วันเสาร์, มีนาคม 25, 2566

ทักษิณกะกลับไทย แผนการตลาดแลนสไลด์ หรือ “เกี้ยเซียะ” สำเร็จ ?


ทักษิณ ชินวัตร : นักรัฐศาสตร์ฟันธง อดีตนายกฯ ต้อง “เกี้ยเซียะ” เพื่อกลับไทย แม้เพื่อไทย “แลนด์สไลด์” เลือกตั้ง

25 มกราคม 2023
บีบีซีไทย

นักวิชาการรัฐศาสตร์ วิเคราะห์หนทางกลับบ้านของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชี้ ไม่มีทางที่เขาจะไม่ "เกี้ยเซียะ" กับกลุ่มผู้มีอำนาจใน "ระบอบประยุทธ์-อนุรักษนิยม" แม้ว่าจะชนะเลือกตั้งแบบ "แลนด์สไลด์" เพราะหากจะกลับมาแบบรอดโทษจำคุก ต้องมี "ดีล" กันก่อนแล้วก่อนเลือกตั้ง

"ต่อให้พรรคเพื่อไทย แลนด์สไลด์ เรื่องนี้ก็ต้องคุยกับกลุ่มผู้มีอำนาจ" ดร. ธนพร ศรียากูล นายกสมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวกับบีบีซีไทย

"คุณทักษิณก็หวังว่าแต้มต่อในเรื่องนี้ คล้าย ๆ กับสมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ พอชนะเยอะแล้วก็หวังว่าจะมีแต้มต่อในการประนีประนอม แต่ไม่คิดว่านี่เป็นแทคติกอะไรใหม่"

เมื่อคืนวันที่ 24 ม.ค. 2566 นายทักษิณ กล่าวผ่านรายการ "CareTalk x CareClubHouse : มีเรื่องคาใจ ก็ถามมาเลอ !" จากกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ประกาศว่าเขาพร้อมกับบ้านแล้วหลัง "อยู่เมืองนอกมานาน"

"ยังไงก็จะกลับ อยู่เมืองนอกมานานแล้ว... กลับไปโดยไม่อาศัยพรรคไหน...ไม่มีเกี้ยเซียะกับพลังประชารัฐแน่นอน" นายทักษิณ ประกาศอีกครั้งทางคลับเฮาส์ หลังจากที่เขาเคยประกาศมาแล้วเมื่อ ช่วง ก.ค. และ ต.ค. ปีที่แล้ว และบอกว่า "ไม่ต้องกังวล เพราะจะไม่มีการออกกฎหมายใด ๆ

ล่าสุดเมื่อ 24 มี.ค. 2566 นายทักษิณให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเกียวโด ขณะเยือนญี่ปุ่นว่า เขาพร้อมที่จะรับโทษจำคุกในประเทศไทยหากได้รับอนุญาตให้ใช้ชีวิตบั้นปลายกับครอบครัว ไม่ว่าผลการเลือกตั้งทั่วไปจะออกมาอย่างไร

“ตอนนี้ผมติดคุกใหญ่มา 16 ปีแล้ว เพราะพวกเขากีดกันไม่ให้ผมอยู่กับครอบครัว” นายทักษิณกล่าวถึงชีวิตที่ห่างไกลจากบ้านเกิดตั้งแต่ปี 2551 “ผมทรมานมามากพอแล้ว ถ้าผมต้องทนทุกข์ทรมานอีกครั้งในคุกที่เล็กกว่านั้น ก็ไม่เป็นไร”

“จริงๆ "แม้ไม่ใช่ราคาที่ต้องจ่าย แต่ผมยอมจ่าย เพื่อให้ได้อยู่กับหลาน ๆ ผมควรจะใช้ชีวิตที่เหลือกับลูกหลาน” นักการเมืองวัย 73 ปี กล่าว

นายกสมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายว่า การมีคำพิพากษาในหลายคดีความ ซึ่งเป็นผลจากการใช้กลไกหลังการรัฐประหาร 2549 ทำให้หากทักษิณกลับประเทศไทย โดยไม่ได้พูดคุยกับผู้มีอำนาจนั้น ทำได้ แต่ “ต้องเข้าเรือนจำ”

