วันศุกร์, มีนาคม 24, 2566

RECAP112: ชวนรู้จักคดี “ปฏิทินเป็ด” ที่ศาลสั่งจำคุกเพราะเชื่อว่าตั้งใจล้อเลียนกษัตริย์



RECAP112: ชวนรู้จักคดี “ปฏิทินเป็ด” ที่ศาลสั่งจำคุกเพราะเชื่อว่าตั้งใจล้อเลียนกษัตริย์

โดย ilaw-freedom 
22 มีนาคม 2023

ย้อนกลับไปในเดือนพฤศจิกายน 2563 ช่วงที่รัฐสภากำลังจะมีการพิจารณาเพื่อลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญรวมเจ็ดร่าง กลุ่มผู้ชุมนุมราษฎรได้ประกาศว่า ไปปิดล้อมรัฐสภา ทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ โดยไฮไลท์ของการปิดล้อม “ทางน้ำ” คือการ "เดินทัพ" ของกองทัพเป็ดยางเป่าลมสีเหลือง ราว 60 ตัวที่ผู้ชุมนุมขนเตรียมขนไปที่หน้ารัฐสภาเกียกกาย

ทว่าในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 วันแรกของการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐสภา เจ้าหน้าที่ได้ปิดกั้นพื้นที่รัฐสภา รวมถึงพยายามสลายการชุมนุมโดยฉีดน้ำผสมแก๊สน้ำตาสีม่วงใส่ผู้ชุมนุมที่แยกเกียกกาย เป็ดยางขนาดยักษ์ที่ผู้ชุมนุมตั้งใจนำมาใช้เป็นพร็อพประกอบการชุมนุมจึงถูกใช้เป็นโล่จำเป็น นอกจากนั้น ในวันเดียวกันก็มีเหตุปะทะระหว่างกลุ่มคนเสื้อเหลืองและผู้ชุมนุมที่บริเวณใกล้เคียง เหล่าเป็ดยางสีเหลืองนี้จึงถูกหยิบยืมมาใช้เป็นโล่กำบังจำเป็นอีกครั้ง

ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว เป็ดยางก็ได้รับการตั้งชื่อใหม่ว่า “พระบรมวงศ์เธอกรมหลวงเกียกกายราษฎรบริรักษ์” และกลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งการประท้วงของผู้ชุมนุม ที่เรียกได้ว่า “ฮอตฮิตติดตลาด” และมีคนนำไปผลิตเป็นสินค้าประจำม็อบ ไม่ว่าจะเป็นกิ๊บติดผม เสื้อ พวงกุญแจ พัด สติ๊กเกอร์ ตุ๊กตา

อย่างไรก็ตาม สินค้าในเครือเป็ดเหลืองชิ้นหนึ่งอย่าง #ปฏิทินเป็ด กลับนำมาซึ่งการตั้งข้อหา #มาตรา112 เนื่องจากถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นการล้อเลียนรัชกาลที่ 10 แม้เนื้อหาในปฏิทินดังกล่าวจะไม่ได้มีการเอ่ยชื่อบุคคลใด หรือมีตราสัญลักษณ์ทางการของสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด

ในคดีนี้ ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาเมื่อ 7 มีนาคม 2566 ให้ลงโทษจำคุก “ต้นไม้” ผู้จัดส่งปฏิทินดังกล่าวเป็นเวลาสามปี โดยไม่รอลงอาญา ไอลอว์ชวนย้อนอ่านสรุปที่มาที่ไปของคดีปฏิทินเป็ด จากจุดเริ่มต้นที่ชุดสืบสวนใช้วิธีการเล่นใหญ่ “ล่อซื้อออนไลน์” มากถึงสามครั้งก่อนจะบุกค้นเพื่อจับกุมถึงบ้านพัก

