วันพฤหัสบดี, มีนาคม 30, 2566

7 มุมมืดของการเกณฑ์ทหาร หรือว่ามันคือ การค้ามนุษย์แอบแฝง


Wiroj Lakkhanaadisorn - วิโรจน์ ลักขณาอดิศร
March 22

[ 7 มุมมืดของการเกณฑ์ทหาร หรือว่ามันคือ การค้ามนุษย์แอบแฝง ]
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ต้องยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่านโยบาย “ยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร” ไม่ใช่การยกเลิกไม่ให้มีทหาร เพียงแต่จะเปลี่ยนมาเป็นระบบการรับสมัครโดยสมัครใจ พร้อมกับ
1) ปรับปรุงสวัสดิการให้ดีขึ้น ไม่ต้องถูกกดขี่รีดไถ ส่งส่วยให้นาย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโศกนาฏกรรม #กราดยิงโคราช
2) มีโอกาสในการก้าวหน้าในอาชีพทหาร
3) ดูแลสวัสดิภาพของทหาร ไม่ให้มีใครต้องถูกซ้อม จนตายฟรีในค่ายทหารอีกต่อไป
.
แต่ละปีประเทศไทยมีการเกณฑ์ทหารปีละประมาณ 100,000 คน และมีทหารกองประจำการ (หรือทหารเกณฑ์) ประมาณ 130,000 คน ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณราวๆ 16,000 ล้านบาทต่อปี
.
ดังนั้นถ้าเรายกเลิกการเกณฑ์ทหาร แล้วเปลี่ยนมาเป็นระบบรับสมัครโดยสมัครใจ พร้อมปรับปรุงสวัสดิการให้ดีขึ้น น่าจะสามารถลดจำนวนทหารกองประจำการ ให้อยู่ในระดับ 60,000-65,000 คนได้ ซึ่งจะทำให้ประหยัดงบได้ถึง 7,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งสามารถนำเอาเงินจำนวนนี้ไปจัดสรรเป็นสวัสดิการของผู้สูงอายุ หรือสวัสดิการเด็กเล็ก หรือจะนำไปเพิ่มเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือจะนำไปใช้เป็นงบจัดจ้างบุคลากรทางการแพทย์ที่ขาดแคลนก็ได้
.
คนที่อยากเป็นทหาร ก็จะได้รับการดูแลที่ดีขึ้น สำหรับคนที่มีความจำเป็น เช่น ต้องดูแลพ่อแม่ที่เจ็บป่วยติดเตียง หรือคนที่มีศักยภาพในการประกอบอาชีพอื่น ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศเช่นกัน ก็ไม่มีความจำเป็นต้องถูกบังคับเกณฑ์ทหาร
.
ข้อเสนอในลักษณะนี้ ไม่มีอะไรที่ไม่ดี แต่ทำไมถึงถูกกองทัพดราม่า และคัดค้านมาโดยตลอด หรืออาจเป็นเพราะว่า การเกณฑ์ทหาร นั้นเป็นขุมทรัพย์มหาศาล เป็นแหล่งเงินทอนให้กับเหล่านายพลบางกลุ่ม ที่แอบอ้างความรักชาติ เพื่อหาผลประโยชน์เข้ากระเป๋าตัวเอง รวมทั้งอาจจะเป็นกลไกในการค้ามนุษย์แอบแฝง ซึ่งข้อสงสัยที่เป็นมุมมืดของการเกณฑ์ทหาร ที่อยู่เบื้องหลังของคำว่า “รักชาติ” นั้นมีอยู่ทั้งสิ้น 7 มุม ดังต่อไปนี้
.
1) คนจำนวนมากที่ต้องจำใจเรียน รด. เพราะไม่อยากเกณฑ์ทหาร งบที่เกี่ยวข้องกับการฝึก รด. และการจัดซื้อจัดจ้าง ก็สามารถแปรเป็นเงินทอนเข้ากระเป๋านายพลบางกลุ่มได้
.
2) คนที่ไม่ได้เรียน รด. แต่ไม่อยากเกณฑ์ทหาร ก็ต้องหาเงินมาจ่ายค่าไถ่คนละ 30,000-50,000 บาท
