iLaw
7h
รัฐธรรมนูญ 2560 นำเสนอเครื่องมือใหม่ คือ "บัญชีว่าที่นายกฯ" สามรายชื่อที่บังคับให้พรรคการเมืองต้องเสนอไว้ก่อนเลือกตั้ง ซึ่งคนที่จะมีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งต้องอยู่ในรายชื่อสามรายชื่อนี้ และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เป็นนายกฯ จากระบบนี้ได้โดยไม่ต้องลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.
.
รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 88 กำหนดว่า เมื่อมีการเลือกตั้ง ส.ส. ให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แจ้งรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคการเมืองนั้นมีมติว่า จะเสนอให้ ส.ส. เพื่อพิจารณาเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกินสามรายชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง และให้ กกต. ประกาศรายชื่อบุคคลดังกล่าวให้ประชาชนทราบ พรรคการเมืองที่ลงสนามเลือกตั้งจะเสนอรายชื่อแค่หนึ่งหรือสองคนก็ได้ และจะไม่เสนอรายชื่อบุคคลเพื่อเป็นนายกฯ ของพรรคเลยก็ได้
ทุกคนที่จะอยู่ในบัญชีนายกฯ รัฐมนตรี ต้องให้ความยินยอมเป็นหนังสือแก่พรรคการเมืองนั้นก่อน พรรคการเมืองไม่อาจเสนอชื่อบุคคลมีชื่อเสียงต่างๆ ในสังคมขึ้นมาเองโดยไม่ได้รับความยินยอม และทุกคนจะถูกเสนอได้โดยพรรคการเมืองพรรคเดียวเท่านั้น หากถูกเสนอชื่อโดยพรรคการเมืองหนึ่งแล้วพรรคอื่นก็จะเสนอด้วยไม่ได้
รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550 กำหนดให้ “นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง” หรือ ต้องเป็น ส.ส. และใช้ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ที่มีจุดประสงค์เพื่อให้ประชาชนเลือกพรรคการเมืองที่ชอบทำให้เป็นธรรมเนียมว่า ผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อลำดับที่หนึ่งของพรรคการเมือง คือ "ว่าที่นายกฯ" ของพรรคการเมืองนั้น ซึ่งเราจะเห็นว่า หลังการเลือกตั้ง ส.ส. บัญชีรายชื่อลำดับที่หนึ่งของพรรคที่ได้เสียงข้างมากในการเลือกตั้งจะเป็นนายกฯ ตั้งแต่ ทักษิณ ชินวัตร พรรคไทยรักไทย, สมัคร สุนทรเวช พรรคพลังประชาชน และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พรรคเพื่อไทย
อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดใหม่ให้แต่ละพรรคเสนอชื่อว่าที่นายกฯ แยกออกมาอีกบัญชีหนึ่ง โดยไม่จำเป็นต้องลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ด้วย หรือไม่ต้องผ่านสนามเลือกตั้ง ซึ่งเป็นช่องทางที่เปิดไว้สำหรับเหล่าพลพรรคของ คสช. ที่ต้องการยังอยู่ในอำนาจต่อแต่ไม่อยากลงสมัครรับเลือกตั้งเอง
รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 159 ยังกำหนดด้วยว่า ส.ส. ต้องพิจารณาเห็นชอบบุคคลที่สมควรแต่งตั้งเป็นนายกฯ จากบัญชีรายชื่อนายกฯ ที่พรรคการเมืองเสนอ อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าบุคคลที่อยู่ในบัญชีว่าที่นายกฯ ของทุกพรรคการเมืองจะมีสิทธิได้รับการเลือกเป็นนายกฯ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดว่า นายกรัฐมนตรีจะต้องมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ คือ จำนวน ส.ส. ทั้งหมด 500 คน พรรคการเมืองนั้นต้องมี ส.ส. อย่างน้อย 25 คน จึงจะเสนอชื่อนายกฯ ในบัญชีของตัวเองได้ นอกจากนี้ การเสนอชื่อนายกฯ ต้องมี ส.ส. รับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ หรือ ต้องมี ส.ส. อย่างน้อย 50 คน เป็นผู้รับรอง
ด้วยเหตุนี้พรรคการเมืองต่างๆ ที่เสนอบัญชีว่าที่นายกฯ จึงมีความเสี่ยงเช่นกันว่า บุคคลที่ถูกเสนอชื่ออาจจะไม่ได้รับเลือกหากได้ที่นั่ง ส.ส. ในสภาไม่ถึง 50 ที่นั่ง อย่างไรก็ดีในช่วงห้าปีแรกรัฐธรรมนูญหาก ส.ส. และ ส.ว. ไม่สามารถเลือกนายกฯ จากบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองได้ รัฐธรรมนูญมาตรา 272 ก็ยังเปิดช่องให้มีนายกฯ คนนอกได้อีก
ดังนั้น ข้อกำหนดที่บังคับให้ต้องเลือกนายกฯ จากบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอไว้ จึงให้ผลในทางกลับกันถ้าหากรายชื่อในบัญชีได้เสียงสนับสนุนไม่เพียงพอ ก็ทำให้เกิดทางตันทางการเมืองขึ้นได้ง่าย เปิดช่องทางไปสู่นายกฯ คนนอกได้ง่ายขึ้น