วันอังคาร, มีนาคม 28, 2566

ที่มาที่ไป ทำไมนายกรัฐมนตรีต้องเป็นส.ส.


iLaw
15h ·

#เลือกตั้ง66 : ที่มาที่ไป ทำไมนายกรัฐมนตรีต้องเป็นส.ส.
.
.
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า เรื่องนายกรัฐมนตรีต้องเป็นส.ส. ประเด็นนี้มีความสำคัญ มีที่มาจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 หลักการแล้วระบบรัฐสภามันคือ การที่ประชาชนเลือกนายกฯ ผ่านการเลือกส.ส. เป็นการเลือกนายกฯทางอ้อม “ทุกพรรคเขาต้องบอกว่า ถ้าพรรคเขาได้เสียงจนตั้งรัฐบาลได้ เขาจะเอาใครเป็นนายกฯ การเลือกส.ส.ของพรรคใดพรรคหนึ่ง หรือพรรคนั้นที่เราอยากให้คนนั้นเป็นนายกฯ เท่ากับเราเลือกนายกฯนั่นเอง ในประวัติศาสตร์ของเรามีอยู่ ก่อนหน้าเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 มีรัฐธรรมนูญปี 2517 ที่เขียนไว้ เหตุผลในคราวนั้นเพื่อจะกันทหารออกไป คือถ้าหากว่า นายพลท่านจะลงเล่นการเมือง ถ้าจะเป็นนายกฯ ถอดชุดก่อนและลงสมัครเป็นส.ส.ก่อนแล้วในปี 2535 มันถูกเรียกร้องในเรื่องนี้ ตอนนั้นคือ ไม่ได้ต่อต้านพลเอกสุจินดา หลักการที่เราประกาศก็คือว่า พลเอกสุจินดาจะเป็นนายกฯก็ได้แต่ต้องลงสมัครรับเลือกตั้ง ในเมื่อเลือกนายกฯ โดยตรงไม่ได้ก็ต้องสมัครส.ส.”
.
.
“ตอนนั้นเป็นที่มาของบทบัญญัติเรื่องนี้ หลังจากเหตุการณ์พฤษภา 2535 พลเอกสุจินดาก็ลาออกในวันที่ 23 พฤษภาคม 2535 แล้วสองวันหลังจากสุจินดาลาออกก็เกิดการแก้รัฐธรรมนูญทันที...สองเรื่องหลักที่แก้คือ นายกฯต้องเป็นส.ส. และสองประธานรัฐสภาจะต้องมาจากสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้สภาผู้แทนใหญ่กว่าส.ว. กลายเป็นบทบัญญัติที่อยู่ในรัฐธรรมนูญไทยมาโดยตลอดทั้งฉบับ 2540 2550 กลายเป็นกติกาของประเทศไทยว่า ถ้าใครอยากเป็นนายกฯ ต้องเล่นการเมืองประกาศตัวชัดเจน ออกจากตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ แต่ปี 2560 รัฐธรรมนูญที่ร่างโดยอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ เขาก็ตัดหลักเกณฑ์นี้ไปและแทนที่ด้วยนายกฯ ไม่ต้องเป็นส.ส.ก็ได้แต่ให้ประชาชนเขารู้ก่อนด้วยการสร้างกติกาใหม่ขึ้นมา นายกฯจะเป็นได้ต้องผ่านการเป็นว่าที่นายกฯ [แคนดิเดตนายกฯ] แต่ละพรรคจะเสนอชื่อได้ไม่เกินสามชื่อ ชื่อนั้นจะถูกเลือกได้ต่อเมื่อพรรคนั้นมีส.ส. 25 คนขึ้นไป นี่คือกติกาที่เพิ่งมาในปี 2560 ว่าง่ายๆคือ อาจารย์มีชัยก็กลัวถูกต่อต้านว่า เปลี่ยนกติกาที่มีขึ้นหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535”
.
.
เรื่องนายกรัฐมนตรีต้องเป็นส.ส.ในต่างประเทศที่ใช้ระบบรัฐสภาก็ไม่ได้เขียนเอาไว้ แต่มันเป็นประเพณีปฏิบัติทางการเมือง เมื่อมันปฏิบัติสืบเนื่องมาจึงไม่เป็นต้องเขียน ต่างจากประเทศไทยที่ไม่ยอมยึดถือจึงจำเป็นต้องเขียนเอาไว้ “ปัญหาของเรามันซับซ้อนกว่าเพราะเรามีปัญหาเรื่องการปฏิวัติรัฐประหารว่าง่ายๆหลักการทุกคนเสมอกันในการจะเป็นนายกฯได้ เพียงแต่ถอดเสื้อนายพลออกก่อนแล้วมาสมัคร ถ้าหากเรามีระบบที่เป็นส.ส.เขตอย่างเดียวก็อาจจะมีความลักลั่นที่จะเป็นนายกฯบริหารบ้านเมืองแต่ต้องไปทำหน้าที่ในเขต มันดูไม่ค่อยคุ้ม คนเป็นนายกฯต้องดูทั้งประเทศไม่ใช่ในเขต แต่พอเราเปลี่ยนระบบเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อด้วยมันก็ลงตัวแล้ว”
* อ่านทั้งหมด : https://ilaw.or.th/node/6426
**หมายเหตุ : รายละเอียดเป็นส่วนหนึ่งของงานเสวนาทางวิชาการ “ประเทศไทยหลังการเลือกตั้งทางออกสู่ประชาธิปไตย” เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2566