ดังนั้น การกลับมาแบบพ้นโทษจำคุก จำเป็นต้องออกเป็นกฎหมายก่อน ซึ่งที่ผ่านมาสังคมไทยมีประสบการณ์ออกกฎหมายแบบนี้มาหลายครั้ง

"สมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ขึ้นมาก็ใช้แทคติกแบบนี้แล้ว มันก็ไม่ได้บรรลุวัตถุประสงค์" ดร. ธนพร กล่าวถึงการออก พ.ร.บ. นิรโทษกรรม "สุดซอย" ซึ่งเป็นชนวนหนึ่งนำมาสู่การชุมนุมใหญ่ของ "คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" (กปปส.) และเกิดรัฐประหารเมื่อปี 2557

อย่างไรก็ตาม ดร. ธนพร ชี้ว่า การดำเนินการครั้งนี้ "อาจจะปรับรูปแบบการประปีประนอมให้มากขึ้น" จากเดิมที่ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พยายามประนีประนอม "ให้เกียรติ" กองทัพ แต่ครั้งนี้จะเปลี่ยนไปจากเดิม

"ครั้งนี้ต้องไปประนีประนอมกับผู้ที่ยังเป็นตัวแทนของ ‘ระบอบประยุทธ์’ หรือกลุ่มอำนาจทางการเมืองที่ยังเป็นตัวแทนของ ‘ระบอบอนุรักษนิยม’ ซึ่งวันนี้ ตัวเลือกคือ ประยุทธ์ กับ ประวิตร" ดร.ธนพร กล่าว

"ระบอบประยุทธ์ และระบอบอนุรักษ์นิยม"

ดร. ธนพร วิเคราะห์ต่อไปอีกว่า สำหรับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา แนวโน้มที่จะประนีประนอมนั้น "ยาก" เพราะ พล.อ. ประยุทธ์ "อยู่อีกสุดขั้วหนึ่ง" ทางเลือกที่เป็นไปได้ คือ การคุยกับ พล.อ. ประวิตร วงศ์สุวรรณ

"วิธีการที่ทักษิณมองว่าได้ คือ การคุยกับประวิตรนี่แหล่ะ เพราะฉะนั้น ผมถึงไม่เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่สมาทานกับพลังประชารัฐ ในความเป็นจริงทางการเมือง มันเป็นไปไม่ได้"

นายกสมาคมรัฐศาสตร์แห่ง ม.เกษตร เสริมด้วยว่า สำหรับเครือข่าย "ระบอบประยุทธ์" หรือ "กลุ่มอนุรักษนิยม" ไม่ได้หมายถึงตัวบุคคลเท่านั้น แต่รวมถึงสถาบันทางการเมืองอีกหลาย “ตัวแสดง” ที่ปรากฏตัวในระบบราชการ ซึ่งรวมถึงศาลด้วย

"เรากำลังหมายถึง วัฒนธรรมและสถาบันทางการเมืองอีกหลายสถาบัน ซึ่งปรากฏตัวในระบบราชการ กระทั่งศาล ก็คือระบบข้าราชการ เพราะผู้พิพากษาทุกท่าน คือ ข้าราชการประจำ”

“เพราะฉะนั้น การที่ได้ความชอบธรรมทางการเมืองชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ มันเป็นเพียงการเพิ่มแต้มต่อในการเจรจา ซึ่งผมไม่ได้แปลกใจอะไร เพราะว่าเวลาเราเจรจากับใครก็ต้องแบบนี้ ที่เราต้องมีเสียงดังก่อน" ดร. ธนพร กล่าว



เงื่อนที่เปลี่ยนไปของการออกกฎหมาย "นิรโทษ"

ดร. ธนพร กล่าวว่า "ดีลทางการเมือง" เช่นนี้ เป็นเรื่องที่คุยกันก่อนเลือกตั้ง และตอนนี้เห็นสัญญาณทั้งจาก พล.อ. ประวิตร ที่ "คุยได้ทุกคน" รวมทั้งนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่ "คุยได้ทุกขั้ว"

