่งเสียได้ เธอเชื่อว่าการศึกษาจะทำให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น แต่สุดท้ายเมื่อวรรณภาถูกดำเนินคดีไม่นาน ลูกชายคนโตก็ตัดสินใจหยุดเรียนและออกมาช่วยแม่ทำงานรับจ้างหาเงินพยุงครอบครัวให้อยู่รอดได้ ขณะที่เขายังอายุไม่ถึง 18 ปีด้วยซ้ำไป
.
และเมื่อวรรณภาถูกคุมขังในครั้งนี้ ลูกชายคนเล็กวัย 13 ปี ต้องถูกส่งให้ไปอยู่กับยายที่ต่างจังหวัด นั่นทำให้เขาต้องหยุดเรียน ม.1 กลางคัน และจะไม่ได้เรียนหนังสือต่ออีก เพราะยายอายุเยอะมากแล้ว ไม่มีแรงที่จะทำงานหาเงินให้หลานชายได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนได้ ส่วนลูกชายคนโตขออยู่ทำงานรับจ้างที่กรุงเทพฯ ต่อไปเพียงลำพัง เพื่อเฝ้ารอวันที่แม่จะได้กลับออกมาอีกครั้ง
.
วรรณภาเป็นเพียงผู้หญิงคนหนึ่ง ผู้ซึ่งเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวของลูกชายทั้ง 2 คน เธอทำงานรับจ้างหาเงินทั่วกรุงเทพฯ อย่างไม่เป็นหลักแหล่ง ขึ้นอยู่กับว่าวันนั้นที่ไหนจะมีงานให้เธอได้ทำ
.
“มันรุนแรงมากเลยเหรอ แค่เสื้อตัวเดียวคุณกลัวมากเลยเหรอ สงสัยมากเลยว่าเสื้อตัวนี้มันไปทำอะไรให้ใคร #สาระสำคัญคือเป็นแค่การพูดถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเดิม เขาไม่ได้ไปเชิญชวนให้ไปฆ่าใครหรือไปสร้างความเดือดร้อนให้ใครเลย
.
“แต่มาบอกว่าเสื้อตัวนี้เป็นทรราชแผ่นดิน มันแรงมากเลยนะ เราโดนตั้งข้อหาอั้งยี่ ยุยงปลุกปั่น มันรุนแรงมากนะ แค่กับเสื้อตัวเดียว แค่เสื้อตัวเดียวถึงกับเป็นอั้งยี่ เป็นกบฏเลยเหรอ”
.
กลายเป็นว่าเธอต้องถูกทหารนับ 10 นายจับเข้าค่ายทหารอยู่เกือบสัปดาห์ ถูกกล่าวหาด้วยข้อหาความมั่นคงของรัฐ ถูกเลิกจ้างงาน ถูกติดกำไล EM และต้องโทษจำคุกมากถึง 3 ปี ตลอด 3 ปีหลังกรงขังนี้ลูกชายของเธอจะไม่ได้เรียนหนังสือ ต้องขาดแม่ให้พักพิง ทั้งหมดนี้เป็นเพราะ “#เสื้อยืดสีดำที่มีโลโก้สหพันธรัฐไท
.
.
ย้อนอ่านบทสัมภาษณ์ของวรรณภาก่อนต้องเข้าเรือนจำ: ‘วรรณภา’ จำเลยคดีสหพันธรัฐไท- หัวอกแม่เลี้ยงเดี่ยวลูกสอง และฝันร้ายที่รัฐไทยมอบให้ (https://tlhr2014.com/archives/51097)
.
.
เนื่องในช่วงเดือน "วันสตรีสากล" #WomensMonth เราขอเริ่มต้นนำเสนอเรื่องราวของ ‘7 ผู้หญิง’ ที่หวังจะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น แต่กลับถูกรัฐมองว่าเป็นภัยคุกคาม นั่นทำให้ชีวิตของพวกเธอต้องเผชิญหน้ากับความอยุติธรรมหลากหลายรูปแบบที่หากไม่ใช่ตัวพวกเธอเองก็อาจไม่มีวันเข้าใจ
.
แม้การต่อสู้ของพวกเธอจะยังไม่สิ้นสุด แต่เราหวังว่าทุกคนจะร่วมเคียงข้างและต่อสู้ไปพร้อมกับพวกเธอจนกว่าพวกเราจะถึงวันใหม่ที่ใฝ่ฝัน
.
ติดตามบทสัมภาษณ์ชุดพิเศษ "7 เรื่องราวว่าด้วยความอยุติธรรม ความหวัง และพลังของ 7 ‘ผู้หญิงนักสู้’ บนถนนสายประชาธิปไตย" ได้ตลอดทั้งเดือนมีนาคมนี้
.
อ่านบนเว็บไซต์: https://tlhr2014.com/archives/54129
.....

เสื้อสหพันธรัฐไท เสื้อยืดสีดำที่มีตราสัญลักษณ์คล้ายธงสีขาวและแดง