ล่อซื้อ 3 ครั้ง ก่อนบุกค้นบ้าน-แจ้งข้อหา



ย้อนกลับไปในช่วงเย็นของวันที่ 31 ธันวาคม 2563 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางมาพบ “ต้นไม้” (นามสมมติ) นิติกร บริษัทเอกชนวัย 26 ปี หนึ่งในแอดมินเพจ “คณะราษฎร” ถึงหน้าบ้าน ก่อนจะแสดงหมายค้นของศาลอาญาตลิ่งชันเพื่อทำการตรวจค้นบ้านพัก จากนั้น เจ้าหน้าที่ทำการยึด “ปฏิทินตั้งโต๊ะรูปเป็ด” สินค้าที่วางขายออนไลน์อยู่บนเพจคณะราษฎรจำนวน 174 ชุด กลับไปเป็นของกลาง พร้อมกับนำตัว “ต้นไม้” ไปที่ สน.หนองแขมเพื่อแจ้งข้อหามาตรา 112

ในวันเดียวกัน หลังเสร็จสิ้นการสอบสวนคำให้การ “ต้นไม้” พยายามยื่นเรื่องขอประกันตัวในชั้นสอบสวน พร้อมกับวางหลักทรัพย์เป็นเงินจำนวน 300,000 บาท อย่างไรก็ตาม ผกก.สน.หนองแขม มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว พร้อมชี้แจงว่า “ต้นไม้” ต้องรอทำเรื่องยื่นประกันต่อศาลอาญาตลิ่งชันในชั้นฝากขังเมื่อศาลเปิดทำการในวันที่ 2 มกราคม 2564 เป็นเหตุให้เขาถูกควบคุมตัวอยู่ที่ห้องขังของ สน.หนองแขม ราวสองวัน ก่อนได้ประกันตัวด้วยตำแหน่งของ ส.ส.อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล จากพรรคก้าวไกล

แล้วเจ้าหน้าที่ทราบตำแหน่งที่อยู่ของ “ต้นไม้” ได้อย่างไร?

ข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ก่อนการจับกุม ตำรวจสันติบาลใช้กลวิธี “ล่อซื้อ” ปฏิทินดังกล่าว โดยสั่งซื้อไปรวมทั้งหมดสามครั้ง

ครั้งแรก (23 ธันวาคม 2563) : ติดต่อซื้อผ่านทางกล่องข้อความ (Inbox) ของเพจคณะราษฎร จํานวนสองชุด เพื่อนำมาตรวจสอบเนื้อหา เมื่อได้รับปฏิทินก็ส่งต่อให้ผู้บังคับบัญชาตรวจสอบข้อความในปฏิทิน และเห็นว่าน่าจะเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112

ครั้งที่สอง (29 ธันวาคม 2563) : ติดต่อซื้อด้วยวิธี “นัดรับ” เมื่อทางเพจแจ้งว่าไม่มีบริการส่งแบบนัดรับ แต่สามารถส่งทางแมสเซนเจอร์ได้ เจ้าหน้าที่จึงสั่งซื้อเพิ่มอีกจํานวนสี่ชุด และตรวจสอบพิกัดสถานที่ต้นทางที่ของถูกส่ง จนพบตำแหน่งบ้านของ “ต้นไม้”

ครั้งที่สาม (31 ธันวาคม 2563) : ติดต่อซื้อด้วยวิธีการเดิม พร้อมวางกําลังเฝ้าที่บริเวณหน้าบ้านของ “ต้นไม้” ต่อมาเมื่อ “ต้นไม้” เดินถือลังปฏิทินออกมามอบให้พนักงานส่งของในเวลา 15.00 น. เจ้าหน้าที่ได้ทำการถ่ายรูปขณะส่งมอบของ เพื่อนำไปเป็นหลักฐานขอให้ศาลอาญาตลิ่งชันออกหมายค้น ก่อนประสานให้ตํารวจ สน.หนองแขม ให้เดินทางไปตรวจค้นในเวลา 17.30 น. ของวันเดียวกัน

สำหรับข้อความของปฏิทินที่พนักงานสอบสวนระบุว่าเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 มีทั้งหมดสามข้อความดังนี้

1. ภาพเป็ดใส่เครื่องแบบพร้อมเกราะกำบังและข้อความว่า “ปฏิทินพระราชทาน รุ่นพิเศษรวมทุกคำสอนของเรา” ซึ่งสามารถสื่อความหมายได้ว่าปฏิทินนี้เป็นปฏิทินที่พระมหากษัตริย์พระราชทาน

