ช้างใหญ่ในกำแพงพระราชวัง จากสาธารณสมบัติของชาติสู่ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์
29 MAR 2023
Way Magazine
เมื่อวานนี้ (28 มีนาคม 2566) การฉีดสเปรย์สีดำใส่กำแพงพระบรมมหาราชวัง (วัดพระแก้ว) เป็นสัญลักษณ์อนาธิปไตย (Anarchy) และสัญลักษณ์รณรงค์ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 ทำให้เสียงในโลกโซเชียลแตกออกเป็นหลายฝ่าย
“วัดพระแก้วเป็นโบราณสถานมีกฎหมายชัดเจน ทุกประเทศก็เป็นแบบนี้ประชาชนต้องเคารพกฎหมาย”
บ้างวิพากษ์วิจารณ์เชิงไม่เห็นด้วยว่า การแสดงออกทางการเมืองไม่ควรก่อให้เกิดความเสียหายต่อโบราณสถาน วัด หรือทรัพย์สมบัติสาธารณะ บ้างบอกว่าก่อความวุ่นวายและทำลายข้าวของ สมควรแล้วที่ตำรวจจะจับ บ้างบอกว่ากฎหมาย 112 ไม่ใช่ปัญหา คนที่เรียกร้องให้ยกเลิกนั่นแหละที่มีปัญหา และบ้างก็กลัวว่า การแสดงออกทางการเมืองอย่างรุนแรงในสถานการณ์ใกล้เลือกตั้งเช่นนี้ จะไม่เป็นผลดีต่อฝ่ายประชาธิปไตย
แต่ขณะเดียวกัน ฝ่ายที่เห็นด้วยกับการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ดังกล่าวเห็นว่า การพ่นสีสเปรย์คือการประท้วงทางการเมืองแบบสันติวิธีรูปแบบหนึ่ง ไม่ได้สร้างความรุนแรง ไม่ทำให้ใครบาดเจ็บหรือเสียชีวิต กำแพงจะทาสีทับหรือลบข้อความเมื่อไหร่ก็ได้ กลับกัน กฎหมายอาญามาตรา 112 ต่างหากที่เป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้าง
ยิ่งกว่านั้น ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีโบราณสถานหลายแห่งโดนรื้อถอน ลบทิ้ง และหายไปอย่างไร้ร่องรอย โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎรและการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 อาทิ อนุสาวรีย์ปราบกบฏหลักสี่ และหมุดคณะราษฎร แต่เหล่านักอนุรักษ์เหล่านั้นกลับไม่ออกมาปกป้องบ้าง
ทว่าหลายฝ่ายก็เอาข้อกฎหมายมายืนยันว่า พระบรมมหาราชวังไม่ได้มีสถานะเป็นสมบัติสาธารณะหรือโบราณสถานตามกฎหมายอีกแล้ว หลังการประกาศ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ฉบับใหม่ในปี 2561 ซึ่งนิยามให้ทรัพย์สินต่างๆ ของพระมหากษัตริย์มีเพียงประเภทเดียว คือ ‘ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์’
นั่นหมายความว่า ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เช่น พระราชวัง ก็ถูกจัดให้อยู่ในหมวดเดียวกับทรัพย์สินส่วนพระองค์
WAY ชวนพิจารณาสถานะทางกฎหมายของพระบรมมหาราชวังผ่านการไล่เลียงประวัติศาสตร์ของพระราชทรัพย์ของสถาบันกษัตริย์ไทย
ประวัติศาสตร์การจัดการพระราชทรัพย์ของสถาบันกษัตริย์ไทย
เดิมที เชื่อกันว่าสมบัติทุกอย่างในแผ่นดินเป็นของพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนเมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 5 มีการก่อตั้งกรมพระคลังข้างที่ ในปี 2433 เพื่อดูแลพระราชทรัพย์ของสถาบันพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ
กระทั่งหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรก็เล่นการเมืองวัฒนธรรมด้วยการพยายามจัดการทรัพย์สินของระบอบเก่า ผ่านการออก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 ลดบทบาทของกรมพระคลังข้างที่ ซึ่งมีสถานะเป็นแหล่งที่มาของรายได้สำคัญของราชสำนักและเชื้อพระวงศ์ และถ่ายโอนอำนาจการดูแลทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ไปอยู่ในการควบคุมดูแลของกระทรวงการคลัง
พระราชทรัพย์ของกษัตริย์ถูกแบ่งประเภทออกเป็น 1. ทรัพย์สินส่วนพระองค์ คือทรัพย์สินที่มีอยู่แล้วก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์และที่ได้มาหลังครองราชย์ ซึ่งต้องมีการเสียภาษี 2. ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติ เป็นทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ ซึ่งใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน เช่น พระราชวัง และ 3. ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หรือทรัพย์สินที่ไม่อยู่ใน 2 หมวดแรก ซึ่งหมายถึงที่ดินและการลงทุนในบริษัทต่างๆ ส่วนนี้ไม่ต้องเสียภาษี
ช่วงแรก สำนักพระราชวังเป็นผู้ดูแลทรัพย์สินในข้อแรก ข้อสอง และข้อสามบางส่วน ส่วนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลผ่านกระทรวงการคลัง