.
3) คนที่จับได้ใบแดง หลังจากการฝึก 3 เดือน ถ้าไม่อยากรบกับหญ้าฆ่ากับมดในค่ายทหาร ก็มีทางเลือกอยู่ 2 ทาง ทางเลือกแรก ก็คือ การเซ็นชื่อยกเงินเดือน ค่าประกอบเลี้ยง และค่าเบี้ยเลี้ยงต่างๆ ให้กับนาย เพื่อแลกกับการกลับบ้าน ถ้ามีการตรวจกำลังพลเมื่อไหร่ก็จะมีคนโทรตามให้กลับมาเข้าค่าย ทางเลือกอีกทางหนึ่ง ก็คือ การไปเป็นคนรับใช้ที่บ้านนาย ต้องรับใช้นาย เมียนาย เมียน้อยนาย ปัจจุบันหนักข้อถึงขนาดต้องไปรับใช้เมียน้อยของเพื่อนนาย อย่างกรณีข่าวเมียน้อย ส.ว. ที่ทำร้ายร่างกายทหารรับใช้ การพิสูจน์ข้อกล่าวหานี้จริงๆ ไม่ยากเลย เพียงแค่กองทัพยินยอมให้กรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร สามารถเข้าไปตรวจกำลังพลในค่ายทหารต่างๆ ได้ โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ก็จะทราบทันทีว่าว่าทหารเกณฑ์ที่อยู่ในค่ายทหารแต่ละแห่ง นั้นมีจำนวนครบถ้วนหรือไม่
.
4) การจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทหารเกณฑ์ หลายรายการถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นของคุณภาพต่ำ และมีราคาที่แพงเกินจริง เป็นแหล่งเงินทอนชั้นดีให้กับนายพลบางกลุ่ม ที่กินแม้กระทั่งกางเกงในของกำลังพล
.
5) การเอาชื่อทหารเกณฑ์ไปแฝงในพื้นที่เสียงภัย แต่ไม่ได้ไปจริง แล้วให้โอนเงินเบี้ยเสี่ยงภัย หรือเงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ (พ.ส.ร.) ให้กับนาย ซึ่งกรณีนี้ถือเป็นเรื่องที่เลวร้ายมาก เพราะจะทำให้ทหารที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัย มีความเสี่ยงอย่างมาก เพราะจำนวนกำลังพลที่ปฏิบัติภารกิจที่หน้างาน จะมีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
.
6) การเอาชื่อทหารเกณฑ์ไปใส่ไว้ในโครงการอบรมสัมมนาต่างๆ ซึ่งไม่มีการอบรมจริง งบประมาณที่ถูกเบิกจ่ายในโครงการกำมะลอเหล่านี้ ก็จะวิ่งตรงเข้ากระเป๋าของนายพลบางกลุ่ม
.
7 การเอาทหารเกณฑ์ไปใช้แรงงานส่วนตัว เพื่อหารายได้ให้กับนายพลบางกลุ่ม เช่น เอาไปเป็นเด็กปั๊มบ้าง เอาไปเป็นเด็กเสิร์ฟบ้าง เอาไปทำงานรับจ้างต่างๆ บ้าง
.
มุมมืดของการเกณฑ์ทหารทั้ง 7 มุมนี้ ถ้ามันเกิดขึ้น นี่ไม่ได้เป็นเพียงการหาผลประโยชน์ธรรมดา แต่เข้าข่ายเป็นการค้ามนุษย์ในอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ใช้การเกณฑ์ทหารเป็นฉากหน้า เอาคำว่า “รักชาติ” มาดราม่า เพื่อหาเงินทอน นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่พรรคก้าวไกล ต้องผลักดันนโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหาร อย่างจริงจังต่อไป เพื่อป้องกันไม่ให้ใครถือวิสาสะ มาเอาชีวิตของลูกหลานเรา ไปหาผลประโยชน์เข้ากระเป๋าตนเอง