2. ภาพเป็ดสีเหลืองบนปฏิทินเดือนมกราคมพร้อมข้อความว่า “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” ซึ่งเป็นข้อความที่รัชกาลที่สิบ เคยตรัสกับประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จ ทั้งในรูปยังมีคำราชาศัพท์บนสุนัขสองตัวว่า “ทรงพระเจริญ”

3. ภาพเป็ดสีเหลืองใส่แว่นบนปฏิทินเดือนกรกฎาคมพร้อมข้อความว่า “เหงื่อเราจะเทไปให้ต้นไม้ของพ่อยังงดงาม” โดยภาพดังกล่าวทำให้เห็นว่าสื่อความหมายถึงรัชกาลที่เก้า

หมายเหตุ เนื้อในส่วนนี้เรียบเรียงจาก https://tlhr2014.com/archives/24655

พยานเบิกความ ตั้งข้อสงสัย “ภาพเป็ด” สื่อถึงรัชกาลที่ 10



ต่อมา ในปี 2564 มีผู้ถูกตั้งข้อหาในคดีนี้เป็นรายที่สอง ได้แก่ พิชญ (สงวนนามสกุล) อายุ 25 ปี เนื่องจากเขามีชื่อเป็นเจ้าของหมายเลขบัญชีธนาคารที่รับโอนและชื่อที่ใช่ในการจัดส่งพัสดุ โดยพิชญ ได้รับหมายเรียกจาก สน.หนองแขมตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 และเดินทางมารับข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564

คดีนี้ อัยการมีคำสั่งให้เลื่อนการสั่งฟ้องคดี รวมสี่ครั้ง ได้แก่ 26 มีนาคม 2564, 27 เมษายน 2564, 7 กรกฎาคม 2564 และ 10 สิงหาคม 2564 เพราะยังทำสำนวนคดีไม่เสร็จ และความไม่สะดวกจากสถานการณ์โควิด-19

กระทั่งวันที่ 2 กันยายน 2564 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาตลิ่งชัน 1 มีความเห็นสั่งฟ้อง “ต้นไม้” เป็นจำเลยที่หนึ่ง และพิชญ เป็นจำเลยที่สอง โดยศูนย์ทนายฯ เผยแพร่คำบรรยายฟ้องที่ระบุว่า ปฏิทินดังกล่าวมีความผิดตามมาตรา 112 ตามข้อความต่อไปนี้

1) ในหน้าปฏิทินเดือนมกราคม 2564 : มีข้อความว่า “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” และ OK1 ห้อยที่คอรูปการ์ตูนเป็ดสีเหลือง และมีภาพการ์ตูนบนรูปสุนัขว่า “ทรงพระเจริญ”

2) ในหน้าปฏิทินเดือนมีนาคม 2564 : มีภาพการ์ตูนเป็ดสีเหลืองสวมถุงยางอนามัยที่หัว

3) ในหน้าปฏิทินเดือนเมษายน 2564 มีข้อความว่า “รักคุณเท่าฟ้า” และรูปการ์ตูนเป็ดสีเหลืองขับเครื่องบิน โดยบนปีกเครื่องบินทั้งสองข้างมีข้อความว่า “SUPER VIP”

4) ในหน้าปฏิทินเดือนพฤษภาคม 2564 มีรูปการ์ตูนเป็ดสีเหลืองและตัวเลข 10 บนตัว พร้อมข้อความ “ไอโอนะ ยูโอไหม?”

5) ในหน้าปฏิทินเดือนตุลาคม 2564 มีรูปการ์ตูนเป็ดสีเหลืองบนคอปรากฎข้อความ NO10 และ Fordad และ “พ่อบอกให้ทุกคนพอเพียง””ทรงนำเศรษฐกิจพอเพียงหล่อเลี้ยงชีวา”

อย่างไรก็ตาม ในนัดพร้อมเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 นายประกันจําเลยที่สองแถลงว่า ไม่สามารถติดต่อเจ้าตัวได้ ศาลจึงให้จําหน่ายคดีในส่วนจําเลยที่สองชั่วคราว และหากได้ตัวมาเมื่อใด ให้ยกคดีขึ้นพิจารณาในส่วนจําเลยที่สองต่อไป