เมื่อถึงปี 2490 เกิดการรัฐประหารโดยฝ่ายนิยมเจ้าที่พยายามยกเลิกมรดกหลายอย่างของคณะราษฎร ท่ามกลางทศวรรษแห่งความวุ่นวายทางการเมือง พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2491 ก็ถูกประกาศใช้ เพื่อตั้งสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ให้มีสถานะเป็นนิติบุคคล และเป็นอิสระจากรัฐบาล ให้การจัดการทรัพย์สินเป็นไปตามพระราชอัธยาศัยมากขึ้น กล่าวคือ คณะกรรมการจัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์มีรัฐมนตรีคลังเป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง ส่วนกรรมการอีก 4 คน ได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์
ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ภายใต้สำนักงานทรัพย์สินฯ สามารถถูกใช้ได้ 2 กรณี คือ พระมหากษัตริย์ใช้สอยได้ตามอัธยาศัยในทุกกรณี และคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ใช้ในพระราชกุศลอันเป็นการสาธารณะ ใช้ในพระราชประเพณี หรือในพระราชกรณียกิจ โดยได้รับพระบรมราชนุญาตแล้ว
ช่วงทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลง สงครามเย็นเข้าแทนที่ และระบบทุนนิยมของพญาอินทรีได้สยายปีกไปทั่วโลกผ่านสิ่งที่เรียกว่า ‘การพัฒนา’ สำนักงานทรัพย์สินฯ ก็เข้าไปเป็นผู้ร่วมลงทุนทั้งทางตรง 90 บริษัท และทางอ้อมกว่า 300 บริษัท เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ปูนซีเมนต์ไทย และเทเวศประกันภัย การลงทุนของสำนักงานทรัพย์สินฯ ได้ขยายตัว และสร้างผลกำไรอย่างมหาศาล
หลังใช้งานมายาวนานหลายทศวรรษ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ก็ถูกแก้ไขอีกครั้ง ท่ามกลางยุคเปลี่ยนผ่านรัชกาลและรัฐบาลของ คสช. เมื่อ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร ผ่านกฎหมาย พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 โดยไม่เผยข้อมูลว่า หน่วยงานใดจัดทำและเสนอร่างกฎหมาย ราวกับลอยลงมาจากฟ้า
สาระสำคัญคือ ทรัพย์สินสาธารณสมบัติของแผ่นดินได้ถูกรวมเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และคณะกรรมการทรัพย์สินฯ มาจากการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์ทั้งหมด ต่างจากเดิมที่รัฐมนตรีคลังเป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ พลอากาศเอกสถิตย์พงษ์ สุขวิมล ราชเลขานุการในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เป็นประธานกรรมการ และผู้อำนวยการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ขณะที่รองผู้อำนวยการ คือ พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารบก
ส่วนเรื่องภาษีอากรก็ให้จ่ายตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่ได้มีการระบุว่ากฎหมายเหล่านั้นคืออะไรบ้าง นั่นหมายความว่า ทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่ต้องเสียภาษีตามหลักการเดิมก็อาจได้รับการยกเว้นจากความคลุมเครือนี้ และวัดและพระราชวังต่างๆ ก็ถูกรวบเข้ามาอยู่ในการจัดการของสำนักงานทรัพย์สินฯ ไม่ใช่สมบัติสาธารณะเหมือนแต่ก่อน
สถานะทางกฎหมายของพระราชทรัพย์เหล่านี้ดูจะชัดขึ้น เมื่อมีกฎหมายที่ชื่อ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ฉบับใหม่ออกมาในปี 2561 คราวนี้ตัดคำว่า ‘ส่วน’ หรือ ‘ฝ่าย’ ทิ้ง รวมทรัพย์สินทุกประเภทเข้าด้วยกันภายใต้ชื่อ ‘ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์’
แม้จะแยกย่อยเป็นทรัพย์สินในพระองค์และทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ แต่ในกรณีที่มีปัญหาว่าทรัพย์สินใดเข้าข่ายข้อใด ก็ให้ใช้พระบรมราชวินิจฉัย
นั่นหมายความว่า ไม่ว่าจะมอบให้สำนักพระราชวังหรือสำนักงานทรัพย์สินฯ ดูแลจัดการ แต่ทั้งหมดนี้คือทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พระบรมมหาราชวังจึงไม่น่าจะมีสถานะเป็นโบราณสถาน สมบัติสาธารณะหรือสมบัติของรัฐบาลอีกแล้วในปัจจุบัน
แต่ถึงกระนั้น ตำรวจสถานีตำรวจนครบาล พระราชวัง ได้แจ้ง 2 ข้อหาแก่ผู้พ่นสเปรย์ที่ถูกจับ ได้แก่ พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ 2535 ราวกับตอกย้ำความคลุมเครือว่า พระบรมมหาราชวังยังมีสถานะของโบราณสถานและสถานที่สาธารณะอยู่
ที่มา
- “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” ในทัศนะของราษฎร
- เทียบ “พ.ร.บ.ทรัพย์สินฯ 4 ฉบับ” พระราชอำนาจกษัตริย์เพิ่มขึ้นอย่างไรบ้าง?