"ดีลก่อนเลือกตั้ง มันต้องคุยกันก่อน แต่เขาไม่คุยเปิดเผยให้สังคมรับรู้ ทั้ง ๆ ที่เรื่องนี้จริง ๆ แล้ว ถ้าจะแฟร์กับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ก็ควรจะพูดกันตรง ๆ ว่าทั้งสามพรรคจะเป็นแนวร่วมกัน ชาวบ้านจะได้ตัดสิน" ดร. ธนพร กล่าว พร้อมเสริมว่า ไม่ใช่แค่ "ดีล" กลับบ้านของนายทักษิณ แต่รวมถึงเรื่องตำแหน่งสำคัญที่คุมกองทัพอย่าง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

"พรรคเพื่อไทยถ้าจะไปให้สุด ก็บอกไปเลยว่า ไหน ๆ คุณโทนี่จะกลับมาเลี้ยงหลานแล้ว ก็ประกาศไปเลยว่าจะร่วมงานกับพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย"

สำหรับวิธีการทางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้น คือ กฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งจะไม่ "สุดซอย" เหมือนสมัย น.ส. ยิ่งลักษณ์ แต่จะค่อยเป็นค่อยไปทีละขั้น เพื่อให้แรงต้านน้อยลง เนื่องจาก กลุ่มแกนนำของฟาก "อนุรักษนิยม" อย่าง กปปส. ที่ต้องคำพิพากษาโทษจำคุกจากการจัดการชุมนุมก็จะได้ "อานิสงส์" ไปด้วย

"คดีกบฏ" ของกลุ่มแกนนำ กปปส. เมื่อเดือน ก.พ. 2565 ศาลอาญา ได้พิพากษาจำคุกแกนนำ กปปส. รวม 26 คน เป็นเวลาตั้งแต่ 4 เดือน ถึง 9 ปี 24 เดือน และไม่อนุญาตให้ประกันตัว 8 แกนนำ ส่งผลให้พวกเขาถูกส่งตัวไปคุมขังภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเวลา 2 คืน ก่อนได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์คดี

"คนกลุ่มนี้ แกนนำเก่า ๆ ที่กำลังโดนศาลตัดสิน พูดตรง ๆ กลุ่มนี้ไม่รังเกียจนิรโทษกรรมแบบนี้ คนกลุ่มนี้ไม่รังเกียจแน่ ๆ ถ้าไปทีละขั้นแบบนี้ โอกาสของทักษิณในการกลับก็น่าจะมีเพิ่มขึ้น อย่างน้อยลักษณะของความอึดอัดคับข้องใจ ซึ่งทุกฝ่ายก็ไม่อยากติดคุก มันก็จะลดเงื่อนไขลง"

สำหรับวิธีการออกนิรโทษกรรม มีช่องทางทั้ง การริเริ่มจากรัฐบาลหรือสภา พรรคการเมือง และการเสนอเข้าชื่อของประชาชน แต่ ดร. ธนพร วิเคราะห์ว่า ครั้งที่แล้วสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) รัฐบาล เสนอแล้วเจอแรงต้านเยอะ ครั้งนี้ อาจจะออกมาในรูปแบบให้มีการเสนอชื่อจากประชาชน 1 แสนชื่อ ซึ่งไม่ยากสำหรับพรรคการเมืองที่มีฐานเสียง

"ต่อให้ได้เกิน 300 เสียง ก็ต้องเกี้ยเซียะ เพราะ ส.ว. ยังอยู่ และยังมีตัวละครอีกมากมายในระบบการเมืองไทย ซึ่งเราอาจจะไม่เห็นตัวละครเหล่านี้ในตัวแบบสถาบันการเมือง กระทั่งศาล ทักษิณจะกลับ อยู่ดี ๆ สถาบันรัฐสภา รัฐบาล ฝ่ายบริหาร จะไปหักคำพิพากษาศาล ถ้าไม่มีการคุยกันนอกรอบก่อน จะมีใครกล้าทำ" นายกสมาคมรัฐศาสตร์แห่ง ม.เกษตร ระบุ

ที่มา บีบีซีไทย