ในการสืบพยาน ศาลได้นัดสืบพยานคดีรวมทั้งหมดหกนัด แบ่งเป็นการสืบพยานโจทก์ 18 – 21 ตุลาคม 2565 รวมสิบปาก และสืบพยานจำเลย 2 – 3 พฤศจิกายน 2565 รวมสามปาก โดยมีเนื้อหาบางช่วงของพยานฝ่ายโจทก์ จากบันทึกสืบพยานที่น่าสนใจ ดังนี้

กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เบิกความแสดงความเห็นต่อภาพในหน้าเดือนพฤษภาคมตอนหนึ่งว่า

“ข้อความภาษาอังกฤษ ‘Army’ ที่หมายถึงทหาร และข้อความว่า ‘IO’ พยานเชื่อว่ามีความหมายมาจาก Information Operation ซึ่งมีความหมายว่าการใช้ข้อมูลเพื่อจุดประสงค์ในการสร้างความนิยม โดยส่วนตัวมองว่า ภาพดังกล่าวทำให้เข้าใจได้ว่า รัชกาลที่ 10 ใช้ทหารในการเผยแพร่ข่าวสารสร้างความนิยมให้แก่ประชาชน และยังมีข้อความปรากฏว่า ‘ไอโอนะ ยูโอไหม’ ซึ่งข้อความดังกล่าวมีความหมายถึงประชาชนยอมรับได้ไหมเกี่ยวกับการที่มีการสร้างค่านิยมปลูกฝังให้ทำความเคารพต่อสถาบันกษัตริย์”

ไชยันต์ ไชยพร อาตารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เบิกความแสดงความเห็นต่อภาพในเดือนมีนาคมตอนหนึ่งว่า

“การที่เป็ดซึ่งหมายถึงรัชกาลที่10 มีถุงยางอนามัยอยู่บนศีรษะทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่ารัชกาลที่ 10 เป็นผู้ที่หมกมุ่นในกาม หรือมองว่ารัชกาลที่ 10 เป็นผู้รณรงค์ในการใช้ถุงยางอนามัยก็ได้ แต่จากประสบการณ์การทำงานและติดตามข่าวและสื่อต่างๆ ของพยาน ไม่พบว่ารัชกาลที่ 10 มีการประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้ใช้ถุงยางอนามัย จึงเหลือความหมายเดียวของปฏิทินเดือนมีนาคมว่า เป็นผู้หมกมุ่นในกาม ถือเป็นการล้อเลียนและดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 อันเป็นความผิดตามมาตรา 112”

ตรีดาว อภัยวงศ์ อาจารย์พิเศษสาขาศิลปกรรมการแสดง คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เบิกความแสดงความเห็นว่า

“หากดูภาพอื่นที่ไม่ได้ฟ้องมา อย่างเดือนกุมภาพันธ์และกันยายน จะมีการเสียดสีคำสอนของรัชกาลที่ 9 ว่า รัชกาลที่ 10 ไม่ได้ปฏิบัติตนตามคำสอนของพ่อ และจะให้ประชาชนเชื่อฟังคำสอนดังกล่าวได้อย่างไร ซึ่งเมื่อดูโดยรวมจะได้ความหมายว่า รัชกาลที่ 10 เป็นลูกอกตัญญู ผู้ผลิตมีเจตนาสร้างความเชื่อที่ผิดๆ และความเกลียดชังให้กษัตริย์”

ในขณะที่ “ต้นไม้” ขึ้นเบิกความฐานะพยานจำเลย ระบุยืนยันว่า เป็ดเหลืองในปฏิทินเป็นเพียงบทบาทสมมติ และมีชื่อว่า “กรมหลวงเกียกกายราษฎรบริรักษ์” อีกทั้งยังไม่ได้เป็นผู้จำหน่าย เป็นเพียงผู้ส่งของเท่านั้น

อ่านบันทึกการสืบพยานฉบับเต็มของศูนย์ทนายฯ https://tlhr2014.com/archives/54047

ทำไมศาลตัดสินให้ “ปฏิทินเป็ด” ผิดมาตรา 112 ??



ภายหลังการสืบพยานเสร็จสิ้น ข้อมูลของศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ทนายความของ “ต้นไม้” ได้ดำเนินการยื่นคำร้องขอให้ศาลส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า “คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 1 อันมีการกำหนดเพิ่มโทษข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากเดิมโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี เป็นจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี ซึ่งจะบังคับใช้ลงโทษจำเลยในคดีนี้นั้น ไม่มีสภาพเป็นกฎหมาย หรือขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 26 หรือไม่”

จากนั้น ศาลได้รับคำร้องไว้ ก่อนจะนัดฟังคำพิพากษาและคำวินิจฉัยอีกครั้งในวันที่ 30 มกราคม 2566 ก่อนจะเลื่อนไปวันที่ 7 มีนาคม 2566 เนื่องจากยังต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลพิพากษา “การผลิตและจำหน่ายปฏิทินนี้ ตั้งใจสื่อสารว่าเป็นรัชกาลที่ 10”

สำหรับคำพิพากษาเมื่อ 7 มีนาคม 2566 ศูนย์ทนายฯ เผยแพร่คำพิพากษาของศาลอาญาตลิ่งชันโดยสรุปไว้ดังนี้

เมื่อมองปฏิทินโดยรวมในแต่ละเดือน ตั้งแต่มีนาคม เมษายน และกันยายน จากคำเบิกความของพยานโจทก์มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันหมด โดยเฉพาะในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นรูปภาพเป็ดใส่ครอปท็อป สวมแว่นตาดำ ที่พยานโจทก์ได้กล่าวว่าเป็นการสื่อสารถึงรัชกาลที่ 10 เนื่องจากเคยมีภาพรัชกาลที่ 10 แต่งกายในลักษณะดังกล่าวออกมา แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ซึ่งการผลิตและจำหน่ายปฏิทินฉบับนี้ จึงเป็นการตั้งใจสื่อสารว่าเป็ดตัวดังกล่าวเป็นรัชกาลที่ 10

และจากการเบิกความเชื่อมโยงจากเดือนมกราคม มีนาคม ตุลาคม ตลอดเดือนธันวาคม ที่มีปรากฏข้อความว่า “การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทรงมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ทำให้เชื่อได้ว่าเป็ดเหลืองในปฏิทินฉบับนี้ก็คือรัชกาลที่ 10

นอกจากนี้ การที่พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องกันในปฏิทินเดือนมีนาคมว่า การนำเป็ดสวมถุงยางอนามัยบนศีรษะ เป็นการด้อยค่า หมิ่นประมาท สร้างความเสื่อมเสียศรัทธาต่อรัชกาลที่ 10 การที่พยานโจทก์เบิกความในทำนองเดียวกันเช่นนี้ จึงพิเคราะห์ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ความในมาตรา 2 ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และความในมาตรา 6 องค์กษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้

ตลอดจนในมาตรา 50 บุคคลมีหน้าที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ คำเบิกความของพยานโจทก์ที่กล่าวว่าจำเลยสร้างความเสื่อมเสีย หมิ่นประมาท ล้อเลียนรัชกาลที่ 10 จึงเป็นคำที่มีน้ำหนักและรับฟังได้

ในส่วนที่จำเลยเบิกความว่า ไม่ได้เป็นผู้จัดทำหรือจัดจำหน่ายโดยตรง เป็นเพียงผู้นำไปจัดส่งเท่านั้น ศาลเห็นว่า การที่จำเลยกับพวกร่วมกันจำหน่ายและจัดส่งปฏิทิน ก็ถือว่าได้มีส่วนในการกระทำความผิดร่วมกัน จำเลยย่อมรู้กฎหมาย และหากไม่เห็นเนื้อหาในปฏิทิน ก็ต้องเห็นหน้าปกที่มีข้อความว่า “ปฏิทินพระราชทาน” ซึ่งได้ปรากฏข้อเท็จจริงชัดเจนจากพยานโจทก์แล้วว่าปฏิทินฉบับนี้ ไม่ใช่ของจริงและทำขึ้นมาเพื่อล้อเลียน หมิ่นประมาท รัชกาลที่ 10

พิเคราะห์แล้ว พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 3 ปี ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญาพร้อมกับยกคำร้องที่ทนายได้ขอให้ศาลส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วย ภายหลังอ่านคำพิพากษา “ต้นไม้” ได้รับการประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์คดี

อ่านคำพิพากษาทั้งหมด https://tlhr2014.com/archives/54080